ทำความเข้าใจเรื่องการพักโทษของนักโทษ หลังแม่ของไผ่ ดาวดิน ร้องกรรมการสิทธิฯ กรณีไผ่ไม่ได้รับการพิจารณา “พักโทษ” เช่นนักโทษทั่วไป ด้วยเหตุที่มีคดีการเมืองอื่นค้างเติ่งติดตัว ราชทัณฑ์อ้างยังไม่อาจอนุมัติ แต่ถึงไม่ได้พักโทษไผ่ก็มีกำหนดออกจากเรือนจำ 16 พ.ค.นี้ พร้อมกันนี้เราพาไปดูกรณีอดีตนักโทษหัวรั้น สมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่เคยยื่นฟ้องราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง สมัยยังอยู่ในเรือนจำ ด้วยเรื่องไม่ได้รับการอนุมัติให้พักโทษเช่นกัน ระบุระเบียบปฏิบัติภายในราชทัณฑ์กีดกันนักโทษคดี 112 เลือกปฏิบัติ ศาลปกครองรับฟ้องตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า
การพักโทษเป็นมาตรการหนึ่งของเรือนจำที่มุ่งเร่ง “คืนคนดีสู่สังคม” และยังเป็นทางออกเล็กๆ ของปัญหานักโทษล้นคุกในทุกเรือนจำ
การพักโทษคือการได้ออกจากคุกก่อนกำหนดเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้สิทธินั้น มันมีหลักเกณฑ์จำนวนหนึ่งที่จะรับประกันว่าผู้ต้องขังเหล่านั้นมีคุณภาพ ออกไปจะไม่เป็นพิษภัยต่อสังคม เช่น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด (ตัดสินแล้วทุกคดี ไม่มีคดีค้าง) ต้องเป็นนักโทษชั้นดี/ดีมาก/ดีเยี่ยม ฯลฯ (รายละเอียดในล้อมกรอบด้านล่าง) ส่วนผู้พิจารณาคือ คณะกรรมการกลางที่ประกอบด้วยตัวแทนหลายหน่วยงาน
การพักโทษดำเนินการกันทุกปี ยกตัวอย่างปี 2561 กรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ 1,006 รายจาก 95 เรือนจำทั่วประเทศ
ปัญหาการเลือกปฏิบัติคงไม่เกิดขึ้น หากไม่ใช่คดีการเมืองแบบพิเศษอย่างคดี 112
7 มี.ค.ที่ผ่านมา แม่ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิฯ กรณีที่กรมราชทัณฑ์ไม่พิจารณาเรื่องการพักโทษให้ลูกชายทั้งที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างมาแล้วกว่า 7 เดือน
ข้อติดขัดที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อธิบายก็คือ ไผ่ยังไม่เป็นนักโทษเด็ดขาด เพราะยังมีบางคดีไม่สิ้นสุดและทางเรือนจำกำลังรอเอกสารว่าตำรวจจะดำเนินการอย่างไรหรือไม่
ภาพ ไผ่ ดาวดิน
เป็นที่ทราบกันดีว่านักกิจกรรมหนุ่มคนนี้โดนคดีต่างๆ รวมแล้วถึง 5 คดี แน่นอนว่า คดีใหญ่ที่สุดที่ทำให้เขาได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน คือ คดี 112 จากการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย
ที่เหลืออีก 4 คดีคือ
1.คดีชูป้ายต้านรัฐประหารในวาระครบรอบ 1 ปี ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น พร้อมสมาชิกกลุ่มดาวดิน 5 คน ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ขึ้นศาลทหารขอนแก่น ศาลจำหน่ายคดีแล้วเนื่องจาก คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวแล้ว
2.คดี 14 นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดนจับกุมวันที่ 26 มิ.ย.2558 นักศึกษาทั้งหมดติดคุก 14 วัน เนื่องจาก ตร.นำตัวไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ แต่พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ยังไม่ได้สอบปากคำใด เพียงแจ้งข้อหาตาม ม.116 และฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.3/2558
3.คดีพูดเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเป็นเวทีวิชาการจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 31 ก.ค.2558 ถูกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ศาลจำหน่ายคดีแล้ว
4.แจกเอกสารประชามติที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ถูกจับเมื่อ 6 ส.ค. 2559 ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ประชามติ และข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษายกฟ้อง
ภาพ ไผ่ และเพื่อนๆ ในคดี 14 นักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.ในเดือนมิถุนายน 2558
จะเห็นว่าทุกคดีสิ้นสุดหมดแล้ว ยกเว้นคดี 14 นักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้าน คสช.ในเดือนมิถุนายน 2558 คดียังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใด ว่ากันตรงไปตรงมามันเป็นคดีการเมืองที่แจ้งความกับนักศึกษาเพื่อสกัดกั้นการประท้วงที่อาจลุกลาม หลังจับกุมนักศึกษามีนำตัวไปขึ้นศาลทหารกรุงเทพในเวลา 21.30 น. ก่อนเสร็จสิ้นกระบวนการตอนเที่ยงคืนครึ่งแล้วนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำ นักศึกษาทั้ง 14 คนประท้วงด้วยการไม่ยื่นประกันตัว อยู่ในเรือนจำนานถึง 2 สัปดาห์ ก่อนท้ายที่สุดศาลไม่อนุมัติการฝากขังต่อ
จนถึงวันนี้ไผ่อยู่ในเรือนจำมาแล้ว 2 ปี 2 เดือน เหลืออีกราว 3 เดือนก็จะพ้นโทษ เหตุที่ได้ออกเร็วกว่ากำหนดเล็กน้อยเพราะระบบโดยปกติของเรือนจำ หากเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปจะได้ “วันลดโทษ” จำนวนหนึ่ง กรณีของไผ่ซึ่งเป็นนักโทษชั้นดีมากได้วันลดโทษรวม 34 วัน ทำให้กำหนดการออกจากเรือนจำของเขาคือ วันที่ 16 พ.ค.2562
ตามระเบียบของกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษดังต่อไปนี้
1.ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน 1 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ
2.ชั้นดีมาก ไม่เกิน 1 ใน 4 ของโทษที่ได้รับ
3.ชั้นดี ไม่เกิน 1 ใน 5 ของโทษที่ได้รับ
กรณีของไผ่ไม่ใช่กรณีแรกที่ไม่ได้พักโทษเช่นผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ถูกฟ้องคดี 112 ก็เป็นอีกคนที่ใช้สิทธิยื่นขอพักโทษเช่นคนอื่น แม้จะเหลือเวลาจำคุกอีกไม่มากนัก เนื่องจากเขาต่อสู้คดีถึงชั้นศาลฎีกา กว่าคดีจะเดินไปสุดทางเขาก็ติดคุกมายาวนานเกือบเต็มจำนวนโทษแล้ว
(ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 10 ปี ศาลฎีกาลงโทษจำคุก 6 ปี)
ภาพ สมยศ (ที่มาภาพ Banrasdr Photo)
คณะกรรมการพิจารณาพักโทษแจ้งผลว่า เขาไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์ สมยศอุทธรณ์แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดเขาตัดสินใจฟ้องศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 687/2561 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2561 ก่อนเขาออกจากเรือนจำเพียงเดือนเศษ
“จริงๆ จะได้ออกจากเรือนจำอยู่แล้ว แต่ก็ตัดสินใจฟ้อง เพราะไม่ต้องการให้การพิจารณาแบบนี้เป็นมาตรฐานสำหรับนักโทษ 112 คนอื่นๆ มันเป็นการเลือกปฏิบัติ” สมยศเคยกล่าวไว้ขณะยังไม่ออกจากเรือนจำ
ผู้ถูกฟ้องคือ กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการพิจารณาพักโทษ โดยผู้ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการพักการลงโทษที่มีมติไม่เห็นชอบพักโทษให้ผู้ฟ้องคดี, เพิกถอนประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2 (ข) และข้อ 3 และสุดท้ายขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 64,569.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
เนื้อหาในทางคดี หลังคณะกรรมการพักการลงโทษแจ้งว่า สมยศยังขาดองค์ประกอบในส่วนของพฤติการณ์กระทำผิด อายุขณะกระทำผิด อายุที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษ ประวัติความเจ็บป่วยร้ายแรง สมยศได้ยื่นฟ้องโดยมีข้อต่อสู้ว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาพักโทษของกรมราชทัณฑ์นั้น อันที่จริงไม่จำเป็นต้องมีเหตุพิเศษสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจทุกข้อ เช่น ต้องอายุเกิน 70 ปี เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ ก็ได้ เพียงแค่เหตุผลข้อเดียวเรื่องการเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน 1 ปี คณะกรรมการฯ ก็พิจารณาผ่อนปรนให้ได้รับการพักการลงโทษได้ ตัวเขาเองเหลือโทษจำคุกเพียง 3 เดือนเศษ
ที่สำคัญคือ ประกาศของราชทัณฑ์กำหนดลักษณะความผิดตาม ม.112 ที่เข้าข่ายไม่ได้รับการพิจารณาไว้ด้วย สมยศระบุว่านั่นเป็นการเลือกปฏิบัติ
“โดยสาระสำคัญแล้วข้อหาดังกล่าวมีธรรมชาติทางกฎหมายไม่แตกต่างจากมาตราอื่นที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือมีสถานะเป็นกฎหมายอาญาที่เป็นข้อห้ามความประพฤติของบุคคลในสังคมโดยมีจุดประสงค์รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษทางอาญาเหมือนกัน แต่การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาพักโทษ พ.ศ.2560 ข้อ 2(1) ให้ลักษณะความผิดอาญาประเภทนี้ขึ้นมาและกำหนดผลทางกฎหมายต่อบุคคลที่กระทำผิดทางอาญาในข้อหาประเภทนี้ให้แตกต่างออกไปจากการกระทำผิดตามข้อหาทางอาญาอื่นๆ โดยกำหนดผลทางกฎหมายให้ผู้กระทำผิดตามข้อหาทางอาญาประเภทนี้ได้รับผลร้ายเป็นพิเศษในการพิจารณาใช้ดุลพินิจพักโทษ จึงถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแบบเดียวกันให้แตกต่างออกไปจนก่อให้เกิดผลร้ายเป็นพิเศษและไม่เป็นธรรม เนื่องจากเมื่อศาลพิพากษาให้เป็นผู้กระทำความผิดและมีโทษจำคุกตามอัตราโทษที่ศาลเห็นว่าเหมาะสมกับคดีแล้ว การบังคับตามคำพิพากษาภายหลังก็ต้องมีความเสมอภาคกัน นักโทษเด็ดขาดไม่ว่าคดีใดๆ ย่อมต้องได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาค”
สมยศยังยืนยันด้วยว่า พฤติการณ์แห่งคดีของเขา แม้เขาจะถูกฟ้องตามม. 112 แต่ก็เป็นเพียง บก.ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดโดยตรง นอกจากนี้เขายังมีความประพฤติดี ได้รับคะแนนความประพฤติจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน
เขายังโต้แย้งอีกว่า ประกาศของกรมราชทัณฑ์นั้นขัดหรือแย้งกับระเบียบของกระทรวงยุติธรรมในเรื่องการพักโทษด้วย เพราะระเบียบระดับกระทรวงไม่ได้กำหนดเรื่องลักษณะความผิดเอาไว้ ดังนั้น ประกาศของกรมราชทัณฑ์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่กฎหมายกำหนด
หลังศาลปกครองรับคดี ปัจจุบันยังไม่มีการความคืบหน้าหรือการนัดหมายใด
หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูล 10 มี.ค.2562
หลักเกณฑ์การพิจารณาพักโทษ
ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเณฑ์และวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและการแยกคุมขัง การเลื่อนหรือลดชั้นนักโทษเด็ดขาด การลดวันต้องโทษจำคุก และการพักการลงโทษ พ.ศ.2559
ข้อ 60 นักโทษเด็ดขาดที่อยู่ในข่ายได้รับการพิจารณาพักการลงโทษต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1)เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดีขึ้นไป
(2)ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก
(3)ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษตามข้อ 63
(4)มีผู้อุปการะ
ข้อ 65 ในการพิจารณาของคณะกรรมการพักการลงโทษหรือคณะกรรมการคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเพื่อพิจารณาพักการลงโทษ ให้อธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพักการลงโทษ โดยคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) ความประพฤติ ความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา การทำงาน การทำความชอบให้แก่ทางราชการ ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ
(2) ระยะเวลาคุมประพฤติ
(3) ประวัติการต้องโทษ
(4) พฤติการณ์ก่อนมาต้องโทษ
(5) พฤติการณ์การกระทำผิด
(6) ความน่าเชื่อถือของผู้อุปการะ
(7) การได้รับการแก้ไข บำบัดฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยตามหลักสูตรที่กรมราชทัณฑ์กำหนด
(8) ผลกระทบด้านความปลอดภัยของสังคม
แสดงความคิดเห็น