Skip to main content
sharethis

โฆษกกระทรวงกลาโหมเรียกร้องเว็บไซต์อินเวสติ้ง เปิดเผยแหล่งข้อมูลพาดพิง 'ประวิตร' ติดท็อปเศรษฐีเอเชีย พร้อมวอนสังคมจับตาการเมืองแอบแฝง ขณะที่ 'ประวิตร' กลับปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีนี้

23 เม.ย.2562 จากกรณีข่าวเว็บไซต์ news.education.investing.com รวบรวมบุคคลร่ำรวยระดับเศรษฐีของทวีปเอเชีย ซึ่งจัดไว้ทั้งหมด 45 คน โดยที่รายชื่อ 1 ในนั้นที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของประเทศไทยอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมี เฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อกระทิงแดง, ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ติดด้วยนั้น

วันนี้ ไทยโพสต์และมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีนี้

ขณะที่ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เว็บไซต์อินเวสติ้ง ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยนำชื่อของ พล.อ.ประวิตรเข้าไปเชื่อมโยงกับรายชื่อบุคคลร่ำรวยระดับเศรษฐีของทวีปเอเชีย จำนวน 45 คน ซึ่งขาดข้อมูลอ้างอิงประกอบ พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้เว็บไซด์ดังกล่าวและผู้รับผิดชอบ เปิดเผยข้อมูลและที่มาของแหล่งข้อมูลทรัพย์สินของบุคคลต่างๆที่ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อให้สังคมไทยหายสงสัยว่า การกระทำดังกล่าว มิได้มีนัยยะ หรือเจตนาอื่นใด ที่เชื่อมโยงกับการรับประโยชน์ เพื่อการขยายผลใช้ประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง

พล.ท.คงชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่า สังคมไทยเคารพและเชื่อมั่นว่า สื่อมวลชนหลักของไทย มีจรรยาบรรณวิชาชีพและความรับผิดชอบเพียงพอในการใช้ดุลยพินิจ พิจารณาถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับจากทั้งภายในและนอกประเทศ โดยนำมากลั่นกรองอย่างรอบคอบก่อนเผยแพร่นำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องให้กับประชาชน เพื่อดำรงชื่อเสียงและสั่งสมสถานะความน่าเชื่อถือของสื่อหลักในสังคม

พร้อมกันนี้ ขอเตือนกลุ่มที่พยายามนำเสนอข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือนและเชื่อมโยงข้อมูล หยุดการกระทำที่ผิดกฎหมายและสร้างความสับสนปั่นป่วนในสังคม พร้อมทั้ง ขอให้สังคมร่วมกันตระหนัก เรียนรู้และทำความเข้าใจกับปัญหาข่าวปลอม หรือ Fake News ไปด้วยกัน โดยใช้ดุลยพินิจในการรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ ร่วมกันไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนส่งต่อ เพื่อมิให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มบิดเบือนที่หวังประโยชน์ หรือ อาจตกเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง จากการส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ที่อาจไม่ตั้งใจหรือขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

ขณะที่ วานนี้ (22 เม.ย.62) อมรินทร์ ทีวี  รายงานว่า ชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ข่าวนี้เป็นความจริงหรือไม่ ขอให้รัฐบาลหรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่หรือเกี่ยวข้อง เร่งทำการตรวจสอบ เพราะ พล.อ. ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. หากไม่เป็นความจริงจะได้ชี้แจงให้สังคมทราบ แต่หากเป็นความจริง ย่อมเป็นความเสียหายของรัฐบาลและประชาชน เพราะทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจได้มาโดยไม่สามารถชี้แจงที่มาได้

ชุมสาย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีที่สังคมสงสัยถึงการโยกย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต ผบช.สตม. คนสนิท พล.อ.ประวิตร โดยไม่มีการชี้แจงสาเหตุ จึงน่าสงสัยว่าอาจจะมีความเกี่ยวโยงกับกระแสข่าวความร่ำรวยขึ้นของ พล.อ. ประวิตร หรือไม่ 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไท มีข้อสังเกตว่า เว็บไซต์ต้นทางใช้โดเมนเนม (ชื่อเว็บไซต์) ต่างจากเว็บไซต์ www.investing.com โดยเว็บไซต์ต้นทางใช้ชื่อโดเมนเนมว่า education.news.investing.com แต่ลิงค์ในตอนท้ายของเว็บไซต์จะนำกลับมาสู่เว็บ www.investing.com ทว่า จากหน้าเว็บ www.investing.com ไม่สามารถเข้าถึงต้นทางของเว็บไซต์ที่ตีพิมพ์บทความได้ นอกจากนั้น เมื่อค้นหาบทความดังกล่าวบน www.investing.com ก็ไม่พบบทความดังกล่าวบนแพลตฟอร์ม

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net