นวัตกรรมกับความเป็นขบถของอเมริกัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นภาพความไม่ยอมจำนนมีอยู่ทั่วไปในอเมริกา ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ภาพการใช้เวลาที่คุ้มค่าจากการทำงานเป็นรายชั่วโมง ชีวิตอยู่ด้วยการทำงาน

เหนือไปกว่านั้น ก็คือการอยู่ด้วยกันท่ามกลางความหลากหลาย ความแตกต่างคือสีสันที่เห็นได้โดยทั่วไปจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่า ไม่มีใครสนใจชีวิตคุณหรอกถ้าความแตกต่างของคุณไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้สังคมหรือคนอื่นๆ

จนกล่าวได้ว่า คนอเมริกันมุ่งแสวงหาความแตกต่างกันเป็นหลัก จนคุณอาจเกิดความรู้สึกว่าการเป็นอยู่ การใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปเป็นสิ่งที่น่าอึดอัด น่ารังเกียจ อายที่จะเหมือนคนอื่น ซึ่งที่จริงแล้ววัฒนธรรมที่มาจากความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นกับพวกเขา (อเมริกัน) ในช่วงวัยของความเป็นเด็กเสียด้วยซ้ำ ครูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับจึงมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นหรือสนับสนุนเด็กในช่วงวัยเรียนก้าวไปอย่างถูกทิศทาง

เราคงได้ยินกันมามากว่า เด็กเก่งหรือเด็กอัจฉริยะน้อยคนที่จะอยู่กับระบบการศึกษาแบบเข้าชั้นเรียนโดยทั่วไป (ทุกระดับ) ได้ ตัวอย่างบุคคลในยุคร่วมสมัยมีให้เห็นมากมาย สตีฟ จอบบ์, มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ค ฯลฯ บุคคลที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ ล้วนเป็นคนที่เลี้ยงยากมาตั้งแต่พวกเขายังเล็กๆ มีทัศนคติและวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ โดยทั่วไป โรงเรียนหรือสถานศึกษาไม่สามารถทำให้พวกเขาเหล่านี้อยู่ในอาณัติได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นคือ โรงเรียนหรือสถานศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกว่า เด็กที่มีคิดเห็นแตกต่างจากครูและโรงเรียนเหล่านี้ เป็นบุคคลแปลกประหลาด ควบคุมยาก ควบคุมไม่ได้ มักเถียง แม้ในวันหนึ่งที่พวกเขาเดินออกจากโรงเรียนหรือสถานศึกษากลางคัน  ทว่าโรงเรียนกลับเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความสวยงาม ครูกลับจะคอยสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาและประสานไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง

เพราะฉะนั้นในระบบการศึกษาของอเมริกัน เด็กที่สั่งขวาไปซ้าย สั่งซ้ายไปขวา หรือแย้งคำสั่งครูอยู่เสมอ คือเด็กที่ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตเพื่อดูความอัจฉริยะในตัวเขา ไม่ด่วนตัดสินว่าพวกเขาเป็นเด็กดื้อหรือเป็นเด็กมีปัญหาเสียก่อน เมื่อพิจารณาดูแล้วว่าเด็กเป็นอย่างไรแล้ว ก็เติมเต็มความเป็นตัวตนของเด็กในด้านนั้นๆ ให้พวกเขา ซึ่งก็เป็นงานที่หนักสำหรับผู้สอน ครูไทยคงไม่คุ้น แต่ทำไงได้เล่าในเมื่อมันเป็นหน้าที่ที่สำคัญของครูผู้สอนในอเมริกา

แหละนี้คือสิ่งที่จะส่งผลต่อศักยภาพของเด็กหรือเยาวชนในอนาคต ไกด์ให้พวกเขาก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด ซึ่งที่จริงก็คือ “การแนะแนว” นั่นเอง ไม่ใช่การแนะแนวแบบไทยๆ ที่เราเข้าใจไขว้เขวมานานหลายทศวรรษว่า การแนะแนวคือการชี้ช่องให้เด็กไปเรียนหรือไปทำงานนั่นนี่ การแนะแนวแบบไทยๆ ที่ว่านี้เป็นการแนะแนวแบบศรีธนญชัยตะหากเล่า เป็นการแนะแนวตามใจครู ไม่ใช่ตามใจเด็ก น่าประหลาดที่การแนะแนวแบบนี้ยังคงมีการประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ วัตรปฏิบัติแบบนี้นับว่าล้าสมัยเต็มที

การแนะแนวแบบเดิมๆ ของไทยเรานั้น สะท้อนให้เห็นความชุ่ยของครูผู้สอนที่ไม่ลงลึกไปยังรายละเอียดของตัวเด็ก มองเด็กไม่ออกว่าเขาคือใครและต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับเขา ครูอาจารย์จำต้องช่วยชี้ช่องทางที่เหมาะสมสำหรับเขา นี่คือการแนะแนวในความหมายที่แท้จริง

ปัญหา (ด้านการศึกษา) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือ ครูอาจารย์ ไม่เคยสังเกตเด็กเชิงลึกจริงๆ ว่าพวกเขาควรไปทางไหนอย่างไร นอกจากทางเลือก 2 ทาง คือ สายอาชีวะกับสายสามัญ ขณะที่ในปัจจุบันฐานความรู้และฐานการงานอาชีพมีหลากหลายมากขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องวางกรอบเด็กให้อยู่ในสายใดสายหนึ่งจาก 2 สายดังกล่าว หากแต่ควรอยู่บนสายของความสามารถหรือความสนใจของตัวเด็กเองมากกว่า

ตรงนี้ยังมีประเด็นการทำงานอย่างมีความสุขอีกด้วย พวกเขาสามารถทำงานประเภทใด ที่ไหนก็ได้ อย่างมีความสุข ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อปัจเจกมีความสุขสังคมก็มีความสุขไปด้วย

เพราะฉะนั้นการศึกษาที่เน้นไปที่ความเหมือนกันของเด็ก ผลลัพธ์ที่ออกมาต้องเหมือนกัน เชื่อว่าความเหมือนกันคือสิ่งสวยงาม น่าจะเลิกไปได้แล้ว เพราะไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการศึกษาและนวัตกรรม ครูอาจารย์และผู้บริหารการศึกษาจำเป็นต้องอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็กหรือผู้เรียนให้มากขึ้น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเหมือนเมื่อก่อน เหนืออื่นใดการคอยสังเกตเชิงลึกถึงรายละเอียดของตัวเด็กเป็นสิ่งสำคัญและต้องทำ หากไม่ทำเช่นนี้ ในปัจจุบันคุณจะไม่สามารถประเมินผลได้เลยว่า อะไรคือสัมฤทธิผลของการเรียนการสอนที่แท้จริง คุณจะไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรคือกูเกิล อะไรคือตัวตนของเด็กเองที่แท้จริง

บทบาทของครูผู้สอนจึงต้องมากขึ้น เข้มข้นขึ้นโดยแง่นี้ และนี่คือ การศึกษาในโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นโลกแห่งการขบถหรือแย้งสวนองค์ความรู้เดิม หรือมีการตั้งคำถามต่อองค์ความรู้เดิมตลอดเวลา ปรับฐานอารยธรรมเพื่อที่จะต่อยอดมันขึ้นไปอีก การต่อยอดดังกล่าวมาจากความคิดต่างเป็นสำคัญ จากผู้ให้ความรู้ซึ่งก็คือครู ครูไม่ใช่บุคคลผู้ควรเคารพ หรือควรเชื่อฟังในแง่ผู้ประสาทความรู้ หากแต่ครูคือเพื่อนที่เท่าเทียมกันกับศิษย์ คือกัลยาณมิตรทุกประการ

กลับมาประเด็นที่ว่า การเติบโตจนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของอเมริกาเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมนวัตกรรมแทบทั้งหมดของโลกไปตกอยู่ที่ประเทศนี้?

หากสาวไปยังร่องรอยอดีต หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีให้เห็นมากมาย

แค่ถ้าคุณดูหนังฮอลลีวูด สารคดีหรือข่าว หรือสื่อใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับอเมริกา คุณก็จะเห็นว่า คนอเมริกันเติบโตมาภายใต้วิญญาณขบถ นั่นคือการไม่ยอมจำนน ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธสิ่งที่คนรุ่นก่อนเคยทำไว้ วันชาติของอเมริกัน (4 ก.ค.) คือวันประกาศอิสรภาพ (independence day) จากอังกฤษซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่ได้หมายถึงอิสรภาพในแง่ของดินแดนคือการแยกตัวเองเพื่อปกครองตนเองเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงอิสรภาพทางความคิด ทางวัฒนธรรมอีกด้วย

จากประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของการประกาศอิสรภาพ ยกเว้นภาษาแล้ว คนอเมริกันปฏิเสธแทบทุกอย่างที่เป็นอังกฤษ กระทำในสิ่งตรงกันข้าม เช่น อังกฤษขับรถซ้าย อเมริกันขับรถขวา วัฒนธรรมอาหารการกินที่ประดิษฐ์มันขึ้นมาใหม่ และอีกหลายเรื่องที่เห็นว่า มันคือการปฏิเสธของเก่าๆ หันมาสร้างของใหม่ด้วยลำแข้งของตนเอง

จากฐานความคิดขบถหรือวิญญาณขบถ “อเมริกันสอนให้คิดต่าง” ดังกล่าว นวัตกรรมจึงเกิดมีในประเทศนี้มากที่สุดในโลก และก็ยังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบันนี้...  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท