Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง" ส่วนหนึ่งเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายจากหน้า ม.ธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าทำเนียบทวงวันเลือกตั้งจากรัฐบาล คสช. ก่อนที่ตำรวจจะสกัด-ล้อมกรอบหน้ายูเอ็น เชิงสะพานมัฆวาน โดยหลังแกนนำอ่านแถลงการณ์จบได้ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ล่าสุดมีผู้ถูกควบคุมตัว 15 คน

คลิปแกนนำ "คนอยากเลือกตั้ง" ดาวกระจายมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลก่อนถูกสกัดที่สะพานมัฆวาน โดยสุดท้ายแกนนำได้อ่านแถลงการณ์และประกาศมอบตัว

แกนนำ "คนอยากเลือกตั้ง" ที่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นำโดยรังสิมันต์ โรม สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ประกาศยุติการชุมนุม

22 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ในช่วงบ่ายของการชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง" ในโอกาสครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร คสช. ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวสกัดไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลนั้น

ศรีวราห์ตรวจพื้นที่ชุมนุม
ลั่นไม่ให้เคลื่อนไปไหน คสช. แจ้งความหมดแล้ว

ทั้งนี้มีรายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เดินทางมาตรวจพื้นที่ชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝั่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าไม่สามารถให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปไหนได้ เนื่องจากทางฝ่ายกฎหมาย คสช.ได้ไปแจ้งความไว้กับแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งทั้งหมดแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา

ตอนนี้อย่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแบกภาระไปมากกว่านี้ โดยจะตรึงกำลังเจ้าหน้านี้ไว้ตลอด หากผู้ชุมนุมป่วยหรือเจ็บ ต้องส่งแพทย์มาดูแลทันที ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้านี้จะไม่มีการรุกเข้าหากกลุ่มผู้ชุมนุมจะเรียกร้องอะไร ก็สามารถเรียกร้องมาตรงนี้ยังพออนุโลมได้ หากยังอยู่ในกรอบกฎหมายทางเจ้าหน้าที่ก็จะลดกำลังลง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายไปมาก หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช้เครื่องทุ่นแรง ทางตนก็สบายใจ

มีรายงานด้วยว่าในช่วงที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ เดินทางกลับมีประชาชนประมาณ 30 คน รอโห่ไล่ด้วย

 

อานนท์ นำภา ดาวกระจายมุ่งหน้าทำเนียบ แต่ถูกสกัดที่มัฆวาน

ต่อมาเวลาประมาณ 13.30 น. อานนท์ นำภา และกลุ่มผู้ชุมนุม "คนอยากเลือกตั้ง" ส่วนหนึ่งเดินเท้าเคลื่อนขบวนแบบดาวกระจายออกจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าสู่ ถ.ราชดำเนิน มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งภายในปีนี้

ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวสกัดใหม่ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ บริเวณสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นจุดที่ห่างจากทำเนียบรัฐบาลประมาณ 300 เมตร

โดยเริ่มแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเจรจาให้ผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์บริเวณแนวเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ และเตือนว่าหากเคลื่อนไปข้างหน้าจะดำเนินคดีทันที โดยในเวลาต่อมา ณัฐฐา มหัทนา ได้เดินทางมาสมทบพร้อมผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผกก.สน.ดุสิต ได้ประกาศบนรถขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมทราบว่า การชุมนุมดังกล่าวขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ขอให้แกนนำ ยุติการชุมนุมดังกล่าวและนำมวลชนออกจากพื้นที่

ตำรวจตั้งแถวสกัด-ผลักดันหน้ายูเอ็น
แกนนำอ่านแถลงการณ์-ก่อนประกาศมอบตัว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวและพยายามเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ

ทั้งนี้อานนท์ นำภา ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมนั่งลงและอย่าขัดขืนหากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรง โดยแกนนำจะยอมมอบตัวกับตำรวจไม่ตอบโต้ ทั้งนี้เมื่อตำรวจเคลื่อนกำลังเข้าใกล้มีการยื้อยุดฉุดกระชากและพยายามแยกแกนนำออกจากผู้ชุมนุม จนเหลือแกนนำในวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้แกนนำได้ขออ่านแถลงการณ์ก่อนยอมมอบตัวกับตำรวจ

โดยแถลงการณ์ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ประชาชนชาวไทยทุกท่าน

พวกเราซึ่งเป็นหนึ่งในประชาชนชาวไทยเหมือนกับท่านทั้งหลาย ได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เพื่อเป็นเสียงป่าวประกาศแทนประชาชนทั่วประเทศ ว่าไม่ต้องการเห็นเผด็จการ คสช. มีอำนาจครอบงำสังคมไทยอีกต่อไป ลุกขึ้นมาแสดงพลังต่อต้านการเลื่อนการเลือกตั้งและความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. มาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคม 2561

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 4 เดือน พวกเราจัดกิจกรรมแสดงพลังมาแล้ว 6 ครั้ง

ในทุกครั้งพวกเราได้ส่งเสียงนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งและคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทว่าไม่มีครั้งไหนเลยที่ คสช. และบรรดาบริวารทั้งหลายรับฟังและนำไปปฏิบัติ มิใช่เพราะข้อเสนอของพวกเราเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ แต่เป็นเพราะหูของพวกเขาได้ยินแต่คำเย้ายวนจากปีศาจแห่งความกระหายอำนาจที่อยู่ภายในจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา

ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราสามารถสรุปได้อย่างหนึ่งว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาคือ 4 ปีแห่งการบ่อนทำลายชาติโดยรัฐบาล คสช. อันประกอบไปด้วยการบ่อนทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน บ่อนทำลายเศรษฐกิจ และบ่อนทำลายอนาคต

ในด้านหลักนิติรัฐนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนนั้น รัฐบาล คสช. ได้สร้างกลไกในรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้ตนใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ โดยมีมาตรา 44 ที่สถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จให้หัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม ซึ่งอำนาจเหล่านี้ รัฐธรรมนูญที่พวกพ้องของ คสช. ร่างขึ้น ได้รับรองเอาไว้ในมาตรา 279 มากไปกว่านั้น มาตราดังกล่าวยังได้รับรองการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ ซึ่งหมายความว่า ความเลวร้ายใดๆ ที่ควรถูกถือกันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ปรกติ ได้ถูกแปรสภาพให้เป็นเสมือนเป็นสิ่งปรกติ อันรวมถึงการนิรโทษกรรมตัวเอง โดยไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อผลกรรมที่เคยก่อขึ้น

นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวยังได้ส่งผลกระทบที่ทำให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบมีอำนาจในการออกคำสั่งใดๆ เพื่อเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน เพื่อให้พรรคการเมืองอ่อนแอ โยกย้ายข้าราชการเพื่อสนับสนุนการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และส่งเสริมกลไกในการสืบทอดอำนาจ มีการใช้องค์กรอิสระเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของอำนาจของตัวเอง ดังตัวอย่างการอนุมัติให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป เพื่อทำให้การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของพวกพ้องในรัฐบาล คสช. ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ไม่สามารถเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ดังที่ปรากฎในกรณีนาฬิกา 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ขณะเดียวกัน ประชาชนและสื่อมวลชนก็ได้สูญเสียเสรีภาพในการแสดงออก เพราะการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ มีการเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ ข่มขู่คุกคามและติดตามกว่า 1,000 ราย ปิดกั้นและแทรกแซงการจัดกิจกรรมซึ่งรวมถึงกิจกรรมทางวิชาการกว่า 300 ครั้ง ประชาชนถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกือบ 400 ราย ถูกดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะและข้อหายุยงปลุกปั่นรวมกว่า 300 คน พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,000 คน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย

ในด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล คสช. ได้ใช้วิธีการหว่านงบประมาณในลักษณะแจกจ่ายเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการโดยที่ขาดสติปัญญาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดรายจ่ายเกินรายได้และทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6 แสนล้านบาทในที่สุด ซ้ำร้ายยังมีการจัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับกองทัพเป็นอันดับหนึ่ง จึงได้เห็นการเพิ่มงบประมาณให้กับกองทัพ การใช้งบมหาศาลในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือแม้แต่การเกณฑ์ทหารซึ่งควรถูกยกเลิกไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสงครามทั่วโลกแล้ว ยังไม่นับรวมถึงการทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านลงไปกับโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้เดินสายหาเสียง เพื่อปูทางสู่การสืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีนอกครรลองประชาธิปไตยผ่านงบประมาณภาษีของประชาชนต่อไป

นอกจากนั้นรัฐบาลเผด็จการยังบ่อนทำลายอนาคต นี่คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ คสช. ได้มอบให้ไว้ต่อประชาชน รัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกของ คสช. นั้นได้มีการวางสารพัดกับดักเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าภาคการเมืองและภาคประชาชนจะอ่อนแอ จนไม่สามารถเป็นปฏิปักษ์กับอำนาจเผด็จการได้ กล่าวคือ ได้มีวางกับดักที่เปรียบเสมือนการยึดอนาคตของประเทศชาติด้วยการร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม โดยมี ส.ว. จำนวน 250 คนที่เป็นสมัครพรรคพวกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจในการกำกับดูแล หมายความว่ากลไกเหล่านี้ก็จะคอยปกป้องคุ้มครองระบอบ คสช. ในดำรงอยู่สืบทอดอำนาจต่อไปอีกแสนนาน

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงขอสู้อีกครั้ง ด้วยการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล สถานที่ซึ่ง คสช. ได้ยึดครองและใช้เป็นฐานในการวางไข่เผด็จการมากว่า 4 ปี เข้าไปให้ใกล้พวกเขามากที่สุดด้วยหวังที่จะให้ได้ยินเสียงของประชาชนเสียที แม้ในวันนี้พวกเราจะไปไม่ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ แต่พวกเราจะยังขอตะโกนบอกย้ำกับพวกเขาอีกครั้งด้วยเสียงที่ดังที่สุดเท่าที่จะเปล่งออกมาได้ ถึงจุดยืนของพวกเราว่า

1. การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ คสช. เคยให้คำมั่นไว้

2. คสช. จะต้องยุติความพยายามใดๆ ที่จะสืบทอดอำนาจหรือเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

3. จะต้องปลดอาวุธ คสช. โดยการยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ของ คสช. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศหรือคำสั่งที่ขัดขวางการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยทันที

4. คสช. จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเอง และเปลี่ยนสถานะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลรักษาการโดยทันที เพื่อสร้างหลักประกันในการจัดการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม โปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงจาก คสช.

5. กองทัพจะต้องยุติการสนับสนุน คสช. ในทุกประการโดยทันที เพื่อไม่ให้ คสช. มีขุมกำลังในการสืบทอดอำนาจเผด็จการได้อีก

ขอประชาชนชาวไทยทุกคนจงเป็นพยาน ว่าพวกเราได้พยายามทุกวิถีทางแล้วในการเรียกร้องให้ คสช. หยุดความพยายามในการเลื่อนการเลือกตั้งและสืบทอดอำนาจแต่โดยดี หาก คสช. ยังคงดันทุรังที่จะสานต่อความทะเยอทะยานของตนต่อไป พวกเราก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อโค่นล้มมันให้จงได้เช่นกัน

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

แถลง ณ หน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ จุดที่ใกล้ทำเนียบรัฐบาลมากที่สุดเท่าที่พวกเราไปถึง

22 พฤษภาคม 2561

000

ชลธิชา แจ้งเร็ว: "เราได้พยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุดแล้ว"

หลังอ่านแถลงการณ์ ชลธิชา แจ้งเร็วกล่าวด้วยว่า "ขอให้ประชาชนชาวไทย โปรดจงจำไว้ว่า เราได้พยายามต่อสู้อย่างถึงที่สุดแล้ว"

โดยในเวลา 15.20 น. ภายหลังแกนนำคนอยากเลือกตั้ง อ่านแถลงการณ์เสร็จ ทั้งหมดได้เดินเข้ารถควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ตำรวจประกาศให้ผู้รวมชุมนุมทั้งหมดสลายตัว และตำรวจได้เปิดเส้นทางจราจร

ทั้งนี้แกนนำที่มอบตัวกับตำรวจที่ ถ.ราชดำเนิน เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ อาทิ อานนท์ นำภา, ณัฏฐา มหัทธนา, ชลธิชา แจ้งเร็ว ฯลฯ เบื้องต้นทราบว่าควบคุมตัวที่ห้องประชุมชั้น 4 สน.พญาไท

แกนนำที่หน้า ม.ธรรมศาสตร์ ประกาศมอบตัว
สิรวิชญ์ย้ำวันนี้ยังไม่ยอมแพ้ วันหน้าขอสู้เผด็จการต่อไป

ส่วนแกนนำที่อยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ปิยรัฐ จงเทพ ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้เตรียมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ อย่างไรก็ตามหลังมีการเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแนวสกัด และมีการเจรจาหลายหน

ในที่สุดเวลาประมาณ 15.30 น. แกนนำที่อยู่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศขอยุติการชุมนุม และมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยขอให้ตำรวจเปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับบ้าน

ทั้งนี้สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว กล่าวกับผู้ชุมนุมว่าวันนี้ไม่ใช่การยอมแพ้ วันข้างหน้ายังต้องสู้กับเผด็จการทหารต่อไป โดยเขากล่าวปลอบใจผู้ชุมนุมที่เหลือให้เดินทางกลับบ้าน หรือหากใครจะไปติดตามการดำเนินคดีก็ขอให้เดินทางไปที่สถานีตำรวจอย่างสงบ ส่วนรังสิมันต์ โรม กล่าวว่าขอให้การชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเผด็จการตลอดไป

ทั้งนี้มีแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไท 10 คน และมีผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงครามอีก 4 คน รวมแล้วขณะนี้มีผู้ถูกควบคุมตัว 14 คน

โดยรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวที่ สน.พญาไท 10 คน ได้แก่  1. อานนท์ นำภา 2. ชลธิชา แจ้งเร็ว  3. ณัฏฐา มหัทธนา  4. เอกชัย หงส์กังวาน 5. โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ 6. คีรี ขันทอง  7. พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์ 8. โรจน์ ตรงงามรักษ์ 9. ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม 10. ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม ส่วนรายชื่อผู้ถูกควบคุมตัวที่ สน.ชนะสงคราม 4 คน ได้แก่  1. รังสิมันต์ โรม 2. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ 3. ปิยรัฐ จงเทพ 4. วิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์

 

 

มีรายงานจาก iLaw ด้วยว่ามีนักกิจกรรมจากกลุ่ม YPD ถูกตำรวจควบคุมตัวอีก 1 ราย หลังสวมหน้ากาก พล.อ.ประยุทธ์ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ลุมพินี ขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาใดหรือไม่

ตั้ง 3 ข้อหาแกนนำคนอยากเลือกตั้ง

เวลาประมาณ 17.00 น. ที่ สน.ชนะสงคราม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พล.ต.ต.สมบัติ มิลินทจินดา รองผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รองผบช.น. พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รองผบก.สส.ภ.1 พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผกก.สน.ชนะสงคราม พร้อมคณะเดินทางมาติดตามความคืบหน้า

โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ เปิดเผยว่าแจ้งข้อหาผู้ต้องหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น  มาตรา 215 ข้อหาผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปหรือกระทำการให้เกิดตวามวุ่นวายในบ้านเมือง และข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ในส่วนของผู้ต้องหารายหนึ่งที่เป็นผู้ใช้คีบตัดแม่กุญแจ ประตู 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องรอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งดำเนินคดีก่อนถึงจะสามารถแจ้งข้อหา ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตามการสอบปากคำต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ หากทำการสอบสวนเสร็จสิ้นจะควบคุมตัวแกนนำไปขออำนาจศาลฝากขัง ส่วนพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากก่อเหตุลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net