Skip to main content
sharethis

‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ หรือเหตุกวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่านรามคำแหงตั้งแต่ปี 59 ศาลตัดสินจำคุก 9 คน จากทั้งหมด 14 คน ล่าสุดได้รับอภัยโทษและจะได้ปล่อยตัวภายในปี 63-64 ด้านแม่ผู้ต้องขังเผยหลังศาลตัดสินตนมีอาการซึมเศร้า เมื่อรู้ข่าวอภัยโทษทำให้อาการดีขึ้น

ฮานีละห์ ดือรามะ หรือ เมาะซู (ภาพจากสำนักข่าว Benarnews)

 

9 ส.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ผู้ต้องขังคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ จำนวน 9 คน ได้รับการอภัยโทษสืบเนื่องจากโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 3 พ.ค. 2562 จากเดิมที่ศาลพิพากษาสั่งจำคุกจำเลยที่ 1 ,2, 4, 9-13 จำนวน 4 ปี และสั่งจำคุกจำเลยที่ 3 จำนวน 6 ปีไปเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 เมื่อได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้ จำเลยที่ 1 และ 2 จะได้รับการปล่อยตัววันที่ 4 มี.ค. 2563 จำเลยที่ 3 จะได้รับการปล่อยตัววันที่ 17 ต.ค. 2564 จำเลยที่ 4 จะได้รับการปล่อยตัววันที่ 18 มี.ค. 2563 จำเลยที่ 9 จะได้รับการปล่อยตัววันที่ 28 มี.ค. 2563 จำเลยที่ 10-13 จะได้รับการปล่อยตัววันที่ 21 ส.ค. 2563

เมาะซู มารดาของจำเลยที่ 4 ได้ขึ้นมาเยี่ยมลูกชายของเธอเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา เธอเล่าว่าหลังจากวันที่ศาลพิพากษาเธอมีอาการซึมเศร้าและต้องกินยาเพื่อรักษาอาการ แต่หลังจากรู้ว่าลูกได้รับการอภัยโทษทำให้อาการของเธอดีขึ้น ตอนนี้เธออยู่กับลูกอีก 2 คน ซึ่งเป็นน้องชายของอุสมาน จำเลยที่ 4 และหาเลี้ยงชีพด้วยการตัดยาง ซึ่งตอนนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท

“ตอนมาเยี่ยมเขาก็ยิ้มแล้ว สบายใจพอรู้วันที่จะได้ออก เขาบอกว่าถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องให้ แต่เราก็ให้เขาไป 2,000 บาท ตอนนี้มีติดตัวอยู่แค่ 3 บาท” เมาะซูกล่าว

 

‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ ศาลระบุไม่มีหลักฐานซ้อม สั่งจำคุก 9 ยกฟ้อง 5 ทนายชี้หลักฐานมีแค่คำซักถามในค่ายทหาร

 

8 ข้อสรุปคดี ‘ระเบิดน้ำบูดู’ หลักฐานอ่อน ซ้อมทรมาน คนจนชายแดนใต้ ฯลฯ ศาลนัดชี้ชะตา 25 ก.ย. นี้

 

ก่อนหน้านี้ จากคำบอกเล่าของครอบครัวจำเลย จำเลยหลายคนมาจากหมู่บ้านเดียวกันในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีฐานะยากจน เข้ามาทำงานหาในกรุงเทพฯ เป็นเด็กล้างจานบ้าง เป็นยามบ้าง และอยู่รวมกันในห้องเช่าย่านรามคำแหง และสมุทรปราการ

แมะมูเนอะ สาและ แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 เล่าว่า วิรัตน์เป็นพี่คนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน เขาเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ประมาณสองเดือนก่อนจะถูกจับ วิรัตน์ช่วยดูแลหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว เมื่อวิรัตน์ถูกคุมขัง แมะมูเนอะจึงเป็นคนเดียวที่ต้องทำงานหาเงิน

“ช่วงนี้ (เดือน พ.ค.) ฝนตกทุกวัน เก็บยางไม่ได้ ยางตอนนี้กิโลละ 15 บาท วันหนึ่งกรีดได้ 4-5 กิโล ได้วันหนึ่งไม่ถึง 200 บาท เราอายุ 57 ปีแล้ว ขึ้นเขาไปทำนาภูเขาก็ไม่ได้ เวลามาเยี่ยมลูกบางทีก็ยืมเงินเพื่อนมา เอามาให้ลูก 2,000 กินข้าวไม่ได้บางทีก็กินข้าวโพดกับน้ำ” แม่ของ วิรัตน์ จำเลยที่ 8 กล่าว

ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้ว่า เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก หลังจากนั้นก็กันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ที่บ้านยากจน ไม่มีที่ดิน รับจ้างกรีดยาง เป็นคนชายขอบแม้กระทั่งในชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็ตาม ดังนั้นจึงเหมือนถูกเลือกขึ้นมาเพราะมีสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคนอื่น และไม่ได้มีสถานะเป็นนักศึกษา

 

อนึ่ง ‘คดีระเบิดน้ำบูดู’ คือเหตุการณ์กวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม. รามคำแหง กว่า 40 คน โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 59 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างสาเหตุว่ามีการซ่องสุมและจะก่อเหตุระเบิด ‘คาร์บอม’ และได้กวาดจับคนมุสลิมย่าน มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนนำมาสู่การขยายผลจับกุมในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาสด้วย โดยที่เมื่อกวาดจับกว่า 40 คนในช่วงแรก จากนั้นมีการกันคนที่เป็นนักศึกษาจริงๆ ออก จนเหลือ 14 คน ซึ่งเป็นชายจากจังหวัดชายแดนใต้ อายุระหว่าง 19-32 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เพิ่งมาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แต่จากหลักฐานที่พบมีเพียงเครื่องข้าวยำรวมทั้งน้ำบูดูเท่านั้น ดังนั้นคดีนี้จึงถูกเรียกกันว่า 'คดีระเบิดน้ำบูดู'

คดีลากยาวเกือบ 2 ปี และ 14 จำเลยถูกจับกุมทั้งหมดไม่ได้สิทธิประกันตัว ในข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย

อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หนึ่งในทนายความของจำเลยเล่าว่า จำเลยบางส่วนกล่าวว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เนื่องจากถูกข่มขู่ ซ้อม ทำร้าย ให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วจำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว และเนื่องจากเป็นการควบคุมตัวในค่ายทหารตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 และ 13/59 จึงไม่มีพยานหลักฐานการถูกข่มขู่ ซ้อม หรือทำร้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net