Skip to main content
sharethis

สกว.จับมือ สกอ. ปลุกพลังนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการ และต่อยอดผลงานวิจัยให้ “ไม่ขึ้นหิ้ง” ท่ามกลางสภาวการณ์การแข่งขันค่อนข้างสูงและท้าทาย 

10 เม.ย. 2561 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา “โครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร ครั้งที่ 2” ภาคกลาง ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ทิศทางการให้ทุนวิจัยรูปแบบใหม่และยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของ สกว. และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงแนะนำเทคนิคการนำเสนอโครงการวิจัยและผลงานวิจัยให้ได้รับการตอบรับในเชิงบวก การทำวิจัย “ไม่ขึ้นหิ้ง” พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำวิจัยที่ประสบความสำเร็จจากเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับสภาวการณ์การแข่งขันค่อนข้างสูง และวิตกกังวลกับสถานะที่เป็นอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องมองงานให้ใหญ่ขึ้น ไม่เฉพาะแค่รางวัลระดับประเทศที่ตัวเองได้รับ และต้องการความร่วมมือในระดับภูมิภาค ทั้งนี้อยากฝากกระตุ้นให้นักวิจัยรุ่นใหม่ทุกคนมองเป็นความท้าทายที่จะต้องมองไปข้างหน้าว่างานของตัวเองจะเป็นประโยชน์อย่างไรกับประเทศชาติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ และยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ สกว. จึงขอให้ทุกคนมีความเข้มแข็งทางวิชาการ ต่อยอดขยายผลงานวิจัยให้ใช้ได้จริงเพื่อสังคมและประเทศของเรา งานวิจัยจึงจะไม่ขึ้นหิ้ง รางวัลที่ได้รับนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางในการพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของทั้ง สกว. และ สกอ. ที่จะต้องสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้จริง  ขณะที่คุณสุทิศา จั่นมุกดา ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานการบริหารงานบุคคล สกอ. ระบุว่าการประเมินผลงานทางวิชาการจะคำนึงถึงประเภทของผลงานทางวิชาการ การเผยแพร่ การมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการ และความสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เสนอขอ โดยแบ่งประเภทของผลงานออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่ 1 งานวิจัย กลุ่มที่ 2 ผลงานวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ผลงานวิชาการเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ กรณีศึกษา งานแปล และพจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม และงานวิชาการในลักษณะเดียวกัน ผลงานสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ/ศิลปะ สิทธิบัตร และซอฟต์แวร์ กลุ่มที่ 3 ผลงานวิชาการรับใช้สังคม กลุ่มที่ 4 ตำรา หนังสือ และบทความทางวิชาการ  ทั้งนี้ในส่วนของผลงานวิชาการรับใช้สังคมนั้น ขอให้ดูโครงการในพระราชดำของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นตัวอย่าง ซึ่งนักวิจัยจะต้องลงไปดูว่าชุมชนมีปัญหาอะไร และใช้ความรู้ในการแก้ปัญหานั้น ๆ

ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวระหว่างการเสวนา “ทำอย่างไรงานวิจัย “ไม่” ขึ้นหิ้ง: การพัฒนานวัตกรรมและการนำไปใช้เชิงพาณิชย์” ว่าการทำวิจัยด้านสัตว์น้ำและต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นจากโจทย์ความต้องการของชาวบ้านและใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย อย่างไรก็ตาม ผู้รับผิดชอบนโยบายยังไม่รู้บริบทของงานวิจัยอย่างแท้จริง จึงไม่เข้าใจความสำคัญของงานวิจัยพื้นฐานที่จะต้องมีรากของงานจึงจะออกดอกออกผลได้ “นักวิจัยก็ต้องมีเป้าหมายในชีวิตว่าอยากรู้เรื่องใด สนใจเรื่องใด อย่าหวั่นไหวทิ้งรากและลำต้น ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะเดินไปที่ใด แต่ต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับเจ้าของทุนได้ จะได้ไม่เสียเวลาทำงานและเกิดความยั่งยืนมากกว่า ความรักในการทำงานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้ทำวิจัยด้วยความสนุกและไม่อยากทิ้งงาน”

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของตนเริ่มต้นจากการทำงานวิจัยพื้นฐานที่มุ่งได้ความรู้เป็นสำคัญ จนได้รับการต่อจากภาคเอกชนที่เชื่อใจ จึงสามารถขยายระดับจากห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม สิ่งที่อยากบอกนักวิจัยคืองานวิจัยจำนวนมากไปไม่ถึงหิ้ง ไม่สามารถขึ้นหิ้งได้ เป็นเพราะงานยังไม่ดีพอจึงไม่รู้จะนำไปใช้ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายและความอดทนต่อการทำวิจัยเพื่อให้สามารถเดินทางต่อไปถึงเป้าหมายได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net