สุรพศ ทวีศักดิ์: ปรัชญากับปัญหาศีลธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาสำคัญหนึ่งที่ปรัชญา (philosophy) ทำให้เป็นบทสนทนาในชีวิตจริงและสังคม คือปัญหาทางศีลธรรม โดยเฉพาะปัญหาว่า เมื่อมนุษย์เผชิญกับสถานการณ์วิกฤต เขาควรตัดสินใจเลือก “ทางเลือก” ใดและแต่ละทางเลือกมีเหตุผลสนับสนุนอย่างไร เช่น ในบทสนทนาทางปรัชญาชื่อ “ไครโต” (Crito) เล่าถึงกรณีโสเครตีสเผชิญข้อเสนอของคณะลูกขุนแห่งเอเธนส์ที่ว่า เขาจะเลือกทางใดระหว่างยอมสารภาพผิดแลกกับการถูกเนรเทศเพื่อรักษาชีวิต กับการปฏิเสธข้อกล่าวหาแต่ต้องรับโทษประหารชีวิต

เหตุผลสนับสนุนทางเลือกแรก เห็นได้ชัดว่ามีข้อดีตรงที่การมีชีวิตรอด และมีโอกาสได้ดูแลเลี้ยงลูกให้เติบโต อีกทั้งเป็นทางเลือกที่สอดคล้องกับความปรารถนาของมวลมิตรผู้หวังดี เพราะพวกเขาเห็นว่าโสเครตีสควรเลือกทางเลือกที่จะมีโอกาสใช้ปัญญาของเขาให้เกิดประโยชน์กับมวลมิตรและสานุศิษย์ผู้ติดตาม แต่ต่อหน้าคณะลูกขุนนอกจากโสเครตีสจะปฏิเสธทางเลือกนี้แล้ว เขายังท้าทายเย้ยหยันทำนองว่าแทนที่ชาวเอเธนส์จะลงโทษต่อการกระทำที่ไร้ความผิดของเขา ควรจะขอบคุณเขาและจ่ายเงินค่าอาหารให้เขาฟรีตลอดชีพ เพื่อตอบแทนความดีที่เขาอุทิศตนทำประโยชน์แก่ชาวเอเธนส์มากกว่า นี่จึงเป็นเหตุให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิต

ระหว่างติดคุกรอวันประหาร โสเครตีสถูกเสนอทางเลือกนี้อีกครั้งจากมิตรสหายผู้มีเส้นสายจะช่วยเหลือให้เขาหนีออกจากคุกไปอยู่เมืองอื่น คราวนี้เหตุผลเรื่องความรับผิดชอบเลี้ยงดูลูก การเคารพความปรารถนาดีของมิตรสหายถูกนำมาชั่งน้ำหนักกับเหตุผลอื่นๆ เช่นว่าหากเขายอมรับการช่วยเหลือจากมิตรสหาย ผลที่ตามมามิตรสหายเหล่านั้นย่อมต้องรับโทษอยู่ดี และยังต้องถูกสังคมประณามเสื่อมเสียชื่อเสียง ไร้ที่ยืนในสังคม อีกอย่างชายชราวัย 70 ปี อย่างเขาจะสามารถใช้ชีวิตที่ยากลำบากในต่างแดนเลี้ยงดูลูกต่อไปได้อีกสักกี่ปี สู้ให้มิตรสหายอยู่รอดปลอดภัยและช่วยดูแลลูกแทนเขาไม่ดีกว่าหรือ

จากนั้น บทสนทนาก็นำไปสู่ประเด็นคุณค่าของชีวิตว่า การมีชีวิตอยู่เพื่อเกียรติยศชื่อเสียงและทรัพย์สินเงินทองแบบที่ชาวเอเธนส์ต่างปรารถนากันในเวลานั้นช่างเป็นชีวิตที่ไร้ค่า ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ยืนหยัดในคุณธรรมบางอย่าง โดยเฉพาะการรักษา “สัญญา” ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในฐานะ “พลเมือง” แห่งเอเธนส์ ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า เราจำเป็นต้องรักษาสัญญาด้วยการยอมรับโทษตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่รู้อย่างชัดแจ้งว่าคำตัดสินตามกฎหมายนั้น “อยุติธรรม” เช่นนั้นหรือ นี่ควรจะถือเป็น “สัญญา” ได้หรือไม่ โสเครตีสเริ่มเป็นพลเมืองด้วยสัญญาเช่นนี้กับใคร ตั้งแต่เมื่อใด ประชาชนชาวเอเธนส์เป็นคู่สัญญากับเขาผ่านกระบวนการทำสัญญากันอย่างไร เป็นต้น 

หรือพูดอีกอย่าง การรักษาสัญญาด้วยการยอมรับการลงโทษที่ “อยุติธรรม” เช่นนั้น สำคัญมากกว่าการมีชีวิตรอดและความรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกอย่างไร และสุดท้ายแล้วมันส่งผลให้ชาวเอเธนส์เกิดความตระหนักรู้พันธสัญญาในฐานะพลเมืองและเคารพกฎหมายกันมากขึ้นหรือไม่ ประเมินอย่างไร หรือว่าการยืนยันที่จะยอมตายเป็น “ความถูกต้องในตัวมันเอง” ตามอุดมคติของโสเครตีสเท่านั้น  

เรื่องราวของโสเครตีสกลายเป็นอมตะ กว่าสองพันปีก็ยังเป็นที่เล่าขาน บางทีมันก็ถูกทำให้สูงเด่นเป็นพิเศษ เพียงเพราะเขาเป็น “นักปรัชญา” เช่นนั้นหรือ ที่จริงแล้วไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น นักปรัชญาไม่ควรควรถูกเทิดทูนให้สูงส่งราวกับศาสดาทางศาสนา บทสนทนาเกี่ยวกับทางเลือกและความตายของโสเครตีสเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์

เพราะจริงๆ แล้วการตัดสินใจ “เลือก” ในสถานการณ์วิกฤตของคนธรรมดาทั่วไป ก็ล้วนมีประเด็นทางศีลธรรมหลายชุดเข้ามาเกี่ยข้อง หากหญิงสาวยากจนและด้อยการศึกษาคนหนึ่งจะตัดสินใจว่าเธอควรจะเลือกเป็นโสเภณีหรือไม่ คำถามที่เกิดขึ้นในหัวคงจะมีมากมาย เช่นว่าหากเลือกหรือไม่เลือกเป็นโสเภณีจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินนอกระบบที่พ่อแม่แบกรับได้อย่างไร จะช่วยส่งเสียให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือและมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร และชีวิตการเป็นโสเภณีของเธอเองต้องเสี่ยงกับอะไรบ้างเป็นต้น 

นักเรียนมัธยมจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง พวกเขาย่อมเผชิญปัญหาว่า ระหว่างการอุทิศตนต่อสู้ตามอุดมการณ์ทางการเมืองกับความรับผิดชอบต่อความรัก ความห่วงใย ความวิตกกังวล ความกลัวของพ่อแม่ อะไรสำคัญมากกว่า ควรจะเลือกทางใด หรือควรทำให้ทั้งสองเรื่องลงตัวอย่างไรเป็นต้น สำหรับครอบครัวที่ไม่เข้าใจกัน ความคิดทางการเมืองระหว่างลูกกับพ่อแม่ขัดแย้งกัน ไม่สามารถสื่อสารกันด้วยเหตุผล ปัญหาก็ยิ่งซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นเป็นทวีคูณ

แม้แต่ในครอบครัวที่พ่อแม่ลูกมีความคิดทางการเมืองตรงกัน เคารพความคิดอิสระของกันและกัน กระทั่งร่วมสู้ไปด้วยกัน แม้จะไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องอะไรถูกหรือผิด แต่ก็ย่อมเผชิญกับปัญหาคล้ายกับโสเครตีสว่า ระหว่างการให้น้ำหนักกับอิสรภาพและความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัวกับการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงคุก เสี่ยงกับการถูกทำร้ายด้วยวิธีนอกกฎหมาย อะไรสำคัญกว่า ซึ่งในแง่คำพูดหรือการอธิบายเหตุผล ย่อมยากที่จะบอกได้ว่าอะไรสำคัญกว่า แต่ในแง่ของ “การกระทำ” ที่เห็นได้จากการเข้า-ออกคุกหลายรอบของคนหลายคนบวกกับการต่อสู้ยาวนาน ย่อมชัดเจนว่าพวกเขาลำดับความสำคัญของสองเรื่องนั้นอย่างไร

คำถามสำคัญที่ตามมาคล้ายกับเรื่องเล่าของโสเครตีสก็คือ ชาวเธนส์ให้ความสำคัญกับการเสียสละตนเองเพื่ออุดมการณ์ของโสเครตีสอย่างไร และสังคมไทยปัจจุบันให้ความสำคัญกับการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของบรรดานักสู้ที่ยังอยู่ในคุกและคนอื่นๆ ที่ต้องสารพัดคดีอย่างไร คำถามเช่นนี้ เป็นคำถามต่อคุณธรรมของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

แต่อย่างไรก็ตาม คุณธรรมของพลเมืองไม่ได้มาจากทฤษฎีทางศีลธรรม หรือคำสอนที่สูงส่งทางศาสนา เมื่อพ่อของนักสู้ทางการเมืองตระโกนว่า “ปล่อยลูกกู” มันไม่ได้สะท้อนเพียงคำถามที่ว่าลูกกูทำผิดกฎหมายยังไงวะ แต่มันเป็นการตั้งคำถามว่าพวกมึงใช้กฎหมายกันยังไง ใช้อำนาจที่ชอบธรรมหรือป่าเถื่อน อำนาจที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของพลเมือง มันคืออำนาจระบบเผด็จการทรราชย์ มันคือการถามต่อเราทุกคนว่าเราทนอยู่กับอำนาจแบบนี้มายาวนานได้อย่างไร คุณธรรมของพลเมืองเกิดขึ้นได้ด้วยคำถามเหล่านี้ และเกิดจากความรู้สึกโกรธ เกลียดความอยุติธรรม และเกิดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมสังคมผู้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จนทำให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมาร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา

ทว่าโชคร้ายที่ในบ้านเราเมื่อพูดถึงคุณธรรมความดี เราไม่คิดว่าเรื่องพวกนี้เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ในขณะที่ตะวันตกพูดถึงคุณธรรมของพลเมืองมาแต่ยุคกรีก ทำไมเป็นเช่นนั้น ก็เพราะยุคกรีกให้กำเนิดแนวคิดและระบบการเมืองแบบทางโลก ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ไม่ใช่ระบบการเมืองที่ถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า การบัญญัติกฎหมายไม่เกี่ยวกับอำนาจของเทพ ศีลธรรมก็มาจากการใช้เหตุผลของมนุษย์ ดังนั้น การเมือง, ศีลธรรม และกฎหมายจึงต้องผ่านการใช้เหตุผลถกเถียงโต้แย้งเพื่อหาทางเลือกที่สมเหตุสมผล ยิ่งในยุคสมัยใหม่ที่มีการยืนยันคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และประชาธิปไตย คุณธรรม, ศีลธรรมยิ่งเป็นอิสระจากศาสนามากขึ้น

ผิดกับบ้านเรา เมื่อนึกถึงคุณธรรม, ศีลธรรมก็นึกถึงศาสนา แต่ความดี ความเป็นคนดีแบบศาสนาก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความเป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีสำนึกเคารพและปกป้องอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองและทุกคน ยิ่งกว่านั้นการอ้างธรรมะ ศีลธรรม ความเป็นคนดีแบบศาสนา มักสวนทางกับสำนึกปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ผลก็คือ เวลาเกิดปัญหาทางศาสนาอันเป็นสถาบันทางศีลธรรม หรือเป็นสถาบันที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชน ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ศาสนจักรของรัฐใช้อำนาจละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่ระบบเผด็จการทรราชย์ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็เข้ากันได้ดีกับสถาบันศาสนาและหลักคำสอนทางศาสนา ส่วนประชาชนผู้มีคุณธรรมของพลเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ถูกมองอย่างแปลกแยกจากความเป็นคนดีและศีลธรรมอันดีของสังคม  

เมื่อมองจากมุมมองทางปรัชญา เราจำเป็นต้องมีอิสรภาพจากศาสนา จึงจะสามารถเริ่มบทสนทนาถกเถียงทางศีลธรรมจากหลากหลายมุมมองมากขึ้น และเข้าใจได้ว่า ในความเป็นไปที่แตกต่างหลากหลายในชีวิตปัจเจกบุคคลและสังคมนั้น ย่อมไม่อาจตัดสินถูกผิดบนเหตุผลแบบศาสนาหรือคุณค่าทางศีลธรรมชุดใดชุดหนึ่งเพียงชุดเดียว ในเชิงศีลธรรมจึงไม่มีใครสูงส่งกว่าใคร ไม่ใช่ชนชั้นปกครองผู้ทรงธรรมหรือนักบวชคือกลุ่มคนผู้บริสุทธิ์สูงส่งกว่าโสเภณีหรือคนธรรมดาทั่วๆ ไป 

เผลอๆ โสเภณีอาจจะ “สีเทา” น้อยกว่านักบวชก็เป็นได้ เมื่อเหตุผลของคนที่เลือกเป็นโสเภณีมีพื้นที่ในการ “ส่งเสียง” ใกล้เคียงกับพื้นที่ส่งเสียงของพวกนักบวช
 

 

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=4375792109163808&set=a.942884362454617

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท