Skip to main content
sharethis

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ขึ้นเวทีปราศรัยที่ขอนแก่น กล่าวขอบคุณนักสู้แดนอีสานที่เคยเอาอิสรภาพตัวเองเข้าเเลกเพื่อทำให้เห็นว่าประเทศนี้วิปริตเพียงใด พร้อมปราศรัยชี้ถึงความเป็นไปได้ที่พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะรัฐประหาร โดยยกตัวอย่างกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส แห่งสเปน และการยึดอำนาจที่ล้มหลวของกบฏยังเติร์ก พ.ศ. 2524

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปราศรัยบนเวทีของกลุ่มขอนแก่นพอกันที เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563

21 ส.ค. 2563 วานนี้ (20 ส.ค.) กลุ่มขอนแก่นพอกันที จัดการชุมนุมทางเมืองเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือหยุดคุกคามประชาชน , ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พร้อมแสดงจุดยื่น 2 ข้อคือ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และไม่รัฐประหาร รวมทั้งสนับสนุน 1 ความฝันในการมีสถาบันกษัตริย์ที่อยู่เหนือการเมือง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยวันนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยกล่าวถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย

“ตอนนี้ที่สำคัญประเด็นในการเคลื่อนไหวมีคำว่ายกเพดาน ขยับเพดาน เกิดขึ้นเวทีที่ธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ที่ผ่านมานี้ เราก็ขยับเพดานในการพูดไปสูงที่สุด แต่ผมต้องเรียนตรงนี้ว่า คนแรก จังหวัดแรก ที่กล่าวถึงการยกเพดานนั้น ไม่ใช่ที่ธรรมศาสตร์แต่เป็นที่ขอนแก่นแห่งนี้” พริษฐ์ กล่าว

ก่อนเข้าสู่เนื้อหา พริษฐ์ ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขากล้าที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดจากการลุกขึ้นตั้งคำถามของชาวขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหมอลำ แบงค์ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ ปฏิภาณ ลือชา นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถูกจับกุมในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2557 จากการแสดงละครเสียดสีการเมืองไทย กลุ่มดาวดินที่กล้าหาญออกไปยืนชูสามนิ้วต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่ชูสามนิ้วในวันที่ 5 ธ.ค. แล้วถูกแจ้งความคดี ม.112 นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่แชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC Thai จนถูกจับกุมคดี ม.112 และติดคุกเกือบ 3 ปี คือ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และยังมีคนขอนแก่นอีกหนึ่งคนที่ออกมาใส่เสื้อที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธากับสถาบันกษัตริย์แล้ว” จนถูกกล่าวหาว่าเป็น คนบ้า และถูกพาตัวไปยังโรงพยาบาล คือ ทิวากร วิถีตน

“ทุกท่านที่ผมได้กล่าวชื่อไปนี้คือแรงบันดาลใจของผม ถ้าไม่มีพวกเขาที่กล้าเอาอิสรภาพของตัวเองไปแลกเพื่อที่จะยืนยันว่าประเทศนี้มันวิปริตปานใด ผมเอง หรือใครก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะมายืนตรงนี้เพื่อพูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาการเมืองได้ วันนี้เรามาสืบทอดเจตนารมณ์ความเสียสละของ 4 ท่าน เรามาพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมากันครับ” พริษฐ์ กล่าว

พริษฐ์ กล่าวถึงสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทยว่า นับตั้งแต่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ 2475 ขึ้นโดยมีเจตจำนงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ผ่านมา 80 ปีกว่าแล้ว ตอนนี้ยังมีคำถามว่า สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริงๆ แล้วหรือยัง สิ่งที่เรียนมาตั้งแต่โรงเรียนประถม จนถึงมหาวิทยาลัย บอกว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นหมายว่า กษัตริย์ทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นในประเด็นเรื่องการลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะรัฐประหาร ซึ่งมีผลทำให้รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงเรื่องนี้บางคนก็อาจจะมองว่า การที่กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองคณะรัฐประหารนั้น เป็นเพราะถูกบังคับ เป็นเรื่องของทหารเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่ที่ผ่านมามีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1981 ประเทศสเปน ซึ่งปกครองในระบอบเผด็จการมานาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย ก็มีทหารกลุ่มหนึ่งไม่พอใจจึงใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ แต่กษัตริย์ฆวน คาร์ลอสที่ 1 ออกมาแถลงว่า ไม่ยอมรับการรัฐประหารครั้งนั้น และบอกด้วยว่า กษัตริย์ต้องปกป้องประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์ต้องอยู่เคียงข้างประชาชน พร้อมประกาศว่ากลุ่มทหารที่ทำการยึดอำนาจนั้นเป็นกบฏ

ส่วนในกรณีของประเทศไทยนั้นก็เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นตอนเกิดกบฏยังเติร์ก ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งนายทหารกลุ่มหนึ่งต้องการล้มและยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นการก่อการยึดอำนาจที่ใช้กำลังพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีทหารเข้าร่วมกว่า 40 กองพัน เกินครึ่งของกองทัพ บุกเข้ามาในกรุงเทพฯ และสามารถยึดกรุงเทพฯ ไว้ได้ทั้งหมด โดยปกติเวลาที่เข้ายึดอำนาจจะเข้ายึดกรุงเทพฯ ยึดสภา ยึดทำเนียบ และยึดสื่อมวลชน เพียงแค่นั้นก็สามารถชนะได้แล้ว แต่เหตุการณ์กลับแตกต่างออกไป เพราะพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จไปอยู่ที่ค่ายสุรนารี ที่โคราช ซึ่ง พล.อ.เปรม ก็อยู่ที่นั่นด้วย จึงทำให้การยึดอำนาจในครั้งนั้นไม่มีผู้รับรองให้เป็นการรัฐประหาร และกลายเป็นกบฏในที่สุด ซึ่งนี่ถือเป็นหลักฐานว่า การรับรองคณะรัฐประหารสำคัญเพียงใด

พริษฐ์ แสดงความห่วงใยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย โดยเปรียบเทียบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น พระราชินีของอังกฤษ จักรพรรดิญี่ปุ่น พระราชาธิบดีเนเธอร์แลนด์ พระราชาธิบดีสวีเดน ซึ่งทำให้เกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ที่เขาติดแฮชแท็กว่า #ให้มันจบที่รุ่นเรา จะให้มันจบที่รุ่นเราได้นั้น ต้นตอของปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมย้ำว่าปฏิรูปนะ ปฏิรูปคือการแก้ไขเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ “และเราต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา อย่างจริงจัง อย่างเปิดเผย เขาจะได้รู้ว่าเราหวังดี เราเห็นปัญหา เราจึงพูดปัญหาขึ้นมาเพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไข” พริษฐ์ กล่าว

จากนั้นพริษฐ์ ได้ทบทวน 10 ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทนเคยประกาศไว้ โดยระบุว่าเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ อยู่เคียงข้างกับสถาบันประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอย่างผาสุข อย่างสันติ

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

“ผมขอไม่ลงรายละเอียดทั้ง 10 ข้อมากไปกว่านี้ เพราะทั้ง 10 ข้อนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ไม่ใช่เรื่องวิจิตรพิสดารอะไร มันคือหลักการทั่วไปของประเทศที่เขามีกษัตริย์และประชาธิปไตย ผมเห็นญี่ปุนก็เป็นแบบนี้ ผมเห็นประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็เป็นแบบนี้ สหราชอาณาจักร์ก็เป็นแบบนี้ ก็นึกไม่ออกว่าทำไมประเทศไทยเราจะเป็นไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เขาสู้กันมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 สู้กันมาตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 สู้กันมาตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 สู้กันมาตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 ไล่ไปจนถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เรากำลังอยู่ต่อหน้าหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ของเรา”

"ผมว่าเรารู้กันดีนะครับว่าประเทศเรานี้เป็นอย่างไร ผมไม่รู้ว่า ผมจะได้มีโอกาสที่จะพูดในสิ่งที่เราพูดในวันนี้กับทุกคนอีกครั้งหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าลงจากเวทีไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นจากตัวผม แต่ผมขอฝากไปถึงใครก็ตามที่คิดไม่ดี คิดจะทำร้าย ใช้อำนาจ ใช้วิธีการที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย คุณจะทำอะไรคุณก็ทำ แต่เราเปิดหน้าสู้แล้ว ถ้าคุณทำอะไรเรา ถ้าคุณทำอะไรผม... คนเขารู้กันว่าใครสั่ง ผมขอยืนยันกับพี่น้องว่าตราบใดที่ลมหายใจยังมีอยู่ ผมจะยังสู้อยู่กับพี่น้องด้วยความมั่นคงในอุดมการณ์ต่อไป ที่ผ่านมาถ้าผมทำอะไรผิดพลาด อาจจะก้าวร้าวมากไปหน่อย ผมต้องขออภัยด้วยครับ” จากนั้นพริษฐ์ ได้ยกมือไหว้ผู้ชุมนุมก่อนสิ้นสุดการปราศรัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net