ศาลให้ประกัน 5 นักกิจกรรมในคดี #ม็อบ2สิงหา สาดสีหน้า ตชด. ด้าน 'ทนายอานนท์-ไผ่' ถูกศาลยกคำร้อง

ศาลอนุญาตให้ประกันตัว เพนกวิน พริษฐ์, ฟ้า พรหมศร, ไมค์ ภาณุพงศ์ บอย ธัชพงษ์ และณัฐชนนท์ ไพโรจน์ ในคดี #ม็อบ2สิงหา พร้อมวางเงื่อนไข-ใส่กำไล EM ด้าน 'เพนกวิน' ต้องรอยื่นประกันตัวเพิ่มเติมจากกรณีศาลเพิกถอนประกันคดี #ม็อบ19กันยา เมื่อปีที่แล้ว ส่วน 'ทนายอานนท์' และ 'ไผ่ ดาวดิน' ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

15 ก.ย. 2564 วันนี้ (15 ก.ย. 2564) เวลา 11.02 น. นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทวีตข้อความระบุว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรม 5 คน ได้แก่ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า ราษฎรมูเตลู, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง, ชายชาติ (ธัชพงษ์) แกดำ หรือบอย และณัฐชนน ไพโรจน์ ด้านศูนย์นายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่าศาลวางเงื่อนไขการประกันตัว และกำหนดให้นักกิจกรรมทั้ง 5 ต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

 

 

นักกิจกรรมทั้ง 5 คนที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในวันนี้ถูกตำรวจขออำนาจศาลฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา หรือการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 โดยนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในคดีนี้มีทั้งหมด 8 คน ได้รับการประกันตัวไปแล้ว 3 คน คือ ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) หรือปูน ทะลุฟ้า ได้ประกันตัวในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ส่วนปนัดดา (สงวนนามสกุล) หรือต๋ง ทะลุฟ้า และสิริชัย นาถึง หรือนิว ได้ประกันตัวในวันที่ 26 ส.ค. 2564 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่าทนายความจำเป็นต้องยื่นขอประกันตัวพริษฐ์เพิ่มเติม เนื่องจากเขายังมีหมายขังในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 ซึ่งศาลอาญาสั่งเพิกถอนการประกันตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ฟ้า-ไมค์-บอย' ยืนยันพร้อมสู้ต่อ

(จากซ้ายไปขวา) พรหมศร วีระธรรมจารี, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ชายชาติ (ธัชพงษ์) แกดำ
(ภาพโดย แมวส้ม ประชาไท)

กรองข่าวแกงรายงานว่า เวลา 16.40 น. ที่หน้าเรือนจำธัญบุรี จ.ปทุมธานี พรหมศร, ภาณุพงศ์ และธัชพงษ์ เดินทางออกมาจากด้านในเรือนจำ พร้อมกล่าวปราศรัยยืนยันว่าพร้อมสู้ต่อแน่นอน

“ขอบคุณพี่น้องทุกคนนะครับที่เป็นกำลังใจให้เรา ตลอดระยะเวลาที่เราอยู่ข้างใน สิ่งที่เป็นกำลังใจให้เรามากที่สุดคือเราได้รู้ว่าพี่น้องข้างนอกยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ขอขอบคุณ กราบขอบคุณพี่น้องทุกคนที่ยังสู้อยู่ข้างนอก ทุกคนคือลมหายใจของเราที่อยู่ข้างใน พวกเรามีความหวัง พวกเราพร้อมที่จะสู้ แม้จะอยู่ข้างในต้องถูกขัง และเรารู้ว่าข้างนอกก็มีการสูญเสีย ต่อจากนี้ไปเราจะสู้ร่วมกัน ยังยืนยืน 3 ข้อเสนอ คือ 1. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกไป 2. เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นของประชาชน 3. สำคัญมาก เราจะละเลยไม่ได้ เราจะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ครับ นี่คือต้นตอของความขัดแย้ง นี่คือต้นตอที่ทำให้เราต้องถูกจับ นี่คือต้นตอของปัญหาทุกอย่าง แล้วมันไม่มีวินาทีไหนแล้วครับที่เราจะรวมพลังกันได้มากเท่านี้" ธัชพงษ์ กล่าว

ธังพงษ์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า "เราจะต้องไม่ให้เพื่อนเราที่ต่อสู้ถูกตำรวจใช้ความรุนแรง เรารับทราบดีครับพี่น้องเราที่อยู่ข้างนอกต้องถูกตำรวจขับรถชน ถูกตำรวจใช้ความรุนแรงตอบ ต่อจากนี้เป็นต้นไปถ้าตำรวจยังทำแบบนี้อยู่ เราต้องไม่ให้ตำรวจคนไหนใส่เครื่องแบบเดินบนท้องถนนอีกต่อไปครับ 'ถ้ามึงทำพวกกู กูก็จะเอาคืนพวกมึงเหมือนกัน' แล้วการที่พวกเราถูกจับในครั้งนี้คือการกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม และตำรวจก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ ต่อจากนี้ไปตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับเราจะต้องตระหนักให้ดี คุณตีเราหนึ่งคน ตำรวจก็จะไม่กล้าใส่เครื่องแบบบนท้องถนนแน่ เพราะคุณก็จะถูกประชาชนจับจ้องและลงโทษคุณเหมือนกัน"

นอกจากนี้ ธัชพงษ์ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่ตนติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยธัชพงษ์ระบุว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 'ทำผักชีโรยหน้า' ตอนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไปเยี่ยม

"เขาไปเยี่ยมผมกับเพนกวินที่เตียงผู้ป่วย การนอนบนเตียงผู้ป่วยหมายความว่าเราสองคนใกล้ตายแล้ว แต่ท่านรู้ไหมครับมีผู้ป่วยอีกหลายร้อยคนที่ต้องนอนกองกันในห้องเดียวกันที่มี 50 กว่าชีวิตเป็นโควิด นั่นคือโรงพยาบาลสนาม เขาเอาเราไปนอนกองที่เดียวกัน แล้วโรงพยาบาลราชทัณฑ์ปกปิดไม่ให้ กสม. เข้าไปตรวจสอบในโรงพยาบาลสนาม แล้ว กสม. ก็ไปพูดอีกแบบหนึ่งว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ดูแลเราเป็นอย่างดี สิ่งที่ระยำที่สุด วันที่เราถูกย้ายมาที่เรือนจำธัญบุรี โรงพยาบาลราชทัณฑ์ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์หรือผู้คุมเข้าไปลากตัวเพนกวินจากเตียงผู้ป่วยครับ หลังจากนั้นคนในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้มีการพูดคำหยาบคายและกิริยาที่จะเข้าประทุษร้ายเราสองคน และที่น่าอับอายมากที่สุดคือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปแถลงว่าไม่มีเหตุอะไรเกิดขึ้น" ธัชพงษ์ กล่าว พร้อมระบุว่าต่อจากนี้เราจะกดดันไปที่กรมราชทัณฑ์ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อกรณีใช้ความรุนแรงต่อพวกเราทั้งหมดในเรือนจำและโรงพยาบาลราชทัณฑ์

"อีกคนหนึ่งที่ยังไม่ได้ออก อยู่ในเรือนจำธัญบุรีคือเพนกวิน ยังมีเพื่อนของเราที่ยังอยู่ แล้วเพนกวินจะต้องถูกย้ายไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งยังมีอานนท์ นำภา มีไผ่ ดาวดิน มีเพนกวิน เราจะไม่ปล่อยให้เพื่อนเราอยู่ในเรือนจำอย่างโดดเดี่ยว สิ่งสำคัญที่จะทำให้เพื่อนเราข้างในมีกำลังใจคือ ข้างนอกพวกเราก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด ต่อไปนี้ไม่มีการประนีประนอมและยอมความกัน อีกคนคือณัฐชนน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม อยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต วันนี้ก็ได้รับการปล่อยตัวเหมือนกัน ขอบคุณพี่น้องบางกลอย ขอบคุณพี่น้องชาติพันธุ์ ขอบคุณพี่น้องเสื้อแดง ขอบคุณพี่น้องทุกคนที่ยังสู้ ขอบคุณพี่น้อง Free Youth ทะลุฟ้า ทะลุแก๊ซ ธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวครับ" ธังพงษ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ เวลา 14.50 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าตำรวจ สภ.ปากคลองรังสิต จะเข้าอายัดตัวธัชพงษ์ในคดีคาร์ม็อบรังสิต #CarmobRangsit จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยตำรวจเข้าแจ้งข้อหาต่อธัชพงษ์ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมาแล้ว ด้านทนายนรเศรษฐ์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่าหมายจับเดิมได้สิ้นผลไปแล้วตามกฎหมาย เนื่องจากมีการสอบปากคำแล้ว โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541 ซึ่งวินิจฉัยว่า "การที่พนักงานสอบสวนที่ทำเรื่องขออายัดตัวผู้ต้องหาได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วยแล้วนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการขออายัดตัวผู้ต้องหาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องถือว่าพนักงานสอบสวนได้จับผู้ต้องหาแล้ว หรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่ขณะนั้น ถึงแม้ผู้ต้องหาจะถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น และพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในภายหลังก็ตาม ดังนั้น เมื่อถือว่าผู้ต้องหาได้ถูกจับแล้ว หมายจับก็ย่อมสิ้นผลไปจะนำมาอ้างเพื่อควบคุมตัวอีกไม่ได้"

ศาลยกคำร้องไม่ให้ประกัน 'ทนายอานนท์' คดี #ม็อบ3สิงหา แฮร์รี พอตเตอร์ ภาค 2

วานนี้ (14 ก.ย. 2564) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ภายหลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ นำภา ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีตามมาตรา 112 จากการปราศรัยในงานครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยครั้งนี้เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งครั้งแรกนับตั้งแต่อานนท์ถูกคุมขังเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 โดยเมื่อเวลา 16.30 น. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ เห็นว่าคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชอบแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุเพิ่มเติมว่าคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวไม่ได้ลงชื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีเพียงลายเซ็นและตราประทับของศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง ประกอบกับการกระทำที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหายังคงมีลักษณะที่เป็นการขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่มิบังควร แม้ผู้ต้องหาเคยอ้างว่าการกระทำตามที่ถูกกล่าวหานั้น ผู้ต้องหามีสิทธิ์กระทำได้โดยชอบและเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายก็ตาม แต่การใช้สิทธิ์ใดๆ จะต้องไม่เกินล้ำขอบเขตของกฎหมายจนกลายเป็นว่าก่อให้เกิด หรืออาจจะก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวม

นอกจากนี้แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2564 ผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลอาญาในคดีที่มีลักษณะข้อหาเป็นอย่างเดียวกัน โดยผู้ต้องหาสมัครใจที่จะทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด กล่าวคือจะไม่กระทำการอันเป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีดังกล่าวผู้ต้องหามีที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบอาชีพทนายความเช่นเดียวกับผู้ต้องหาเป็นผู้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวของศาล แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ต้องหากลับไม่กระทำตามเงื่อนไขที่เป็นดั่งคำมั่นที่ให้ไว้ต่อศาล จนเป็นเหตุให้ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีดังกล่าว

อีกทั้งในสภาวะการณ์ที่บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) อยู่ในขณะนี้ ผู้ต้องหากลับกระทำการเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้นำให้มีการรวมกลุ่มของบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายความวุ่นวาย รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าว

เมื่อพิจารณาคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนแล้ว ยังปรากฏว่าผู้ต้องหายังคงมีความเคลื่อนไหวในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่มีการโพสต์ข้อความที่เป็นการยั่วยุและชักชวนให้มวลชนเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมในหลายแห่งหลายท้องที่ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง รวมไปถึงการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบอีกด้วย

นอกจากนั้นยังปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประกันอื่น และน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี กรณีสมควรรอฟังการสอบสวนในคดีก่อน คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง”

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าคำสั่งของศาลยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากอานนท์ยังไม่เคยถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร แต่อย่างใด แต่มีการเลื่อนนัดไต่สวนไปในวันที่ 3 พ.ย. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท