Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง ‘วัฒนา เมืองสุข' คดีละเมิดอำนาจศาล ปมให้สัมภาษณ์สื่อหน้าบันไดศาล ชี้การตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี 

 

ที่มาภาพ Banrasdr Photo

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา รัชดา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขดำ ล.14/2560 ที่ผู้อำนวยการศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา วัฒนา เมืองสุข อายุ 60 ปี อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ถูกกล่าวหา

กรณีเมื่อวันที่ 28 ส.ค 2560 วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหา พร้อมด้วย นรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของวัฒนา ได้มายื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งฝากขังของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในคดีกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต่อศาลอาญา หลังจากนั้นได้ไปยืนแถลงข่าวบริเวณหน้าบันไดศาลอาญาต่อสื่อมวลชน โดยไม่ได้ขออนุญาตจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเพื่อเผยแพร่ข่าว อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติ (ก.บ.ศ.) ว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวศาลยุติธรรม
 
โดย คดีนี้ศาลอาญาที่เป็นศาลชั้นต้น พิพากษาจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาท แต่ให้รอการลงโทษ 2 ปี และคุมประพฤติโดยกำหนดห้ามกระทำผิดซ้ำอีก ต่อมา วัฒนา ผู้ถูกกล่าวหายื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว จากการไต่สวนได้ความว่าก่อนวันที่ 28 ส.ค. 2560 มีการส่งข้อความทางไลน์เชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าวการยื่นอุทธรณ์คำสั่งฝากขังที่บันไดศาล ลงชื่อ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต (นามสกุลเดิม) เมื่อถึงวันดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลแล้วลงไปหน้าบันไดศาล มีผู้สื่อข่าวสอบถามพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงบันทึกภาพไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ผู้กล่าวหามีพยานเจ้าหน้าที่เบิกความว่าหลังการยื่นอุทธรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงต่อสื่อมวลชนประมาณ 5 นาที และได้รายงานเสนอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทราบ ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความทางไลน์ และไม่ทราบระเบียบการให้ข่าว ซึ่งสอบถามเจ้าหน้าที่แล้วบอกสามารถให้ข่าวได้ เป็นจุดที่ผู้สื่อข่าวทำอยู่เป็นประจำ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การส่งข้อความทางไลน์ดังกล่าวไม่ปรากฏชัดว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้อง ลำพังการให้สัมภาษณ์จะบอกว่าเป็นการรู้เห็นเรื่องการส่งข้อความหาได้ไม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาเดินออกมาให้ข่าวเหมือนกับบุคคลอื่นในคดีที่ไม่ได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น และเป็นการตอบคำถามทั่วไปกับผู้สื่อข่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่น่าจะเตือนได้ถ้าขัดระเบียบ แต่กลับมีการบันทึกภาพมาแจ้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้นัดหมายผู้สื่อข่าว และการตอบคำถามผู้สื่อข่าวก็เหมือนบุคคลทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีหรือมีผลกระทบต่อคดี ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบ ไม่ถือว่าเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาฟังขึ้น พิพากษากลับว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดละเมิดอำนาจศาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net