ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ปัญหาหนักขึ้นภายใต้ยุค คสช.

ทนายสิทธิเผยสถิติคดีหลังรัฐประหารถึงปัจจุบัน พบ คสช. ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการคนเห็นต่าง ด้านนักวิชาการชี้ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมมีหลายมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม/วัฒนธรรม และการเมือง ยกกรณีวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส เป็นตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่มี 3 เรื่องซ้อนทับกัน

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2562 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำในมิติกระบวนการยุติธรรม’ ขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“ทนายความและนักนิติศาสตร์ เวลาพูดถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมักพูดถึงการเลือกปฏิบัติ เรื่องสองมาตรฐาน สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่จะไม่คุ้นเคยกับคำว่าความเหลื่อมล้ำ” เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของศูนย์ทนายฯ ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2557 หรือหลังการรัฐประหาร 2 วัน กล่าว

ความเหลื่อมล้ำหลายมิติ

เยาวลักษณ์อธิบายต่อว่าความเหลื่อมล้ำคือความไม่เท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม โดยเธอแบ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมปกติกับกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ โดยในส่วนแรกเธอกล่าวว่า คำว่าคุกมีไว้ขังคนจน มันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างชัดเจน เป็นความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้มีโอกาสกับผู้ขาดโอกาส เพราะสถิติในเรือนจำคนที่ติดคุกมากที่สุดคือคนจน คนที่ไม่มีเงินประกันตัว ซึ่งต้องติดคุกจนกว่าศาลจะตัดสิน และเมื่อศาลตัดสินว่าต้องจ่ายค่าปรับ หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องติดคุกแทนวันละ 500 บาท ความเหลื่อมล้ำนี้ยังรวมถึงชนชั้นกลางที่ไม่มีความรู้ในเรื่องสิทธิของตน ไม่มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

“ค่าจ้างทนายความ ถ้าไม่มีเงินจ้างทนายความที่มีประสิทธิภาพอาจส่งผลให้คดีเสียเปรียบในการต่อสู้ ยกตัวอย่างคดีเปรมชัย กรรณสูตรที่มีทีมทนายแพงมากในการต่อสู้คดี แม้กฎหมายจะมีทนายขอแรง ก็มักเจอผู้ต้องหาเมื่อศาลนัดเท่านั้น ไม่ได้พบจำเลยเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน”

นอกจากค่าทนายความหลักแสนแล้ว การพิสูจน์ต่างๆ ยังเป็นหน้าที่ของจำเลย ทำให้คนจนไม่สามารถหาหลักฐานเพื่อสู้คดีได้ แม้รัฐจะพยายามทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำน้อยลง เช่น ก่อตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทุกกรณี

“คดีหนึ่งที่ทำและยังจำได้จนถึงปัจจุบัน คือพ่อข่มขืนลูก แม่รับรู้ แต่แม่ไม่แจ้งความ เพราะพ่อเป็นผู้คุมเศรษฐกิจของบ้านหลังนั้น เขารู้สึกว่าถ้าเอาพ่อติดคุกแล้วจะพึ่งพาใคร ความเหลื่อมล้ำจึงมีมิติเชิงอำนาจและเพศสภาพอยู่ด้วย"

ผอ.ศูนย์ทนายฯ ยกตัวอย่างอีกคดีด้วยว่า คือคดีปางแดง คนชาติพันธุ์ชาวบ้านปางแดง 46 คนที่เชียงใหม่ ในกระบวนการยุติธรรมปกติ การจะจับกุมต้องทำผิดซึ่งหน้าหรือมีหมายจับจากศาล แต่คดีนี้ใช้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปบอกชาวบ้านว่าจะพาไปกินข้าวที่โรงพัก ความไม่รู้ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ด้อยโอกาส พอไปโรงพักแล้วก็แจ้งความดำเนินคดี กลุ่มชาติพันธุ์พอถูกจับก็ไม่มีเงินประกันตัว ภายหลังมีองค์กรไปให้ความช่วยเหลือ มีการชุมนุมหน้าศาลากลางและศาล ทำให้มีการเจรจาและประกันตัวชาวบ้านทั้งหมดได้

คสช.ใช้กฎหมายจัดการคนเห็นต่าง

ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ เยาวลักษณ์ กล่าวว่าเมื่อเกิดรัฐประหารก็มีคำสั่งเรียกนักวิชาการ นักข่าว นักกิจกรรมเข้ารายงานตัว ซึ่งคดีที่ศูนย์ทนายฯ ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ต้นจนถึง 1 มีนาคม 2562 พบว่ามี 176 คดี มีผู้ต้องหาที่ทางศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือรวม 356 คน แบ่งเป็นชาย 247 คน หญิง 108 คน และเพศทางเลือก 1 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนคดีสูงมาก เช่น คดีคนอยากเลือกตั้ง ประชาชนบางคนถูกฟ้องถึง 4 คดี

ในจำนวน 176 คดีนี้ ขึ้นศาลพลเรือน 117 คดี ขึ้นศาลทหาร 59 คดี โดยอยู่ระหว่างสอบสวน 26 คดี อยู่ระหว่างพิจารณา 45 คดี และอยู่ระหว่างอุทธรณ์/ฎีกา 16 คดี มีคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 89 คดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีมาตรา 112 ที่จำเลยไม่สู้คดีและยอมรับสารภาพ

เยาวลักษณ์ อธิบายต่อว่า ข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกฟ้องแบ่งเป็นข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 30 คดี มาตรา 112 57 คดี มาตรา 116 15 คดี คดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ 21 คดี คดีที่ทางศูนย์ทนายฯ เป็นฝ่ายโจทก์หรือผู้ร้อง 16 คดี และคดีอื่นๆ (พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558) 39 คดี เธอกล่าวว่า หลังรัฐประหารมีการสร้างกลไกให้ทหารเข้ามาเป็นหนึ่งในพนักงานสอบสวนในชั้นตำรวจ มีคุกทหารที่เราเรียกว่า ม.ทบ.11 แล้วก็นำพลเรือนไปควบคุมตัวที่นั่น เราฟ้องศาลปกครองให้ยกเลิกคุกแห่งนี้ ปรากฏว่าศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งเรียกพิจารณา คดีหายไปเลย

ส่วนคดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่ศูนย์ทนายฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือนั้น พบว่าผู้ต้องหาและจำเลยจะถูกซ้อมทรมานในช่วงการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ มีหลายคดีที่ศาลยกฟ้องเพราะเชื่อว่ามีการทำร้ายร่างกายจำเลยจริง ส่วนคดีอื่นๆ เทรนด์ช่วงหลังจะเป็นคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับ พ.ร.บ.ชุมนุม

เยาวลักษณ์ กล่าวว่า คดีเหล่านี้ยังคงอยู่เพราะคำสั่ง คสช. ถือว่าเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้จะยกเลิกได้เมื่อ คสช. เป็นผู้ยกเลิกหรือรอรัฐสภาใหม่ให้เป็นผู้ยกเลิก ทำให้ประชาชนต้องอยู่กับกฎหมายพิเศษเหล่านี้ต่อไป ส่วนที่มีการยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 นั้นก็ยกเลิกเฉพาะกรณีชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน แต่ยังคงให้อำนาจทหารนำตัวบุคคลเข้าไปควบคุมตัวในค่ายทหารได้ 7 วัน

“ที่โชว์สถิติทำให้เห็นว่าหลังรัฐประหาร คสช. ใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุมประเทศ จัดการกับคนที่เห็นต่าง อันนี้ได้ยินมาจากอีกคนหนึ่ง เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่ทหารบอกว่าใครเห็นต่าง เขามองเราเป็นเป้าหมาย แล้วก็แจกครุฑ ก็คือหมายเรียก แล้วก็หมายศาล กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ เห็นชัดว่าไม่เป็นธรรม มีมาตรฐานที่ไม่คงเส้นคงวา มีการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน เราอยู่ในสภาพนี้ บางเรื่องไม่ควรต้องเป็นคดีแต่ก็เป็นคดี” ผอ.ศูนย์ทนายฯ กล่าว

ปีศาจในรายละเอียด

ขณะที่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในโลกสมัยใหม่ มีมโนทัศน์พื้นฐานชุดหนึ่งดำรงอยู่ ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ปฏิเสธ เช่น การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาล เวลาพิสูจน์ต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน ต่อสู้กันอย่างเท่าเทียม องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเป็นองค์กรมืออาชีพ ทำงานตามหลักวิชา มีการตรวจสอบควบคุม มีอิสระ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปีศาจอยู่ในรายละเอียดหรือการปฏิบัติการของรายละเอียด เขาขยายความว่า

“แต่เรากลับเจอเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ไปกับมโนทัศน์พื้นฐานนั้น เช่น แนวคิดสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างผู้ต้องหาคดี 112 บริสุทธิ์อยู่ แต่ไม่ได้รับการประกันตัว แล้วจะเอายังไง หรือองค์กรวิชาชีพที่ว่าทำตามหลักวิชา แต่ผมไม่ค่อยเชื่อ เพราะในช่วงสองสามปีหลัง ผมเป็นพยานชั้นศาลหลายคดี พบว่าคดีชาวบ้านที่สงขลาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผมไปเป็นพยานให้ชาวบ้าน 11 คนที่ถูกฟ้อง มีทนาย 5 คน ส่วนฝั่งอัยการว่างเปล่า ไม่เห็นอัยการ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอแบบนี้ แปลว่าสิ่งที่ตำรวจ อัยการทำคือมีหน้าที่ฟ้องชาวบ้าน อีกฝ่ายจะทำอะไรไม่สนใจ แพ้ชนะไม่เกี่ยวแล้ว นี่คือองค์กรมืออาชีพหรือ จะเห็นว่าผลในทางปฏิบัติอาจนำไปสู่สิ่งที่ขัดกับมโนทัศน์พื้นฐาน"

“ถ้าเราสังเกตหลังปี 2557 เป็นต้นมา มีมโนทัศน์ที่ถูกเสนอขึ้นมาจากทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ คือคำว่าทำตามกฎหมาย แต่สิ่งที่เขาทำคือปฏิบัติการในรายละเอียด กฎหมายของใคร ใครบังคับใช้ ใครตัดสิน เรียกว่าเป็นวาทกรรม ‘เราทำตามกฎหมาย’ แต่มันเป็นกฎหมายของใคร ลื้อออกเองหรือเปล่า ใครบังคับใช้ คนของลื้อ ใครตัดสิน คนที่เกี่ยวข้องกับลื้อเป็นคนตัดสิน นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติการในรายละเอียดที่มีปัญหา”

วิสามัญมรณะและการพ้นผิดลอยนวล

สมชายยกตัวอย่างที่เห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่สูงมาก เพราะเวลาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่มิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว คือคดีของชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ซึ่งพลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เคยให้สัมภาษณ์หลังจากดูกล้องซีซีทีวีของทหารว่า “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว” แต่ปรากฏว่าเมื่อทนายความของชัยภูมิขอดูกล้องซีซีทีวี จดหมายจากสำนักงานเลขานุการกองทัพบกกลับตอบว่าไม่มี

“ผมคิดว่าสังคมไทยมีการตายที่เรียกว่า วิสามัญมรณะ คือการตายที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องมีเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าโอกาสที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก เพราะมันมี 3 ประเด็นที่ซ้อนทับกัน วิสามัญฆาตกรรม (คือการตายขณะอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ) ในสังคมไทยเป็นเรื่องยากมากที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ แต่กรณีชัยภูมิยากขึ้นไปอีกเพราะซ้อนด้วยเรื่องชาติพันธุ์ เมื่อไหร่ที่มีข่าวกลุ่มชาติพันธ์ุถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมือซ้ายกำยาบ้า มือขวากำอาวุธ ที่ทำให้ปัญหาแรงขึ้นไปอีกคือมาเกิดภายใต้ยุค คสช. ยิ่งเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น"

“กรณีชัยภูมิมีทนายสิทธิเข้าไปช่วย แต่ปัญหาเป็นเรื่องอื่น เช่น ต้นทุนความน่าเชื่อถือในสังคม ชัยภูมิ ป่าแส ความน่าเชื่อถือของเขาต่ำ เพราะเป็นชาวเขา พอผนวกสถานการณ์การเมืองยิ่งไปกันใหญ่ เวลาคิดถึงความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ผมคิดว่ามันมีหลายอย่างแอบซ่อนอยู่”

ความเหลื่อมล้ำที่มองไม่เห็น

สมชายเห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่มองไม่เห็นอยู่ฉากหลังคือปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม โดยแต่ละปัจจัยส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มในรูปแบบที่แตกต่างกัน

“ปัจจัยทางการเมืองผมคิดว่าปัจจุบันมีความสำคัญมากโดยเฉพาะคนที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับอำนาจรัฐ การถือป้ายว่าอยากเลือกตั้งโดน 116 ข้อหาคือยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง ส่วนคนยึดทำเนียบโดนข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ แต่ไม่โดน 116 ปัจจัยทางการเมืองมีผลมากในการตัดสินว่าจะดำเนินคดีกับใคร ในข้อหาอะไร ผมคิดว่าเวลาพูดถึงความเหลื่อมล้ำ มันมีหลายมิติที่ต้องถูกคิดถึงมากขึ้น” สมชาย กล่าว

แล้วจะเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมให้เห็นชัดขึ้นได้อย่างไร สมชายกล่าวว่าสถาบันการศึกษาต้องมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้เรียน การใช้ศาสตร์แบบข้ามสาขาเพื่อวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ประการต่อมาคือต้องทำให้ตำรวจ อัยการ ศาล มีความเป็นอิสระ ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และสามารถตรวจสอบได้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอัยการและศาล ประการสุดท้าย ต้องทลายข้อจำกัดด้านการเมืองโดยทำให้สังคมไทยเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยเพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำอันเป็นผลจากการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท