Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ https://www.matichon.co.th/politics/news_1376158

ในการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ของบ้านเราที่มีการต่อสู้เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐบนความคิดพื้นฐานที่ว่า “ต้องได้คนดีมาเป็นผู้ปกครอง” ตามนิยามของชนชั้นนำนั้น นอกจากความหมายของ “คนดี” แสนจะคลุมเครือแล้ว การเข้าสู่อำนาจรัฐของคนดี อาจมาจากการแข่งขันในระบบเลือกตั้งก็ได้ หรือมาจากรัฐประหารก็ได้

เพราะยึดความคิดพื้นฐานดังกล่าว ถ้าหากคนที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่คนดี หรือเปลี่ยนจากการเป็นคนที่เคยถูกเชื่อว่าเป็นคนดีกลายเป็นคนเลว เช่นถูกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน หรือถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็จะมีคนดีลุกขึ้นมาเสียสละทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเพื่อขจัดคนเลว และธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขบ้านเมือง ความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แล้ว “คนดี” คือคนเช่นไร?

ในกรอบคิดปรัชญากรีก คนดีคือคนที่มีความเป็นเลิศทางปัญญา, ความกล้าหาญ, ความยุติธรรม และการควบคุมตนเองให้มีดุลยภาพระหว่างการใช้เหตุผลกับอารมณ์ นิทเช่ (Friedrich Nietzsche 1844 – 1900) วิจารณ์ว่า คุณธรรมของคนดีตามกรอบคิดปรัชญากรีกคือคุณธรรมแบบชนชั้นนำ เพราะมีแต่ชนชั้นนำเท่านั้นที่มีโอกาสหรือมีชีวิตอยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้สามารถฝึกฝนตัวเองให้มี “ความเป็นเลิศ” (excellence) ด้านปัญญาและอื่นๆ ดังกล่าวได้

ชนชั้นนำไทยใช่คนดีตามกรอบคิดปรัชญากรีกหรือไม่?

หากดูจากการแสดงความกล้าหาญเพราะถืออำนาจปืน หรือมี “อำนาจที่แตะไม่ได้” ย่อมไม่ใช่ความกล้าหาญตามกรอบคิดปรัชญากรีก การไม่กล้ารับ “คำท้าดีเบต” เมื่อมองจากกรอบคิดปรัชญากรีกก็ย่อมถือเป็น “ความขี้ขลาด” แบบหนึ่ง ทำให้คนสงสัยต่อไปว่าเพราะขาดความเป็นเลิศทางปัญญาที่จะต่อกรกับฝ่ายตรงข้ามหรือไม่จึงไม่กล้ารับคำท้า

ส่วนความเป็นเลิศด้านความยุติธรรมและการควบคุมตัวเองนั้น ดูจากการเขียนกติกาการปกครองที่อธิบายไม่ได้ว่าเป็นกติกาที่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล และดูจากการควบคุมอารมณ์แล้ว ใครๆ ก็พอจะตอบได้ว่าคุณธรรมด้านความยุติธรรมและการควบคุมตนเองของชนชั้นนำไทยนั้นเป็นฉันใด

แต่เอาล่ะ ความเป็นคนดีของชนชั้นนำไทยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับคนดีตามกรอบคิดปรัชญากรีกก็ได้ เพราะชนชั้นนำไทยนิยามตนเองเข้ากับ “ความเป็นไทย” มากกว่าความเป็นตะวันตก แล้วความหมายของคนดีในการเมืองวัฒนธรรมของบ้านเราคืออะไร จากข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็น เราอาจแบ่งคนดีได้ 3 ประเภท ตามบรรทัดฐานที่ต่างกัน

ประเภทแรก คือ คนดีตามบรรทัดฐานแบบอำมาตยาธิปไตย ได้แก่ คนดีที่นิยามตัวเองเข้ากับ “สำนึกตอบแทนบุญคุณแผ่นดี” ซึ่งหมายถึง คนที่กตัญญูและจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำที่เป็นคนดีประเภทนี้อาจเข้าสู่อำนาจรัฐในฐานะ “นายกฯคนนอก” ก็ได้ ผ่านเวทีการเมืองที่มีการเลือกตั้งก็ได้ หรือผ่านรัฐประหารก็ได้

ประเภทที่สอง คือ คนดีตามบรรทัดฐานศีลธรรมพุทธศาสนาไทย ที่จริงประเภทนี้ก็คือพวกเดียวกับประเภทแรก เพราะคนดีประเภทแรกก็นิยามตัวเองเข้ากับการมีคุณธรรมผู้ปกครองตามหลักคำสอนพุทธศาสนาไทย แต่ที่แยกออกมาต่างหาก เพราะยังมีกลุ่มคนดีแบบพุทธอีกต่างหากที่แสดงบทบาทเรียกร้องให้นำหลักธรรมพุทธศาสนาไทยมาใช้ในการปกครอง และเรียกร้องให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองและส่งเสริมพุทธศาสนาเป็นพิเศษ

คนดีประเภทนี้พยายามผลักดัน “วาระ” ของพวกตนทั้งผ่านรัฐบาลจากรัฐประหารและรัฐบาลจากเลือกตั้ง คือเป็นคนดีประเภท “อยู่กับเผด็จการก็ได้กับประชาธิปไตยก็ดี” ขอเพียงให้พวกตนได้ประโยชน์

ประเภทที่สาม คือ คนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้แก่คนที่ยึดมั่นอุดมการณ์ประชาธิปไตย มีจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ปกป้องอำนาจอธิปไตยของประชาชน ยอมรับมติเสียงข้างมาก และเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย คนพวกนี้คือคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

แต่ในการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยแทบจะไม่เคยยกย่องคนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้โดดเด่น เพราะอำนาจนิยามความหมายของคนดีและการปลูกฝังความเชื่อเรื่องคนดีตกอยู่ในมือฝ่ายอนุรักษ์นิยมมายาวนาน ดังนั้น คนดีที่สมควรเป็นผู้ปกครองตามนิยามในสารระบบการเมืองวัฒนธรรมแบบไทย จึงได้แก่ คนดีตามบรรทัดฐานแบบอำมาตยาธิปไตยและบรรทัดฐานศีลธรรมพุทธศาสนาไทยเป็นด้านหลัก

แน่นอนว่า คนดีตามบรรทัดฐานอำมาตยาธิปไตยและบรรทัดฐานศีลธรรมพุทธศาสนาไทย ย่อมไม่ใช่คนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะคนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนย่อมปฏิเสธอุดมการณ์ใดๆ ที่อยู่เหนือหลักเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ และปฏิเสธการใช้วิธีการใดๆ เข้าสู่อำนาจรัฐอย่างผิดหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น “การเลือกคนดีเข้าสภา” ในความหมายที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย จึงต้องเลือก “คนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” เท่านั้น

ไม่ใช่เลือกคนดีตามบรรทัดฐานอำมาตยาธิปไตยและบรรทัดฐานศีลธรรมศาสนาที่ทำรัฐประหาร สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และ/หรือสนับสนุนการนำหลักศีลธรรมศาสนามาเป็นหลักการปกครองกำกับหลักการประชาธิปไตย หรือพยายามเรียกร้องอภิสิทธิ์ใดๆ แก่ศาสนา

แต่ปัญหาคือ เวลาพระสงฆ์ ทหาร ศิลปิน ดารา นักร้อง กวี นักเขียน หรือ “คนดัง” ที่แสดงความเห็นทางการเมืองเป็นข่าวในหน้าสื่อกระดาษและสื่อออนไลน์แทบทุกสัปดาห์ พวกเขาจะพูดเสมอว่าให้ “เลือกคนดี” ซึ่งหมายถึงคนดีตามบรรทัดฐานอำมาตยาธิปไตยและศาสนาเป็นด้านหลัก

ขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามชี้ให้เห็นว่าคนดีตามบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมักจะเป็นคนที่สร้างปัญหา เป็นพวกท้าทายสถาบันหลักของชาติ เป็นปฏิปักษ์กับความเป็นไทย เป็นภัยความมั่นคง สร้างความแตกแยก และอื่นๆ กระทั่งอาจจะเป็น “พวกหนักแผ่นดิน” เลยทีเดียว

แล้วผู้ปกครองที่เป็นคนดีตามมาตรฐานการเมืองวัฒนธรรมไทยใช่ผู้ปกครองที่ดีตามกรอบคิดแบบมาคิอาเวลลีหรือไม่?

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์บางคนตอบว่า “ไม่น่าใช่” เสียทีเดียว เพราะผู้ปกครองแบบมาคิอาเวลลีจะชัดเจนตรงไปตรงมามากกว่า เพราะถ้าจะใช้ความเห็นแก่ตัวหรือใช้ความอำมหิตก็ใช้มันตรงๆ เลย ใช้เพราะมีเหตุผลตรงไปตรงมาว่า ความเห็นแก่ตัวและอำมหิตมันเป็น “คุณธรรมที่จำเป็น” ในกรณีที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

แต่ผู้ปกครองที่เป็นคนดีในการเมืองวัฒนธรรมไทยไม่ได้ชัดเจนตรงไปตรงมาเช่นนั้น มันมีลักษณะของ “ลัทธิมนต์มายา” (mysticism) อยู่มาก คือต่อให้ทำผิดหลักการขนาดไหนก็ “แสดง” ให้สาธารณชนรับรู้อยู่เสมอว่าการกระทำนั้นดีงามสูงส่ง ดังนั้น “การคอร์รัปอำนาจ” จึงไม่ใช่การคอร์รัป แต่เป็นการเสียสละมาปราบปรามการคอร์รัปให้หมดไปจากแผ่นดินอันงดงาม

ชนชั้นนำที่เป็นคนดีในลัทธิมนต์มายายังวางตัวเสมือนดัง “พระเจ้า” ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสร้างกติกาการปกครองที่ไม่ฟรีและแฟร์แก่ทุกคนทุกฝ่ายขึ้นมา เพื่อเป็นเงื่อนไขให้นักการเมืองขัดแย้งกันเอง ตีกันเอง และเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนขัดแย้งกันเอง ตีกันเอง แล้วพวกเขาก็จะส่งคนของตัวเองลงมาเล่นในเกมทั้งโดยวิธีเปิดเผยและไม่เปิดเผย

จากนั้นพวกเขาก็จะนั่งมองทุกความเคลื่อนไหวอยู่ข้างบน (บนสถานะและอำนาจที่เหนือกว่าของ “ผู้ชี้ขาด” สุดท้าย) เมื่อถึงจุดวิกฤตระดับหนึ่ง พวกเขาก็จะ “ล้มกระดาน” แล้วเขียนกฎขึ้นใหม่ เวียนวนเป็นวัฏจักอยู่เช่นนี้เสมอมา

นี่อาจเป็นความหมายของ “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” ในการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยหรือไม่ เราจะออกจากวัฏจักรการเมืองวัฒนธรรมภายใต้อำนาจกำหนดของชนชั้นนำได้อย่างไร ฝากให้ช่วยกันคิดด้วยครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net