Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีอาร์เซของโบลิเวียกล่าวขอบคุณประชาชนหลังจากที่กองทัพพยายามทำการรัฐประหารเขาแต่ไม่สำเร็จเกิดกระแสต่อต้านจากทั้งในและนอกประเทศ ขณะเดียวกันการพยายามรัฐประหารที่ไม่สำเร็จในครั้งนี้ก็สะท้อนอะไรบางอย่างในการเมืองโบลิเวียบ้างและยังเกิดคำถามเพิ่มอีกว่าตกลงแล้วประธานาธิบดีสั่งทำรัฐประหารตัวเองหรือไม่?

1 ก.ค. 2567 ที่ประเทศโบลิเวียเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ผู้บัญชาการกองทัพ ฮวน โฮเซ ซูนิกา พยายามทำรัฐประหารโดยนำกองทัพบุกเข้าไปที่ทำเนียบประธานาธิบดีและวางกำลังอยู่จัตุรัสหน้าทำเนียบ มีรายงานว่ามีการใช้รถหุ้มเกราะพุ่งชนประตูทำเนียบด้วย

อย่างไรก็ตาม การพยายามก่อรัฐประหารดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จ หลายชั่วโมงหลังจากนั้น ซูนิกาก็ถอนกำลังทหารออกไปหลังจากที่เหล่าผู้นำจากทั่วโลกประณามการกระทำของกองทัพว่าผิดกฎหมาย

ประธานาธิบดีของโบลิเวีย ลุยส์ อาร์เซ กล่าวถึงการที่กองทัพถอนทัพออกไปโดยที่ทำการรัฐประหารยังไม่ทันสำเร็จ ว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยโบลิเวีย และได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งมีประชาชนโบลิเวียบางส่วนออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อประท้วงการพยายามก่อรัฐประหาร

อาร์เซกล่าวว่า "ขอบคุณประชาชนทุกคนมาก" และ "ขอให้ประชาธิปไตยจงเจริญ"

มีภาพวิดีโอสุดดราม่าเผยแพร่ออกไปทางโทรทัศน์ของโบลิเวีย แสดงให้เห็นอาร์เซเผชิญหน้ากับซูนิกาและกลุ่มทหารที่โถงทางเดินของทำเนียบ อาร์เซประกาศในคลิปว่า "ผมเป็นผู้บังคับบัญชาของพวกคุณ แล้วผมขอสั่งให้พวกคุณถอนทัพของพวกคุณออกไป และผมจะไม่อนุญาตให้มีการกระด้างกระเดื่องเช่นนี้"

หลังเกิดเหตุการณ์ ซูนิกา ผู้พยายามก่อรัฐประหารก็ถูกจับกุมในที่สุด

ทำไมถึงเกิดรัฐประหารขึ้น

นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีอาร์เซเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลของเขาก็เผชิญกับแรงกดดันทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา

ฝ่ายขวาในพื้นที่อย่างซานตาครูซได้นำการประท้วงอย่างหนักต่อมาตรการที่พวกเขาเชื่อว่าถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นไม่ให้พวกเขามีอำนาจ ในปี 2566 ผู้นำฝ่ายค้าน ลูอิซ เฟอร์นานโด คามาโช ถูกจับกุมด้วยข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปี 2562

สำหรับฝ่ายซ้ายในโบลิเวียนั้น อาร์เซต้องเผชิญกับการต่อต้านจากอดีตพี่เลี้ยงทางการเมืองของเขา คือ เอโว โมราเลส อดีตประธานาธิบดีของโบลิเวียผู้ที่ประกาศตนว่าจะมาเป็นประธานาธิบดีแทนอาร์เซในการเลือกตั้งปี 2568

สิ่งที่เติมเชื้อไฟให้กับความวุ่นวายทางการเมืองคือภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงทั่วประเทศ และวิกฤตทางการเงินจากการที่เงินทุนสำรองในประเทศกำลังร่อยหรอ

จอห์น โฮลแมน ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราอธิบายว่า อาร์เซกำลังมีปัญหาอยู่นิดหน่อย จากการที่เขามีคะแนนนิยมต่ำ จากผลโพลครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของเขาอยู่ที่ร้อยละ 38 เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี แล้วเขาก็ยังไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ยืดเยื้อกับ เอโว โมราเลส เหตุเหล่านี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับประธานาธิบดี ลุยส์ อาร์เซ

ซูนิกา เป็นผู้บัญชาการทหารของโบลิเวียที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาร์เซ แต่เขาก็พยายามรัฐประหารด้วยการยกทัพไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี โดยอ้างแรงจูงใจว่าเป็นเพราะความป่วยไข้ของประเทศ

"ประเทศของพวกเราจะดำเนินต่อไปแบบนี้อีกไม่ได้" ซูนิกากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในประเทศ เขาบอกอีกว่า "หยุดทำลายล้าง หยุดทำให้ประเทศเราจนลง หยุดการดูหมิ่นเหยียดหยามกองทัพของพวกเรา"

ซูนิกา บอกอีกว่าเขามีเป้าหมายที่จะ "คืนประชาธิปไตย" และ "ปลดปล่อยนักโทษการเมือง" แต่ในตอนนี้เขาจะยังคงยอมรับให้อาร์เซเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปก่อน

สื่อในประเทศโบลิเวียรายงานว่าอาร์เซได้ลดตำแหน่งของซูนิกาเมื่อช่วง 1 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเกิดการพยายามรัฐประหาร ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประธานาธิบดีกับผู้นำทหารรายนี้

ประชาชนในประเทศประณามรัฐประหาร

แต่ในตอนที่กองทัพและรถหุ้มเกราะยึดกุมพื้นที่พลาซามูริลโย ที่ใจกลางกรุงลาปาซ ก็มีกระแสต่อต้าน

สหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศประกาศจะทำการหยุดงานประท้วงแบบไม่มีกำหนดเพื่อปกป้องรัฐบาลอาร์เซ มีวิดีโอในโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นฝูงชนขับไล่กองกำลังสนับสนุนการรัฐประหาร

อดีตประธานาธิบดี โมราเลส ประณามการกระทำของกองทัพ เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีอาญาต่อซูนิกาและใครก็ตามที่ช่วยเหลือการรัฐประหาร

แม้กระทั่งฝ่ายขวาที่เคยขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากโมราเลสก็ยังต่อต้านการกระทำของกองทัพ อดีตประธานาธิบดี จีนีน อันเญซ กล่าวต่อต้านการรัฐประหารโดยบอกว่าเธอ "คัดค้านอย่างสิ้นเชิง" ต่อการกระทำของกองทัพและบอกว่ามันนับเป็น "การทำลายระเบียบหลักการรัฐธรรมนูญ" รวมถึงยืนยันว่าอาร์เซจะต้อง "ออกจากตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งปี 2568"

จากทำเนียบประธานาธิบดี อาร์เซได้เผยแพร่วิดีโอแสดงให้เห็นแนวร่วมรัฐบาลยืนอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่รัฐมนตรีทุกกระทรวง อาร์เซประกาศให้คำมั่นว่าจะ "เผชิญหน้ากับความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะคุกคามประชาธิปไตยของพวกเรา"

"เรียนพี่น้องประชาชนชาวโบลิเวียและประชาคมโลก ประเทศของพวกเราในวันนี้กำลังเผชิญกับการพยายามก่อรัฐประหาร" อาร์เซกล่าว

"ขอให้ประชาชนชาวโบลิเวียออกมากันในวันนี้ พวกเราต้องการประชาชนชาวโบลิเวียในการจัดตั้งและขับเคลื่อนต่อต้านการรัฐประหารเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย พวกเราไม่สามารถอนุญาตให้เกิดการรัฐประหารอันจะเป็นการพยายามบั่นทอนชีวิตของชาวโบลิเวียอีกต่อไป"

ประวัติศาสตร์การรัฐประหารในโบลิเวีย

ก่อนหน้านี้โบลิเวียเคยเกิดการรัฐประหารมาก่อน ทำให้ภาพของการที่กองทัพนำกำลังเข้าไปที่ทำเนียบประธานาธิบดีเป็นเรื่องน่าตระหนก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งหลังสุดคือกรณีการรัฐประหารปี 2562 ที่มีการโค่นล้มประธานาธิบดีในสมัยนั้นคือ เอโว โมราเลส หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำอย่างต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 4

โบลิเวียยังเคยมีประวัติความวุ่นวายทางการเมืองมาเป็นเวลายาวนานนับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชในปี 2368 แคทริน เลเดเบอร์ จากองค์กรแอนเดียนอินฟอร์เมชันเน็ตเวิร์กกล่าวว่าในหมู่ประเทศอเมริกาใต้ทั้งหมด โบลิเวียนับเป็นประเทศที่เผชิญการรัฐประหารมากที่สุด

เลเดเบอร์บอกอีกว่า อย่างไรก็ตามโบลิเวียก็เคยมีช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยมายาวนานมากก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารในปี 2562 และเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือโบลิเวียเคยมี "รัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและการรัฐประหารในปี 2562" ซึ่งเลเดเบอร์มองว่าเรื่องนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกกังขา ไม่ไว้ใจกองทัพ ทำให้กองทัพมีภาพลักษณ์เป็นลบ

เลเดเบอร์มองว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนเผชิญการดำเนินคดีในเรื่องการก่อรัฐประหาร แต่กองทัพโบลิเวียในฐานะตัวสถาบันเอง "ไม่ได้รับผลกระทบทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญหรือมีการลงโทษหรือมีการปรับโครงสร้างใดๆ หลังจากที่มีการกระทำแบบต่อต้านประชาธิปไตยอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2562-2563" และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดก็เป็นสัญญาณว่ากองทัพโบลิเวียยังไม่ได้ยึดมั่นในประชาธิปไตยมากนัก

หลังการรัฐประหารล้มเหลว อาร์เซก็แต่งตั้ง โฮเซ วิลสัน ซานเชซ มาเป็นนายพลแทนที่ซูนิกา ซึ่งซานเชซได้สั่งการเคลื่อนทัพทั้งหมดกลับสู่ค่ายทหาร และบอกว่า "ไม่มีใครอยากเห็นภาพแบบนี้ที่พวกเราเห็นบนถนน"

นานาชาติเรียกร้องสันติภาพ

ภาพของการพยายามทำรัฐประหารแพร่กระจายไปทั่วโลก เหล่าผู้นำจากประเทศต่างๆ เช่น บราซิล, เม็กซิโก และโคลอมเบีย ต่างก็แสดงความตระหนกและประณามการพยายามก่อรัฐประหารว่าเป็นการโจมตีประชาธิปไตย

ผู้นำที่ประณามการพยายามรัฐประหารในโบลิเวียได้แก่ อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายของเม็กซิโก, เซียวมารา คาสโตร ประธานาธิบดีฮอนดูรัส, กาเบรียล บอริค ประธานาธิบดีชิลี

ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐฯ แถลงถึงเรื่องนี้โดยระบุขอ "เรียกร้องให้มีความสงบและอดกลั้น" โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศแถลงว่าอียู "ขอแสดงความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกับรัฐบาลโบลิเวียและประชาชนโบลิเวีย"

องค์การนานารัฐอเมริกา (OAS) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 32 ประเทศจากทุกภูมิภาคของทวีปอเมริกาแถลงถึงเรื่องนี้ โดยที่ผู้นำองค์การ ลูอิซ อัลมาโกร กล่าวว่า "พวกเราขอประณามเหตุการณ์ในโบลิเวีย กองทัพจะต้องรับใช้อำนาจฝ่ายพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม"

อย่างไรก็ตาม โฮลแมน ผู้สื่อข่าวอัลจาซีราเตือนว่า การสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากต่างประเทศไม่ได้หมายความว่าปัญหาของอาร์เซหมดไป ในช่วงเดียวกับที่ซูนิกาถูกจับกุมตัว ผู้นำทหารก็กล่าวหาโดยยังไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าการรัฐประหารในครั้งนี้อาร์เซเป็นผู้วางแผนให้เกิดขึ้นเองเพื่อเสริมภาพลักษณ์ความนิยมของตัวเองที่กำลังตกต่ำ

โฮลแมน บอกว่าในตอนนี้เสถียรภาพในโบลิเวียดูเหมือนจะกลับมาอีกครั้ง แต่ประเทศโบลิเวียที่มีความแตกแยกอย่างฝังรากลึกก็มีโอกาสที่สถานการณ์จะปะทุขึ้นอีกครั้ง

หรืออาร์เซจะรัฐประหารตัวเอง?

อย่างไรก็ตาม ซูนิกาได้กล่าวหาอาร์เซผ่านสื่อตอนที่เขาถูกจับกุมว่า อาร์เซเป็นคนสั่งให้เขาทำรัฐประหารตัวเอง แม้ว่าคำกล่าวหานี้ของซูนิกาจะเป็นการพูดโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง แต่เขาก็ได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยไปแล้ว ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เรื่องนี้ใช่ว่าจะไม่มีมูลเสียทีเดียว

จากรายงานของสำนักข่าว AP ระบุว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ทั้งหมดขึ้นนี้ อาร์เซเป็นคนแต่งตั้งซูนิกาซึ่งเป็นคนของเขาเองขึ้นมาเป็นผู้บัญการกองทัพเมื่อ 2 ปีก่อนทั้งที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นในฐานะทหารและการแต่งตั้งขึ้นมาครั้งนั้นก็สร้างความไม่พอใจให้กับคนในกองทัพและสร้างความสงสัยให้กับบรรดานักวิเคราะห์ว่าจะเป็นการตอบแทนความภักดีเสียมากกว่า จนกระทั่งมีการสับเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการกองทัพใหม่เมื่อมกราคมที่ผ่านมา 

ที่ผ่านมา ซูนิกาเคยถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินเกือบ 4แสนดอลลาร์ ของจากกองทุนของกองทัพที่กันไว้ให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและคนชรา และยังเคยต้องเข้าคุก7 วัน เพราะใช้เงินผิดประเภทพและเดินทางไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ซูนิกาก็แก้ต่างว่าเข้าไม่ได้ทำอะไรผิดและอธิบายว่าการลงโทษนั้นเป็นเพียงการลงโทษภายในของกองทัพไม่ใช่อาชญากรรม และการสอบสวนที่มีขึ้นก็เป็นพบว่าเขาเพียงแค่ล้มเหลวในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น

นอกจากนั้น ฆอร์เฆ ซานเตียสเตบันอดีตทหารในกองทัพและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงบอกว่า ซูนิกาเป็นทหารที่ไม่มีความสามารถในการนำกองทหารเลยและนิยามซูนิกาว่าเป็นทหารที่ไม่ใช่ทหาร

ซานเตียสเตบันอธิบายว่า ถึงซูนิกาจะมีจุดด่างพร้อย แต่ก็เป็นนักวางแผนและเป็นคนกว้างขวาง ซูนิกานั้นลงทุนสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและเขาเองยังเข้าหาอาร์เซในทางส่วนตัวจนเคยมีรูปของพวกเขาที่ยืนยิ้มด้วยกันในสภาพเหงื่อท่วมกายหลังจากเล่นบาสเกตบอลทีมเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างซูนิกากับอดีตประธานาธิบดีโมราเลสกลับตรงกันข้าม เมื่ออาร์เซแต่งตั้งซูนิกาขึ้นเป็นผู้นำกองทัพ โมราเลสก็ขุดคำกล่าวหาเก่าเรื่องยักยอกเงินของซูนิกากลับขึ้นมา และยังกล่าวหาซูนิกาและหน่วยงานข่าวกรองร่วมมือกันสอดแนมและกลั่นแกล้งทั้งเขาเองและนักการเมือง ไปจนถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ด้วย และล่าสุดโมราเลสก็ยกเรื่องเหล่านี้มาอีกเมื่อเขากลับมาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง 

ซูนิกาตอบโต้การกล่าวหาของโมราเลสด้วยการข่มขู่ว่าจะจับกุมโมราเลสถ้าต่อต้านอาร์เซในระหว่างที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีหน้านี้ และบอกว่ากองทัพต้องบังคับใช้รัฐธรรมนูญ โดยอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลเมื่อธันวาคมปีก่อนที่ระบุว่าการลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ของ โมราเลสไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ถึงเรื่องนี้อาร์เซจะไม่ยอมรับการลงเลือกตั้งอีกครั้งของโมราเลสมีความชอบธรรมเหมือนซูนิกา แต่การประกาศที่จะให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองและจะทำให้ประเทศมีประชาธิปไตยของซูนิกาครั้งนี้ก็ทำให้เกิดกระแสตอบโต้กลับอย่างรุนแรง กระทั่งโมราเลสเองก็ยังบอกว่า “(ทหาร) ไม่เคยทำให้เกิดประชาธิปไตย”

หลังจากนั้นอาร์เซก็เรียกซูนิกาไปตักเตือนในการพบกันแบบส่วนตัวโดยมี เอ็ดมุนโด โนวิลโย รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมร่วมด้วย และหลังจากพบกันเพียง 12 ชั่วโมง ซูนิกาก็นำกำลังบุกทำเนียบ

แต่คำกล่าวหาที่ว่าอาร์เซทำรัฐประหารตัวเองนี้ประชาชนโบลิเวียบางส่วนก็เชื่อด้วย ทำให้อาร์เซออกมาโต้ตอบว่าการกล่าวหานี้เป็นการโกหก และบอกว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองประเภทที่จะหาความนิยมจากประชาชนด้วยเลือดของประชาชน

หลังจากการรัฐประหารล้มเหลว รัฐบาลได้ทำการจับกุมผู้เกี่ยวข้อง 17 รายที่รวมทั้งซูนิกา และอดีตพลเรือโท ฮวน อาร์เนส ซัลวาดอร์ ทั้งหมดนี้ถูกตั้งข้อหาปฏิวัติด้วยอาวุธและทำลายทรัพย์สินของรัฐบาล มีโทษจำคุก 15 ปีหรือมากกว่านั้น

 

เรียบเรียงจาก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net