แผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์ (ใหม่) กับเสียงมนุษย์ (เก่า) ในม่านฝุ่นการพัฒนาเมือง

แผนแม่บทการพัฒนาและอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์กำลังมีเวอร์ชันใหม่ที่ยังไม่เปิดเผยสาธารณะ ศึกษาเสร็จแล้วเหลือเพียงผ่าน ครม. ขยายพื้นที่อนุรักษ์ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม คลุมอย่างน้อย 77 ชุมชน เราชวนสำรวจปัญหาของการจัดทำแผนที่มีเวลาสั้นมาก แต่ก็มีคอนเซ็ปท์ใหม่เรื่องชุมชน คนทำแผนยืนยันไม่เหมือนกรณีป้อมมหากาฬ –ช่วยอนุรักษ์ชุมชนเก่าได้แน่ ขณะที่ชาวชุมชนในหลายแห่งยังหวาดหวั่น แม้แผนดีแต่ กทม.อาจจัดการอีกแบบ และอย่าว่าแต่แผนแม่บทฯ อนาคตเดือนหน้ายังยากจะเดา เมื่อไม่รู้ว่าเจ้าของที่อย่างสำนักทรัพย์สิน ฯลฯ จะจัดการกับชุมชนอย่างไร

กรุง​เทพฯ ดุจ​เทพสร้าง เมืองศูนย์กลาง​การปกครอง
วัด วัง งาม​เรืองรอง เมืองหลวงของประ​เทศ​ไทย

อาจไม่น่าแปลกใจที่คำขวัญของกรุงเทพมหานครจะไม่ปรากฏร่องรอยมนุษย์ปุถุชนอยู่ในนั้น

“ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเยอะมาก เจ็ดปีที่ต้องทนกับรถติด ฝุ่นละออง ลูกค้าก็ไม่มา” เสียงบ่นดังขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวของเมืองหลวง

เป็นอีกหนึ่งวันเหงาๆ ของฉัตรชัย เติมธีรพจน์ อายุ 51 ปี เจ้าของร้านขายโคมเจ้า อุปกรณ์ที่ใช้ในศาลเจ้าคนจีน รวมถึงกล้องถ่ายรูปต่างๆ เขาเป็นชาวชุมชนเจริญไชยที่อยู่บ้านหลังนี้มาตั้งแต่เกิด บ้านที่อยู่กันมาสามชั่วอายุคน จนกระทั่ง 7 ปีก่อนเจริญไชยอยู่ในเส้นทางการก่อสร้างของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีวัดมังกร

การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินส่งผลกระทบกับชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจของชุมชนเจริญไชย ชุมชนที่โด่งดังเรื่องผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในพิธีกรรมจีน และเป็นแหล่งซื้อขายที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศตั้งแต่สมัยอากงอาม่าของฉัตรชัย

ฉัตรชัยเล่าต่อไปว่า หลังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เจ้าของที่ดินได้ยกเลิกสัญญาเช่ากับผู้อยู่อาศัยในชุมชนเจริญไชย พวกเขาอยู่ด้วยการจ่ายค่าเช่าเดือนต่อเดือนโดยไม่ทราบชะตากรรมว่าเดือนหน้าจะยังได้อยู่ในพื้นที่หรือไม่ สถานะผู้เช่าที่อยู่มายาวนานไม่ได้นำไปสู่การเจรจาพูดคุยกับเจ้าของที่ดิน

ที่ผ่านมาชาวชุมชนพยายามส่งเสียงเพื่อหาทางออกไปพร้อมกับการพัฒนาที่เกิดขึ้น หนึ่งในหลักฐานสำคัญคือพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง บ้านหนึ่งหลังที่อุทิศพื้นที่เพื่อนำเสนอความเป็นมา ผ่านข่าว ข้อมูล และวัตถุเก่าแก่ต่างๆ

เจริญไชยเป็นภาพสะท้อนของชุมชนจำนวนมากในพื้นที่เมืองหลวงชั้นในที่พยายามอยู่กับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน นอกจากนี้มันกำลังถูกผนวกเอาไว้เป็นหนึ่งในอาณาเขตของแผนแม่บทการพัฒนาและอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ที่ขยายพื้นที่ออกมาถึงคลองผดุงกรุงเกษมด้วย


ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าเรื่อง

รู้จักแผนแม่บทกรุงฯ แอบดูเล่มใหม่ที่ยังไม่เปิดเผย

  • แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ คือ แผนที่จัดทำโดย คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า (ชื่อเดิม-คณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาในปี 2546 ขยายขอบเขตงานไปยังพื้นที่เมืองเก่าในจังหวัดอื่นๆ)
  • แผนแม่บททำหน้าที่วางกรอบแนวทางอนุรักษ์คุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์
  • แผนที่กำลังใช้อยู่ในปัจจุบันคือ ฉบับที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อปี 2540
  • ปี 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเลขานุการของคณะกรรมการกรุงฯ ว่าจ้างให้ศูนย์บริการทางวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำร่างแผนแม่บทฉบับใหม่
  • ขณะนี้ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่เสร็จสิ้นแล้ว สผ. ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาก่อนส่งให้ ครม. พิจารณาขั้นสุดท้าย
  • ทาง สศช. รับร่างแผนแม่บทนี้ไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ตามกรอบเวลาที่กำหนด สศช.มีเวลาพิจารณา 30-45 วัน แต่ปัจจุบันเรื่องยังคงเงียบ
  • เมื่อสอบถามไปยัง สศช. ได้ข้อมูลว่า ต้องรอให้ ‘แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ’ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการก่อน เมื่อประกาศแล้วจึงจะพิจารณาแผนแม่บทกรุงฯ ซึ่งเป็นแผนระดับรองลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ สศช.คาดหวังว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติน่าจะประกาศใช้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือภายในรัฐบาล คสช.

ในแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน (2540) การเปลี่ยนแปลงรูปธรรมที่เห็นชัดในแผนก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 20 โครงการ เช่นปรับปรุงพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณวัด มัสยิด พื้นที่คุ้มครอง ปรับปรุงพื้นที่รอบโบราณสถาน โดยกำหนดกรอบเวลาเอาไว้ 20 ปี แต่ละโครงการใช้เวลาไม่เท่ากัน

ตัวอย่างผลกระทบต่อชุมชนที่ชัดเจนและโด่งดังที่สุดคือ การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ หนึ่งในย่านอยู่อาศัยเก่าแก่แล้วแทนที่ด้วยสวนหย่อมภายใต้แผนแม่บท (2540) โดยการให้เหตุผลว่าคนในชุมชนไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม เจ้าของที่ดินที่แท้จริงได้รับเงินค่าชดเชยตามกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 ไปแล้ว กระบวนการเจรจาต่อรองในระดับรากหญ้า รวมถึงความพยายามรื้อฟื้นอัตลักษณ์วัฒนธรรมสารพัดตลอด 26 ปีของคนใน-นอกชุมชนไม่สามารถเปลี่ยนความมุ่งมั่นของ กทม. ในการทำสวนหย่อมให้ได้ตามแผน

ขณะปรับพื้นที่ทำสวนหย่อมในชุมชนมหากาฬ

กทม.คือตัวเอกในการจัดการเมืองตามแผน เมื่อ ครม.เห็นชอบแผนแม่บทก็จะนำมาสู่การออกข้อบัญญัติ กทม. ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์เพื่อควบคุมการใช้พื้นที่ เช่น การจำกัดความสูงอาคาร ประเภทของสิ่งปลูกสร้าง เงื่อนไขการดัดแปลงอาคารซึ่งหากมีเทศบัญญัติชัดเจนก็จะสามารถบังคับใช้กับเอกชนในพื้นที่ได้

ในส่วนหน่วยงานรัฐนั้น ตามมติ ครม.ปี 2558 ก่อนการก่อสร้างใดๆ ของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่อาจพึงมีในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์และในบริเวณเมืองเก่าจะต้องส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการกรุงฯ ผ่านทาง สผ. เพื่อพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกรุงฯ แล้วถึงจะขอตั้งงบประมาณจากสำนักงบประมาณได้

แม้แต่กรณีการทำสถานีรถไฟฟ้าเข้าพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกรุงฯ พิจารณา โดยสิ่งที่เห็นในวันนี้คือการย้ายออกของหน่วยงานราชการซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องกับการรองรับแผนแม่บทฯ ใหม่ ศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า ทาง กทม.กำลังย้ายหน่วยงานในสังกัดบางส่วนไปอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ที่ดินแดง ในอนาคตศาลาว่าการ กทม. 1 บริเวณเสาชิงช้าจะถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการบางส่วนที่ต้องย้ายออกไปอยู่บริเวณอื่น เพื่อลดความแออัด เช่น กระทรวงมหาดไทย

แผนแม่บทใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไร

แผนแม่บทฯ ใหม่มีจุดสำคัญคือ การขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น
1.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน
2.กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก
3.ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์
4.พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม
5.บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์

การขยายพื้นที่มาถึงริมคลองผดุงกรุงเกษมจะทำให้อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ กินพื้นที่ราว 8,000 ไร่ หรือ 12.8 ตร.กม. จากปัจจุบันเนื้อที่ประมาณ 5.8 ตร.กม.และจะมีชุมชนที่อยู่ในอาณาเขตอย่างน้อย 77 ชุมชน

แผนฉบับใหม่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองจาก ครม.


ภาพโดย นัฐพล ไก่แก้ว
คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

จากการสอบถาม บวรเวท รุ่งรุจี คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การขยายแผนแม่บทออกมาถึงคลองผดุงกรุงเกษมนั้นเป็นเพราะคลองแห่งนี้ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นการขยายพื้นที่เมืองหลวงในแบบเก่า ผ่านเส้นทางสัญจรทางน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการขยายเมืองด้วยถนนในรัชกาลที่ 5

“แผนแม่บทเกาะกรุงฯ จะทำให้หน่วยราชการที่เป็นกรรมการร่วมด้วยไปดำเนินการในภารกิจหน้าที่ของตัวเอง เช่น กรมศิลปากรก็ต้องไปดูว่ามีโบราณสถานหรือบ้านที่จะสำรวจหรือขึ้นทะเบียนไหม จะส่งเสริมเขาไหม จะอนุรักษ์ก็ไปทำ กทม. จะช่วยเขายังไง เพราะ กทม. เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนดูแลพื้นที่ ถ้าไปทำโดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน เราจะหลงในข้อมูล และคิดว่าเขาเป็นคนดั้งเดิมกันหมด” บวรเวทกล่าว

ไม่(น่า)มีไล่รื้ออย่างป้อมมหากาฬ

บวรเวทย้ำว่า ไม่น่ามีการดำเนินการซ้ำรอยกับการไล่รื้อชุมชนแล้วแทนที่ด้วยสวน แบบกรณีชุมชนป้อมมหากาฬแล้ว เพราะภายใต้แผนแม่บทใหม่มีแต่เพียงโครงการเล็กๆ

“คงไม่ (มีแบบป้อมหากาฬ) แล้วล่ะ เราคุยกันว่าในบางพื้นที่ถ้ามีสวน ต้องมองสวนแบบไม่ใช่ park ใหญ่ๆ แต่มองที่ว่างย่อยๆ แค่เป็นห้องแถวห้องหนึ่งก็ทำเป็นสวนหย่อมแทรกไปได้ แต่เท่าที่เช็คดูมันไม่มีที่ว่างแล้ว เป็นบ้านคนเต็มพรืดไปหมด มีเพียงที่ป้อมมหากาฬที่เป็นที่ราชพัสดุ” บวรเวทกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ของป้อมมหากาฬ ทำให้ภาคประชาชนอาจมองว่าแผนแม่บทนั้นเป็น “ความเสี่ยง” หนึ่งที่ชุมชนอาจถูกไล่รื้อเพื่อจัดระเบียบใหม่ แต่มุมมองของผู้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทฉบับใหม่กลับต่างออกไป โดยเห็นว่ามันจะเป็นการช่วยคุ้มครองชุมชนดั้งเดิมไว้ได้ต่างหาก


รศ.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์

รศ.วรรณศิลป์ พีรพันธุ์ หัวหน้าโครงการจัดทำแผนผังแม่บทฯ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ หน่วยงานวิชาการที่รับทำร่างแผนแม่บทจาก สผ. เล่าว่า แผนแม่บทคือกรอบการพัฒนาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ในหลายมิติ ไม่ว่าเรื่องสิ่งปลูกสร้าง การจราจร วัฒนธรรม เศรษฐกิจของชุมชน เขามองว่าแผนแม่บทมีความสำคัญในฐานะกรอบการกำกับพื้นที่ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลดีต่อผู้อาศัยในพื้นที่เมื่อการพัฒนาพุ่งกลับเข้าสู่พระนครเดิมตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน

“อีกหน่อยชุมชนก็ถูกรื้อไล่หมด แล้วมันจะกลายเป็นอะไร มันไม่ใช่มิวเซียม มันจะกลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งที่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้เพราะถูกไล่ที่หมด ถ้าจะเก็บชุมชนคุณก็มีทางเดียวคือต้องไปคุมไม่ให้มีโครงการยักษ์ใหญ่เกิดขึ้น ที่จริงมันก็มี แต่มันก็ไม่เยอะ โครงการใหญ่พิเศษทำไม่ได้ ตึกสูงก็ทำได้แค่ 5-7 ชั้น สูงกว่านั้นทำไม่ได้ ถ้าคุณไม่วางกรอบด้วยแผนแม่บทแบบนี้ อีกหน่อยมีทำไอคอนสยามกลางเยาวราชจะเกิดอะไรขึ้น” วรรณศิลป์กล่าว

“ไม่ใช่การอนุรักษ์สุดกู่จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่พัฒนาจนกระทั่งคุณค่ามรดกวัฒนธรรมหายไป เราพยายามที่จะผสานสมดุล” วรรณศิลป์กล่าวถึงแนวคิดการวางกรอบ

คุมสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่อาจบังคับเอกชนไม่ให้ไล่ชุมชน

กระนั้นวรรณศิลป์ก็ยังย้ำว่า ในทางปฏิบัติคงอยู่ที่การออกเทศบัญญัติและการบังคับใช้แผนโดย กทม. และแนวทางการอนุรักษ์ที่วางกรอบไว้นี้ก็ใช่ว่าจะสามารถไปสั่งเอกชนไม่ให้รื้อไล่ชุมชนที่เป็นผู้เช่าได้

ในปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าที่ผ่านเข้ามาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ฉบับปัจจุบันและฉบับใหม่ที่กำลังใกล้คลอดนี้มี 3 สาย ได้แก่ สายสีน้ำเงิน จากสถานีหัวลำโพงถึงสามแยกท่าพระ-บางแค หัวลำโพง ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง สายสีส้มในสถานียมราช-บางขุนนนท์ และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ

รศ.วรรณศิลป์ย้ำว่า ในช่วงการจัดทำร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ได้จัดทำการสำรวจและประเมินค่าไปแล้วทั้งแหล่งมรดกที่จับต้องได้ เช่น สถาปัตยกรรม และส่วนที่จับต้องไม่ได้ เช่น วิถีชีวิต องค์ประกอบความเป็นชุมชนผ่านการใช้งานสถานที่ เช่น ร้านอาหารโบราณ เทศกาลระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติที่จัดในที่นั้น


ตัวอย่างการประเมินคุณค่าสิ่งปลูกสร้าง
ที่มา:
https://www.facebook.com/MasterPlanofPhayaooldtown/

รศ.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์อีกคนหนึ่งกล่าวว่า โครงการปรับปรุงพื้นที่ในแผนแม่บทเป็นเพียงแนวทาง ไม่ได้ฟันธงว่าที่ไหนต้องกลายเป็นอะไร เพราะการทำแผนแม่บทสมัยใหม่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้แล้ว

“แม่บทเดิมเน้นการรักษาอาคารที่เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าสูงๆ ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม วัด แต่แม่บทเดิมมันขาดสาระของชุมชน ที่จะเป็นชุมชนที่อาศัยในพื้นที่เก่า เน้นพื้นที่โล่ง ทำสวนสาธารณะ แต่หลังๆ มันก็มีปัญหา บางชุมชนที่เขาไม่สะดวกทำ แผนใหม่จึงต้องใส่ความสำคัญของชุมชน สาระของชุมชนเข้าไปด้วย” ยงธนิศร์กล่าว

ยืนยันให้ความสำคัญกับชุมชนมากกว่าแผนเก่า

การเปลี่ยนแปลงในแผนแม่บทใหม่นี้คือการให้ความสำคัญกับชุมชน อาคาร บ้านเรือนที่ไม่มีความสำคัญระดับชาติ แต่เป็นท้องถิ่น เบื้องต้นยงธนิศร์ระบุว่ามีการสำรวจบ้านเก่า อาคารเก่านับพันๆ แห่ง ซึ่งจะมีรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ในการอนุรักษ์ให้กับผู้อยู่อาศัยและเจ้าของอาคารเหล่านั้นต่อมา เช่น การลดหย่อนภาษี หรือการขายสิทธิ์ให้นักพัฒนาเอกชนนำพื้นที่ไปพัฒนาต่อ

เท่าที่สำรวจแผนแม่บทฉบับใหม่ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะคร่าวๆ นั้น จะเห็นโครงการย่อยมากมาย เช่น การปรับปรุงทางเท้า ติดตั้งไฟถนน จำกัดปริมาณการจราจรในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ การปรับปรุงพื้นที่โรงเรียนในชุมชน และยังไม่เห็นโครงการรื้อย้ายชุมชนที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ยงธนิศร์ยังมีข้อกังวลว่าหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่อาจไม่เข้าใจการทำงานของแผนแม่บทใหม่นี้ เพราะเป็นการเน้นเรื่องกระบวนการที่นำไปสู่การตัดสินใจในพื้นที่ต่างๆ มุ่งลดข้อขัดแย้งของชุมชนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมซึ่งยากกว่าการดำเนินการแบบเดิม

แม้การรื้อย้ายชุมชนอาจไม่เกิดขึ้นแบบตรงๆ เหมือนชุมชนป้อมมหากาฬ แต่ประสบการณ์ที่แล้วมาบอกเราว่า มีการนำคนออกจากพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ในแบบอื่นๆ ด้วย เช่นในปี 2525 กทม.-คณะกรรมการกรุงฯ ย้ายตลาดนัดสนามหลวงออกไปอยู่จตุจักร และขณะนี้กำลังจะโยกย้ายหน่วยงานราชการออกไปจากพื้นที่ราชดำเนิน ในเรื่องนี้ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรให้ความเห็นไว้ว่า มองอีกแง่หนึ่ง มันเป็นการเขี่ยคนธรรมดาออกไป ทั้งทางตรงคือผู้ค้าขายสินค้าในตลาดนัด และทางอ้อมคือคนที่หารายได้กับการกินการอยู่ของข้าราชการจำนวนมาก

ลุ้น กทม.เข้าใจคอนเซ็ปต์อนุรักษ์หรือไม่

การดำเนินการของ กทม.เป็นประเด็นพอสมควร แม้แต่บวรเวทเองก็กังวลว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนอาจไม่เกิดขึ้นตามที่วาดฝัน ยกตัวอย่างกรณีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทางสำนักการโยธา กทม. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก มีเสียงคัดค้านเรื่อยมาจากทั้งกลุ่มสถาปนิก ชุมชน รวมถึงคณะกรรรมการกรุงฯ เองก็ตามเมื่อมีบางส่วนของถนนริมแม่น้ำจะถูกสร้างอยู่ในอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์

“การเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของหน่วยงานรัฐเป็นเรื่องยาก ดูอย่างถนนแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนคอนเซ็ปต์ที่ไหน ไม่ต้องไปมองไกลเลย” บวรเวทกล่าว

“ขนาดพูดกันแรงๆ ว่า เขาไม่ได้สั่งให้คุณทำถนน คุณก็ไปคิดทำถนนขึ้นมา ผู้ใหญ่บอกเพียงให้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น ถ้าโจทย์เป็นอย่างนั้นทำไมไม่ไปพัฒนาในเขตพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ไปทำถนนในชุมชนให้ดีขึ้น” บวรเวทเล่า

มีส่วนร่วมในระยะเวลาสั้นเกิน

แผนแม่บทฉบับใหม่มีการรับฟังความเห็นทั้งสิ้น  9 ครั้ง เป็นการประชุมใหญ่ 3 ครั้ง ประชุมโฟกัสกรุ๊ปอีก 6 ครั้ง แม้แต่ผู้จัดทำแผนเองก็มองว่ายังมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วม ด้วยเวลาของการจัดทำที่สั้นเกินไป

วรรณศิลป์ระบุถึงปัญหาเรื่องกรอบเวลาที่ทาง สผ. กำหนดให้ทีมจัดทำต้องทำร่างแผนแม่บทให้เสร็จใน 270 วัน หรือปิดงานให้ได้ภายใน 1 ปีงบประมาณ กรอบเวลาที่สั้นเช่นนี้ทำให้การจัดรับฟังความเห็นกระชั้นเกินไป เขาประเมินว่าถ้าจะทำให้ดีต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ปีสำหรับการศึกษาพื้นที่กว้างเช่นนี้

“ควรให้เวลาเยอะๆ แล้วไปตกผลึกให้ชัดขึ้น การรีบสรุปก็ต้องมีอะไรที่ตกหล่น ด้วยกรอบเวลาที่ให้ก็ทำดีที่สุดได้เท่านี้ เคยบอกเขาว่าถ้าอยากได้ผังที่ดีหรือผังที่เสร็จ ถ้าเอาผังที่เสร็จ 5 เดือนก็ได้ แต่ถ้าผังดีๆ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 2 ปี”

“แผนขนาดใหญ่ต้องรอบคอบมาก ต่อให้เป็นการบังคับให้มีการมีส่วนร่วม จำนวนครั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับประสิทธิผลของการประชุม ถ้าประชุมถี่เกินไป ยังไม่ทันมีไอเดียอะไรใหม่ก็ประชุมอีกแล้วอาจไม่เกิดประโยชน์ ต้องให้เวลาเขาตกผลึก คิดและเพิ่มอะไรขึ้นมา การเร่งประชุมทำให้ได้ข้อเสนอน้อย เพิ่งประชุมไปเมื่อเดือนที่แล้ว เดือนนี้ประชุมอีกแล้ว ชาวบ้านต้องทำมาหากิน ประชุมติดๆ กัน คนเก่าก็ไม่มา ถ้าเว้นระยะห่างกันนิดหนึ่ง แล้วสื่อสารกันด้วยเฟสบุ๊ค มีอะไรก็ส่งมารวบรวมไว้ด้วย เชื่อว่าจะมีไอเดียใหม่ๆ เกิดเยอะขึ้น”

ชุมชนวัดแค ผู้เช่าที่สำนักทรัพย์สินฯ

ในระดับชุมชนเองก็มีกระบวนการต่อรองในระดับชุมชนด้วยเครื่องมือที่แตกต่าง เพื่อรับมือกับความตึงเครียดที่คืบคลานเข้ามาในเมื่อแผนแม่บทฉบับใหม่ขยายขอบเขตครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้นอีก

ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) เป็นชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยเช่าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และวัดกันเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันมูลค่าที่ดินสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีหลานหลวงที่จะมาขึ้นบริเวณ ถ.หลานหลวง และชุมชนเองก็จะถูกผนวกเข้าเป็นพื้นที่ในพื้นที่ของแผนแม่บทใหม่ด้วย

 

สุวัน แววพลอยงาม ประธานชุมชนวัดแคกล่าวว่า ที่ผ่านมาในการรับฟังความคิดเห็นของแผนแม่บท มีหลายคนรวมถึงเธอด้วยที่เสนอให้มีการจัดผังชุมชนแต่ไม่มีผลใดๆ เธออยากให้ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการในโครงการเกี่ยวเนื่องกับชุมชน แต่จากการทำงานที่ผ่านมา เธอได้ข้อสรุปว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สำหรับเรื่องความสัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่และยังเป็นหน่วยงานที่มีตัวแทนเป็นหนึ่งในกรรมการของคณะกรรมการกรุงฯ นั้น สุวันบอกว่าในทางปฏิบัติมีการพัฒนาชุมชนร่วมกัน แต่การตัดสินใจในระดับนโยบายว่าจะเกิดอะไรกับพื้นที่ที่เช่าอยู่ เป็นเรื่องที่ชาวชุมชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ แม้แต่การจัดกิจกรรมในชุมชนก็ต้องแจ้งเจ้าของที่อย่างละเอียด ส่วนการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้แต่ประธานชุมชนเองก็ยังไม่รู้ทิศทางของสำนักทรัพย์สินฯ ว่าจะทำอะไรกับที่ดินแปลงนี้ต่อไป


ทางเดินในชุมชน และบ้านหลังวัดสุนทรธรรมทาน

“ทำงานร่วมกับ(สำนัก)ทรัพย์สินฯ ตลอด และเป็นแบบนี้ตลอด ทำเรื่องพัฒนาคุณภาพชีวิตตามนโยบายด้วยกัน เช่น เรื่องบ้านมั่นคง แต่ตอนนี้เริ่มได้ยินข่าวว่าจะยกเลิกสัญญาเช่า 30 ปีและจะยกเลิก MOU ด้วย” สุวันพูดถึงโครงการบ้านมั่นคงที่ชุมชนวัดแคเป็นหนึ่งในชุมชนนำร่องในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการนี้กำหนดให้สัญญาเช่าในพื้นที่โดยไม่ต้องย้ายออก แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ หลังมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ จากจิรายุ อิศรางกูล ณ อยุธยา เป็นพลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล

สุวันยังมีความหวังในการทำงานร่วมกับภาครัฐภายใต้แผนแม่บทฯ ใหม่ แม้จะยังไม่เห็นความคืบหน้านับจากวันที่ไปออกความเห็นในเวทีรับฟัง แต่ความทรงจำเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ เครือข่ายและเพื่อนที่ทำงานชุมชนร่วมกันมายาวนานยังคงเป็นบาดแผลที่ทำให้เธอไม่ไว้วางใจการทำงานของภาครัฐ

“กับโครงการแผนแม่บทฯ ไม่อยากคาดหวัง มันน่าจะเป็นสมหวังของคณะกรรมการกรุงฯ มากกว่า เพราะถ้าเรามองย้อนหลังไปมันมีแต่ความเจ็บปวด ที่ผ่านมามันเห็นอยู่แล้วว่าคนละแนวคิด บางอย่างเราไม่สามารถที่จะสู้ได้ เช่น ต้องการหมู่บ้านวัฒนธรรม แต่ไล่คนออกไปหมดเลย ป้อมมหากาฬแทนที่จะให้คนช่วยกันดูแลตัวเอง บ้านนู้นบ้านนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แต่มันก็ไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้”

แต่อย่างน้อยที่สุด การเป็นชุมชนนำร่องก็ทำให้สุวันมีความหวัง และเธอมองเป็นมุมบวกต่อชุมชนเมื่อ พ.ร.บ. การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โยกย้ายที่ดินที่ชาวนางเลิ้งอาศัยอยู่ไปอยู่ใต้พระปรมาภิธัยของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

“พี่ว่าน่าจะโชคดีนะ การเป็นระบบนี้กลับมารวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่องค์เดียว ก็อยู่ที่ว่าพวกเราจะทำให้เข้าใจเราได้แค่ไหน เพราะเราเป็นพสกนิกร ที่ผ่านมาระบบประชาธิปไตย ความถูกต้อง ระบบศาลก็ไม่ได้ช่วย” สุวันกล่าว

ชุมชนนางเลิ้ง ต้นแบบการอนุรักษ์แบบช่วยตัวเอง

นางเลิ้ง หนึ่งในย่านที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ปีได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในชุมชนนำร่องจาก 7 ย่านประวัติศาสตร์ใน กทม. ตามโครงการพัฒนาย่านประวัติศาสตร์เมืองสู่การท่องเที่ยวสร้างสรรรค์ ของ กทม. ที่มุ่งให้คนในชุมชนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเมืองให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และสร้างรายได้ให้พวกเขาผ่านการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวอีกทาง

โชคร้ายที่การยอมรับดังกล่าวยังไม่นำมาซึ่งงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการดังกล่าวจัดทำในลักษณะร่วมกันระหว่างเครือข่ายชุมชนมาเป็น 10 ปีแล้ว ทว่าการดำเนินการยังเป็นไปในลักษณะพึ่งพากัน จัดทำการท่องเที่ยวในชุมชนในแบบที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ

นางเลิ้งจัดนิทรรศการปลุกกลิ่นอายชุมชนเก่า หวังกระตุ้นคนในพื้นที่หาคุณค่า
เดินดูนางเลิ้ง เมื่อวัฒนธรรมถูกใช้รองรับการพัฒนา สู่คำถามสิทธิในเมืองที่เท่าเทียม
สำนักงานทรัพย์สินฯ บอกเลิกสัญญาสนามม้านางเลิ้ง ย้ายทรัพย์สินออกภายใน 180 วัน


กิจกรรมนางเลิ้งที่รักนำเสนอวัฒนธรรมชุมชน ของดีในชุมชน
ได้รับความร่วมมือจากย่านอื่นๆในกรุงเทพฯ มาร่วมออกบูธนิทรรศการ

ระพีพัฒน์ เกษโกศล นักพัฒนาการท่องเที่ยวชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร ในฐานะเลขานุการเครือข่ายการท่องเที่ยวภาคประชาสังคม ให้สัมภาษณ์ในงาน นางเลิ้งที่รัก เมื่อปลายปี 2561 ว่างานลักษณะนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพราะได้งบประมาณจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของทาง กทม. ซึ่งมีให้เพียงปี 2561 ปีเดียว

“การมีงบประมาณนั้นทำให้สามารถเอางบไปกระจายเกื้อหนุนคนทำงานในพื้นที่ได้ ถ้าเราไม่มีงบสนับสนุน บางทีชาวชุมชนก็ต้องหางบจากการจัดกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันดูไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ทำงานอนุรักษ์มานาน พวกเขาต้องมาเหนื่อยในขณะที่ปากท้องยังหิวอยู่ แต่สุดท้ายเราก็สนับสนุนไม่ได้มากนัก” ระพีพัฒน์กล่าว

ชุมชนเจริญไชย เชื่อตึกยังอยู่ แต่คนอาจอยู่ไม่ได้

ชุมชนเจริญไชย อยู่ในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ตามแผนแม่บทฉบับใหม่ที่ขยายออกมาครอบคลุม มันเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่นับร้อยปี และมีสมาชิกชุมชนราว 80 ครัวเรือน

การมีส่วนร่วมของชาวชุมชนกับเจ้าของที่อย่างมูลนิธิจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหลังมีโครงการรถไฟฟ้าสถานีวัดมังกร จากนั้นการติดต่อก็หยุดชะงัก


ตึกเก่าชุมชนเจริญไชย

แนวคิดเรื่องการพัฒนาชุมชนผ่านการท่องเที่ยวและแผนแม่บทที่พูดเรื่องการกระจายนักท่องเที่ยวตามแนวรถไฟฟ้ายังเป็นทิศทางที่คนที่นั่นตั้งคำถาม สำหรับชุมชนที่มีอาชีพหลักเป็นการค้าขายสินค้าวัฒนธรรมจีน ฉัตรชัย-คนขายโคมจีนประเมินว่าการเข้ามาของนักท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินอาจไม่เป็นประโยชน์กับการค้าขายของชุมชน ก็ในเมื่อโคมกระดาษ ประทัด ไก่ต้ม ฯลฯ ไม่ใช่สิ่งที่คนจะหิ้วขึ้นรถไฟฟ้ากัน


สถานีวัดมังกร (บน) ที่ยังไม่ได้อยู่ในเขตแผนแม่บท
มีขนาดใหญ่โตกว่าสถานีสนามไชย (ล่าง) ที่อยู่ในแผนแม่บท
เนื่องจากคณะกรรมการกรุงฯ พิจารณารูปแบบสถานีรถไฟใต้ดินส่วนที่โผล่ขึ้นมาบนดิน
กรณีสนามไชยหน้าพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม มีการจำกัดความสูงเพื่อไม่ให้บดบังทัศนวิสัย
ความกว้างของส่วนที่ยื่นมาก็ไม่กินพื้นที่ใหญ่โต 

ศิริณี อุรุนานนท์ (เล็ก) ชาวชุมชนเจริญไชยอายุ 48 ปี อาชีพค้าขายกรอบรูป อัลบั้ม อุปกรณ์ ฟิล์ม เป็นอีกคนที่พูดถึงปัญหาชุมชนเรื่องความมั่นคงทางที่อยู่มานาน

เธอเล่าว่ามีการพูดคุยกับที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาแผนแม่บทในส่วนขยายต่อเนื่องมานาน ตึกในชุมชนก็เป็นตึกที่ได้รับการศึกษาว่าเป็นตึกเก่าที่ควรอนุรักษ์เอาไว้ แต่เมื่อศึกษาแล้วยื่นไปทาง กทม.ในทางปฏิบัติก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ยังห่วงกังวลว่า การอนุรักษ์อาคารกับวิถีชุมชนอาจเป็นหนังคนละม้วน


ทางเดินภายในชุมชน เต็มไปด้วยร้านค้าและสินค้าที่ใช้ในพิธีกรรมทางความเชื่อแบบจีน

“ถ้าแผนแม่บทมันอาจรักษาตัวอาคารตรงนี้ไว้ ซ่อมแซมให้ดี แต่บางแห่งที่เราก็เห็นว่าเขารักษาอาคาร แต่ค่าเช่ามันทำให้คนอยู่ไม่ได้ก็มี ก็เลยทำให้ยังไม่รู้ว่าจะรักษาได้แต่อาคารหรือเปล่า มันอาจเป็นเหมือนกับหลายที่ อาคารยังอยู่ แต่เป็นร้านค้าสมัยใหม่ เป็นแมคโดนัลด์” ศิริณีกล่าว

000

แผนแม่บทฉบับใหม่ที่ขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ยังไม่คลอดอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายยังคงคาดหวังในทางที่ดี บทบาท กทม. ในการอำนวยการพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำตามวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ผู้จัดทำร่างแผนแม่บทอธิบายไว้สวยหรู ในตอนต่อไปจะชวนผู้อ่านดูความพร้อมของ กทม. ต่อการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมผ่านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการถนนในแม่น้ำเส้นยาวที่โฆษณาว่าจะเป็นการทำให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำได้

ขอขอบคุณ คุณอินทิรา วิทยาสมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการประสานงานเครือข่ายในงานเขียนชิ้นนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท