Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ลักษณะของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 นั้น ผู้ติดตามประเด็นพลังงานนิวเคลียร์(ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายหนุน) ต่างก็รู้อยู่แก่ใจว่า มีการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ร้ายแรงอย่างถึงที่สุดของอุบัติเหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพราะแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายนั้นจะ “หยด” ลงไปที่ฐานเตาปฏิกรณ์และจะหลอมละลายทั้งโลหะและคอนกรีตที่ใช้ก่อสร้างฐานเตาปฏิกรณ์จนทะลุ นั้นหมายถึงเชื่อเพลิงนิวเคลียร์(ยูเรเนียม 235) ที่หลอมละลายจะหลุดลอดหรือรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ปัญหานี้ทั้งบริษัทเท็ปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นไม่เคยยอมรับมาตลอดจนกระทั่งต้นปี 2017 เท็ปโกจึงยอมรับว่าตรวจพบรูขนาดกว่า 2 เมตรที่ฐานเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2

การหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง คือคำตอบของปรากฎการณ์ทุกอย่าง นับตั้งแต่หลังเกิดการระเบิดของอาคารปฏิกรณ์ ที่ต้องมีการใช้เฮลิคอปเตอร์บินไปตักน้ำทะเลมารดใส่อาคารปฏิกรณ์เพื่อระบายความร้อน ต้องมีการฉีดน้ำ(ช่วงแรกใช้น้ำทะเล)เข้าสู่ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ แต่ฉีดอย่างไรก็ไม่เต็ม จนกระทั่งขณะนี้ 7 ปีแล้วก็ยังต้องฉีดน้ำเข้าไปอยู่ เพราะถังปฏิกรณ์มันรั่วนั่นเอง และนี่คือที่มาของน้ำปนเปื้อนรังสีที่ใส่ถังเก็บมากมายก่ายกองอยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ และไม่มีที่เก็บถังน้ำปนเปื้อนเหล่านี้มานานแล้ว จึงต้องมีการปล่อยทิ้งลงสู่มหาสมุทร การปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวนี้ ปล่อยมาเป็นปีที่ 7 แล้ว ! เพราะรูรั่วของเตาปฏิกรณ์ยังไม่สามารถอุดได้

ตามแผนของเท็ปโกที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล การอุดรูรั่วของเตาปฏิกรณ์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี เวลาดังกล่าวนี้คือเวลาที่คาดว่าจะสามารถพัฒนา “หุ่นยนตร์” ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มี “รังสีสังหาร” แทนมนุษย์ได้สำเร็จ แต่ปรากฏว่า เมื่อปีที่แล้วมีข่าวไม่ใหญ่นักว่า หุ่นยนตร์ที่เท็ปโกส่งเข้าไปปฏิบัติงานนั้นขัดข้องเมื่อเผชิญกับระดับรังสีที่รุนแรงมากในบริเวณใกล้เตาปฏิกรณ์... แม้แต่หุ่นยนตร์ยังตาย !!

สรุปแล้ว ฟุกูชิมะนั้นร้ายแรงกว่าเชอร์โนบิลหลายเท่านัก เพราะกรณีของเชอร์โนบิล หลังเกิดเหตุเพียงปีเศษก็มีการก่อสร้างโครงครอบคอนกรีตขนาดยักษ์คลุมครอบเตาปฏิกรณ์เชอร์โนบิลหมายเลข 4 ที่ระเบิดเพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีไม่ให้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโครงครอบดังกล่าวเสื่อมสภาพไปแล้ว โดยมีการสร้างเกราะเหล็กกล้าปิดทับโครงครอบคอนกรีตอีกชั้นหนึ่งไปเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ในกรณีฟูกูชิมะ เหตุการณ์ผ่านมา 7 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถปิดกั้นสารกัมมันตรังสีไม่ให้แพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม (มหาสมุทร) ได้

กรณีการส่งออกปลาจากทะเลฟูกูชิมะเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ผลกระทบของอุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จะทะยอยปรากฏให้เห็นมากขึ้นๆ ต่อไปอีกทั้งต่อมหาสมุทร ภูเขา ป่าไม้ สัตว์ และมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นที่จะถือกำเนิดหลังปี 2011 เป็นต้นไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net