200 ปี Karl Marx: เก่งกิจ กิติเรียงลาภ–วิพากษ์ Anthropocene ขายวิกฤติธรรมชาติ แยกขาดจากทุนนิยม

15 กันยายน 2561 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการสัมมนาวิชาการ 200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ วิทยากรประกอบด้วย รศ.สรวิศ ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ดร.ปวงชน อุนจะนำ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเศวร, รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ดร.ธิกานต์ ศรีนารา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.Katsuyuki Takahashi College of ASEAN Community Studies มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยในช่วงเช้าภายหลังการนำเสนอของสรวิศ ชัยนามแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) เป็นการนำเสนอของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ

จากความตายของมนุษย์สู่อวสานของโลก: การเกิดใหม่ของโลกที่ไม่ใช่โลกทุนนิยม
 

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาตนเองสนใจ Nonhuman Turn หรือการศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ บางคนเรียกเป็นกลุ่มย่อย เช่น Ontological Turn การที่หันมาศึกษาสภาวะการเป็นของอะไรบางอย่าง Object Oriented Ontology ภาววิทยาของวัตถุ รวมถึงงานมานุษยวิทยาที่พูดถึง Animism ความเชื่อเกี่ยวกับพวกวิญญาณของสิ่งของต่างๆ 

บริบทที่สำคัญคือ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตของนิเวศวิทยา เช่น สภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นการข่มขู่แห่งยุคสมัย

การข่มขู่ประเด็นแรก ว่าด้วยเรื่องบทบาทเครื่องจักรต่างๆ ที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์ ช่วงที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็ข่มขู่ผู้คนในโลก นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ และเมื่อมันมาแทนที่แล้วแรงงานมนุษย์จะตกงาน ทำไมนักเศรษฐศาสตร์คิดไม่ได้ว่า เมื่อหุ่นยนต์ทำงานแทนเรา เราควรทำงานน้อยลง ได้ผลตอบแทนมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น พวกเขาบอกว่าคิดแบบนี้อยู่ในโลกทุนนิยมไม่ได้ เพราะไม่มีใครคิดพัฒนาหุ่นยนต์หรือ AI เพื่อให้มนุษย์ทำงานน้อยลง 

การข่มขู่ประเด็นที่สอง วิกฤตของนิเวศวิทยาและสภาวะโลกร้อน แนวโน้มก็คือมนุษย์กำลังจะสูญพันธุ์ หนังสือการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วเป็นหนังสือที่ขายดีมาก เล่าเรื่องการสูญพันธุ์ของสัตว์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

งานของ Timothy Morton และอีกหลายคนสนับสนุนแนวคิดว่าด้วย Anthropocene หรือสภาวะที่มนุษย์กระทำกับระบบนิเวศวิทยาอย่างรุนแรงและมนุษย์กำลังถูกเอาคืน

... ส่วนงานของ Jason Moore โต้แย้ง Anthropocene ซึ่งทำเสมือนว่า คนทุกคนเป็นพวกทำลายธรรมชาติ และมนุษย์ทุกคน (แม่ง) เป็นคนชั่วหมด ฉะนั้นทางออกคือ เราต้องคิดถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่ Moore พยายามแก้ปัญหาโดยใช้มุมมองแบบ Marxist

ระบบทุนนิยมในปัจจุบันกำลังข่มขู่มนุษย์ด้วยสองเรื่องนี้ ครั้งนี้จะขอพูดถึงเฉพาะส่วนที่สองคือ ปัญหาว่าด้วยธรรมชาติ มันถูกศึกษาอย่างมากในทางสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ หลายคนบอกว่าเราอยู่ในยุค Anthropocence พูดอย่างหยาบคือ ยุคที่มนุษย์กระทำกับโลก เปลี่ยนแปลงโลกธรรมชาติอย่างรุนแรง มีการศึกษาเรื่องระบบนิเวศอย่างมากมาย โดยเฉพาะ Nonhuman Turn ทั้งหลาย ยกตัวอย่างงานของ Timothy Morton ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้โลกที่ชิบหายมากขึ้นเรื่อยๆ งานล่าสุดของเขาชื่อว่า Being Ecological ข้อเสนอของเขาจะสรุปอย่างสั้นเป็น 3 ประเด็นคือ

1. โลกกำลังอยู่ในสภาวะแตกกระจาย ในแง่ความสามารถที่เราจะรับรู้การดำรงอยู่ของโลก เวลาเราพูดถึง “สภาวะโลกร้อน” ในความเป็นจริงไม่มีใครมองเห็นสภาวะโลกร้อน จับต้องสภาวะโลกร้อนไม่ได้ แต่เรารู้สึกเวลาที่ฝนตกไม่ตรงฤดูกาลหรือฤดูหนาวเรารู้สึกร้อน ตัวเลขทางสถิติต่างๆ ที่สูงกว่าเดิม ฯลฯ มันสะท้อนว่ามนุษย์ไม่สามารถมองโลกอย่างเป็นองค์รวมได้

2. การที่มนุษย์ไม่สามารถมองโลกเป็นองค์รวมได้ สะท้อนปัญหาว่าความรู้ของมนุษย์หรือระบบเหตุผลของมนุษย์ไม่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลและเป็นองค์รวมอย่างเห็นทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เราจำเป็นต้องคิดถึงการดำรงอยู่ของสิ่งอื่นๆ แม่น้ำ อากาศ แร่ธาตุ ที่ไม่มีชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังเผยแสดงตัวเองให้เราเห็นเช่น การแผ่นดินไหว น้ำท่วม

3.สภาวะโลกร้อนหรือระบบนิเวศวิทยา เป็นวัตถุขนาดใหญ่ hyper object เรามองไม่เห็นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นแต่มันกระทบกับชีวิตของเราจริงๆ

200 ปี Karl Marx: สรวิศ ชัยนาม - รักเดือดแดงมาแต่เดิม, 19 ก.ย. 2561

งานของ Morton และอีกหลายคนกำลังสนับสนุนแนวคิดว่าด้วย Anthropocene หรือสภาวะที่มนุษย์กระทำกับระบบนิเวศวิทยาอย่างรุนแรงและมนุษย์กำลังถูกเอาคืน เราลองเสิร์ชดูจะมีตัวเลขหายนะมากมายหลายอย่าง ว่ากันว่า Anthropocene เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18 และรุนแรงขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา นางาซากิ การใช้อาวุธชีวภาพ รวมถึงการทำการเกษตรขนาดใหญ่ด้วย

ข้อเสนอหลักของ Moore  คือ วิกฤตระบบนิเวศไม่ได้เกิดจากมนุษย์แต่ละคน แต่เกิดจากวิถีการผลิตหรือระบบทุนนิยม เพราะระบบทุนนิยมเองก็ทำงานในโลกธรรมชาติด้วย

... เรามักมองว่าระบบทุนนิยมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วระบบทุนนิยมคือรูปแบบการใช้อำนาจในการบริหารจัดการโลกธรรมชาติและมนุษย์อย่างถึงราก

เราไม่มีทางเข้าใจวิกฤตของระบบนิเวศได้โดยที่ไม่จัดวางระบบนิเวศเหล่านี้อยู่ในบริบทของทุนนิยม
งานต่างๆ เหล่านี้ได้รับความนิยมมาก แม้แต่ในวงวิชาการ อย่างไรก็ตาม พวกมาร์กซิสต์ก็เป็นพวกหนึ่งที่ศึกษาระบบนิเวศหรือโลกธรรมชาติเหมือนกัน ยกตัวอย่างงานของ Jason Moore เป็นงานเด่นที่โต้แย้ง Anthropocene ซึ่งทำเสมือนว่า คนทุกคนเป็นพวกทำลายธรรมชาติ และมนุษย์ทุกคน (แม่ง) เป็นคนชั่วหมด เพราะฉะนั้น ทางออกคือ เราต้องคิดถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ แต่ Moore พยายามแก้ปัญหาโดยใช้มุมมองแบบ Marxist

ข้อเสนอหลักของ Moore  คือ วิกฤตระบบนิเวศไม่ได้เกิดจากมนุษย์แต่ละคน แต่เกิดจากวิถีการผลิตหรือระบบทุนนิยมนี่แหละที่ทำให้เกิดวิกฤตในธรรมชาติ

Moore เริ่มต้นจากการนิยามลักษณะของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยบอกว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่อยู่ในโลกธรรมชาติหรือแยกออกจากธรรมชาติได้ เราเพียงเชื่อว่าเราแยกจากธรรมชาติเท่านั้นเอง ยกตัวอย่าง วันหยุดคนชอบขับรถไปเที่ยวธรรมชาติ ถามว่าที่อยู่กันนี่ไม่ใช่ธรรมชาติหรือ ทำไมธรรมชาติถึงต้องมีต้นไม้มีน้ำตก ในทัศนะของมาร์กซ์มนุษย์อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว และปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ในโลกธรรมชาติ และมนุษย์เองก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ผลิตซ้ำ และเปลี่ยนแปลงโดยโลกธรรมชาติด้วย

ประการต่อมา มนุษย์นอกจากจะเป็นสปีชี่หนึ่งในโลกธรรมชาติ ระบบทุนนิยมเองก็ทำงานในโลกธรรมชาติด้วย เรามักมองว่าระบบทุนนิยมไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วระบบทุนนิยมคือรูปแบบการใช้อำนาจในการบริหารจัดการโลกธรรมชาติและการจัดการมนุษย์อย่างถึงราก

Moore พูดถึงปัญหาที่สำคัญมาก คือ เราไม่มีทางเข้าใจวิกฤตของระบบนิเวศได้โดยที่ไม่จัดวางระบบนิเวศเหล่านี้อยู่ในบริบทของทุนนิยม เราจำเป็นต้องทำความเข้าในระบบทุนนิยมในโลกธรรมชาติว่ามันทำงานผ่านโลกธรรมชาติอย่างไร เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เราเรียกว่า ธรรมชาติ ซึ่งนามธรรมมากๆ ระบบทุนนิยมนี่แหละที่เป็นตัวสถาปนาคำว่า ธรรมชาติ ขึ้นมาเป็นธรรมชาติที่นามธรรมและแยกขาดจากสิ่งมีชีวิตต่างๆ หรือธรรมชาติที่แยกขาดจากวัฒนธรรม 

ระบบทุนนิยมสะสมทุนอย่างมหาศาลผ่านการผลักให้โลกธรรมชาติเป็น externality คือ สิ่งที่อยู่ภายนอกกระบวนการผลิตแต่จริงๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมูลค่า หรือพูดอีกแบบคือ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างมูลค่าแต่ไม่ถูกนับว่ามีมูลค่า

Moore พูดประเด็นเหล่านี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีเซลล์แมนขายวิกฤตมากมาย เรากำลังอยู่ในวิกฤตต่างๆ นานา (อันที่จริงพวกมาร์กซิสต์ก็เป็นพวกหนึ่งที่พยายามบอกคนอื่นว่ามีวิกฤตเกิดขึ้นแล้วจึงจำเป็นต้องปฏิวัติ) วิกฤตที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันคือ

1.วิกฤตด้านอาหาร เราขาดแคลนอาหารรวมถึงอาหารที่ปลอดภัย ยกตัวอย่าง รัฐบาล คสช.ประกาศที่จะเก็บค่าน้ำจากชาวนาที่เอาน้ำไปใช้ทำนา นี่ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มสูงเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตอาหาร หรือกระทั่งบริษัทฟาสต์ฟู้ดต่างๆ ไม่ให้พนักงานกินอาหารเหลือขายของร้าน เมื่อหมดวันจะนำอาหารเหลือไปทิ้ง ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากระบบการจัดการเศรษฐกิจแบบหนึ่ง

2.วิกฤตของพลังงาน  ยกตัวอย่าง รัฐบาล คสช.บอกว่าห้ามใช้โซลาร์เซลล์เพราะผิดกฎหมาย ต้องใช้พลังงานในระบบที่มีอยู่เท่านั้น ฯลฯ 

3. วิกฤตทางการเงิน ในปี 2008 คนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาสูญเสียบ้านเพราะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้  

Moore บอกว่าวิกฤตทั้งสามนี้สัมพันธ์กัน พร้อมทั้งย้ำด้วยว่าทุนนิยมโดยตัวมันเองเกิดวิกฤตตลอดเวลา และมันพยายามหาทางแก้วิกฤตของตัวเองเพื่อกอบกู้อัตรากำไรหรือการสะสมทุน วิธีการนั้นมีหลายอย่าง เช่น 

1.การย้ายฐานแรงงานไปที่ที่แรงงานราคาถูก หรือไม่ก็ใช้แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย 

2.การปรับรูปแบบการจ้างหรือวิถีการผลิต จากเดิมที่ทุกคนอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมก็ไม่ต้องให้ทุกคนอยู่ในโรงงานเพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบภาระสวัสดิการต่างๆ

3.เราจะเห็นการขยายตัวของระบบทุนนิยมการเงิน ถ้าดูตัวเลขการสะสมทุน ระบบทุนนิยมสะสมทุนแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ในขณะที่ค่าแรงจริงของคนในโลกลดลง นี่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก หมายความว่าการทำงานหนักของเราเราได้ส่วนแบ่งน้อยลงขณะที่ระบบทุนนิยมสะสมทุนได้เพิ่มขึ้น ทำให้ท้ายที่สุด ส่วนเกินที่สะสมได้นำไปลงทุนในภาคการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ

4. วิกฤตของระบบทุนนิยมที่กล่าวมามันทำให้มีการหาต้นทุนที่มีราคาถูกหรือฟรี เป็นลักษณะหรือวิธีการที่กระทบกับระบบนิเวศโดยตรง ระบบทุนนิยมสะสมทุนอย่างมหาศาลผ่านการผลักให้โลกธรรมชาติเป็น externality คือ สิ่งที่อยู่ภายนอกกระบวนการผลิตแต่จริงๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมูลค่า หรือพูดอีกแบบคือ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างมูลค่าแต่ไม่ถูกนับว่ามีมูลค่า

Moore กลับมาที่จุดเริ่มต้นว่า มันเป็นไปได้แค่ไหนที่มนุษย์จะแยกโลกทางสังคมออกจากโลกธรรมชาติ มันเป็นความฝันอันงี่เง่าที่ระบบทุนนิยมเชื่อว่ามนุษย์เป็นปัจเจกบุคคล และเป็นความงี่เง่าอีกเช่นกันที่เชื่อว่ามนุษย์หลุดออกจากสภาวะธรรมชาติมาสู่โลกทางสังคมที่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น แต่ Moore ชี้ให้เห็นว่าเวลาเราใช้ชีวิตอยู่เราเป็นองค์ประกอบของทั้งโลกธรรมชาติและโลกทางสังคมหรือโลกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น ยกตัวอย่าง ในร่างกายมนุษย์มีเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ประมาณ 90% เรามีตัวเราเองแค่ 10% คำถามคือ ตัวเราเป็นมนุษย์มากน้อยแค่ไหน หรือมนุษย์คืออะไรกันแน่ หลุดจากความเป็นสัตว์จริงหรือไม่ หรือต่างพึ่งพิงชีวิตอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อผลิตสร้างความเป็นมนุษย์ของเราได้ Moore เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า co-production หรือการสร้างสภาวะของการมีชีวิตร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในระบบนิเวศ

Moore จึงนิยามว่ามนุษย์เป็นทั้ง biological และ social เป็นองค์ประกอบทั้งเชิงชีววิทยาและเชิงสังคม มนุษย์ต้องอาศัยโลกทางชีววิทยาจึงจะมีชีวิตรอดในโลกทางสังคม มนุษย์ยังสามารถสร้างระบบนิเวศหรือสภาวะแวดล้อมได้ด้วย แล้วเราจะจัดการระบบนิเวศอย่างไร Moore บอกว่าความคิดกระแสหลักของนักสิ่งแวดล้อมคือ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทำเสมือนว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทะนุถนอมเก็บไว้ให้ห่างไกลจากมนุษย์ และที่ผ่านมาเราถูกประณามหยามเหยียบตลอดว่าเรากำลังทำลายโลกโดยไม่มี Solution อะไรเลย

Moore เสนอว่าธรรมชาติโดยตัวมันเองถูกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตัวมันเองก็เปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา ทุกๆ ครั้งที่เราใช้ชีวตอยู่ในโลกและก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ก็เปลี่ยนแปลงโลกธรรมชาติด้วย ฉะนั้น ถ้าพูดในภาษาของมาร์กซ์ก็จะบอกว่า กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตมนุษย์หรือของทุกๆ ชีวิตนั้นก็คือ กระบวนการของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ตัวเองจะมีชีวิตรอดหรืออาศัยร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ฉะนั้นไม่มีใครเลยที่จะมีชีวิตโดยไม่เปลี่ยนแปลงโลกรอบข้าง หรือไม่มีสัตว์ตัวไหนเลยที่เอาชีวิตรอดโดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมรอบตัวเอง ธรรมชาติจึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง ตายตัวหรือแยกขาดจากชีวิต แต่ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้ชีวิตของสรรพสิ่ง

ระบบทุนนิยมเองเป็นรูปแบบหนึ่งที่พยายามจะจัดการกับโลกธรรมชาติ กราฟที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว อัตราเร่งของการสูญพันธุ์ของสัตว์ต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ธรรมชาติถูกทำเป็นตัวเลข ถูกทำให้เป็นนามธรรม บ่อยครั้งองค์ความรู้แบบทุนนิยมแบบสมัยใหม่ก็ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกและเปลี่ยนแปลงเป็นเชิงปริมาณได้ หรือบ่อยครั้งเราก็ทำให้ธรรมชาติเป็นสิ่งซึ่งใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัด

วิธีคิดของระบบทุนนิยมแบบนี้ไปกันได้ดีกับพวกสิ่งแวดล้อมนิยมทั้งหลายที่เชื่อว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งที่แยกขาดจากมนุษย์ เราต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ ถอยตัวเองออกจากโลกธรรมชาติ ความคิดเหล่านี้ละเลยการอยู่ร่วมกัน หรือการที่ต่างก็เปลี่ยนแปลงกันและกันของมนุษย์ สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในธรรมชาติ

(จากซ้ายไปขวา) ปวงชน อุนจะนำ, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ และสรวิศ ชัยนาม

Moore ดึงเอากฎเรื่องมูลค่าในทฤษฎีของมาร์กซ์มาอธิบาย ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องนี้ โดยระบุว่า ระบบทุนนิยมสะสมทุนบนการเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้มีมูลค่า เช่น ชาวนาสามารถทำนาได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ ทุกวันนี้น้ำถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า สิ่งที่ระบบทุนนิยมผ่านรัฐหรือกลไกตลาดคือเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เป็นสินค้าตลอด ทีนี้ในระบบทุนนิยมเองได้ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งที่มีราคาถูกที่สุด เราเปลี่ยนโลกธรรมชาติในหลากหลายรูปแบบ เช่น เราเปลี่ยนรูปธรรมชาติเป็นอาหาร เราทำให้อาหารมีราคา หรือเปลี่ยนกำลังแรงงานของมนุษย์เป็นสินค้าซึ่งอันนี้เป็นหัวใจของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม หรือกระทั่งถ่านหิน พลังงาน วัตถุดิบต่างๆ ถูกเปลี่ยนเป็นสินค้า ฉะนั้น ระบบทุนนิยมสะสมทุนขึ้นมาบนการเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้เป็นสินค้า พร้อมกับอีกด้านคือ การทำให้ของบางอย่างไม่เป็นสินค้าด้วย

ระบบทุนนิยมต้องควบคุมเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน พูดง่ายๆ ว่าด้านหนึ่งมันเปลี่ยนสิ่งที่มีประโยชน์ให้กลายเป็นสินค้า แต่อีกด้านหนึ่งมันเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสินค้ากลับไปเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา

...ระบบทุนนิยมวางอยู่บนระหว่างสิ่งที่จ่ายกับสิ่งที่ไม่จ่าย ระหว่างสิ่งที่เป็นสินค้าได้กับสิ่งที่ไม่เป็นสินค้า

...เวลาที่โรงงานทำการผลิตเขาปล่อยสารพิษออกจากโรงงาน โรงงานไม่ได้จ่ายค่าปล่อยสารพิษ ทั้งที่จริงๆ การปล่อยสารพิษลงแม่น้ำหรืออากาศมันทำลายชีวิตคนอื่นหรือทำลายระบบนิเวศ นายทุนคิดเฉพาะต้นทุนของวัตถุดิบและแรงงานเท่านั้น

ฉะนั้น ระบบทุนนิยมใช้โลกธรรมชาติในฐานะที่เป็นของฟรีที่ตัวเองจะขูดรีดหาประโยชน์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้ามองในแง่ของมูลค่า กฎของมูลค่าของมาร์กซ์ มีการพูดถึงมูลค่าใช้สอย กับมูลค่าแลกเปลี่ยน เช่น อากาศที่เราใช้หายใจมีประโยชน์กว่านาฬิกาที่ใส่ แม้ว่านาฬิกาจะราคาเป็นแสนเป็นล้าน มาร์กซ์บอกว่าระบบทุนนิยมต้องควบคุมเส้นแบ่งระหว่างสิ่งที่เป็นมูลค่าใช้สอยกับมูลค่าแลกเปลี่ยน พูดง่ายๆ ว่าด้านหนึ่งมันเปลี่ยนสิ่งที่มีประโยชน์ให้กลายเป็นสินค้า แต่อีกด้านหนึ่งมันเปลี่ยนสิ่งที่เป็นสินค้ากลับไปเป็นสิ่งที่ไม่มีราคา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้

ทุนนิยมแบ่ง 2 ส่วนอย่างชัดเจน 1.การผลิต 2.การผลิตซ้ำ ยกตัวอย่าง ผมทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้เงินเดือน พอกลับถึงบ้านแม่ทำกับข้าวให้กิน มีหมาสร้างความสุขให้เราหลายชั่วโมงก่อนเรานอน แต่แม่ไม่เคยได้เงินเดือน ระบบทุนนิยมจ่ายเฉพาะ 8  ชั่วโมงที่ผมทำงานต่อวัน แต่แรงงานของแม่ไม่เคยได้รับการจ่ายจากระบบทุน ทั้งที่ผมสามารถกลับไปทำงานได้เพราะแรงงานในการทำกับข้าวของแม่

ระบบทุนนิยมวางอยู่บนระหว่างสิ่งที่จ่ายกับสิ่งที่ไม่จ่าย ระหว่างสิ่งที่เป็นสินค้าได้กับสิ่งที่ไม่เป็นสินค้า ไม่ใช่แรงงานทุกประเภทจะกลายเป็นสินค้า รวมถึงบางสิ่งบางอย่างถูกมองว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่มีราคา เช่น เวลาที่โรงงานทำการผลิตเขาปล่อยสารพิษออกจากโรงงาน โรงงานไม่ได้จ่ายค่าปล่อยสารพิษ ทั้งที่จริงๆ การปล่อยสารพิษลงแม่น้ำหรืออากาศมันทำลายชีวิตคนอื่นหรือทำลายระบบนิเวศ นายทุนคิดเฉพาะต้นทุนของวัตถุดิบและแรงงานเท่านั้นเป็นต้นทุน ฉะนั้น ระบบทุนนิยมใช้โลกธรรมชาติในฐานะที่เป็นของฟรีที่ตัวเองจะขูดรีดสะสมหาประโยชน์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นโลกธรรมชาติจำนวนมากถูกผลักออกจากกระบวนการผลิตเพื่อทำให้มันฟรี

พูดถึงที่สุด ระบบทุนนิยมสะสมทุนได้บนการเปลี่ยนบางอย่างให้มีมูลค่า และบางอย่างไม่มีมูลค่า ระบบทุนนิยมขูดรีดธรรมชาติและแรงงานมนุษย์ให้มีราคาถูก เพื่อทำให้ตัวมันสะสมทุนได้ ยิ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมากเท่าไรมันก็จะผลักกันสะสมทุนไปที่โลกธรรมชาติมากขึ้น แล้วเมื่อโลกธรรมชาติเสื่อมถอยมันก็จะกลับมาที่การขูดรีดแรงงานมนุษย์มากขึ้น เป็นสิ่งที่ Moore เรียกว่าเป็น dialectics ของระบบทุนนิยม

ในปัจจุบันเราอยู่ในวิกฤตของสภาวะแวดล้อม Moore บอกว่าวิกฤตนี้เกิดจากการที่ส่วนเกินในธรรมชาตินั้นลดลง นายทุนไม่สามารถที่จะขูดรีดจากธรรมชาติอย่างเต็มที่ได้เหมือนเดิม ฉะนั้น สิ่งที่ระบบทุนนิยมทำหลังจากระบบนิเวศเริ่มพังทลายก็ไปสร้างกลไกเพื่อขูดรีดส่วนอื่นๆ ต่อ สำหรับ Moore วิกฤตของระบบนิเวศไม่ใช่วิกฤตของธรรมชาติโดยทั่วไป แต่เป็นวิกฤตของธรรมชาติในทางประวัติศาสตร์ เพราะธรรมชาติเองก็มีประวัติศาสตร์ เราอยู่ในโลกธรรมชาติที่ไม่ได้เป็นแค่ธรรมชาติ แต่มันเป็นธรรมชาติในระบบทุนนิยม ธรรมชาติในระบบทุนนิยมทุกวันนี้เป็นวิกฤตของระบบทุนนิยม ไม่ใช่วิกฤตของระบบนิเวศโดยทั่วไปที่เป็นนามธรรม

Anthropocene เป็นการหลอกลวงของทุนนิยมหรือพวกสิ่งแวดล้อมนิยม ที่ผลักภาระหรือปัญหาของระบบนิเวศออกจากการวิเคราะห์ระบบทุนนิยม Moore เสนอว่าเราอยู่ในยุค Capitalocene หรือยุคที่ระบบทุนนิยมครองโลก ระบบทุนนิยมบริหารจัดการโลกธรรมชาติและกระทำกับโลกธรรมชาติอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับที่ขูดรีดแรงงานมนุษย์อย่างรุนแรง

...การพยายามจัดการปัญหาโดยกระตุ้นจิตสำนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นการหลอกลวงของระบบทุนนิยม ที่จริงแล้วตัวมันเองเป็นกลไกสำคัญที่ทำลายระบบนิเวศ

...ทางแก้มันคือการเปลี่ยนวิถีการผลิต เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิต 

...งานของ Moore ในแง่นี้จึงเป็นสปิริตของมาร์กซ์ในบริบทศตรวรรษปัจจุบัน

งานของ Moore วิจารณ์แนวคิดของพวก Anthropocene หลายประการ 1.พวกนี้มองว่า ธรรมชาติหลุดพ้นจากระบบชนชั้น ระบบทุนนิยมหรือการขูดรีดของทุนเลย จึงตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากการวิเคราะห์ปัญหาระบบนิเวศ 2.มันลดทอนมนุษย์ ลดทอนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นให้เป็นเพียงแค่มนุษย์ ทำมนุษย์ให้เป็นศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ มีนักคิดบอกว่าเราไม่ได้อยู่ในยุค Anthropocene หรอกแต่อยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน climatic regime หรือระบอบของภูมิอากาศ โลกจะมีการเปลี่ยนรูปแบบของภูมิอากาศในแต่ละช่วงเวลา แต่เรามองเป็นปัญหาระบบนิเวศเพราะเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง

Moore เสนอว่า Anthropocene เป็นการหลอกลวงของทุนนิยมหรือพวกสิ่งแวดล้อมนิยม ที่ผลักภาระหรือปัญหาของระบบนิเวศออกจากการวิเคราะห์ระบบทุนนิยม Moore เสนอว่าเราอยู่ในยุค Capitalocene หรือยุคที่ระบบทุนนิยมครองโลก ระบบทุนนิยมบริหารจัดการโลกธรรมชาติและกระทำกับโลกธรรมชาติอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับที่ขูดรีดแรงงานมนุษย์อย่างรุนแรงในฐานะที่มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม การพยายามจัดการปัญหาโดยกระตุ้นจิตสำนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เอามนุษย์ออกจากป่า เอามนุษย์ออกจากโลกธรรมชาติมันเป็นการเพ้อฝันของระบบทุนนิยม เป็นการหลอกลวงของระบบทุนนิยม ทั้งที่จริงแล้วตัวมันเองเป็นกลไกสำคัญที่ทำลายระบบนิเวศ วิธีทางแก้จึงไม่ใช่การปลุกจิตสำนึกว่าด้วยการรักธรรมชาติแบบนามธรรม เพ้อฝัน และดัดจริต แต่มันคือการเปลี่ยนวิถีการผลิต ทุกวันนี้รูปแบบการผลิตของมนุษย์มันทำลาย ขูดรีดโลกธรรมชาติและชีวิตมนุษย์มหาศาล ถ้าเราจะสู้กับประเด็นเหล่านี้เราจะอยู่ในโลกทุนนิยมไม่ได้ เพราะโลกทุนนิยมตรรกะพื้นฐานของมันคือการขูดรีดอย่างถึงที่สุด ถ้าเราอยากมีชีวิตที่ดี ในแง่ที่อยู่ร่วมกับสิ่งอื่นได้ ส่วนสำคัญคือเราต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการผลิต งานของ Moore ในแง่นี้จึงเป็นสปิริตของมาร์กซ์ในบริบทศตวรรษปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท