Skip to main content
sharethis

อัยการมีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และกลุ่มดาวดิน จากกรณีชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ในข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ม.116 และชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตาม ม.215 เนื่องจากคำพูดปราศรัยบางตอนของผู้ชุมนุมมีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของ คสช. และเชิญชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล คสช. ในขณะนั้น

 

4 ส.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) และนักศึกษากลุ่มดาวดิน กรณีชุมนุมที่หน้า สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ในข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ม.116 และชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215

ภาพจาก ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. 58  หน้าสน.ปทุมวัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ไว้ว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับทั้ง 16 คน จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 58 ซึ่งเป็นเหตุการณ์การนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ของกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 58 โดยในวันดังกล่าว ก่อนเริ่มกิจกรรมเพียง 5 นาที เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและมีการควบคุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมจำนวน 37 คน ไว้ที่สน.ปทุมวัน แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด หลังจากที่พวกเขาถูกปล่อยตัวในรุ่งเช้าของวันที่ 23 พ.ค. 58 นักศึกษาที่ทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลปฯ ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาในภายหลังจำนวน 9 คน

ในวันที่ 24 มิ.ย. 58 นักศึกษาที่ถูกแจ้งความจึงได้เดินทางไปที่ สน.ปทุมวัน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและหลายคนถูกทำร้ายร่างกาย ในวันที่ 22 พ.ค. 58 และปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากไม่ยอมรับการใช้อำนาจของคสช.

นอกจากนั้น ในวันดังกล่าวมีกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน และประชาชน ประมาณ 500 คน ได้เดินทางไปให้กำลังใจด้วย รวมทั้งยังมีกลุ่มนักศึกษาดาวดิน 7 คน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกออกหมายเรียกกรณีชูป้ายคัดค้านครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จ.ขอนแก่น ได้เดินทางไปให้กำลังใจเพื่อนนักศึกษาที่ สน.ปทุมวันด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อกลุ่มนักศึกษาจะเดินทางเข้าแจ้งความกลับในสน.ปทุมวัน กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ สน. จึงมีการตั้งเวทีปราศรัยขึ้นบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เปิดให้ผู้จะเข้าแจ้งความเท่านั้นเข้าไปในสน. ในเวลา 18.00 น.

ขณะที่กิจกรรมหน้า สน. เป็นไปอย่างคึกคักมีการร้องเพลง มอบดอกไม้ อ่านบทกวี ดำเนินไปตลอดบ่ายถึงค่ำ จนกระทั่งสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 21.40 น. โดยกลุ่มนิสิตนักศึกษายืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์ในการหลบหนีแต่อย่างใด

 

ปี 62 อดีตสมาชิกกลุ่ม NDM และดาวดิน รับทราบข้อหา ม.116 ม.215 เหตุชุมนุมวิจารณ์ คสช.

วันที่ 22 พ.ค. 2562 เวลา 10.00 น. ที่ สน.ปทุมวัน อดีตนักศึกษาและนักกิจกรรมจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และกลุ่มดาวดิน จำนวน 13 คน เดินทางเข้ารับทราบข้อหาจากกรณีการชุมนุมหน้า สน.ปทุมวัน เมื่อเกือบ 4 ปีก่อน (24 มิ.ย. 2558) ซึ่งเป็นคดีเดียวกับที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2562

สำหรับทั้ง 13 คนที่เดินทางเข้ารับทราบในวันนี้ เป็นอดีตนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ได้แก่ วสันต์ เสดสิทธิ, พายุ บุญโสภณ, อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์, ศุภชัย ภูคลองพลอย, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์, สุวิชา พิทังกร, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และเป็นอดีตนิสิตนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) จำนวน 6 คน ได้แก่ พรชัย ยวนยี, ชลธิชา แจ้งเร็ว, รังสิมันต์ โรม, รัฐพล ศุภโสภณ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์

ในคดีนี้นอกจากทั้ง 13 คน และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแล้ว ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 3 คน ที่ยังไม่ได้เดินทางมาร่วมรับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว คือ ปกรณ์ อารีกุล, วรวุฒิ บุตรมาตร และสุไฮมี ดูละสะ เนื่องจากติดภารกิจ รวมแล้วมีผู้ถูกดำเนินคดีย้อนหลังในกรณีนี้ ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2558 จำนวน 17 คน

พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 13 คน ใน 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215

สำหรับพฤติการณ์ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา ระบุว่าเมื่อ 24 มิ.ย. 2558 ผู้ต้องหาที่เป็นนิสิตนักศึกษาและนักกิจกรรม 15 ราย กับพวกประมาณ 200 คน ได้มาที่บริเวณหน้า สน.ปทุมวัน ได้ร่วมกันเข้าแถวขึ้นเวที ซึ่งเป็นที่เต้นเวทีแอโรบิค ข้างตลาดสามย่าน โดยได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำในกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม ในการผลัดเปลี่ยนกันพูด โจมตีการทำงานของรัฐบาล คสช. มีการพูดปลุกปั่นท้าทายการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจให้เข้าไปทำการจับกุม หากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา ตามคำท้าทายแล้ว จะทำให้เกิดการชุลมุนและการลุกฮือต่อต้านของกลุ่มมวลชน อันเป็นการกระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาได้ระบุคำพูดปราศรัยบางตอนของผู้ต้องหาบางรายที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของ คสช. ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเชิญชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาล โดยระบุว่าเป็นถ้อยคำที่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 พร้อมระบุว่าในการชุมนุม ได้มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาร่วมชุมนุมในบริเวณดังกล่าวด้วย

ข้อกล่าวหายังระบุต่อว่าต่อมา เมื่อกลุ่มแกนนำได้ยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะเข้าจับกุมตัว ปรากฏว่านายรังสิมันต์ โรมกับพวกรวม 7 คน ได้หลบหนีจากบริเวณหน้า สน.ปทุมวัน ไปขึ้นรถตู้ซึ่งมีนายธนาธรนั่งอยู่ในรถ และได้พาไปส่งที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง ส่วนคนอื่นๆ ก็ได้ขึ้นรถยนต์คันอื่นๆ ออกไป ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเป็นการหลบหนีการจับกุม

หลังการแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 13 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net