Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549เป็นต้นมา งบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เฉพาะในช่วง 4 ปี ของรัฐบาลเผด็จการประยุทธ์ ได้ถลุงงบประมาณแหลกลาญ ซื้ออาวุธยุธโธปกรณ์ พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือน-ตำแหน่งปูนบำเหน็จให้กับพรรคพวก-บริวารกันเต็มที่ จนงบประมาณขาดดุล สร้างหนี้สินให้กับประชาชน ด้วยการรีดภาษีนานาชนิดทุกช่องทางเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายปรนเปรอพวกพ้องและสมุน ในขณะที่ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัสจากภาวะข้าวยากหมากแพงสูงสุดเป็นประวัติการณ์

รายได้หลักของรัฐบาลมาจากการรีดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ซึ่งเป็น ภาษีเรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชนในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ ดังนั้นทุกครั้งของการจับจ่ายใช้สอยทั้งด้านการซื้อสินค้าหรือบริการมีมากเท่าไร ย่อมหมายถึง ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้มากขึ้นตามไปด้วย  ประชาชนทุกคนจึงถูกรีดภาษีมูลค่าเพิ่มกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือร่ำรวยมั่งคั่งเพียงไรก็ต้องจ่ายเท่ากันในอัตรานี้ สร้างรายได้เข้ารัฐมหาศาลถึงปีละกว่า 8 แสนล้านบาท ไม่ว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะเพิ่มขึ้นเท่าไรผู้ประกอบการมักจะผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนี้มาให้ประชาชน ราคาสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว รายได้ที่แท้จริงจะถูกลดค่าลงไป ผลก็คือการบริโภคของประชาชนลดลงตามไปด้วย นำมาซึ่งความทุกข์ยากเดือดร้อนมาให้กับประชาชน เศรษฐกิจจะชะงักงันตามไปเป็นลูกโซ่

ภาษี  เป็นเครื่องมือทางการคลังสร้างรายได้เข้ารัฐ ชนิดหนึ่ง การใช้นโยบายเพิ่มภาษี เรียกกันว่า เป็นนโยบายการคลังแบบหดตัว (Restrictive Fiscal Policy) ซึ่งจะใช้เมื่อต้องการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงมากเกินไป ในขณะเดียวกัน การเพิ่มภาษีรัฐบาลจะมีรายได้นำไปลงทุนพัฒนาประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และยังใช้เป็นมาตรการช่วยในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นเกินไป ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 แต่ในปัจจุบันได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาลดภาษีฯฉบับที่ 549 ให้ลดลงเหลือเพียง 7% ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2540 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งแต่ทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำอย่างหนักในปลายปีรัฐบาลจึงลดลงมาเหลือ 7 เปอร์เซ็นต์จนถึงปัจจุบันนี้

ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ในขณะเดียวกันรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จาก ช่วงเวลา 4 ปีรัฐบาล “บิ๊กตู่”  จัดทำงบประมาณขาดดุล รวมทั้งสิ้น 1,517,921.7 ล้านบาท รัฐบาลจึงต้องทำการรีดภาษีให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ทำการกู้เงินมาชดเชยการขาดดุล ทำให้หนี้สาธาณณะเพิ่มขึ้นถึง1.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.8 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ระดับ 60% ของจีดีพี

เมื่อรัฐบาลสิ้นไร้ไม้ตอก จึงต้องหันมารีดภาษีกันเต็มที่นั่นก็คือการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 9 มี.ค.61 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า “ ขณะนี้ประชาชนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตอยู่ที่ร้อยละ 7 มาหลายปี แต่หากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 จะทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นกว่าแสนล้านบาท ถามว่าจะเสียสละกันได้ไหม เพราะที่ผ่านมาละเลย ไม่สุจริต ต้องไล่ให้หมด และขณะนี้รายจ่ายสูงกว่ารายรับ หากไม่ทำเช่นนี้ล้มละลายทั้งประเทศ รัฐบาลจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อไปทำในสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ขณะที่ราคาสินค้าไม่ควรปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันเดินด้วยความระมัดระวังและมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอด สามารถบริหารจัดการได้ เงินกู้ต่างๆอยู่ในกรอบทั้งหมด”

ถัดมาไม่นาน ประชาชนทุกสารทิศต่างพากันประณามสาปแช่งคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนรัฐบาลต้องยอมถอยด้วยการเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาอีกหนึ่งปี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2560 โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ ให้ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% โดยให้มีผลบังคับในการจัดเก็บออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตามวงรอบปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561

ในช่วงเดือนเมษายน 2561 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก ว่า หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ให้เก็บอัตรา 9% เป็นความตั้งใจจริงที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จึงได้มายื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 เป็นจำนวนสามข้อคือ หนึ่ง ให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 26-28 บาท  ตรึงราคาแก็สหุงต้มถังละ 360 บาท สอง คัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจนกว่าความยากจนจะหมดไป สาม ลดงบประมาณรายจ่ายสิ้นเปลืองในเรื่อง กินเงินเดือนสองตำแหน่ง หยุดการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และตำแหน่งนายพลล้นเกินในกองทัพ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยทำให้ในวันที่ 13 มิย. รัฐบาลประกาศตรึงราคาแก๊สหุงต้มตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ต่อมาในวันอังคารที่3 ก.ค.61 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติขยายระยะเวลาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่อัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 30 ก.ย.2561 ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2562 โดยกระทรวงการคลังคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากมาตรการนี้ ประมาณ 2.58 แสนล้านบาท

การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยในการคัดค้านการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มาในจังหวะก้าวสำคัญไม่ใช่เพียงแต่เสียงคัดค้านดังกระหึ่มขึ้นแล้วเท่านั้นแต่หมายถึงการรวมตัวของประชาชนอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาอีกด้วย ทำให้รัฐบาลต้องยอมถอยทันที ด้วยการยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว

แม้ว่ารัฐบาลยอมถอยในการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รัฐบาลก็ยังหันไปรีดภาษีตัวอื่น เช่น  การเก็บภาษีรับมรดก และยังมียังมีภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่สูบเลือดประชาชนเป็นรายได้ของรัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ ประชาชนจึงต้องจ่ายภาษีน้ำมันซ้ำซ้อนกันหลายตัวอันเป็นต้นเหตุให้ราคาน้ำมันแพงกว่าประเทศบ้าน นอกจากนี้ยังได้ผลักดันพ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. … หรือ พ.ร.บ.ภาษีลาภลอย เป็นการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นรวมถึงการออกกฎหมายเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ และ ภาษีรายได้ของวัดวาอารามทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการยกร่างกฎหมายอยู่ในขณะนี้

ในความเป็นจริงเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมาก่อน มีทรัพยากรมากมาย และ มีฐานะการคลังที่เข้มแข็ง หากรัฐบาลบริหารงบประมาณเป็นไปตามหลักทฤษฎีพอเพียงแล้ว จะมีเงินเหลืออยู่มหาศาลทีเดียว โดยไม่ต้องรีดภาษีเอาจากประชาชนมากขนาดนี้ แต่ที่งบประมาณขาดดุลและต้องรีดภาษีเอาจากประชาชนในปัจจุบันนี้ก็เพราะการใช้จ่ายสิ้นเปลืองไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมายโดยไม่เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การกินเงินเดือนสองตำแหน่ง ตำแหน่งนายพลล้นเกินในกองทัพ จะเห็นได้ว่า ในปี 2561 ว่า กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 222,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 4.16% นอกจากนี้ยังมีการหว่านเงินในโครงการประชารัฐหลายโครงการรวมทั้ง การขึ้นเงินเดือนให้กับองค์กรอิสระและตุลาการย้อนหลังไปถึงปี 2557 เป็นกรณีพิเศษ เท่ากับว่ารัฐบาลรีดภาษีจากประชาชนนำไปปรนเปรอให้กับกลุ่มข้าราชการที่ทำงานสนับสนุนรัฐบาล

ไม่น่าเชื่อเลยว่า รัฐบาลเผด็จการรีดภาษีกันทุกทางขนาดนี้แต่เสียงคัดค้านกลับแผ่วเบาเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลประยุทธ์ สามารถสืบทอดอำนาจของตัวเองต่อไปได้อีกเชื่อได้ว่าการรีดภาษีจะเป็นไปอย่างหนักหน่วงรุนแรงและรวดเร็วกว่าเดิมมาก เพราะจะได้ข้ออ้างในเรื่องการสนับสนุนจากประชาชน แม้ว่าประชาชนทุกวันนี้จะทุกข์ยากแสนสาหัสเพียงไรก็ตามแต่ก็ยังยอมให้รัฐบาลเผด็จการขูดรีดภาษีกันเต็มที่ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนแล้ว ไม่ทันนกกระจอกกินน้ำเป็นแน่ที่จะต้องถูกโค่นล้มลงไปเสียก่อน นับเป็นโอกาสทองของรัฐบาลเผด็จการในขณะนี้แห่งเดียวในโลกที่สามารถรีดภาษีเอาจากประชาชนอย่างง่ายดาย และยังได้สืบทอดอำนาจเผด็จการให้ยาวนานต่อเนื่องไปได้อีก 5 ปีข้างหน้า ได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล .

  

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://prakaifai.com/2018/07/13

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net