‘จอน’ หวัง ‘เครือข่ายปชช.-นักวิชาการ-นักการเมืองก้าวหน้า’ ดันรัฐสวัสดิการ - ภาคปชช.หนุนบำนาญถ้วนหน้า 3 พัน

‘จอน อึ้งภากรณ์’ ชี้ระบบสงเคราะห์ไม่ช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แต่รัฐสวัสดิการช่วยปชช. มีคุณภาพ เอื้อระบบทุนนิยม ระบุไทยยังขาดองค์ความรู้ผลักดันรัฐสวัสดิการ หวัง ‘เครือข่ายปชช.-นักวิชาการ-แกนนำพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า’ ผลักดัน ขณะที่ภาคประชาสังคมชูเปลี่ยน ‘บัตรคนจน’ เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า หนุนจ่ายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บ.

จอน อึ๊งภากรณ์ (ที่มาภาพ เพจ บำนาญแห่งชาติ)

10 ม.ค. 2562 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจัดงาน “เลือกตั้งครั้งนี้...รัฐสวัสดิการต้องมา” ในวันที่ 8-9 ม.ค.ที่ผ่าน ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ กรุงเทพฯ ภายในงานมีการกล่าว ปาฐกถา “ทำไมประชาชนต้องขับเคลื่อนรัฐสวัสดิการ” โดย จอน อึ๊งภากรณ์  อดีต ส.ว. และนักเคลื่อนไหวเพื่อรัฐสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีแถลงข้อเสนอของประชาชนที่มีต่อรัฐสวัสดิการด้วย

‘จอน’ ชี้ระบบสงเคราะห์ไม่ช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ รัฐสวัสดิการช่วยปชช.มีคุณภาพ เอื้อระบบทุนนิยม

จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า ระบบรัฐสวัสดิการ เป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลประชาชนทุกคนในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างพออยู่พอกินตั้งแต่เกิดจนตายอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่การทำให้คนมีเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงที่อยู่อาศัย การศึกษา บริการทางสังคมต่างๆ ที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิต

ประเทศที่รัฐสวัสดิการเข้มแข็ง เช่น ยุโรป ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่จำเป็น การศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญา การเข้าถึงที่อยู่อาศัย คนที่ว่างงาน เกษียณอายุ มีรายได้ขั้นต่ำแบบพออยู่พอกิน โดยรัฐจะนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และรายได้จากลูกจ้างนายจ้างประกันสังคมมาจัดสวัสดิการถ้วนหน้า

รัฐสวัสดิการแบบครบวงจรเป็นระบบทางสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายตามความสามารถของตนตามฐานะทางเศรษฐกิจ และประชาชนทุกส่วนได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันทางสวัสดิการสังคมต่างๆ ของรัฐสวัสดิการด้วย 

ระบบรัฐสวัสดิการต่างจากระบบสงเคราะห์คนยากจนอย่างสิ้นเชิง เช่น ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นระบบสงเคราะห์ที่ห่วยไม่ตอบสนองความจำเป็นในด้านคุณภาพชีวิต ที่แตกต่างกันนั้นสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิที่เท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน ไม่เหมือนสงเคราะห์ต้องพิสูจน์ความยากจนของผู้ที่ประสงค์จะได้รับการสงเคราะห์ 

หากดูอย่างผิวเผิน เราอาจเห็นว่าการใช้เงินในระบบสงเคราะห์เพื่อไปใช้กับคนยากจนอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบสงเคราะห์มีข้อด้อยหลายประการ เช่น 1) เป็นระบบที่แบ่งแยกประชาชนทำให้เกิด “พวกเขา พวกเรา” 2) ระบบสงเคราะห์ “ต้องพิสูจน์ความจน” เป็นการเสียศักดิ์ศรี ทำให้คนรับการสงเคราะห์เกิดความรู้สึกด้อยค่า บางคนจึงรู้สึกไม่พร้อมรับบริการ 3) บริการทางสังคมแบบระบบสงเคราะห์มักเป็น “บริการด้อยคุณภาพ” ให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งไม่ค่อยมีเสียงดังในสังคม 4) คนที่อยู่เหนือเส้นแบ่งการสงเคราะห์และอยู่ใต้เส้นแบ่งสร้างความเหลื่อมล้ำแบบอยุติธรรมระหว่างคนที่ไม่มีสิทธิในระบบสงเคราะห์ที่บางครั้งจำเป็นต้องใช้มากกว่าคนที่ได้รับสิทธิการสงเคราะห์

5) การบริหารระบบสงเคราะห์ซ้ำซ้อน การบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพ 6) คนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการสงเคราะห์ย่อมคัดค้านการจัดเก็บภาษีที่ตัวเองไม่ได้รับประโยชน์ และ 7) การสงเคราะห์ไม่ได้ช่วยในแง่การลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุป “ระบบสงเคราะห์ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิแต่เป็นระบบที่ปล่อยให้คนตายเท่านั้นเอง” 

ความพึงประสงค์ของรัฐสวัสดิการสะท้อนผ่านปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2491 ข้อ 3 ที่ว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล สิทธิในการมีชีวิตไม่ใช่แค่การมีชีวิตรอด แต่ต้องเป็นการมีชีวิตที่สมศักดิ์ศรีสมความเป็นมนุษย์ที่มีคุณภาพ

นอกจากนั้น หลักคิดเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการยังสะท้อนโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมปี พ.ศ. 2519 ที่ประเทศไทยเข้าไปเป็นภาคีเมื่อปี พ.ศ. 2542 เช่น ข้อ 11 ที่ว่ารัฐภาคีแห่งกติกานี้ให้รับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอกับตัวเองและครอบครัว รวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอซึ่งเป็นหลักของรัฐสวัสดิการ ข้อ 12 กล่าวว่ารัฐภาคีแห่งกติกานี้ในการรัฐรับรองสิทธิทุกคนที่มีสุขภาพกายและจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ และข้อที่ 13 กล่าว่ารัฐภาคีที่รับรองสิทธิทุกคนในการศึกษา

ระบบรัฐสวัสดิการเกิดในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและแบบทุนนิยม มีงานวิชาการหลายชิ้นยืนยันว่าระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้ขัดแย้งกับระบบทุนนิยมแต่เอื้อกับทุนนิยมในหลายด้าน เพราะระบบทุนนิยมจะพัฒนาได้ต้องมีประชาชนที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง ระดับการศึกษาดี และมีความพร้อมในการทำงาน เป็นต้น 

ไทยยังขาดองค์ความรู้ผลักดันรัฐสวัสดิการ

สำหรับประเทศไทย จอน กล่าวว่า เรายังขาดระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ขาดนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการที่จะช่วยออกแบบโครงสร้างและกลไกของระบบสวัสดิการต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบ และช่วยออกแบบระบบภาษีที่ช่วยจะสร้างรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องการ

แต่ด้านภาคประชาสังคมได้เกิดพลังในการเรียกร้องให้เกิดสวัสดิการแบบครบวงจรที่ทวีขึ้นหลังจากร่วมกันต่อสู้ของประชาชนหลายข่าย เพื่อก่อตั้งและพยุงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากการบุกเบิกของคนสำคัญหลายคนทั้งภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประสังคม ประเทศไทยจึงมีเรื่องรัฐสวัสดิการสองส่วนคือระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ทั้งสองส่วนยังมีข้อจำกัดหลายด้านที่ต้องก้าวข้ามให้ได้

สำหรับระบบประกันสังคมยังด้อยโครงสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนและครอบคลุมผู้ใช้แรงงานบางส่วนเท่านั้น ด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกบั่นทอนด้วยระบบการรักษาข้าราชการ และระบบการแพทย์พาณิชย์ที่แย่งทรัพยากรและเน้นบริการผู้ใช้บริการเฉพาะมีเงินเท่านั้น

ในขณะเดียวกันไทยยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจระดับกลางที่จัดสวัสดิการได้แต่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก โดยประชากรที่มีฐานะสูงสุดร้อยละ 10 ถือครองทรัพย์สินกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น สังคมไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการสร้างระบบรัฐสวัสดิการแบบครบจรและมีประสิทธิภาพควบคู่กับการปฏิรูประบบภาษีอย่างจริงจัง เพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการรักษาระบบรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืน

หวัง ‘เครือข่ายปชช.-นักวิชาการ-แกนนำพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า’ ผลักดัน

ต่อคำถามสำคัญที่ว่าใครจะมาผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรในตอนนี้นั้น จอน กล่าวว่า ในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร การผลักดันระบบรัฐสวัสดิการมาจากสหภาพแรงงานและพรรคแรงงานที่เป็นคนก่อตั้งระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ของไทยสหภาพแรงงานถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐมาตลอด และประเทศไทยยังไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นของผู้ใช้แรงงาน ของคนยากจนโดยเฉพาะ

ดังนั้น หากเราจะหวังว่าจะมีพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเข้ามาผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรอาจเป็นไปได้ยากถ้าขาดเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ที่มีประสบการณ์มาร่วมกันต่อสู้ จึงเป็นความหวังของประเทศไทยที่พวกเราซึ่งมาจากหลายเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศต้องรวมพลังให้เข้มแข็งจับมือกับนักวิชาการ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า สมาชิกแกนนำพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า เพื่อขยายแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการร่วมกันต่อไป

ประชาสังคมชูเปลี่ยน ‘บัตรคนจน’ เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า หนุนจ่ายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บ.

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐไทยไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น เช่น การออกนโยบายที่ทำให้คนในท้องถิ่นเข้าไม่ถึงทรัพยากรจากการจัดสรรที่ดินทำกิน ที่ไม่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร การมุ่งพัฒนาความเจริญในเมืองมากกว่าชนบท หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพคนละ 200-300 บาท ก็ไม่ช่วยลดความยากจนหรือความเหลื่อมล้ำ ทั้งที่รัฐจำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่งกลับคืนให้กับประชาชนทุกคน ไม่ใช่ทำให้กระจุกตัว 

ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนฯ กล่าวต่อไปว่า ในการเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการขอเรียกร้องให้รัฐไทย พรรคการเมืองลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจนในสังคม ด้วยการยกเลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัยทุกคน โดยไม่ต่ำกว่าอัตราเส้นความยากจนที่ 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้เป็นหลักประกันทางรายได้เมื่อสูงวัย ด้วยการผลักให้เกิดกฎหมายระบบบำนาญแห่งชาติ 

“เราเชื่อว่าการเริ่มต้นผลักดันให้เกิดหลักประกันเหล่านี้ในภาวะสังคมสูงวัยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งรัฐต้องปฏิรูประบบโครงสร้างภาษี จัดสรรทรัพยากร และงบประมาณอย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเสมอหน้ากัน มีสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนสูงวัย” สุรีรัตน์ กล่าว 

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้ความเห็นว่า รัฐต้องเปลี่ยนนโยบายจากการสงเคราะห์คนด้วยการจ่ายเงินเป็นเบี้ยหัวแตกแบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ให้เป็นสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกคน เช่น การยกระดับรายได้ของประชาชน ให้มีหลักประกันทางรายได้ให้กับคนทำงานทุกคน เพื่อเขาจะได้มีกำลังออมเพื่อบำนาญของตัวเองเพิ่มจากบำนาญพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว 

“พวกเรารวมตัวเป็นเครือข่าย Welfare Watch Network เพื่อจับตา ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเราจะไม่นิ่งเฉย ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่ง และมุ่งผลักดันการสร้างหลักประกันรายได้ให้ทุกคน” นิมิตร์ กล่าว

แถลงการณ์จากใจประชาชนคนธรรมดา

เราคือประชาชนธรรมดาที่ยากจนหรือเกือบจน เป็นแรงงานรับจ้าง เป็นเกษตรกร ทั้งคนเฒ่าชรา คนหนุ่มคนสาว และลูกหลานของเรา ที่ยิ่งขาดโอกาสเข้าถึงหลักประกันใดๆ ในชีวิต เนื่องจากความยากจนที่พ่อแม่ประสบมาอย่างต่อเนื่อง รุ่นต่อรุ่น ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ประเทศที่ไม่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากว่า 10 ปี ภายใต้ความเหลื่อมล้ำนั้นย่อมมีความยากจน และมีความมั่งคั่ง ความยากจนกระจายตัวไปทั่วถ้วนหน้า ขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มคนจำนวนเล็กน้อย ทั้งที่ประเทศใช่ว่าจะยากไร้ซึ่งทรัพยากร อันนำความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ว่าเป็นความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้น

รัฐที่เราได้ร่วมก่อตั้งและเลือกสรรผู้บริหารให้เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม กลับเป็นอุปสรรคที่ไม่มุ่งมั่นจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีวิตของทุกผู้คน เมื่อกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตรอด ประชาชนต้องได้รับการดูแลโดยเสมอหน้ากัน มีสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนยามชราภาพก่อนสิ้นอายุขัย ข้ออ้างที่ผู้นำและนักการเมืองพร่ำพูดเสมอว่ารัฐมีเงินไม่มากพอที่จะจัดสวัสดิการ เป็นคำพูดที่ง่าย ปัดภาระออกจากตัวโดยไม่คำนึงถึงภาระหน้าที่ที่ตนเองอาสาเข้ามาเป็นรัฐบาล

เราประชาชนธรรมดา ที่วันนี้อยู่ในสังคมสูงวัย ที่คนชราส่วนมากยังอยู่ในภาวะยากจน ไม่มีหลักประกันรายได้เป็นบำนาญดำรงชีพที่เพียงพอ มีระบบบำนาญที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างข้าราชการ ลูกจ้าง และคนทั่วไป มีการบริหารจัดการระบบบำนาญที่แตกต่างแยกย่อยออกไป รัฐจัดสรรงบประมาณเต็มที่ในการจัดบำนาญให้ข้าราชการ จำนวนบำนาญข้าราชการนับว่าสูงที่สุด รัฐส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน นายจ้าง ลูกจ้าง ให้มีระบบประกันสังคมที่มีระบบบำนาญในจำนวนไม่สูงมากนัก และรัฐผลักภาระบำนาญของประชาชนทั่วไป ให้เป็นการออมด้วยตนเอง โดยรัฐเพียงสนับสนุนเล็กน้อย และเมื่อรับเป็นบำนาญจะเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ นี่นับเป็นความเหลื่อมล้ำในระบบบำนาญของรัฐไทย เมื่อประชาชนส่งเสียงดังขึ้นถึงความไม่ยุติธรรมนี้ รัฐก็เพียงแต่เลือกหนทางที่ง่ายที่สุดในการจัดการปัญหา ด้วยการลงทะเบียนคนจน เพื่อจะได้อ้างว่างบที่มีจำกัด ควรจัดสรรให้เฉพาะคนจนเท่านั้น

เราขอยืนยันว่า การจัดสวัสดิการเพื่อหลักประกันในการดำรงชีวิต เป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับเสมอหน้ากัน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมกับระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน

เราขอเรียกร้องให้บูรณาการระบบบำนาญของทุกกลุ่มคนให้ได้มาตรฐานเดียวกัน นั่นคือมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ในอัตราไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือเริ่มต้นบัดนี้ด้วย 3,000 บาทต่อเดือน ยกเลิกระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เปลี่ยนมาจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐาน ยกระดับรายได้ของประชาชน หรือมีหลักประกันรายได้ให้กับคนทำงานทุกคน เพื่อจะได้มีกำลังสะสมออมเพื่อบำนาญของตนได้ เป็นส่วนเสริมจากบำนาญพื้นฐานที่แต่ละคนมีอยู่แล้ว

เราประชาชนธรรมดา ขอแถลง ณ ที่นี้ว่า เราต้องการให้รัฐนี้สร้างหลักประกันยามชราภาพให้ทุกคน โดยการจัดสรรทรัพยากร งบประมาณอย่างเป็นธรรม กระจายความมั่งคั่ง ปฏิรูประบบภาษี และเชื่อมั่นว่าประชาชนมีศักยภาพ มีศักดิ์ศรีเมื่อได้รับการจัดสวัสดิการถ้วนหน้ากัน และเราจะไม่หยุดนิ่งที่จะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่ง มุ่งหน้าสร้างหลักประกันรายได้ให้ทุกคนทุกวัยในประเทศนี้

แถลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2562 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของรัฐไทย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

เรียบเรียงจากเพจ : บำนาญแห่งชาติ https://www.facebook.com/pension4all 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท