15 ปี 'ดาวดิน' กับความหวังต่อ 'พรรคสามัญชน' ที่จะตอบโจทย์การต่อสู้เพื่อชาวบ้าน

งานครบรอบ 15 ปี 'นี่หรือคือบทเรียน' 3 ดาวดินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมเส้นทางการต่อสู้เพื่อชาวบ้าน ระบุไม่เคยรู้สึกเสียดายที่มาเรียนรู้ในเส้นทางนี้ ชู 'พรรคสามัญชน' คือคำตอบที่ชัดที่สุดและเป็นเครื่องมือการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต

15 ก.ค. ที่ผ่านมา ณ บ้านดาวดิน จังหวัดขอนแก่น กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือ “ดาวดิน” จัดงานครบรอบ 15 ปี “นี่หรือคือบทเรียน” ในช่วงแรกพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น บทเรียนในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาและมุมมองการเคลื่อนไหวปัจจุบัน ส่วนช่วงที่สองพูดคุยเรื่อง จากดาวดินสู่สามัญชน จากนักกิจกรรมนักศึกษาสู่การก่อตั้งพรรคสามัญชน โดยตัวแทนจากกลุ่มดาวดิน 3 คนคือ วงศกร สารปรัง (ดาวดินรุ่นที่ 4 ) นิติกร ค้ำชู (ดาวดินรุ่นที่ 6 ) และ พายุ บุญโสภณ (ดาวดินรุ่นที่10 )

จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว

วงศกร กล่าวว่า ตอนเข้ามาเป็นนักศึกที่ ม.ขอนแก่น ตนไม่ได้คิดว่าจะได้มาทำกิจกรรมทางสังคม แต่ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นคือการไปค่ายเป็นค่ายนิติศาสตร์เรียนรู้สังคม ค่ายที่เป็นเชิงพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของชาวบ้าน เน้นการนั่งพูดคุย หลังจากได้พูดคุยได้แลกเปลี่ยนจึงทำให้เห็นว่ายังมีปัญหาแบบนี้อยู่มากในสังคมหลังจากนั้นจึงได้เข้ามารู้จักกับกลุ่มดาวดิน ช่วงปี 49 - 50 ในช่วงนั้นมีกระบวนการประชาชนเคลื่อนไหวทางการเมือง การรวมตัวกันเพื่อขับไล่หรือแก้ปัญหา ตนจึงได้ซึมซับในส่วนนั้นแต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปเคลื่อนไหวมาก แต่เริ่มรู้สึกสนใจลงพื้นที่เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในบริเวณภาคอีสานส่วนมากเป็นการเรียนรู้ผ่านการทำค่าย

ดังนั้นชีวิตนักศึกษาของกลุ่มดาวดินช่วงนั้นเน้นการลงพื้นที่รับรู้ปัญหาชาวบ้านและช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเป็นหลัก เมื่อไปช่วยเราไม่ได้มีบทบาทที่จะไปนำชาวบ้านเราแค่ไปช่วยหาน้ำหาข้าวแล้วไปอยู่กับชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่ดาวดินเชื่อกันมาตลอดคือ เราจะอยู่เคียงข้างประชาชนที่ถูกกดขี่ไม่นำและไม่ตาม แต่เราจะเคียงข้างพยายามร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน มีช่วงหนึ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีปัญหาเรื่องม.นอกระบบแต่เราไม่เห็นด้วย จึงได้เคลื่อนไหวเรื่องนี้แต่ระหว่างที่สู้ก็คิดว่าเราจะมีอำนาจอะไรไปสู่กับเขาได้ เขามีทั้งกฎหมายทั้งนโยบายแต่เราทำได้เพียงพูดแลกเปลี่ยนกัน กลุ่มดาวดินเราจะมีคำหนึ่งคือคำว่าเราจะเชื่อในเสรีภาพทุกตารางนิ้วในมหาวิทยาลัย จึงได้ชวนเพื่อนๆในและนอกมหาวิทยาลัยที่เห็นด้วยมาร่วมเคลื่อนไหว หลังจากนั้นก็มีคำถามหนึ่งที่ถามว่านักศึกษาหายไปไหน จริงๆแล้วนักศึกษาไม่ได้หายไปไหนเพียงแต่สิ่งที่เรียนรู้สิ่งที่สนใจในสถานการณ์แต่ละยุคมันไม่เหมือนกัน ช่วงแรกๆกลุ่มดาวดินเรายังไม่ได้พูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองโดยตรง

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 4 ยังกล่าวต่อว่า ในยุคของตนโชคดีตรงที่มีทรัพยากรบุคคลและทางพื้นที่ ที่พร้อมเปิดให้เราเข้าไปเรียนรู้ จึงทำให้เราได้พัฒนาความคิดไปพร้อมๆกัน แต่ปัญหาหลักๆ คือปัญหาภายใน มีช่วงหนึ่งที่รัฐทำโครงการตั้งเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่จากลาวมาไทย ที่จังหวัดอุดร แล้วตั้งเสาในลักษณะฟันปลาสาเหตุที่ตั้งแบบนี้คือเขาพยายามเลี่ยงที่ดินของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ แต่กลับมาลงในที่นาของชาวบ้านแทน ในตอนนั้นมีชาวบ้านประมาณ 10  กว่าคนพยายามไปขัดขวางเพื่อตกลงกันว่าให้เลื่อนที่นานี้ไปก่อนรอให้เก็บผลผลิตเสร็จค่อยทำแต่เขาก็ไม่ยอม ตอนนั้นเราก็ได้ไปร่วมยืนเป็นกำแพงเพื่อไม่ให้รถขุดที่ดินระหว่างที่เรียกร้องอยู่ก็มีตำรวจประมาณ 200 นายก็มาจับชาวบ้านกับนักศึกษารวมกันประมาณ 20 คน แล้วแจ้งข้อหาดำเนินคดีเราก็ไปติดคุกอยู่กับชาวบ้านประมาณ 10 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้จากตรงนี้คือ ปัญหาอีกส่วนหนึ่งมันอยู่ที่โครงสร้างรัฐไทยหรือระบบราชการไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงๆและการปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงบนฐานของประชาชน

นิติกร กล่าวว่า ตนรู้จักกลุ่มดาวดินตั้งแต่มาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งแรก จุดที่ทำให้ความคิดของตนเปลี่ยนไปคือการไปทำค่าย ตอนไปค่ายต้องไปลงพื้นที่เพื่อเตรียมประเด็นมาทำค่าย เมื่อไปถามข้อมูลกับชาวบ้านเขาได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อย่างเช่นใน จ.หนองบัวลำภูชาวบ้านเล่าว่ามีเจ้าหนี้ที่ของรัฐลงไปหาแล้วเอากระดาษไปให้ชาวบ้านเขียนชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่รัฐได้เอารายชื่อไปทำต่อแล้วมีเอกสารออกมาว่าชาวบ้านได้ยินยอมยกที่ดินให้กับโครงการรัฐทั้งที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย จริงๆในทางกฎหมายมันถูกต้องมีเอกสารมีสัญญามีลายเซ็นแต่วิธีการที่ได้มานั้นมันไม่ถูกต้อง กฎหมายที่ช่วยรักษาความยุติธรรม ที่ช่วยให้เกิดความยุติธรรมหลังจากที่ไปเจอมาตนจึงคิดว่ากฎหมายมันทำให้เกิดความยุติธรรมได้จริงหรือ เราในฐานะคนเรียนนิติศาสตร์คงต้องทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง จึงได้เริ่มสนใจปัญหาชาวบ้านมากขึ้นเริ่มเคลื่อนไหวไปทำกิจกรรมไปม็อบ

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 6 กล่าวด้วยว่า ในช่วงนั้นกลุ่มดาวดินก็ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเคลื่อนไหวเชิงโครงสร้างแต่ก็ยังเน้นไปที่ปัญหาของชาวบ้าน จากนั้นจึงเริ่มขยายผลว่าทำไมปัญหาเหล่านั้นจึงเกิดขึ้นมาได้ เริ่มมีการทำโรงเรียนการเมืองที่บ้านดาวดิน เริ่มเรียนรู้ว่าสาเหตุของปัญหามาจากไหน จนมาถึงเรื่องที่ต้องเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง เราพยายามชวนเพื่อนๆพยายามที่จะสร้างขบวนการนักศึกษา เพื่อที่จะให้เห็นว่านักศึกษาหรือคนที่เห็นในกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมนั้นยังมีอยู่ ดังนั้นกลุ่มดาวดินในช่วงของตนนั้นก็ยังเน้นที่ปัญหาชาวบ้านอยู่ แต่เพิ่มเติมคือมีความพยายามที่จะสร้างขบวนการนักศึกษาถึงแม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม

พายุ กล่าวว่า ตนรู้จักกับกลุ่มดาวดินเพราะว่าเพื่อนให้มารับที่บ้านดาวดิน แล้วจึงมีโอกาสได้มาร่วมวงสังสรรค์ด้วย หลังจากนั้นได้ไปลงพื้นที่ด้วยกันพื้นที่แรกที่ได้ไปเรียนรู้คือเหมืองแร่เมืองเลย อยู่ที่วังสะพุง พอลงพื้นที่ได้ไปคุยกับชาวบ้านทำให้ตนได้เห็น ชาวบ้านแถวนั้นทำไร่ทำนาปกติแต่ไม่สามารถกินของพวกนั้นได้เพราะผลกระทบจากเหมืองแร่ คือเหมืองแร่ทองคำนั้นเขาไปทำเหมืองอยู่บนภูเขา ในขั้นตอนการทำแร่ก็จะใช้สารเคมีต่างๆเช่น สารไซยาไนด์ สารหนู เพื่อที่จะได้ทองคำออกมาจากก้อนดิน แล้วเมื่อภูเขาอยู่สูงสารต่างๆก็จะซึมผ่านน้ำลงมานาชาวบ้านจึงทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในนาข้าวหรือบ่อน้ำต่างๆ พอลงพื้นที่เสร็จจึงทำให้เรารู้ว่ากลุ่มดาวดินคือคนที่นำความรู้ด้านนิติศาสตร์ ด้านกฎหมายไปบอกกับชาวบ้าน ตนเห็นด้วยว่าชีวิตนักศึกษาควรทำแบบนี้บ้างหลังจากนั้นจึงเริ่มเข้ามาอยู่กับบ้านดาวดิน

เมื่อเข้ามาแล้วในสมัยนั้นก็ได้เคลื่อนไหวตามกระแสสังคม ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็เหมือนกับเรื่องเสือดำ เรื่องการละเมิดสิทธิหรือเรื่องทาประหาร ถ้าการเคลื่อนไหวใหญ่ๆในช่วงนั้นการเมืองไทยมันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยมาเป็นรัฐประหาร ตนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่แล้วเพราะที่เรียนกฎหมายมาการฉีกรัฐธรรมนูญมันเป็นโทษทางกฎหมาย จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องไปชู้ป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น แล้วหลังจากนั้นก็โดนจับเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่ตนก็ไม่ได้รู้สึกกลัวกลับคิดว่าเมื่อทำมาแล้วควรจะทำให้สุด ถ้าถามถึงเรื่องผลกระทบที่ตามทั้งเรื่องเรียนหรือครอบครัวเรามีปัญหาอะไรหรือเปล่า อย่างแรกเลยตนคิดว่าการมาทำกิจกรรมทางการเมืองต่างๆนั้นความเป็นห่วงของครอบครัวย่อมมีอยู่แล้ว พอรู้ว่ามาอยู่ในกลุ่มดาวดินครอบครัวก็ขอให้ออกมา ครอบครัวเป็นประตูด่านแรกเลยที่คนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องเจอ แต่ถ้าเราแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนกลับครอบครัวว่าทำไปทำไมเขาน่าจะเข้าใจ

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 10 กล่าวด้วยว่า นอกจากปัญหาทางครอบครัวยังมีการกดดันจากเจ้าหน้าที่ ปัญหาทางคณะก็บอกว่าถ้าทำแบบนี้ระวังเรียนไม่จบ ช่วงที่นายกมาขอนแก่นมีทหารประมาณ 10-20 นาย บุกเข้ามาบ้านดาวดินโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นปัญหาพอสมควรแต่ก็ไม่ได้กระทบกับการทำงานของกลุ่มดาวดินขนาดนั้น เพราะเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตั้งแต่ช่วงแรกๆมาจนปัจจุบันการทำงานของกลุ่มดาวดินจะแตกต่างกันบ้างมีหลายๆอย่างเข้ามา สิ่งสำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมนี้คือเมื่อทำไปแล้วคือไม่ได้ทำเฉยๆเราทำไปแล้วกลับมาพูดคุยกันทุกครั้งว่าสิ่งที่ทำไปได้อะไรบ้างมีข้อดีข้อเสียยังไงเพื่อนำไปปรับสำหรับครั้งต่อไป บ้านดาวดินเป็นเหมือนสนามซ้อมสำหรับนักศึกษาที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

จากวันแรกของดาวดินสู่พรรคสามัญชนในปัจจุบัน

พายุ กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวของดาวดินทำให้เรียนรู้สังคม รู้ปัญหาชาวบ้านแล้วนำประเด็นปัญหาออกสู่สาธารณะ แต่ท้ายที่สุดแล้วที่เราออกไปสู่ก็จะหยุดอยู่แค่ให้ไปยื่นหนังสือกับคนนั้นคนนี้แล้วก็ต้องรอกว่าจะมีใครมาตอบทุกพื้นที่เป็นแบบนี้ เราไม่สามารถฝากความหวังกับใครได้เลยจึงต้องหาทางให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองสามารถสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังจึงมีพรรคสามัญชนขึ้นมา ทำไมดาวดินถึงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคือปัญหาทุกปัญหามันเกิดจากนโยบายของรัฐจากกฎหมาย ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ไม่มีสิทธิที่จะกำหนดชีวิตตัวเองไม่มีสิทธิเลือก ปัญหาที่แท้จริงคือโครงสร้างทางการเมือง เราไม่เคยพึ่งพรรคการเมืองไหนที่เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ ดังนั้นในเมื่อไม่สามารถพึ่งพาหรือฝากความหวังกับใครได้เราจึงต้องพึ่งตัวเองจึงได้จัดตั้งพรรคสามัญชนขึ้นมา ที่มาของคำว่าสามัญชนก็คือพวกเรา ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ คนที่โดนกดขี้ นักศึกษาหรือว่าใครก็คือสามัญชนและทุกคนมีความเท่าเทียม

ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 10 กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าตัดสินใจผิดพลาดกับการที่เข้ามารู้จักพี่ๆ บ้านดาวดิน แต่ตอนนี้รู้สึกว่ามันมีความท้าทายมีข้อพิสูจน์จากตัวเราเองที่เราเชื่อมั่นตั้งแต่แรกว่าเราเข้ามาเพื่อที่จะทำอะไรให้มันเปลี่ยนแปลงสังคม ตั้งแต่เข้ามาเป็นดาวดินจนตอนนี้เป็นดาวดินในสังกัดพรรคสามัญชน มันเป็นบทพิสูจน์หนึ่งเราจะก้าวไปข้างหน้าและเราจะก้าวไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ถึงแม้การเคลื่อนไหวของดาวดินในอนาคตจะเปลี่ยนไป แต่เราก็ไม่ลืมจุดเริ่มต้นที่มาจากชาวบ้านเราก็จะสนับสนุนพรรคสามัญชนอย่างเต็มที่

วงศกร กล่าวว่า หลายอย่างที่ทำมามันเหมือนทำไม่สุด ปัญหาก็เหมือนแก้ไขไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่ออกนโยบาย กฎหมายต่างๆมันไม่ได้ถูกควบคุมโดยประชาชนไม่ได้ถูกกำหนดโดยคนที่ได้รับผลจากมัน  เราได้เรียนรู้จากตรงนี้จึงต้องเริ่มที่จะขยับไปมีพื้นที่ทางการเมืองเพื่อได้มีการเข้าถึงได้มีส่วนร่วมได้พูดคุยปัญหาและร่วมกำหนดนโยบายได้ ทางเดียวที่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยคือพรรคการเมือง ถ้าจะมองในหลายๆประเทศเขาก็มีนักการเมืองที่มาจากประชาชนจริงๆเขามีกระบวนการมีพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดคุย แต่ไม่เคยมีในเมืองไทยแม้จะมีความพยายามที่จะทำมาในหลายๆยุคแต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น เราจึงคิดว่าการจัดตั้งทางการเมืองคือทางที่จะแก้ไข จริงๆพรรคสามัญชนมันไม่ได้พึ่งเกิดช่วงนี้แต่มีการคุยกันมาราวๆ 10 ปี ในปี 57 พรรคสามัญชนเคยจะไปจดทะเบียนวางไว้เป็นวันที่ 25 พฤษภา 2557 แต่เกิดรัฐประหารก่อนจึงไม่สามารถจดได้

ถ้าพูดถึงว่าทำไมดาวดินต้องมาเคลื่อนไหวพรรคการเมืองนั้น ตัวแทนดาวดินรุ่นที่ 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยจะรู้จัดดาวดินจริงๆคือการเคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านเมืองเลยมันจึงเกิดกระว่านักศึกษาที่สนใจสังคมยังมีอยู่ กลุ่มดาวดินจึงถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงนั้น แต่พอขยับขึ้นมาเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยกลับมีดราม่าว่าทำงานช่วยชาวบ้านดีอยู่แล้วมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทำไม พูดได้เต็มปากเลยว่าถ้าเราไม่ข้องเกี่ยวกับการเมืองประชาชนก็ยังคงเดือดร้อนต่อไปปัญหายังแก้ไม่สุด เพราะฉะนั้นทางแก้คือเราต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง มีส่วนร่วมในนโยบาย การลงพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนแต่ตอนนี้ตัดสินใจแล้วว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่จะช่วยสร้างสังคมให้เกิดความเท่าเทียม ให้เกิดประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วนร่วมกันจริงๆ

วงศกร กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดเสียดายที่ได้มาเรียนรู้ในเส้นทางนี้ ดาวดินก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้ตนได้เติบโต จากคนที่กินเหล้าไปวันๆไม่ได้คิดเรื่องอะไรแบบนี้พอมาถึงจุดนี้ก็รู้สึกว่ามันดีกับตัวเองแล้ว ดาวดิน 15 ปีมันไม่ได้เกินขึ้นมาพอให้เวลาผ่านไป แต่ในวันนี้มันคือการตัดสินใจแล้วมีความเชื่อมั่นแล้วว่าการทำพรรคสามัญชนคือคำตอบที่เราจะมุ่งไปด้วยกัน เราจะสร้างฝันสร้างหวังด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าพรรคสามัญชน

นิติกร กล่าวว่า จากการสรุปบทเรียนของดาวดินที่ผ่านมา 10 กว่าปีมันเห็นได้ว่าปัญหาหลักของประเทศไทยอย่างหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจอยู่กับกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นจึงทำให้ปัญหาต่างๆมันเกิดขึ้น เมื่อเราเชื่อว่าสาเหตุมาจากตรงนี้จึงพยายามมองไปหาทางออกที่จะทำให้คนมีอำนาจตัดสินใจ มีการกระจายอำนาจออกจากจุดๆนั้นจะมีวิธีการใดบ้าง เลยมาคุยกันว่าการสร้างพรรคการสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองนี่แหละคือทางที่ถูกต้องทางที่เราต้องไป ดังนั้นจากสิ่งที่เรียนรู้มามันจึงทำให้เราตัดสินใจแน่วแน่และมั่นใจว่าแนวทางการทำพรรคการเมืองจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การเคลื่อนไหว,ความหวัง,ความฝันและเป้าหมายของเราสำเร็จ พรรคที่เกิดขึ้นคือเราต้องการให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของกันจริงๆ สามารถเข้าถึงได้ง่ายมีส่วนร่วมภายในอย่างแท้จริง ตอนนี้พยายามหานโยบายถ้าถามว่าพรรคสามัญชนมีนโยบายอะไรตอนนี้ยังไม่สรุป เราใช้วิธีการที่เรียกว่าคารวานสามัญชนเพื่อเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านแล้วหยิบเอาความคิดเห็นหรือปัญหาต่างๆขึ้นมาเพื่อรวบรวมเป็นนโยบาย

อนาคนของดาวดิน

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินในอนาคตนั้น นิติกร กล่าวว่า จะเปลี่ยนไปที่เปลี่ยนไปคือมันจะมีมิติในด้านการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองร่วมกับชาวบ้านเข้ามาด้วยในรูปแบบพรรค พอตัดสินใจว่าจะทำพรรคเราก็ได้ไปปรึกษากับพี่น้องชาวบ้านต่างๆ สิ่งที่รับรู้ได้อย่างหนึ่งคือชาวบ้านเขารู้สึกว่ามีความหวัง เขาตื่นเต้นที่ในชีวิตหนึ่งจะได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคการเมือง พอเราเห็นความรู้สึกคนมันจึงไปต่อได้ การทำพรรคหรือแนวทางการสร้างพรรคที่ทุกคนเป็นเจ้าของนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ดาวดินหลังจากนี้ก็น่าจะเคลื่อนไหวในทางการเมืองโครงสร้างนโยบายอย่างเต็มที่ วัฒนธรรมแนวคิดที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราอยากให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อยากให้เชื่อว่าตัวเราเองสามารถเป็นนักการเมืองได้เอง สามารถเคลื่อนไหวต่อรองได้เองจะได้ไม่ต้องไปฝากความหวังไว้กับใครนอกจากเราจะสร้างเอง

ตนไม่เสียใจที่ชีวิตเข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ แต่กลับดีใจมากกว่ามันทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมาย มีคุณค่า เป็นความภาคภูมิใจของชีวิตที่เกิดมาครั้งหนึ่งแล้วได้มาทำอะไรแบบนี้และส่วนตัวถ้าถามว่าไม่ได้มาเคลื่อนไหวแบบนี้แล้วจะทำอะไร คือตอบไม่ได้ คิดไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าตอนนี้คงจะเหลือแค่อย่างเดียวคือการทำพรรค ทำตามความเชื่อความฝันของดาวดินที่มีอยู่ให้สำเร็จจนวันสุดท้าย

 

รายงานเสวนาโดย ทัศมา ประทุมวัน ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานกับประชาไท ประจำปีการศึกษา 1/2561 จากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสนใจด้าน ข่าว การเมือง การ์ตูน และซีรีส์เกาหลี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท