‘Realframe’ ความจริงของภาพถ่ายในทัศนะประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 

จากซ้ายไปขวา ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ, ธิติ มีแต้ม

‘Realframe’ (เรียลเฟรม) คือกลุ่มช่างภาพที่รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน เกิดจากการพบปะพูดคุยกันของสมาชิกในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ Shutter-J เว็บไซต์รวมงานถ่ายภาพเชิงสารคดี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 8 คน ได้แก่ ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ, ธิติ มีแต้ม, สมศักดิ์ เนตรทอง, วิศรุต แสนคำ, ชลิต สภาภักดิ์, วัฒย์จนพล ศรีชุมพวง และวิชาญ เจริญเกียรติภากุล แต่ละคนมีทั้งที่ทำงานประจำเป็นช่างภาพข่าว ช่างภาพอิสระ นักข่าว หรือทำงานอิสระแตกต่างกันไป แต่พวกเขามีจุดร่วมเหมือนกันคือการถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นรูปถ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

 “ตอนนั้นพวกเราชอบถ่ายรูปภาพที่เล่าเรื่องราว ประเด็นเชิงสังคม การเมือง ซึ่งสมัยนั้นไม่มีพื้นที่อะไรให้ปล่อยของ เราก็ไปเจอกันในเว็บบอร์ด ได้คุยกัน เริ่มสนิท แล้วเราก็รู้สึกว่าพื้นที่ในบอร์ดมันมีข้อจำกัดอยู่ประมาณหนึ่ง หลายคนในเว็บบอร์ดไม่ได้อินการเมือง แล้วเขาก็เครียด ไม่ชอบเวลาเราลงภาพ เลยลองทำให้มันจริงจังไปเลย แล้วดูว่ามันจะไปถึงไหน ไม่ได้มีกรอบอะไรมาก ทำกันสนุกๆ จำได้ว่าจุดเริ่มต้นคือเรานั่งอยู่ในร้านส้มตำ นั่งคุยกัน 4-5 คน แล้วเราก็คิดว่ามาทำกลุ่มกัน ประกวดชื่อกันที่ร้านนั้น ได้มาเป็น Realframe ทำโลโก้ เปิดเว็บไซต์ด้วยงบประมาณ 10,000 บาท แทบจะผ่อนกันแล้วตอนนั้น ใช้งบส่วนตัวกัน บางคนก็ยังเรียนไม่ได้มีตังเยอะ” ยศธร และ ปฏิภัทร สองสมาชิกเล่าย้อนให้ฟัง

พวกเขาเห็นว่าในสมัยนั้นภาพถ่ายในข่าวยังมีคุณภาพไม่สูงนัก และพวกเขาก็อาจจะทำได้เช่นกันหรือทำได้ดีกว่า และมีข้อดีที่ได้เล่าเรื่องในประเด็นที่เป็นอิสระได้มากกว่า โดยไม่มีกรอบ ไม่มีสำนักข่าวใดมาควบคุม เล่าผ่านตัวละคร หรือวิธีการใดๆ ตามที่แต่ละคนถนัด อาจเล่าถึงประเด็น มุมมอง หรือผู้คนที่ไม่มีใครสนใจ แต่พวกเขาเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ประเด็นในเชิงโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ได้

ประชาไทชวนคุยกับ ปฏิภัทร จันทร์ทอง, ยศธร ไตรยศ และธิติ มีแต้ม สามสมาชิก Realframe เล่าประสบการณ์และทัศนคติของพวกเขาที่มีต่อการถ่ายภาพ ระหว่างความเป็นข่าวและความเป็นศิลปะ ที่แนวคิดศิลปะไทยยังยึดกับอุดมการณ์กระแสหลัก ไม่เกิดการถกเถียงมากพอ ไปจนถึงเส้นบางๆ ระหว่างเสรีภาพและการละเมิดสิทธิในภาพถ่าย และการละเมิดลิขสิทธิ์ที่สื่อไทยยังไม่ให้ความสำคัญ

ธิติ มีแต้ม

งานที่ทำให้ Realframe ต่างจากงานประจำหรืองานอื่นที่ทำยังไงบ้าง?

 

ธิติ: รู้สึกไม่ต่าง อาจเพราะเราเป็นนักข่าวด้วย เราเลยเลือกได้ว่าจะโฟกัสประเด็นไหน อย่างตอนที่ทำข่าวสดออนไลน์ เขาก็ยอมรับแบบที่เรานำเสนอไปประมาณหนึ่ง แต่มันก็จะมีประเด็นที่เรารู้ว่าเราไปไม่ถึง ทำไมถึง ไม่สามารถออกมาเป็นภาพที่มีพลังได้ โครงการก็จะพับเก็บไปโดยปริยายโดยไม่ต้องรอให้ต้นสังกัดมาเซ็นเซอร์

อิสระในการทำงานเรารู้สึกว่าไม่ต่างเท่าไหร่ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานอย่างมีอิสระกับตัวเองจริงๆ แต่มันเป็นความคิดในเชิงการต่อสู้ทางการเมือง ในช่วงเหตุการณ์แบบนี้มันคือการเลือกมายืนฝั่งต่อต้าน รูปถ่ายมันก็ต่อต้านอำนาจ ถ้าพูดแบบเห็นแก่ตัวหน่อยก็คือเรามีเครื่องมือเป็นทั้งข่าวสดออนไลน์ Realframe และตอนนี้มี 101 ด้วย (The101.world) เราอยากจะพูดอเจนด้านี้ ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในสิ่งที่เราอยากจะพูด แต่เราก็รู้ว่าพื้นที่ที่เราใช้อยู่แต่ละที่มันมีเพดานประมาณไหน

ถ้าวันหนึ่ง Realframe มันเริ่มเข้าไปอยู่ในพรมแดนของการ propaganda ทางการเมืองเราก็คงถอย แต่ที่ผ่านมามันมีเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนจำนวนมาก propaganda โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว แต่ Realframe มองว่าความเป็นจริงเป็นยังไง มากกว่าจะไปเซ็ตให้แกนนำนกหวีดดูเท่ หรือแม้แต่ นปช. เองเราก็ไม่ทำ มันก็เลยจะมีภาพที่ชาวบ้านนอนโยคะอยู่ในเต๊นท์ ตอนชุมนุมอะไรแบบนี้

แต่สิ่งที่ควรจะทำแล้วไม่ได้ทำคือ เอามูลค่าจากที่มันถูกเผยแพร่ไปเยอะๆ ในข่าวสดมาทำให้ Realframe โตไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก

ชาวบ้านในที่ชุมนุม นปช. โดย Realframe

ปฏิภัทร: ข้อดีของการทำงานประจำเป็นช่างภาพข่าวคือเราได้เข้าไปในพื้นที่เฉพาะบางอย่าง หรือทำให้การทำงานง่ายขึ้น แล้วเราก็อาศัยประโยชน์ตรงนั้นในการทำ Realframe ไปด้วย เช่น การเข้าทำเนียบ หรือเวลาไปทำข่าวในสถานการณ์ที่ฉุกละหุก เช่น ตอนนั้นเราไปถ่ายภาพนักศึกษาทำกิจกรรมแล้วถูกทหารจับ เรายังอ้างได้ว่าเป็นช่างภาพข่าวจากบางกอกโพสต์ทำให้ไม่เกิดปัญหาอะไร ทำงานราบรื่น แต่ถ้าเป็นในนาม Realframe ซึ่งเขาไม่รู้จักก็อาจจะยากกว่า แต่การทำงานประจำ พื้นที่เราก็จะถูกกรองด้วยบรรณาธิการภาพ ไปจนถึงกองบรรณาธิการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกไปมันก็อาจจะไม่ใช่เราเหมือนที่เราทำ Realframe สมมติมีเหตุการณ์นักศึกษาโดนจับ ถ้าถ่ายให้ออฟฟิศก็อาจจะพูดในภาพรวมมากกว่า ขณะที่ของ Realframe อาจเป็นการหยิบบางอย่างที่เราอยากพูดมาพูด

ยศธร: อาจจะบอกว่าถ้างานสื่อคือการพยายามพูดอย่างเป็นกลาง งาน Realframe คืองานที่มีอเจนด้าเรื่องหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เช่น ถ้าสื่อเรียกท่านนายกฯ ของเราคือประยุทธ์ เราเรียกว่าเป็นเผด็จการได้ เราถือว่าเรา against อะไรที่ผิดไปจากหลักการนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องระวัง ประนีประนอม กลัวว่าจะไม่เป็นกลาง

แต่บ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญกับช่างภาพอิสระ คนที่เป็นสื่ออิสระไม่ได้ถูกเคารพจากภาครัฐ มันยังไม่เหมือนต่างประเทศที่คนเป็นสื่ออิสระก็มีสิทธิเท่าสื่อ สามารถทำหน้าที่ได้เท่ากัน แต่ของเราพอมันเป็นสถานการณ์ชุลมุนไม่รู้ใครเป็นใคร คิดในแง่เจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะโทษเขาไม่ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นงานเหตุการณ์ทางการเมืองหลักๆ ก็จะเป็นคนที่เป็นนักข่าวที่เข้าไปในสถานการณ์ได้

ดังนั้นโดยหลักการแล้วประชาชนทั่วไปก็ควรถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองได้โดยไม่ถูกห้าม?

 

ยศธร: ใช่ๆ โดยหลักมันควรเป็นแบบนั้น เพียงแต่คุณก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของผู้ที่ถูกถ่ายด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอาจจะต้องไปเซ็นเซอร์ตัวเองอีกทีในตอนนั้น แต่เราต้องไม่ควรถูกเซ็นเซอร์จากรัฐ เราควรมีมาตรฐานบางอย่างที่เป็นสากลที่เขาใช้กัน ซึ่งไม่ใช่มาตรฐานของรัฐที่เป็นเผด็จการแบบนี้

แต่ทุกวันนี้ถ้าในฐานะช่างภาพอิสระ เราก็ดูว่าพื้นที่ไหนที่เราควรไปเล่น แล้วก็คุยกันว่าถ้าสื่อกระแสหลักเล่นกันหมดแล้ว เราก็อาจไม่มีความจำเป็นจะทำเนื้อหาซ้อนเขา เงื่อนไขของการทำแบบเขาคือ รูปเราต้องดีกว่า ใหม่กว่า สดกว่า แต่ถ้าหาอะไรแบบนั้นไม่ได้ เราก็ต้องหาประเด็นอื่นๆ จากในงานเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน

ยศธร ไตรยศ

ทัศนคติต่อรูปถ่ายของ Realframe?

 

ยศธร: แรกๆ รูปจะหลากหลายกว่านี้ มีเชิง traditional บ้าง ซึ่งในเชิงประเด็นอาจจะไม่ได้เล่าอะไรมากเท่าแอคชั่นที่มันดูว้าว แต่ถ้าจะมีแบบนั้นอีกก็ดี เอามาเบรคบ้าง แต่เราก็ไม่มีเวลาไปทำ และโดยธรรมชาติของเรามันอยู่กับเรื่องแนวคิดทางการเมือง ต่อให้เล่าเรื่องเชิง  traditional มันก็ยังมีประเด็นที่เป็นการเมืองซ่อนอยู่ ต่อให้ไปถ่ายเรื่องไทใหญ่ เราก็ยังพูดเรื่องคนไร้สัญชาติ ความเป็นคนชายขอบได้อยู่ดี แต่อาจจะพูดผ่านการถ่ายเกี่ยวกับงานประเพณีบางอย่าง การเล่าผ่านบางอย่างที่อาจจะเบาหน่อย แต่โดยเบื้องหลังมันมีการเมืองที่หนักแน่นในตัวเอง คนดูก็รับง่ายกว่า เช่น เราเคยพูดประเด็นเรื่องบัตรทอง แต่เล่าผ่านมุมมองของลูกที่ต้องดูแลพ่อที่ป่วย มันทำให้เรื่องนั้นเข้าถึงคนที่ไม่ได้สนใจการเมืองได้ง่ายขึ้น แต่มันเป็นเรื่องการเมืองชัดๆ เลย พอมันมีคอนเทนต์แบบนี้บ้างเราก็ได้ผู้ชมที่กว้างขึ้น และมันนำไปสู่เรื่องการผลักดันเชิงนโยบาย เชิงโครงสร้าง หรือก็คือเรื่องการเมืองนั้นแหละ

ธิติ: แล้วในพื้นที่ของข่าวรายวันซึ่งมีจำกัด เราก็ต้องพยายามเน้นเรื่องพวกนี้ เรื่องทัศนะทางสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาถ้าเราดูภาพเหตุการณ์ที่เป็นเชิงละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการออกมาต่อต้านอำนาจรัฐ มันมีช่างภาพทั่วไปที่ถ่ายภาพไว้อยู่แล้ว แม้ว่าทัศคติทางการเมืองเขาอาจจะไม่มีหรือมีแต่เป็นอีกแบบ แต่เราก็จำเป็นต้อง concentrate กับเรื่องนี้ด้วย เราเลยต้องให้พื้นที่มันมากขึ้น และเราต้องใช้มันเป็นเครื่องมือในการพูดในเชิงภาพ หรือแม้แต่ในเชิงวิชาชีพ เพื่อที่จะเอาไปยันกับข่าวอื่นๆ ที่มันมีมากมายเต็มไปหมด  

เพราะฉะนั้นมันคือการรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกที่จะไปถ่ายคนที่ออกมาต้านรัฐประหารอย่างเดียว ถ้ามันมีฝ่ายอนุรักษ์นิยมเราก็ต้องไปบันทึกเหมือนกันในความหมายว่ามันคือความเป็นจริงที่มีอยู่ และมันมีอยู่อย่างทรงพลังมาก ซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญ เพื่อที่จะบอกว่าความเป็นอนุรักษ์นิยมมันกำลังกระทำกับคนอีกกลุ่มอยู่

ยศธร: เวลาถ่ายคอนเทนต์ที่เป็นเชิงอนุรักษ์นิยม เราก็จะถ่ายมันออกมาในเชิงตั้งคำถามด้วย แต่เราก็ไม่ได้ไปชี้ว่าเขาผิดชัดเจน

ธิติ: และต่อให้ลงไปถ่ายในมวลชนที่อนุรักษ์นิยมจ๋าก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีปัญหากับคน เราปกติกับเขามากเลย แต่เราทำให้เห็นว่าเวลาม็อบอนุรักษ์นิยมถูก propaganda ให้เป็นม็อบคนดี แต่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เวลาคุณตะโกนด่าผู้นำทางการเมืองสักคนเส้นเลือดคุณปูด แล้วคนก็ชูป้าย ไอ้เหี้ยทักษิณ อะไรแบบนี้ ซึ่งมันหมายความว่าถ้าเราเห็นมวลชนฝั่งแดงมีความ aggressive แล้วสังคมพยายาม propaganda ว่าม็อบอีกฝั่งเป็นม็อบที่ดี ที่เรียบร้อย มันก็ไม่จริง เพราะเราเห็นแล้วว่าเขาก็ aggressive  เหมือนกัน แต่เราไม่ได้จี้ไปที่ความเป็นปัจเจกของเขา

มันต้องเลิกพูดกันได้แล้วว่าข่าวคือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว ข่าวคือความคิดทางการเมืองด้วย ข่าวหมาแมวก็คือความคิดทางการเมืองประเภทหนึ่ง เพราะมันคือการที่คุณเลือกที่จะนำเสนอและไม่นำเสนออะไรในพื้นที่ที่มีจำกัด ทันทีที่คุณจัดสรรพื้นที่ข่าวในหน้าหนึ่ง การให้พื้นที่มากน้อยนั้นกับข้อเท็จจริงใด มันคือความคิดทางการเมืองบวกการตลาด หรือแม้แต่ตัวนักข่าวเองจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามทุกครั้งที่พิมพ์นิ้วลงไปเพื่อที่จะรายงาน ภาษาที่คุณใช้ หรือข้อเท็จจริงที่คุณใช้เพื่อที่จะรายงานมันก็คือความคิดทางการเมือง เช่น ข่าวตำรวจแถลงจำยาบ้า การที่คุณเลือกจะนำเสนอชื่อของตำรวจชั้นนายพลขึ้นก่อนแล้วชั้นประทวนเอาไว้ล่างๆ หรืออาจจะไม่ใส่เลย นี่ก็เป็นความคิดทางการเมือง เพราะคุณต้องการจะดีลกับอำนาจหรือสร้างความสัมพันธ์บางอย่าง

ชุมนุม คนเสื้อหลากสี โดย Realframe

มองเรื่องความเป็นศิลปะในภาพถ่ายของ Realframe ยังไงบ้าง?

 

ยศธร: โดยส่วนตัวเราไม่อาร์ตเลย ดูงานศิลปะไม่เป็นด้วยซ้ำ เราอาจจะดูเป็นแค่ว่ามันสวยดี โดยหลักๆแล้วเรามองว่ามันแบ่งเป็นศิลปะเพื่อศิลปะ กับศิลปะเพื่อสังคม ศิลปะเพื่อศิลปะเขาก็จะแคร์เรื่องสุนทรียะล้วนๆ ไม่ได้มองเรื่องคอนเทนต์ เป็นงานที่อิงกับตัวเองสูง กับศิลปะเพื่อสังคมที่แคร์เรื่องคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งเราเข้าใจงานแบบนี้มากกว่า  

เราดูที่คอนเทนต์มากกว่าที่จะมองแค่ภาพสวยอย่างเดียว ชอบรูปที่มันมีอิมแพค มันสื่อสารได้ ซึ่งมันอาจจะมีส่วนผสมของศิลปะอยู่บ้างในธรรมชาติของมัน แต่เราคงไปไม่ถึงขั้น fine art หรืองานคอนเซปชวล อาจจะเรามองว่าเราอยู่ไกลจากโลกของศิลปินก็ได้

บ้านเรามันมีความพยายามแบ่งพรมแดนระหว่างงานศิลปะกับงานข่าว และคอนเทนต์ของเขาก็ไม่ได้แตะเรื่องพวกนี้เท่าไหร่ เพราะงั้นงานเชิง documetary, photo journalist แทบจะไม่ได้ถูกไปอยู่ในแกลลอรี ในนิทรรศการ และอีกอย่างคือมันไม่ขาย ไม่รู้จะเอาไปขายใคร งานเราเลยไม่ตอบโจทย์ในแง่การค้าเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็เลยจะเป็นงานแคมเปญ งานรณรงค์ แต่เราไม่ได้จะจำกัดตัวเอง เพียงแต่ถ้าพูดแบบน้อยใจหน่อยก็ต้องบอกว่าถูกเขาจำกัดไปแล้ว

ปฏิภัทร: เราก็คล้ายๆกัน แต่นอกจากตัวคอนเทนต์ ถ้ามันสวยด้วย คนมันก็จะดูง่าย ดูแล้วรู้สึก

ธิติ: จริงๆ เราไม่ได้คิดเรื่องศิลปะเลย เรามองเรื่องคอนเทนต์อย่างเดียว แต่เวลาเราดูงานของต่างประเทศ ต้องยอมรับว่ากล้องมันเป็นของเล่นของโลกตะวันตกมานานกว่า และเขาคงเลิกเถียงกันไปแล้วมั้งว่าภาพข่าวมันเป็นคอนเทนต์หรือศิลปะ เพราะบางทีก็ถ่ายสวยมาก ดูอาร์ตมาก ทั้งที่มันคือภาพข่าว เราว่าสังคมไทยพยายามจะสร้างขอบเขตว่าศิลปะคือ Pure Art มากที่สุดก็คือสื่อผสม installation art

มันก็มีงานของศิลปินไทยที่พยายามจะพูดเรื่องหนักเชิงการเมือง เชิงวิพากษ์แบบนี้ให้มันเป็นศิลปะเหมือนกัน เช่น หฤษฏ์ ศรีขาว, ธาดา เฮงทรัพย์ เขาก็พยายามหารูปแบบ วิธีการ ที่จะทำให้คอนเทนต์หนักๆ มันเข้าไปอยู่ในโลกศิลปะได้ แต่ศิลปินบางคนก็มองฟอร์มเป็นคอนเทนต์ไปโดยปริยาย ในขณะที่เราเห็นแต่ฟอร์มแต่ไม่เห็นคอนเทนต์ แต่ช่างภาพที่เรารู้สึกชื่นชมคือช่างภาพที่เรามองเห็นทั้งคอนเทนต์และศิลปะไปพร้อมกัน แม้ว่าตัวเขาจะไม่ได้บอกว่าตัวเขาเป็นศิลปินหรือนักข่าว อย่าง Damir Sagolj ช่างภาพรอยเตอร์

สังคมศิลปะของบ้านเรามันยังไม่สะเด็ดน้ำ ไม่ว่าจะแวดวงวรรณกรรมหรืองานศิลปะหรืออะไรก็ตาม มันยังไม่ได้ถกเถียงกันมากพอที่จะยอมรับความหลากหลายจริงๆ สังคมไทยทำได้แต่ศิลปะบางประเภท บางประเภททำไปก็โดนจับ ติดคุก อย่างที่เราคุยกับเพื่อนที่เยอรมัน เขาไม่ได้ให้ความสำคัญเลยว่านี่เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือนี่เรื่อง Pure Art ทุกคนเท่ากัน เพราะความเป็นมนุษย์คุณเท่ากัน เพราะฉะนั้นเรื่องที่จะถกเถียงมันไม่ใช่เรื่องว่าอะไรน่าสนใจกว่าอะไร เพราะมันหลากหลายมาก

สังคมไทยยังไม่เคยเถียงกันว่าตกลงเรามี Pure Art ได้จริงๆ หรือยัง ตัวอย่างเช่นวัดร่องขุน งานแบบนั้นเป็น Pure Art ไหม ถ้าสมมติคนสร้างกำลังพยายาม Propaganda พุทธศาสนาในขณะที่สังคมไทยไม่ได้มีแต่คนพุทธ เราสามารถบอกได้ไหมว่านั้นเป็น Pure Art แล้วศิลปินที่สามารถทำงานที่มันมีเสรีภาพในตัวเองได้จริงๆ บ้านเรามันมีรึยังล่ะ

พื้นที่ส่วนใหญ่ในการประกวดงานศิลปะ หรือแม้กระทั้งในแกลลอรี ยังเป็นพื้นที่ที่ให้รางวัลในการส่งเสริมคุณค่า อุดมการณ์กระแสหลักของสังคมไทย และพื้นที่ตรงนั้นมันไม่เคยเป็นของคนทำงานอย่างเราอยู่แล้ว  

ปฏิภัทร จันทร์ทอง

ถ้ามีคนอยากเข้าเป็นสมาชิก Realframe?

 

ยศธร: ไม่เอา คือไม่ได้ใจร้าย แต่มันคือความเป็นเพื่อนกันมานาน มันต้องผ่านกระบวนการอะไรกันเยอะแยะกว่าเราจะคุยกันได้

ปฏิภัทร: ทั้งทะเลาะกัน ด่ากัน น้อยใจกัน จนรู้ว่าพูดกันได้ คอมเมนต์กันได้ ก่อนหน้านี้มันมีวิธีการว่าคุณทำมาก่อน แล้วมาโหวตกันว่าผ่านไหม มีคนที่เป็นเหมือนบก. มาชี้อีกทีจะเอาไม่เอา ดูว่ามันควรปรับตรงไหนไหม ใครคิดว่าต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง มีอะไรเซ้นสิทีฟ ก็มาคุยกันก่อนจะลง หลังๆ มันก็เป็นการเชื่อมือกัน ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทุกคนเป็นบรรณาธิการในเรื่องของตัวเองในระดับหนึ่ง ทุกคนเป็นแอดมินเพจ ทุกอย่างมันรันง่ายขึ้นไม่ต้องรอใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมันเท่ากัน จนเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถเอาคนที่เราไม่รู้จักมานั่งทำกระบวนการคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้ได้ในทันที คุยกันในไอเดียเท่ากัน

ยศธร: แล้วเราไม่รู้ว่าเราให้อะไรกับเขาได้ คือถ้าคุณบอกว่าคุณอยากทำงานแบบนี้ คุณทำไปเลย คุณไม่ต้องอยู่ Realframe ก็ได้ เราซับพอร์ทแล้วเราก็เชียร์ให้ทุกคนลุกขึ้นมาเล่าเรื่องใกล้ตัว เล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจ โดยไม่ต้องอยู่ ถ้าคุณอยากแลกเปลี่ยน เรายินดีให้คำปรึกษา เอางานมาให้เราดูได้ ส่งเมล์มาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเจอตัว อย่างต้นปีที่ผ่านมาเราทำเวิร์คช็อปฟรีเพื่อแชร์ไอเดียในการทำงานของเรา  เลยไม่รับนักศึกษาฝึกงาน ถ้าเขาอยากเรียนจริง บอกให้อาจารย์ชวนเราไปบรรยายได้ (หัวเราะ) เพราะหลายคนในนี้ก็เคยไปบรรยาย เราก็ยินดี

กรณีขอให้ลบรูปโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในงานคอนเสิร์ตดนตรีพังก์ ‘จะ4ปีแล้วนะ’?

 

Realframe: เพิ่งเคยมีกรณีแบบนี้ครั้งแรก เขาขอมาในนามส่วนตัว เราดูท่าทีที่เขาขอด้วย แม้มันจะเป็นตัวอักษร แต่เราตีความว่ามันไม่มีท่าทีคุกคาม ข่มขู่ เรามาคุยกันในกลุ่มแล้วเห็นว่า โอเคเราถอยได้ แต่มันไม่ใช่ถอยเต็มตัว มันต้องมีอะไรที่หยัดยืนอยู่บ้าง เราก็เขียนไปประมาณว่าเราลบออกให้แล้ว และเราเคารพเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่ก็คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ควรจะเคารพในการทำงานของเราด้วย แล้วก็กรณีแบบนี้คราวหน้าก็คงจะต้องถกกันให้มากกว่าเดิม ไม่ใช่มีมาตรฐานไปเลยว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่คงแล้วแต่กรณี และคงไม่ยอมง่ายแบบนี้ คงต้องมีเหตุผลในการลบที่เซ้นสิทีฟกว่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะคุณเขิน

บางทีก็ยากที่หลักการเราคือเรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ แต่เราก็มีหลักการเรื่องสิทธิด้วย ซึ่งบางอย่างมันมีความขัดแย้งกันในตัว พอคุณอ้างเรื่องความเป็นส่วนตัว ก็ยอมรับว่าเรามีความลังเล แต่ดีที่เรื่องพวกนี้ถูกหยิบมาพูดถึง อย่างน้อยมันเกิดการถกเถียง แล้วเราไม่ได้มองว่าเราเป็นสื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าเราเป็นสื่อเราอาจปฏิเสธที่จะลบรูปเขา

ปกติเวลาถ่ายเราก็จะเคารพคนที่เราถ่ายอยู่แล้ว หน้างานจริงๆ มันไม่ใช่การเดินเข้าไปขออนุญาต แต่เราสามารถตีความได้จากภาษากายของเขา เช่น เราถ่ายห่างจากคุณเมตรหนึ่ง ถ้าคุณไม่ยอมให้ถ่ายเราคงถ่ายไม่ได้ ถ้าคุณถามเราก็จะบอกว่าเราเอาไปทำอะไร ซึ่งเราก็อาจจะบอกแบบคลุมเครือว่าเอาไปลงเพจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกรูปที่เราถ่ายมันจะถูกนำมาใช้ เราคงไม่ได้เดินไปขออนุญาตทุกคน แต่เราก็พูดคุยกับเขา เขารู้ว่าเราเป็นช่างภาพ เราถ่ายรูปเขา

หรือบางทีก็เป็นเรื่องเงื่อนไขการทำงาน เหตุการณ์มันเกิดแล้วคุณต้องรีบเข้าไปถ่ายก่อน หรือคุณต้องรีบถ่ายรีบส่งเพื่อที่จะปิดเล่มให้ทันเดดไลน์ มันก็อาจจะไม่มีเวลาไปทำความรู้จัก ไปอธิบายเหมือนงานที่มีเวลา

เห็นยังไงบ้างเรื่องการนำรูปของ Realframe ไปใช้?

 

Realframe: มีเรื่องที่มติชนสุดสัปดาห์ดึงรูปเราไปใช้โดยที่ไม่ได้ขออนุญาต ก็ว่ากันเรื่องของลิขสิทธิ์ ซึ่งสื่อบ้านเราไม่ให้ความสนใจ แต่สุดท้ายเขาก็ขอโทษ ก็เคลียร์กันได้ แต่มันน่าเห็นใจตรงที่ถ้าเป็นช่างภาพ แล้วคุณไม่สนใจจะเห็นเครดิตเขาเลย เขาก็คงไม่ได้เติบโต

เรามองว่าเราเป็นเหมือนแอคทิวิสต์ที่ทำงานเรื่องรูปเพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นงานแคมเปญ งานที่ไม่ได้เอาไปขายหากำไร เรายินดีให้เอาไปใช้ฟรี แค่ขออนุญาต ใส่เครดิตให้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องการค้าเราว่ามันต้องคุยกัน ถ้าคุณจ่ายได้ก็จ่ายให้พวกเราหน่อย และที่มันดาร์กคือเวลาเราไปบอกว่าเขาใช้ภาพแล้วไม่จ่ายเงิน เราจะดูหน้าเงินทันที ประเทศนี้ตลกตรงนี้ คุณต้องเป็นคนดี มีน้ำใจ เราเป็นองค์กรอยากแสวงหาผลกำไรแต่ทุกวันนี้เราหาไม่ได้ (หัวเราะ)

สรุปก็คือสื่อเก่ายังคิดว่าตัวเองทำงานแบบอุดมการณ์ แต่จริงๆ แล้วคุณกำลังทำธุรกิจ เวลาบอกว่าให้ระลึกถึง อิศรา อมันตกุล นึกถึง ศรีบูรพา แต่จริงๆ แล้วคุณอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มันไม่เม้กเซ้นส์

 

ติดตามผลงาน Realframe ได้ที่ Facebook, Website

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท