Skip to main content
sharethis

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง คาดการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกกัญชาทางแพทย์ แล้วเสร็จ ก.พ. 62 เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. 13 พ.ย.นี้ ชี้หากปลดล็อก องค์กรเภสัชกรรมเดินหน้าผลิตได้ทันที

6 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดว่าด้วยเรื่องกัญชาใช้ในทางการแพทย์ว่า ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติ (สนช.) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณา  90 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 แต่มีความเห็นเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชาให้แยกออกเป็น พ.ร.บ.เฉพาะ เนื่องจากหลายประเทศมีการวิจัยพบว่าน้ำมันที่สกัดได้จากกัญชา สามารถนำมารักษาโรคได้ อาทิ โรคอัลไซเมอร์ โรคชักกระตุก หรือ โรคพาร์กินสัน โรคหอบหืด และมะเร็ง ซึ่งไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้ทำข้อตกลง 2 ข้อว่าจะไม่นำยาเสพติดมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ให้ใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์เท่านั้น

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ขณะที่แนวทางปฏิบัติ รัฐบาลจะดูแลเรื่องพันธุ์กัญชา อุณหภูมิในการปลูก พื้นที่ปลูก น้ำมันที่สกัดได้ ก่อนนำไปใช้ในการรักษา โดยทาง สนช.ได้ยกเรื่องดังกล่าวเป็น พ.ร.บ.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะชี้แจงในที่ประชุม สนช.ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 13 พ.ย. และหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะนำเข้าที่ประชุม สนช.เพื่อพิจารณาเป็นวาระต่อไป

“หากปลดล็อกกัญชาประเภทที่ 5 เป็นประเภทที่ 2 ก็สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ทันที นอกจากนี้จะมีการปรับกฎกระทรวงของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแหล่งที่มาของกัญชา เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้องค์กรเภสัชกรรม เป็นหน่วยงานนำร่องในการผลิตกัญชาเพื่อทางการแพทย์ก่อนร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจดทะเบียนอาหารและยา (อย.) ส่วนแพทย์ทางเลือกและแพทย์แผนไทย ต้องรอการออกพระราชบัญญัติ รวมถึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนก่อนนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกกฎหมายต่อไป” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ความพยายามผลักดันกัญชาทางการแพทย์ในยุครัฐบาล คสช.

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนเพื่อดำเนินการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์ในส่วนของภาครัฐ ในยุครัฐบาล คสช. เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงเดือน พ.ค. 2561 โดยในวันที่ 4 พ.ค. กระทรวงสาธารณสุข ออกคำสั่งกระทรวงเลขที่  530/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต่อมาวันที่ 15 พ.ค.  คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายยาสพติด ซึ่งเปิดช่องให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ แต่ด้วยกระบวนการในการพิจารณากฎหมายที่รวมหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไว้ในร่างเดียวกันทำให้ต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดมาก ก่อนหน้านี้คณะทำงานงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)  ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการพิจารณาที่ล่าช้า โดยเสนอให้ แยกข้อกฎหมายบางส่วนออกมาดำเนินการเพื่อความรวดเร็ว โดยประเด็นที่มีการเสนอให้ใช้ทางพิเศษ เสนอให้คสช.ออกเป็นคำสั่ง ม.44 คือเรื่องของกัญชา ที่จะให้มีการประกาศ ใช้บังคับ ได้ทันในเรื่องของการใช้เพื่อการวิจัยทางการแพทย์หรือการใช้ทดลองรักษากับคนได้ แต่ยังคงกัญชาไว้เป็นยาเสพติดประเภท 5 เช่นเดิม

ต่อมา สนช. ได้รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นเสนอให้มีการใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติดมีความล่าช้า ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าควรแยกประเด็นเรื่องกัญชาทางการแพทย์ออกมาใช้ช่องทางพิเศษในการบังคับใช้เป็นกฎหมาย แต่ต่อมาไม่นาน พล.อ.อ.ประจิน ก็ปัดตกกรณีที่จะที่มีการเสนอให้ใช้มาตรา 44 ในการออกกฎหมาย

ในวันที่ 27 ก.ย. สนช. 44 รายชื่อได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ต่อประธาน สนช. เพื่อให้มีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีสาระสำคัญคือ เปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน พร้อมทั้งมีเวทีสัมนาในประเด็นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งร่างกฎหมายฉบับ จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 พ.ย.

อย่างไรก็ตาม กระแสการเรียกร้องการกัญชาทางการแพทย์ ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ประชามติ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง เสรีภาพกัญชาควรอยู่ตรงไหน และเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2560 เครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้เร่งถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และบรรจุเป็นพืชสมุนไพร เพื่อเปิดให้นำไปวิจัย และพัฒนาในทางการแพทย์ ขณะเดียวกันยังมีเฟสบุ๊กแฟนเพจ กัญชาชน ที่ทำหน้าที่สื่อสารผลักดันให้มีการปลดล็อกกัญญาออกจากบัญชียาเสพติดด้วย แต่กระบวนการที่เป็นรูปธรรมเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางปี 2561 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2562

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net