Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: แฟนเพจ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรามาเริ่มต้นบทความนี้ด้วยการปล่อยสมองให้ว่าง คลายจุดยืนตัวเองลง และนึกเพียงว่าตนเองเป็นคนไทยธรรมดาคนหนึ่ง แล้วลองตอบคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้

1) ดาว - เดือน ในมหาวิทยาลัยไทยเป็นคนแบบไหน 

2) ดาว - เดือน ต่างกันอย่างไร และ

3) ถ้าคุณต้องเสนอชื่อเพื่อนในรุ่นสักคนให้เป็นดาว - เดือน คุณจะเสนอชื่อใคร เพราะเหตุใด

เมื่อเราลองตอบคำถามดังกล่าวกับตัวเองทีละข้อ คำตอบทั้งสามข้อมักจะเป็นไปในทิศทางคล้ายๆ กัน  เพราะสังคมไทยมีความรับรู้ (Perception) กับคำว่าดาว – เดือนคล้ายๆ กัน คือ ดาว – เดือนน่าจะเป็นคนที่หน้าตาดี เป็นหน้าเป็นตาให้กับคณะหรือมหาวิทยาลัย มีความโดดเด่นบางอย่างที่สามารถนำไปโชว์กับที่อื่นได้ และจะเป็นดาว - เดือนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นถ้าคนๆ นั้นเป็นคนที่เพียบพร้อมไปด้วยหน้าตา รูปร่าง การศึกษา ความสามารถพิเศษ บุคลิกภาพ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่ดีตามค่านิยมของสังคมและสามารถ “ใช้เป็นต้นแบบหรือแบบอย่าง” ให้กับ “คนที่เหลือ” ในสังคมนั้นๆ ได้ 

เมื่อพิจารณาความรับรู้ของเราที่มีต่อดาว - เดือนอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง จะพบว่า “ความรับรู้แรก” ของเราที่มีต่อคนที่เป็นดาว – เดือนคือ “หน้าตา” ต่อมาเราจึงค่อยพิจารณาว่าคนที่เป็นดาว - เดือน นอกจากหน้าตาดีแล้วก็ควรจะมี “อะไรสักอย่างสองอย่าง” ที่เป็นสิ่งที่ดีตามค่านิยมหรือเป็นแบบอย่าง เพื่อนำอย่างสองอย่างนั้นมาใช้ “โชว์ประกอบ” กับหน้าตาที่ดีอยู่แล้ว เพื่อให้คณะอื่นหรือมหาวิทยาลัยอื่นเห็นว่าตัวแทนของเราไม่ได้มีดีแค่หน้าตาแต่มีความสามารถด้วย จะเห็นได้ว่า ชุดความคิดเหล่านี้เริ่มต้นจากการใช้เกณฑ์หน้าตาเริ่มต้นก่อนเสมอ แต่เมื่อผ่านเกณฑ์หน้าตาแล้ว เกณฑ์อื่นๆ เช่น ความสามารถ การศึกษา และบุคลิกภาพจึงจะถูกนำมาเป็นเกณฑ์เพื่อ “ประกอบความชอบธรรมในการตัดสิน” เสมือนการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของคณะกรรมการประกวดดาว - เดือน ส่วนดาว – เดือนนั้นก็จะได้รับการ “ติดฉลาก” ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมไปในทุกๆ ด้าน และเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่นๆ ในคณะ

 เมื่อสำรวจความคิดตนเองไปสักระยะหนึ่ง จะพบว่า เรากำลังตอบคำถาม 3 ข้อข้างต้นโดยมองว่าดาว – เดือนต้องเป็นคนที่มีอะไรบางอย่างที่ “เหนือกว่า ดีกว่า เพียบพร้อมกว่า หรือโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ” ที่เหลือ โดยเราอาจตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะคิดอย่างนั้น แต่เมื่อเราต้องเลือกคนที่เป็นดาว – เดือน และมีได้เพียงไม่กี่คนจากคนทั้งคณะหรือมหาวิทยาลัย จึงเป็นเรื่องยากมากหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมองดาว – เดือนว่าเป็นคนๆ หนึ่งที่เป็นเพียงตัวแทนของเราและไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เหลือ ถ้าเราคิดว่าดาว – เดือนไม่มีอะไรแตกต่างหรือโดดเด่นไปจากเรา แล้วเราคิดว่าตนเองและคนทุกคนในสังคมมีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งดาว – เดือนเท่ากันหรือไม่ ถ้าเรานั้นลังเล ไม่แน่ใจ หรือไม่คิดว่าตนเองจะได้เป็นดาว - เดือน ก็ควรลองย้อนกลับมาถามตนเองว่าเพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น เป็นเพราะเราคิดว่าเรามีความสามารถน้อยกว่า มีบุคลิกภาพแย่กว่า มีการศึกษาต่ำกว่า หรือเพียงแค่เราไม่มั่นใจในหน้าตา รูปร่าง รูปลักษณ์ภายนอกต่างๆ ของตนเอง หรือไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถเป็นตัวแทนที่ต้องออกงานเป็นหน้าเป็นตาให้กับคณะหรือมหาวิทยาลัยตนเองได้

แล้วดาว - เดือนต่างกันอย่างไร สำหรับดาวนั้น ภาพแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองของเราก็คงจะเป็นผู้หญิง ส่วนเดือนนั้นก็คงจะเป็นผู้ชาย แต่หลังจากได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปสักครู่หนึ่ง สมองของคนบางคนอาจพยายามทำให้ภาพในสมองดังกล่าวเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน หรือพยายามใช้ความเสรีนิยมทางเพศของตนเองเปลี่ยนภาพในสมองนั้นให้เป็นว่า ดาวคือผู้หญิงหรือใครก็ได้ที่มีลักษณะเป็นหญิงหรือมีความเป็นหญิง (Feminine) ส่วนเดือนก็คือผู้ชายหรือใครก็ได้ที่มีลักษณะเป็นชายหรือมีความเป็นชาย (Masculine) เมื่อพิจารณาภาพในสมองดังกล่าวของเราดังกล่าวอีกครั้งจะพบว่า “ภาพแรก” ในสมองของเราที่มีต่อดาว - เดือนนั้นเป็นผู้หญิง – ผู้ชายตามชีววิทยา และ “ภาพถัดมา” หลังจากได้ใช้ความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางเพศของตนเองก็ยังคงเป็น “ความเป็นหญิง – ความเป็นชายตามค่านิยมทางเพศ” ของสังคมไทยอยู่ดี ทั้งเราและกรรมการประกวดดาว – เดือนนั้นไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า คำว่าดาว - เดือนนั้นมีกรอบค่านิยมทางเพศฝังตัวอยู่ในคำทั้งสองคำนี้ ไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยมทางเพศแค่ไหน การมองภาพดาว – เดือนก็คงแตกต่างแค่ว่าเป็น “ภาพแรก” หรือ “ภาพถัดมา” ในสมองเท่านั้นเอง และถ้าหากคุณจะเห็นแย้งไปจากนี้ คุณสามารถตอบตนเองได้หรือไม่ว่า ดาว - เดือนต่างกันตรงไหน และเพราะเหตุใดต้องแยกเป็นสองตำแหน่งและเป็นตำแหน่งคู่กันระหว่างดาวกับเดือน

การประกวดดาว – เดือนที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ตอนนี้คือการจัดการประกวดดาว – เดือนของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิธีการคัดเลือกดาว – เดือนของคณะนี้ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ การเสนอชื่อเพื่อนจากนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง และการประกวดที่มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตัดสิน เรามาเริ่มพิจารณาที่ขั้นตอนแรก เหมือนเดิมคือให้เราลองปล่อยสมองให้ว่าง และนึกเพียงว่าเราเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่งที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่กี่เดือน มีอยู่วันหนึ่งมีรุ่นพี่เข้ามาประกาศว่าคณะจะมีการประกวดดาว – เดือนและขอให้คุณเขียนชื่อเพื่อนเพื่อเสนอให้เขาเป็นดาว – เดือนของคณะ คุณที่เป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่งและเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่กี่เดือนจะเขียนชื่อใครในคณะ แน่นอนว่าอันดับแรก เรามีโอกาสเขียนแค่ชื่อเพื่อน “เฉพาะที่เรารู้จัก” หรือเขียนชื่อคนในคณะที่ “มีชื่อเสียงหรือเป็นที่โด่งดัง” อยู่แล้ว และอันดับต่อมา เราจะเลือกเขียนชื่อใครจากรายชื่อเพื่อนที่เรารู้จักหรือมีชื่อเสียงข้างต้น เนื่องจากรุ่นพี่ไม่เคยชี้แจงหรือให้เอกสารโครงการประกวดดาว – เดือน เราที่กำลังต้องเขียนเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะเป็นดาว – เดือนกลับไม่มีข้อมูลว่าดาว – เดือนของคณะต้องเป็นคนแบบไหน ต้องมีคุณลักษณะอย่างไร จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ “เรา” ซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่หนึ่งจำนวนสองร้อยกว่าคนใช้ “เกณฑ์การตัดสินส่วนบุคคล” บางคนอาจเลือกเพื่อนที่หน้าตาดีในมุมมองของคนนั้น หรือบางคนอาจเลือกเพื่อนที่มีชื่อเสียง หรือบางคนอาจแค่เลือกเพราะรู้จักเพื่อนในคณะไม่มากพอ ดังนั้น คนที่ผ่านการเสนอชื่อดังกล่าวจึงมักจะเป็นคนที่ “ไม่ได้มีความสามารถสูงสุด” หรือ “ไม่ได้มีความเหมาะสมเป็นตัวแทนกิจกรรมมากที่สุด” ซึ่งทั้งสองอย่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้จัดการประกวดดาว – เดือนใช้อ้างเสมอว่าเป็นจุดประสงค์สำคัญที่ทำให้มีการจัดประกวดในปัจจุบัน

ต่อไป เรามาพิจารณาที่ขั้นตอนที่สองของการคัดเลือกซึ่งเป็นขั้นตอนการคัดเลือกดาว – เดือนจากคนที่ผ่านการเสนอชื่อในขั้นตอนแรก การประกวดดาว – เดือนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะใช้คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสิน ด้วยเกณฑ์การตัดสิน เช่น การนั่ง การยืน การเดิน และความตรงต่อเวลา เราลองปล่อยสมองให้ว่างอีกครั้ง และนึกว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีจิตใจมุ่งมั่นอยากทำงานให้คณะหรืออยากเป็นตัวแทนกิจกรรมให้กับเพื่อนในคณะมากๆ เราจะทำอย่างไร หลังจากที่เราทราบเกณฑ์การตัดสินแล้ว สิ่งแรกที่เราจะทำถ้าเราต้องการจะเป็นดาว – เดือนทำงานให้คณะคือ พยายามเดินทางมาประกวดให้ตรงเวลา และฝึกท่าทางการนั่ง การยืน และการเดินให้สง่างามตาม “ค่านิยมของสังคม” หรือตาม “คุณค่าบางอย่างที่สังคมนั้นต้องการ” เพื่อให้คณะกรรมการให้คะแนนสูงที่สุดและได้รับเลือกเข้าทำงานเป็นตัวแทนกิจกรรมของคณะ สิ่งที่เราควรตั้งคำถามกลับไปก็คือ เหมาะสมหรือไม่กับการคัดเลือกคนที่มีจิตใจอยากทำงานเป็นตัวแทนกิจกรรมให้คณะด้วยการให้คะแนนการนั่ง การยืน และการเดิน เกณฑ์การตัดสินเหล่านี้เป็นการ “ผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่างของสังคม” ว่าคนที่เป็นหน้าเป็นตาหรือเป็นตัวแทนของสังคมนั้นๆ ต้องมี “บุคลิกภาพตามที่คณะกรรมการต้องการ” ใช่หรือไม่ คณะกรรมการตัดสินมีเพียงไม่กี่คนจะสามารถตัดสินความเป็นดาว – เดือนของผู้เข้าประกวดได้อย่างไร ผู้เข้าประกวดรวมถึงนิสิตในคณะอาจมองความเป็นดาว – เดือนแตกต่างกันไป แต่ละคนอาจให้คุณค่ากับคนในสิ่งที่แตกต่างกัน แล้วคณะกรรมการเพียงไม่กี่คนและเกณฑ์การตัดสินที่เขียนขึ้นมาโดยคนไม่กี่คน จะมี “ความชอบธรรม” เพียงพอที่จะนำมาใช้ตัดสินตัวแทนกิจกรรมของนิสิตทั้งคณะได้หรือไม่ เกณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครมีความเหมาะสมหรือมีจิตใจมุ่งมั่นอยากทำงานเป็นตัวแทนกิจกรรมให้คณะมากกว่ากัน ตัวแทนกิจกรรมในหลายๆ กิจกรรมไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะทางบุคลิกภาพมากนัก คนที่มีบุคลิกภาพไม่ดีหรือไม่ตรงตามสิ่งที่คณะกรรมการต้องการแต่อยากทำงานให้คณะมากๆ กลับถูกเกณฑ์การตัดสินและคณะกรรมการตัดสินให้เขาเป็นผู้ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตของคณะ สรุปแล้วผู้จัดการประกวดดาว – เดือนต้องการตัวแทนที่มีลักษณะอย่างไรกันแน่ และเพราะเหตุใดจึงออกแบบวิธีการการคัดเลือกที่ไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของกิจกรรม

นอกจากการพิจารณาดาว - เดือนด้วยคำถาม 3 ข้อข้างต้นแล้ว การเลือกคนๆ หนึ่งให้เป็นตัวแทนของเราทั้งรุ่นก็ควรจะให้ “เราทั้งรุ่น” มีส่วนร่วมในการคัดเลือกและการออกแบบวิธีการคัดเลือก ซึ่งปัจจุบันแม้แต่ตัวโครงการดาว - เดือนเราก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็น ตัวคณะกรรมการเราก็ไม่มีสิทธิเลือกว่าใครควรจะมาเป็นผู้ตัดสินแทนเรา และผลการตัดสินก็มาจากคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน เรามีส่วนร่วมเพียงแค่เสนอชื่อเพื่อนแบบลมๆ แล้งๆ โดยไม่รู้รายละเอียดอะไร และไม่มีส่วนร่วมใดๆ อีกเลยในกระบวนการทั้งหมดหลังจากนั้น หากดาว – เดือนคือคนที่เป็นตัวแทนกิจกรรมให้กับรุ่นของเราจริง เราทุกคนควรมีสิทธิเป็นตัวแทนได้ทุกคน มีจำนวนหลายคนมากกว่านี้ และควรมาจากการเลือกตั้งของเราทั้งรุ่น 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้จัดกิจกรรมมักใช้อ้างถึงความจำเป็นที่ต้องจัดประกวดดาว – เดือนคือ กิจกรรมทั้งในคณะและส่วนกลางมีจำนวนเยอะมากจึงต้องคัดเลือกดาว – เดือนเพื่อให้เป็นผู้ทำกิจกรรมเหล่านี้ เราลองนึกถึงกิจกรรมที่มีในคณะและมหาวิทยาลัยของเรา จะพบว่ากิจกรรมมีความหลากหลายมาก คนที่เป็นดาว – เดือนไม่น่าจะเป็นผู้มีความสามารถครบทุกด้านหรือเหมาะเป็นตัวแทนให้กับคณะในทุกๆ กิจกรรม จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราใช้วิธีอื่นในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวแทน “ในแต่ละกิจกรรม” ซึ่งแต่ละกิจกรรมย่อมต้องการคนที่มีความสามารถแตกต่างกันไป เป็นผลดีต่อทั้งการได้ตัวแทนที่เหมาะกับกิจกรรมหนึ่งๆ และยังส่งผลดีต่อสภาพการมีส่วนร่วมของนิสิตในคณะอีกด้วย

นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายด้าน “การจัดการประกวด” ทั้งค่าจัดกิจกรรมดนตรี กิจกรรมการแสดง และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เวทีและเครื่องเสียง และค่าใช้จ่ายด้าน “การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)” และ “การพัฒนาศักยภาพ” ของดาว – เดือนทั้งระหว่างการประกวดและหลังจากที่ได้รับตำแหน่งล้วนเป็นงบประมาณของสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  งบประมาณจำนวนนี้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนานิสิตเพียงไม่กี่คน เพราะเหตุใดดาว – เดือนเพียงไม่กี่คนและไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้จึงมี “โอกาสการพัฒนาตนเอง” มากกว่านิสิตคนอื่นในรุ่น สิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามกับการจัดกิจกรรมนี้คือ เพราะเหตุใดจึงไม่นำงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้จัด “กิจกรรมพัฒนาศักยภาพของนิสิตทั้งคณะ” สโมสรนิสิตควรตระหนักเสมอว่า “ทุกคนในรุ่น” ต้องมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถ้าเริ่มมองด้วยมุมมองที่ไม่มีจุดยืนเริ่มต้น จินตนาการว่าตนเองเป็นนิสิตนักศึกษาธรรมดาคนหนึ่ง และมองไปที่จุดประสงค์ของกิจกรรมกับวิธีการคัดเลือกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะพบว่าการจัดการประกวดดาว – เดือนนั้นมีปัญหามากมายทั้งประเด็นเชิงเนื้อหาและประเด็นเชิงกระบวนการ ความรับรู้ต่อดาว – เดือนของนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง การให้ความหมายและความแตกต่างของดาวกับเดือน ข้อจำกัดและผลเสียของการใช้วิธีการเสนอชื่อ การผลิตซ้ำคุณค่าและความไม่สอดคล้องของเกณฑ์การตัดสิน ความขาดความชอบธรรมของคณะกรรมการการตัดสิน การใช้งบประมาณไปกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และการขาดการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกตัวแทน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัญหาที่ถึงแม้ผู้จัดการประกวดอาจมีเจตนาดีหรือมีความจำเป็นที่จะต้องคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน แต่ปัญหาเหล่านี้จะทำให้คนที่ผ่านการคัดเลือกอาจเป็นคนที่ไม่ได้มีความเหมาะสมที่สุดหรือมีความเป็นตัวแทนของนิสิตทั้งคณะ และปัญหาเหล่านี้จะทำให้การจัดการประกวดไม่เป็นไปตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ จะดีกว่าหรือไม่ถ้าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งตัวแทนกิจกรรม โดยเน้นให้ “ทุกคนในรุ่น” มีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกและ “ทุกคนในรุ่น” สามารถเป็นตัวแทนกิจกรรมในกิจกรรมที่ตนเองมีจิตใจมุ่งมั่นอยากจะทำ มีความสามารถ และมีความเหมาะสม “ในแต่ละกิจกรรม” ที่แตกต่างกันไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net