Skip to main content
sharethis

นักวิชาการสันติวิธี มหิดล ระดมทุนช่วยค่าเดินทางพาญาติจำเลยจากชายแดนใต้ มาฟังคำพิพากษาคดีระเบิดน้ำบูดู ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้อง 808 ในวันที่ 25 ก.ย. นี้ ชี้พิจารณาคดีค่อนข้างล่าช้า ญาติเป็นหนี้เพื่อเดินทางมาที่ศาลเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ‘ประชาไท’ ชวนดู 8 ข้อสรุปคดี ตั้งแต่ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน จนถึง คนจนชายแดนใต้ เป็นต้น

 

20 ก.ย.2561 งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา หนึ่งในผู้ริเริ่ม ‘กองทุนช่วยเพื่อนเดินทาง จชต.’ ซึ่งริเริ่มร่วมกับนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อสังเกตของตนพบว่าคดีระเบิดน้ำบูดูเป็นคดีที่ใช้เวลาพิจารณาคดีค่อนข้างล่าช้า ที่เริ่มสนใจคดีนี้เริ่มจากความสงสัยว่า เป็นไปได้ยังไงที่พบหลักฐานเพียงแค่น้ำบูดู แล้วน้ำบูดูสามารถทำให้เป็นระเบิดได้จริงหรือ แล้วการเข้าไปตรวจค้น ปิดล้อม ทั้งหมดทั้งมวลทำให้รู้สึกถึงความไม่ปกติ จึงอยากสื่อสารเรื่องความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม และการตีตราคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้คนทั่วไปได้รับรู้

งามศุกร์ กล่าวต่อว่า พอช่วงที่เงียบไป ก็รู้สึกว่าทำไมคนถึงลืมเรื่องนี้ได้ ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่ควรติดตาม พอติดตามก็พบว่าครอบครัวของจำเลยมีความลำบากในการเดินทางจากภาคใต้ขึ้นมาที่ศาลในกรุงเทพ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น บางคนก็ต้องเป็นหนี้เป็นสิน แล้วคดีนี้พิจารณามาเกือบ 2 ปีแล้ว คิดดูว่าเขาต้องใช้ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วรายได้ของแต่ละครอบครัวก็ไม่แน่นอน

“ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราก็คงอยากช่วยตั้งแต่ครั้งแรกที่พวกเขามา เราเจอเขาหลายครั้งตอนที่เขามา เราก็อยากทำอะไรบางอย่าง ครั้งนี้ก็จะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และมันมีเวลาที่เราจะจัดระดมทุน เพราะครั้งก่อนๆ เราจัดการไม่ทัน แอบหวังไว้เล็กๆ ว่าเงินจะเกินกว่าค่าเดินทาง แล้วส่วนต่างที่เหลือเราก็อยากแบ่งปันให้แต่ละครอบครัวได้ไปใช้หนี้สิน” งามศุกร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ชื่อบัญชีที่ใช้ระดมทุนเข้า กองทุนช่วยเพื่อนเดินทาง จชต. ธนาคารไทยพาณิชย์  หมายเลขบัญชี 333-2-779852

 

สำหรับคดีระเบิดน้ำบูดู ประชาไทสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับคดีทั้งหมด ดังนี้

 

1. ‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ คือเหตุการณ์กวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม. รามคำแหง กว่า 40 คน

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 59 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ และได้กวาดจับคนมุสลิมย่าน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย โดยที่เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก จากนั้นมีการกันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งเป็นชายจากจังหวัดชายแดนใต้ อายุระหว่าง 19-32 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แต่จากหลักฐานที่พบมีเพียงเครื่องข้าวยำรวมทั้งน้ำบูดูเท่านั้น

2. คดีลากยาวเกือบ 2 ปี ล่าสุด 14 จำเลยถูกจับกุมทั้งหมดไม่ได้สิทธิประกันตัว

ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 59 หลายคนถูกปล่อยตัว หลายคนถูกปล่อยแล้วจับอีกครั้ง มี 9 คนที่ถูกจับขัง และในวันที่ 24 ก.พ. 60 อัยการได้ตั้งข้อหาร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร ต่อจากนั้นมีการจับกุมเพิ่มอีก 5 คน สรุปที่ถูกดำเนินคดีรวมมี 14 คน ที่ถูกตั้งข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย โดยที่จำเลยทั้งหมดถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีในปัจจุบัน โดยทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว แม้ก่อนหน้านี้แม่ของจำเลยที่ 4 จะเคยยื่นขอประกันตัว เนื่องจากจำเลยที่ 4 เป็นโรคเกี่ยวกับสมองและต้องพบแพทย์เป็นประจำก็ตาม

ล่าสุดในวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลได้สืบพยานครบทุกปากแล้ว และศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 25 ก.ย. นี้

3. ทนายชี้หลักฐานอ่อน มีเพียงคำรับสารภาพและคำซัดทอดของจำเลยที่ 1

กิจจา อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีของจำเลยและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวว่า จากการซักค้านพยานฝ่ายโจทย์ทั้งหมดพบว่ามีแต่เรื่องข่าวจากฝ่ายการข่าว เช่น ข่าวว่าจำเลยมีวัตถุระเบิดในครอบครอง หรือข่าวว่าจำเลยนำวัตถุระเบิดไปทิ้งในคลอง หรือกล่าวอ้างว่ามีการส่งไปรษณีย์เป็นโทรศัพท์ 5 เครื่องเพื่อมาเป็นรีโมทจุดชนวนก่อระเบิด แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบพยานหลักฐานใดเลย ขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าของในกล่องไปรษณีย์นั้นเป็นเพียงเครื่องข้าวยำ

กิจจา กล่าวต่อว่า ส่วนข้อกล่าวหาว่าเป็นการก่อการร้าย พยานโจทก์ทุกคนก็กล่าวว่าจากการตรวจสอบแล้วจำเลยทุกคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้ายที่จังหวัดชายแดนใต้ และข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่บอกว่ามีการจัดประชุมอั้งยี่ซ่องโจรเพื่อวางระเบิดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ดังนั้นจากการปรึกษากันของทีมทนายจำเลยแล้วก็สรุปว่าพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์นั้นไม่น่าจะมีน้ำหนักในการลงโทษจำเลยในคดีนี้ได้

ขณะที่ อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของคดีของจำเลยและประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดสงขลากล่าวว่าพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดคือคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ซึ่งซัดทอดไปสู่จำเลยคนอื่น

4. หลักฐาน PETN ที่ตรวจพบที่มือจำเลยที่ 3 แต่ก่อนหน้าจำเลยจะตรวจร่างกาย มีทหารมาสัมผัสมือ

สำหรับหลักฐานในคดี กิจจาหนึ่งในทนายจำเลยกล่าวว่า มีเพียงการตรวจดีเอ็นเอที่มือของจำเลยที่ 3 แล้วพบว่ามีสารระเบิด PETN[1]  แต่จากการถามค้านพยานฝ่ายโจทก์ก็ปรากฎว่า ก่อนที่จะมีการส่งตัวจำเลยที่ 3 ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี มีนายทหารคนหนึ่งมาลูบแขน จับมือ จับเสื้อ จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นที่ศาลให้ความสนใจ

5. ในการรับสารภาพ จำเลยอ้างถูกช็อตไฟฟ้า บู๊ดทุบหลัง ปืนจ่อหัว แม็กยิงขา ฯลฯ ในค่ายทหาร

อาดิลัน หนึ่งในทนายความของจำเลยเล่าว่า จำเลยบางส่วนกล่าวว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากถูกข่มขู่ ซ้อม ทำร้าย ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ 13/59 จึงไม่มีพยานหลักฐานการถูกข่มขู่ ซ้อม หรือทำร้าย

Voice tv และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุตรงกันว่า รูปแบบการทรมานมีทั้งการช็อตไฟฟ้า การใช้รองเท้าบู๊ตทหารทุบที่หลัง การใช้มือทุบตีที่ศีรษะและลำตัว ที่เย็บกระดาษยิงที่ขาขวาเกิดบาดแผล เอาปืนจ่อที่ศีรษะ บังคับให้ถอดเสื้อผ้า ปิดตาระหว่างการสอบสวน

6. จำเลยส่วนใหญ่มาจากบ้านเดียวกัน จน และบางคนเป็นกำลังหลักครอบครัว

จากคำบอกเล่าของครอบครัวจำเลย จำเลยหลายคนมาจากหมู่บ้านเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีฐานะยากจน เข้ามาทำงานหาในกรุงเทพฯ เป็นเด็กล้างจานบ้าง เป็นยามบ้าง และอยู่รวมกันในห้องเช่าย่านรามคำแหง และสมุทรปราการ

แมะมูเนอะ สาและ แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 เล่าว่า วิรัตน์เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ประมาณสองเดือนก่อนจะถูกจับ วิรัตน์ช่วยดูแลหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อวิรัตน์ถูกคุมขัง แมะมูเนอะจึงเป็นคนเดียวที่ต้องทำงานหาเงิน

“ช่วงนี้ (เดือน พ.ค.) ฝนตกทุกวัน เก็บยางไม่ได้ ยางตอนนี้กิโลละ 15 บาท วันหนึ่งกรีดได้ 4-5 กิโล ได้วันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท เราอายุ 57 ปีแล้ว ขึ้นเขาไปทำนาภูเขาก็ไม่ได้ เวลามาเยี่ยมลูกบางทีก็ยืมเงินเพื่อนมา เอามาให้ลูก 2,000 กินข้าวไม่ได้บางทีก็กินข้าวโพดกับน้ำ” แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 กล่าว

7. จำเลยทั้ง 14 สถานะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา

ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้ว่า เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก หลังจากนั้นก็กันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ที่บ้านยากจน ไม่มีที่ดิน รับจ้างกรีดยาง เป็นคนชายขอบแม้กระทั่งในชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็ตาม ดังนั้นจึงเหมือนถูกเลือกขึ้นมาเพราะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา

8. ในห้องพิจารณาคดี ญาติและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมเต็มห้อง ญาติบางส่วนต้องรอข้างนอก

ทั้งนี้จากการไปสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีของผู้สื่อข่าวในวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อรวมจำเลย 14 คน และญาติของจำเลยทั้ง 14 คน รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสื่อ องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรกฎหมายต่างๆ ทำให้ในการพิจารณาคดีแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน ทำให้พื้นที่ในห้องพิจารณาคดีไม่เพียงพอ จนมีญาติบางส่วนต้องนั่งรออยู่ด้านนอก

 

[1] หรือ Pentaerythritol Tetranitrate เป็นวัตถุระเบิดที่มีความไวสูง ถูกใช้เป็นดินขยายการระเบิด บรรจุในชนวนฝังแคระเบิด และเชื้อประทุบางชนิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net