Skip to main content
sharethis

สกว.เปิดเวทีแถลงดินถล่มและระบบเตือนภัย นักวิจัยชี้ชาวบ้านต้องเอาตัวออกจากพื้นที่เสี่ยง หรือปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่เพื่อความปลอดภัย และใช้ 'นวัตกรรมทางกฎหมาย' จัดการ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นปลายเดือนนี้

11 ส.ค.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา  สกว. จัดการแถลงข่าว “ดินถล่มและระบบเตือนภัยในประเทศไทย” ณ ห้องประชุม สกว. โดยมี ดร.นาวิน วิริยะเอี่ยมพิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย งานนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สกว. เป็นประธาน เพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดินถล่ม และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาทั้งการเฝ้าระวัง เตือนภัย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หน่วยวิจัยดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม เมื่อย้อนอดีตจะพบว่าไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ กัน ประเทศไทยมีพื้นที่รอถล่มอยู่จำนวนมาก ทั้งภูเขาและพื้นที่มีความเจริญหรือขุดดินขายล้วนอันตราย จากสถิติที่เก็บข้อมูลจะเห็นว่าจำนวนครั้งการเกิดดินถล่มมีการกระโดดขึ้นในปี 2545 ขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังฟื้นจากวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยอาจเกิดจากปัจจัยเร่งการเกษตรและการส่งออกหรือไม่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป

สำหรับดินถล่มตามธรรมชาติจะเกิดในช่วงรอบ 5-6 ปีต่อครั้ง ส่วนใหญ่เกิดในภาคเหนือและภาคใต้ เพราะภูมิประเทศและธรณีวิทยาเอื้อต่อการสไลด์มากกว่าภาคอีสาน นอกจากนี้ยังเกิดจากการกระจายตัวของหินซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต อ่อนไหวต่อการถล่ม และสัมพันธ์ค่อนข้างชัดเจนกับแนวรอยเลื่อนมีพลัง เพราะมีการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ที่มีความชันสูง ดินสลายตัวเร็วกว่าตำแหน่งอื่น ส่วนการตัดต้นไม้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ฝนที่ไม่มากนักเกิดการถล่มได้ แต่ฝนตกหนักและมีต้นไม้เยอะก็เสียหายได้เพราะเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ตัดต้นไม้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการถล่มเร็วขึ้น บางครั้งเป็นการไหลลงไปในร่องน้ำที่ทางวิชาการเรียกว่า น้ำขุดเอาดินออกมา

ทั้งนี้ นักวิจัยได้จัดทำระบบเตือนภัย Multi-way warning ล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อให้ผู้ตัดสินใจแจ้งเตือนคนในหมู่บ้าน แต่โมเดลนี้เตือนเฉพาะจุดไม่ได้ จึงทำโมเดลที่สองที่เตือนได้เฉพาะจุดซึ่งเป็นโมเดลแรกของอาเซียนที่ใช้ในการทำงานวิชาชีพจริง เช่น การวางท่อแก๊สผ่านพื้นที่ดินถล่ม โดยทำให้ชุมชนอ่านค่าง่าย ๆ ได้จากปริมาณน้ำฝนและเตือนภัยตัวเอง ต่อมาพัฒนาเป็นกล่องเตือนภัยดินถล่มประจำบ้านส่งสัญญาณวิทยุจากบนภูเขา จนล่าสุดพัฒนาแอปพลิเคชั่น LandslideWarning.Thai เมื่อกรอกข้อมูลแล้วจะสามารถระบุสถานะในปัจจุบัน เตือนภัยล่วงหน้าได้ 3-4 วัน

นักวิจัยระบุเพิ่มเติมว่า ในฤดูฝนถนนบนภูเขามักจะขาดและถล่ม จึงต้องแก้ไขที่มาตรฐานซึ่งแก้ยาก การทำถนนอนุญาตให้ตัดลาดชันมากที่สุด 45 องศา กรณีที่ตัดแล้วดินยังแห้งก็ไม่พัง แต่ถ้าฝนตกดินชุ่มก็ถล่ม จึงต้องใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมให้เกิดความปลอดภัย ต้องเข้าใจโครงสร้างทางวิศวกรรมว่ามีการใช้งานและบำรุงรักษา เมื่อลาดชันหมดอายุและผุพังก็ต้องมีการบำรุงรักษา ไม่ควรรอให้พังแล้วซ่อมแซม บางพื้นที่ เช่น ดอยช้าง จังหวัดเชียงราย มีหมู่บ้านที่คนอาศัยอยู่ถึง 6,000 คน กำลังขยับตัวลงไปที่ตีนดอยปีละ 50 เซนติเมตร ต้นไม้เอียง ถนนแยก กำแพงแยกพาบ้านลงไปด้วยทั้งที่ชันเพียง 10 องศา มวลดินเก่าเดิมที่เคยถล่มจากภูเขาด้านบน พื้นที่แบบนี้มีอยู่จำนวนมาก บางแห่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญก็อันตราย

สำหรับปัญหาดินถล่มที่แม่สลองและภูชี้ฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประเทศลาวก็เช่นกัน เพราะอาศัยอยู่ตามแนวสันเขาซึ่งเสมือนจั่ว ปลูกบ้านตามลาดชันทำให้น้ำไหลไปตามร่องและขยายใหญ่ขึ้น บ้านตามแนวสันเขาจึงเลื่อนตัวลงมา พื้นที่ที่ไม่ใช่เขตควบคุมอาคาร ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหากฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิค ทั้งนี้เราได้ให้นักศึกษาถอดบทเรียนหมู่บ้านชาวเขาที่ดอยตุงซึ่งไม่มีปัญหาดินถล่ม พบว่ามีการบริหารจัดการน้ำอย่างดี แทบจะไม่มีพื้นที่เป็นดินเพื่อไม่ให้น้ำซึมลงดอย แต่ใช้วิธีกระจายน้ำปล่อยออกหลาย ๆ จุด และทำกำแพงกันดินอยู่ได้นานหลายสิบปี เราได้พัฒนาดัดแปลงทำอิฐรูปปิรามิดจากดินที่ไหลลงมาผสมกับซีเมนต์อัดเป็นแท่งตามรูปร่างที่ต้องการไว้ใช้ในชุมชน ซึ่งจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วและมีหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ ที่น่าสนใจอีกประการ คือ การเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาถนนพังที่ประเทศลาว ซึ่งการขออนุมัติงบประมาณสร้างสาธารณูปโภคใด ๆ จะต้องทำประเมินความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติก่อนจึงจะออกแบบก่อสร้างซึ่งต้องทำการป้องกันอย่างแข็งแรง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำกับประเทศไทยให้เกิดกระบวนการธรรมชาติที่จะนำเรื่องภัยพิบัติเข้าไปบูรณาการกับทุกหน่วย

พื้นที่บ่อเกลือเป็นภูเขาที่มีแนวรอยเลื่อนตัดที่ซับซ้อนต่างจากที่อื่น สิ่งที่พบคือ จุดที่ถล่มเป็นชั้นหินทรายกับหินทรายแป้งเป็นชั้น ๆ ชาวบ้านแจ้งว่าเคยเป็นถ้ำมาก่อน ฝนตกลงมาน้ำซึมลงไปตามพื้นที่รับน้ำบนภูเขาหินทรายซึ่งชันกว่าที่อื่น กัดไปเรื่อย ๆ จนชะง่อนพัง พบว่ามีหินก้อนใหญ่กลมมนค้างอยู่บนเขา แปลว่าพังมานาน กับหินสี่เหลี่ยมที่แสดงว่าเพิ่งพัง พื้นที่นี้จึงเคยเกิดดินถล่มมาก่อน และในอนาคตก็จะมีตะไคร่ขึ้น จัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มเดิม ชาวบ้านควรย้ายออก นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากต้นไม้เอียงที่เติบโตขึ้นในแนวดิ่ง ที่แปลว่าเคยเกิดดินถล่มมาก่อนหน้านี้

สิ่งที่ควรคุยต่อในอนาคต ควรต้องมีระยะเว้นจากตีนเขาห่างออกไปตามทฤษฎี เท่ากับความสูง เช่น ความสูงบนเขา 5 เมตร ต้องเว้นระยะ 5 เมตร ทั้งนี้ได้หารือกับนายอำเภอเรื่องการย้ายพื้นที่หมู่บ้านออกไปจากจุดเสี่ยง และหาพื้นที่ทางเลือกที่เหมาะสม ซึ่งชาวบ้านต้องการอยู่ใกล้พื้นที่ทำกิน ทำลาดชันให้ดีขึ้น และระวังปัญหาเรื่องลมพายุ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของพื้นที่ด้วย

“พื้นที่ภัยพิบัติดินถล่มส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทับซ้อน มีรอยต่อของพื้นที่ราบกับภูเขา ต้องถามว่าเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ควรทำโซนนิ่งและเอาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยงให้เร็วที่สุด แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับชัดเจนแต่ประชาชนในพื้นที่และผู้นำก็ควรจะต้องดูตามความเป็นจริง ไม่ควรอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ปลูกสร้างอาคารหรือขยายสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม แต่ถ้าจะอยู่ต่อก็ต้องปรับตัวปรับพื้นที่ให้อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย เลี่ยงร่องน้ำและร่องเขาเพราะเสี่ยงมากที่สุด”

ทั้งนี้ตำแหน่งดินถล่มจะอยู่ที่ความชัน 25-30 องศา ฝนตกหนักไม่ว่าเป็นป่าแบบไหนยังไงก็ไป พื้นที่อันตราย คือ ขอบเขตที่ดินที่ล้ำไปบนภูเขา ขณะนี้ได้ศึกษาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อทำการเว้นระยะจากตีนภูเขาเท่าใดจึงจะปลอดภัย ปัญหาหลักขณะนี้คือ เรื่องกฎหมาย การอยู่อาศัยโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในประเทศไทยมีจำนวนเยอะมาก เราต้องการ “นวัตกรรมทางกฎหมาย” ต้องมีเงื่อนไขทางกฎหมายและทางราชการ ไม่ใช้ราชการนำแต่ใช้องค์กรเอ็นจีโอนำและราชการตาม ส่วนความคิดในเชิงปฏิบัติเราก็คิดนวัตกรรมใหม่แก้ภัยแล้งและดินถล่ม โดยสูบน้ำบาดาลขึ้นมาแล้วกรองเป็นน้ำดื่มในฤดูแล้ง ซึ่งกำลังดำเนินการและดูผลกระทบที่เกิดขึ้น”

นิวัติ บุญนพ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าวว่า ไทยได้รับอิทธิพลจากแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียต่อเนื่องจากภูเขาหิมาลัยลงมาถึงทางภาคเหนือของพม่า ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ และทางตะวันตกของไทย เกิดการดันตัวและยกตัวขึ้นมา พื้นที่ตั้งของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือจึงเป็นแอ่งยุบตัวสลับภูเขาสูงขนาบรอบข้าง และมีรอยเลื่อนมีพลังเคลื่อนตัวเป็นจังหวะต่อเนื่องกัน โดยมีรอยเลื่อนมีพลังที่เรียกกันว่า “รอยเลื่อนบ่อเกลือ” ขนานกับรอยเลื่อนปัว ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเกิดแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่ม ส่วนภูชี้ฟ้าอยู่ใกล้รอยเลื่อนแม่อิง และที่ภูทับเบิกมีรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ทั้งสามกรณีมีสิ่งที่ทางธรณีวิทยาเรียกว่า กองดินถล่มโบราณ โดยเฉพาะที่ภูทับเบิกกองใหญ่เท่าภูเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการเกิดดินถล่มนอกจากความชันของพื้นที่ รวมถึงปริมาณน้ำฝน การเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ การตัดถนนหนทาง การปลูกพืชทางการเกษตร การมีชุมชนอาศัยอยู่ ทำให้เกิดพื้นที่เสี่ยงต่อชีวิต

กรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มรายภาคและรายจังหวัด ซึ่งคำนวณจากลักษณะทางธรณีวิทยาของหินว่ามีความทนต่อการผุกร่อนเพียงใด รวมถึงชุมชนอาศัย ที่ดิน ความลาดชันของพื้นที่ตั้งแต่ 30 องศาเป็นต้นไป โดยมีปริมาณน้ำฝนเป็นตัวตัดสิน พื้นที่สีแดงมีปริมาณน้ำฝน 100 มิลลิเมตรต่อวันก็ทำให้ถล่มได้ พื้นที่สีเหลืองปริมาณน้ำฝน 200 มิลลิเมตร และพื้นที่สีเขียว 300 มิลลิเมตร ขณะที่การศึกษาวิจัยพื้นที่ต้นแบบที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พบว่าเคยมีดินถล่มไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง รอบของการถล่มประมาณ 5,000 ปี ด้านล่างสุดเป็นชั้นกองดินถล่มโบราณที่มีอายุมากที่สุด จึงพิสูจน์ว่าหลายพื้นที่เคยมีการถล่มของดินจากที่สูงลงมาตามไหล่เขาตามธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าลักษณะของการพัฒนาของภูเขาและแผ่นเปลือกโลก พื้นที่ภูเขาสูงธรรมชาติจะพยายามปรับสมดุลให้เป็นที่ต่ำลงมา ถ้ามนุษย์ไม่ไปขวางหรือยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติก็ไม่เป็นพื้นที่อันตราย แต่ถ้าไปเพิ่มแรงกระตุ้นก็จะทำให้เกิดการถล่มเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องพิจารณากฎหมายเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงภัยต่อไป

พื้นที่บ้านห้วยขาบ

“พื้นที่บ้านห้วยขาบ บ่อเกลือ ไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ควรหาพื้นที่อยู่ใหม่ และจัดระบบเฝ้าระวังเตือนภัยของหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเตรียมรับมือเหตุการณ์ที่พร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อมีฝนตกติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2560 เราได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยรายภาค ตัวแทนรายลุ่มน้ำ 30 ลุ่มน้ำ เพื่อกระจายองค์ความรู้แก่เครือข่ายรอบนอก ขณะนี้จัดตั้งสำเร็จแล้ว 7 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำกก ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำทางตะวันออกที่ระยอง ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำตาปี และที่นครศรีธรรมราช” ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กล่าว

สำหรับที่ภูชี้ฟ้าพบว่าสภาพธรณีวิทยาพบร่องรอยดินถล่มโบราณเช่นกัน ภูเขาปูนถูกแปรสภาพเป็นหินอ่อน เมื่อผุพังกลายเป็นดินเหนียวปนทรายแป้งชั้นหนา พังถล่มได้ง่าย ขณะที่ภูทับเบิกมีสภาพเป็นงูเลื้อยขึ้นไปบนไหล่เขา ช่วงที่เกิดปัญหาเกิดรอยแยกบนถนนคล้ายขั้นบันได้ มีการเลื่อนไถลของแผ่นดิน เป็นดินที่อ่อนแอและมีการเสียสภาพของความสมดุลของดินใต้ถนน ด้านการเฝ้าระวังได้ให้คนในหมู่บ้านใช้กระบอกวัดน้ำฝน โดยพื้นที่ด้านล่างวัดทุก 24 ชั่วโมง ถ้าวัดได้ 100 มิลลิเมตรให้เก็บของ ถ้า 150 เตรียมย้ายของหนีภัยขึ้นไปด้านบน ถ้าได้ถึง 180 มิลลิเมตรมีโอกาสถล่มแน่นอน

ขณะที่ ดร.สุธาสินี อาทิตย์เที่ยง วิศวกรโยธาปฏิบัติการ สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ กำลังร่างกฎหมายเกี่ยวกับดินถล่มเพื่อบังคับใช้ในอนาคต โดยข้อมูลทางวิชาการเบื้องต้นจะถูกนำไปอ้างอิงในการกำหนดมาตรการแต่ละพื้นที่ ทั้งพื้นที่เสี่ยงภัยระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล มาตรการหลัก โดยในทางวิศวกรรมจะมีการกำหนดการก่อสร้าง ลักษณะอาคารต้องห่างจากบริเวณดินถล่ม สร้างกำแพงคันดิน ขณะที่มาตรการทางกฎหมายต้องกำหนดความลาดชันที่เหมาะสม บริเวณที่ห้ามก่อสร้าง ข้อบังคับมาตรการการป้องกันการพังทลายของสิ่งปลูกสร้าง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง มาตรการการพังลายของดิน การขุดดิน ถมดินที่ถูกต้อง ไม่กีดขวางทางน้ำ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร ส่งต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อกำหนดกฎหมายต่อไป ส่วนที่จะทำได้เร็วเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตาม คือ มาตรฐานก่อสร้างอาคารบริเวณเชิงเขาให้มีความปลอดภัย วิเคราะห์ความมั่นคงของพื้นที่ การป้องกันการพังทลายสำหรับพื้นที่ลาดเชิงเขา ติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือเตือนภัย “เรากำลังร่างกฎกระทรวงซึ่งทางกรมฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 29 สิงหาคมนี้ โดยมี รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ เป็นผู้นำเสนอ”

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net