Skip to main content
sharethis

สกว.เปิดเวทีแชร์เคล็ดลับความสำเร็จของเส้นทางนักวิจัยอาชีพ ชี้นักวิจัยพี่เลี้ยงต้องเป็น 'ครูและแบบอย่างที่ดี' ไม่มีอคติกลัวลูกศิษย์จะทำผลงานแข่ง สำคัญคือระวัง 'คำถามวิจัยปลอม' โจทย์ผิดตั้งแต่แรก ย้ำ 'นวัตกรรม' ไม่ใช่สินค้าที่ขายได้เท่านั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพสูงให้ประเทศ

2 พ.ค.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  รายงานว่า รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สกว. เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการฝ่ายวิชาการ สกว. สัญจร ครั้งที่ 2 ภาคเหนือ ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ทุนวิจัยรูปแบบใหม่ของ สกว. รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิจัยอาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีนักวิจัยที่สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน

ในการเสวนา “นักวิจัยพี่เลี้ยง (mentor): เข็มทิศนำทางชีวิตนักวิจัย” ศ. นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดีต้องเป็น “ครูและแบบอย่างที่ดี” ให้ลูกศิษย์ทำตามอย่างได้ หัวใจสำคัญคือต้องมีทัศนคติที่ดีต่อลูกศิษย์ สนับสนุนให้ลูกศิษย์ได้ดี มีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้เร็ว เพราะได้ครูดีเป็นคนชี้แนะ ไม่ใช่คิดว่ามาทำงานแข่งกับครู การเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยต่างชาติที่อาจจำไปสู่โจทย์วิจัยและการทำงานข้ามศาสตร์ แม้ในระดับประเทศก็ต้องมีการเตรียมตัวที่จะขอความรู้และความช่วยเหลือจากนักวิจัยอาวุโสได้ มีความรักและความสุขกับการทำงาน

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่านักวิจัยพี่เลี้ยงที่ดีต้องผลักดันให้นักวิจัยในทีมประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยกว่าที่ตัวเองเคยทำร้อยละ 50 และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่คิดว่านักวิจัยพี่เลี้ยงเป็นเข็มทิศนำชีวิตที่จะทำให้นักวิจัยไปสู่ความสำเร็จได้ ลดความทุกข์ในกระบวนการทำวิจัยให้ผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น เทคนิคการหานักวิจัยพี่เลี้ยงควรเริ่มจากนักวิจัยใกล้ตัวก่อน หากไม่สามารถหาได้จริง ๆ อาจเข้าหานักวิจัยที่เป็น “ไอดอล” ที่อาจพบกันในงานประชุมวิชาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พบกับนักวิจัยเก่ง ๆ จำนวนมาก และพึงระลึกว่าการบรรยายผลงานทางวิชาการนักวิจัยจะต้องสร้างความมั่นใจว่าเรารู้ดีในเรื่องที่นำเสนอมากที่สุด

“งานวิจัยที่ดีจะไม่ขึ้นหิ้ง แต่ต้องระวังการเริ่มต้นด้วย “คำถามวิจัยปลอม” ที่ซ้ำกับคนอื่น ถ้ามองผิดตั้งแต่ขั้นตอนแรกงานวิจัยนั้นก็จะเป็นขยะและขึ้นหิ้ง ดังนั้นระบบจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ก้าวไปอย่างมั่นคง เข้มแข็ง และยั่งยืน รวมถึงต้องรู้จักการให้ให้เป็น มีความเพียรเป็นนิจ และกตัญญู ทั้งนี้นวัตกรรมเป็นได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวสินค้า ทั้งการตีพิมพ์ผลงานที่มีคุณภาพสูง รางวัลจากความสำเร็จของผลงานวิจัย และที่สำคัญสิ่งที่คนมักจะละเลย คือ การผลิตบุคลากรวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของประเทศ จึงไม่ควรพยายามปลูกฝังว่านวัตกรรมคือผลิตภัณฑ์ที่ขายได้เท่านั้น”

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายหสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า นักวิจัยต้องตั้งทิศของตัวเอง เป็นที่พึ่งและเป็นหลักของตัวเราเอง และหมั่นขอความรู้จากนักวิจัยพี่เลี้ยง แต่อย่าไปยึดติดว่าเรามีเทพธิดาหรือเทพบุตรประจำตัว โลกของวิชาการต้องเปิดกว้างให้คนคุยกัน และอย่าโกรธคนที่ติงานวิจัยของเรา โลกวิชาการควรมีแต่กัลยาณมิตร ไม่ใช่ศัตรู ปกติในสายสังคมไม่ค่อยสนใจนักวิจัยพี่เลี้ยงมากนัก เพราะอยู่ที่ระบบคิด สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกับนักวิจัยอาวุโสได้ตลอด ไม่ได้ทดลองในห้องปฏิบัติการเหมือนสายวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามเราอาจไม่เจอพี่เลี้ยงที่มีเคมีเหมาะสมกับเราเสมอไป ถ้าเถียงกันทุกวันจะถ่อไปได้อย่างไร ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนมากพอ ทำให้ความรู้จำกัดอยู่ในวงแคบ จึงต้องสร้างบรรยากาศทางวิชาการ ถ่อซึ่งกันและกัน บางคำถามจากนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นคำถามที่ดีมาก ยิ่งโลกเปลี่ยนไปยิ่งมีคำถามแปลกไปมากขึ้น “เคล็ดลับแห่งความสำเร็จอยู่ที่ตัวเรา ต้องทำให้ทุกวันเป็นวันที่ดีที่สุด มีผลงานที่ดีที่สุด และวันพรุ่งนี้ต้องทำให้ดีกว่าวันนี้ สุดท้ายเมื่อมองย้อนกลับไปเราไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจเพราะทำดีที่สุดแล้ว ล้มเหลวได้และกลับมาทำให้ดีขึ้น พยายามมองโลกในแง่ดี มองหาโอกาส หามิตรที่ดี ทุกคนเป็นครูของเราได้เสมอ”

ทพ. ดร.เอดวาร์ดโด ซูซูกิ และ รศ. ทพญ. ดร.บุญศิวา ซูซูกิ กล่าวระหว่างการบรรยาย “การสร้างนวัตกรรมจากองค์ความรู้” ว่านอกจากการทำวิจัยแล้วทั้งคู่ยังต้องรักษาคนไข้ด้วย จึงนำปัญหาที่พบในการทำงานมาตั้งเป็นโจทย์วิจัยเพื่อหาคำตอบที่จะมาแก้ไขปัญหานั้น เช่น การควบคุมขบวนการผ่าตัดกระดูกรองรับฟันทั้งสามมิติโดยใช้ทวินแทรกดิสแทรกชั่นร่วมกับการใช้หมุดเกลียวขนาดเล็กเพื่อรักษาคนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่และคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุทำให้มีผลต่อฟัน รวมถึงการทำโมเดลต้นแบบเพื่อวัดแรงยึดกระดูกฟัน สิ่งสำคัญต้องมีความคิดสร้างสรรค์ จินตนา และความหลงใหลในการทำวิจัย ซึ่งการทำวิจัยไม่ใช่แต่จะได้รับองค์ความรู้ แต่ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไข้ด้วย โดยผลงานได้รับการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ จดสิทธิบัตร และต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตเครื่องมือทันตกรรมใหม่ ๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net