งานวิจัยธนาคารโลกชี้ลงทุนเพื่อสุขภาพ-การเรียนรู้ของเด็ก จะเพิ่มรายได้ประเทศในอนาคต

รายงานวิจัยฉบับใหม่ของธนาคารโลก รวบรวมหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของเด็กสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรและประเทศให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต


ที่มาภาพประกอบ: ธนาคารโลก

รายงานดัชนีทุนมนุษย์ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 ในการประชุมประจำปีของสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศเปิดเผยว่าเด็กที่เกิดใหม่ทั่วโลกร้อยละ 56  สูญเสียศักยภาพในการสร้างรายได้ตลอดชีวิตเกินกว่าครึ่ง เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสุขภาพ การศึกษา รวมถึงการเตรียมประชาชนให้พร้อมกับงานในอนาคตอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ในส่วนของประเทศไทยนั้น ดัชนีทุนมนุษย์แสดงให้เห็นว่าเด็กที่เกิดในวันนี้จะมีผลิตภาพเพียงร้อยละ 60 ของศักยภาพที่พวกเขาควรจะมีหากได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่
 
ทุนมนุษย์ซึ่งหมายถึงความรู้ ทักษะ และสุขภาพที่สะสมต่อเนื่องมาตลอดชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการลดลงของอัตราความยากจนของหลายประเทศในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิเอเชียตะวันออก
 
“สำหรับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุด ทุนมนุษย์เป็นทรัพยากรเพียงอย่างเดียวที่พวกเขาจะพึงมี” นายจิม ยอง คิม ประธานกลุ่มธนาคารโลกกล่าว “ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้านสุขภาพและคุณภาพของการเรียนรู้ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ดัชนีนี้เป็นดัชนีที่เชื่อมโยงผลลัพธ์ด้านสุขภาพ การศึกษา ผลิตภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมหวังว่าดัชนีนี้จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เดินหน้าอย่างเร่งด่วน เพิ่มการลงทุน และดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเพื่อประชาชนในแต่ละประเทศ”
 
“ทุกประเทศต่างก็มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ” นายคิมกล่าว “การสร้างทุนมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกประเทศในทุกระดับรายได้ในการที่จะทำให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้เต็มศักยภาพในอนาคต”
 
ดัชนีทุนมนุษย์นี้เป็นการวัดผลรวมของทุนมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี โดยคำนึงถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศที่เขาและเธออาศัยอยู่  ดัชนีจะประเมินความต่างระหว่างสิ่งที่แต่ละประเทศมีกับศักยภาพสูงสุดของคุณภาพการศึกษาและสุขภาพที่เด็กพึงได้รับ โดยการประเมินประกอบด้วยสามปัจจัย ดังนี้

การอยู่รอด – เด็กที่เกิดในวันนี้จะสามารถมีชีวิตรอดจนถึงวัยเรียน
โรงเรียน - เด็กๆ จะได้รับการศึกษาเป็นเวลากี่ปีและพวกเขาจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง
สุขภาพ – เด็กๆ จะมีสุขภาพสมบูรณ์ในวันที่พวกเขาจบการศึกษาระดับพื้นฐาน และมีความพร้อมที่จะเรียนต่อและหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวหรือไม่
 
ดัชนีชี้ให้เห็นว่าโดยรวมแล้วประเทศไทยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง) แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จากดัชนีนี้เห็นได้ว่า เด็กไทยในวันนี้โดยเฉลี่ยจะสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาเป็นเวลาทั้งสิ้น 12.4 ปีจนถึงอายุ18 ปี แต่หากคำนึงถึงคุณภาพของการเรียนรู้แล้ว เด็กเหล่านี้จะมีความสามารถเทียบเท่ากับการได้เข้าเรียนเป็นเวลาเพียง 8.6 ปี ความต่างในการเรียนรู้จำนวน 3.8 ปี เกิดจากคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน
 
“ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขยายการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีอัตราของเด็กเตี้ยแคระแกร็นอยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เด็กที่เกิดในวันนี้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่มีผลิตภาพในอนาคต” นางมารา เค วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศบรูไนดารูซาราม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยกล่าว “รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงเรื่องนี้และได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ด้านการศึกษาและความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา”
 
ดัชนีนี้มีข้อมูลที่สามารถทำการวิเคราะห์แยกตามเพศได้ใน 126 ประเทศจากทั้งหมด 157 ประเทศ  สำหรับประเทศเหล่านี้ ทุนมนุษย์ของทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายยังคงห่างไกลจากทุนมนุษย์เต็มศักยภาพที่เด็กๆ จะสามารถพัฒนาได้ ประเทศส่วนใหญ่ ความห่างระหว่างศักยภาพและทุนมนุษย์ที่เด็กได้รับนั้นกว้างกว่าช่องว่างระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย สำหรับประเทศไทย ทุนมนุษย์ของเด็กหญิงสูงกว่าเด็กชาย
 
มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาได้มากกว่าที่เป็นอยู่  ประเทศโปแลนด์ได้ออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2533-2558 ซึ่งส่งผลให้โปแลนด์เป็นประเทศที่สามารถพัฒนาระดับคะแนนในการสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ที่จัดทำโดยกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้รวดเร็วที่สุดประเทศหนึ่ง  ในขณะที่ ประเทศเวียดนามมีค่าเฉลี่ยคะแนน PISA สูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD ประเทศมาลาวีก็ประสบความสำเร็จในการลดอัตราเด็กเตี้ยแคระแเกร็นได้ถึงร้อยละ 20 ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากดัชนีพบว่ายังมีสิ่งที่สามารถปรับปรุงได้อีกมาก
 
ดัชนีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุนมนุษย์ของกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งตระหนักว่าทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตแบบมีส่วนร่วม นอกจากดัชนีแล้ว โครงการนี้ยังมีโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและการวัดทุนมนุษย์ รวมถึงให้การสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้สามารถเดินหน้าสร้างผลลัพธ์ที่ดีในเรื่องทุนมนุษย์ให้รวดเร็วขึ้น
 
ขณะนี้มี 28 ประเทศจากหลายภูมิภาคและระดับรายได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว และรัฐบาลของแต่ละประเทศได้มอบหมายให้มีผู้ประสานงานกับกลุ่มธนาคารโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศเหล่านี้ได้เริ่มทำงานเพื่อยกระดับนโยบายด้านทุนมนุษย์ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องและยังได้กำหนดลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศเพื่อเร่งรัดความก้าวหน้าในด้านทุนมนุษย์ตามแผนการพัฒนาของแต่ละประเทศ
 
ดัชนีทุนมนุษย์นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน World Development Report 2019 on the Changing Nature of Work ซึ่งจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ รายงานนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมความพร้อมกับงานในอนาคต
 
ประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 28 ประเทศได้แก่ อาร์มีเนีย ภูฏาน  คอสตาริกา อียิปต์  เอธิโอเปีย  จอร์เจีย  อินโดนีเซีย อิรัก จอร์แดน เคนยา คูเวต เลโซโท เลบานอน มาลาวี โมร็อกโก ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ ระวันดา ซาอุดีอาระเบีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน ตูนิเซีย ยูเครน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุซเบกิสถาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท