Skip to main content
sharethis

รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศ จะส่งขยะคืนให้กับประเทศต้นทาง หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยต้องแบกรับปัญหาขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นหลังจากที่จีนผู้เคยเป็นรายใหญ่ในการนำเข้าและจัดการขยะสั่งยกเลิกนำเข้าขยะในช่วงต้นปี 2561 ทำให้บรรษัทตะวันตกเริ่มส่งมาที่ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกำกับดูแลเรื่องขยะหละหลวมกว่า

ที่มา:pixabay

วันที่ 28 พ.ค. 2562 สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่าในช่วงปีที่แล้วมีขยะจากที่ต่างๆ ของโลกถูกส่งออกไปยังแถบชายฝั่งของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยะเหล่านี้สร้างปัญหาหมักหมมจนกลายเป็นภูเขามลพิษในมาเลเซีย ส่วนในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามก็เริ่มมีปัญหาขยะเหล่านี้สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามท่าเรือต่างๆ แต่กลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เริ่มโต้ตอบกลับการ โดยบอกว่าจะส่งขยะกลับไปยังประเทศต้นทาง

หนึ่งในคู่ขัดแย้งนี้คือฟิลิปปินส์กับแคนาดา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดี รอดริโก ดูเตอร์เต ขู่ว่าจะตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับแคนาดาถ้าหากรัฐบาลไม่ยอมนำขยะ 1,500 ตันที่เคยส่งออกมายังฟิลิปปินส์ในช่วงปี 2556-2557 กลับประเทศตัวเอง โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ซัลวาดอร์ พาเนโล กล่าวว่า "ฟิลิปปินส์ในฐานะที่เป็นประเทศมีอธิปไตยของตัวเองจะต้องไม่ถูกปฏิบัติจากต่างชาติเสมือนเป็นขยะ"

ไม่เพียงแค่ฟิลิปปินส์เท่านั้น ตั้งแต่ปีที่แล้วประเทศไทย มาเลเซีย และเวียดนามก็เริ่มออกกฎไม่ให้มีการนำขยะมีพิษจากต่างประเทศเข้าเทียบท่าในประเทศของพวกเขา

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 23 เม.ย. รัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยว่ามีการนำเข้าขยะอย่างผิดกฎหมายจากประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และเยอรมนี โดยหลอกว่าเป็นสินค้านำเข้าอื่นๆ นั่นทำให้โยบียินรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียประกาศว่าพวกเขาจะไม่ทนอีกต่อไป "มาเลเซียไม่ใช้ที่ทิ้งขยะของโลก พวกเราจะส่ง (ขยะ) กลับไปประเทศที่มาของมัน" และโยบียินก็พูดจริงทำจริงเมื่อมีการส่งขยะผิดกฎหมายใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้กลับไปให้กับสเปนเมื่อวันที่ 28 พ.ค. โดยที่โยบีบินประกาศอีกว่าเธอจะส่งขยะกลับมากกว่านี้

มีคนมองว่าวิธีการส่งขยะกลับเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้ชาติตะวันตกหันมาเผชิญหน้ากับปัญหาขยะของเสียของตัวเองแทนที่จะผลักภาระไปให้กับประเทศกำลังพัฒนา มาเกสวารี สังการาลินกัม เจ้าหน้าที่นักวิจัยของสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนังและองค์กรสิ่งแวดล้อมเฟรนด์ออฟดิเอิร์ธมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียทำถูกต้องในเรื่องนี้เพราะเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าประเทศของพวกเขาไม่ใช่ที่ทิ้งขยะ สังการาลินกัมกล่าวอีกว่าขยะพลาสติกจำนวนมากที่เข้ามาในมาเลเซียเป็นขยะที่เป็นพิษ ปนเปื้อนและเกรดต่ำ ซึ่งไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มีแต่จะต้องถมดินเท่านั้น

พลาสติกในโลกนี้มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่มีการนำไปรีไซเคิล ทำให้การกำจัดด้วยการถมดินหรือเผาอย่างผิดกฎหมายก็กลายเป็นภาระสำหรับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดมลภาวะเป็นพิษ มีนักกิจกรรมในอินโดนีเซียสืบพบเมื่อปีที่แล้วว่า มีการใช้ขยะนำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานเต้าหู้ในประเทศ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มเผชิญปัญหาเหล่านี้นับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วหลังจากที่จีนประกาศยกเลิกการรับขยะพลาสติกและระงับการทำรีไซเคิลให้กับทั่วโลกเพราะห่วงว่าจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศตัวเอง แต่การสั่งระงับโดยทันทีนั้นทำให้เกิดปัญหาตามมาเพราะเดิมทีจีนเป็นผู้จัดการกับขยะส่งออกครึ่งหนึ่งของโลกไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก กระดาษหรือเหล็ก รวมถึงขยะจากอังกฤษจำนวนมหาศาลในระดับที่เทียบเท่ากับสระน้ำโอลิมปิก 10,000 สระ พอจีนสั่งแบนอย่างกะทันหันก็ทำให้บรรษัทเอกชนหลายแห่งวุ่นวายกับการหาประเทศใหม่ในการรับภาระขยะจากพวกเขา ทำให้ขยะถูกส่งต่อให้กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกำกับดูแลในเรื่องนี้หละหลวมกว่า

‘กรีนพีซ’ เผยสหรัฐฯ ส่งออกขยะพลาสติกมาเอเชียอาคเนย์แทนหลังจีนไม่เอา

ไทยและอาเซียนแบกภาระรีไซเคิลขยะพลาสติกจากอังกฤษ หลังจีนสั่งแบนการนำเข้า

มีการสำรวจจากกรีนพีซพบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 มาเลเซียนำเข้าขยะจากประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ เยอรมนี สเปน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 168,000 ตัน ในปี 2559 เป็น 456,000 ตัน จากรายงานของสหพันธ์เพื่อทางเลือกกำจัดขยะแบบอื่นนอกจากการเผา (Global Alliance for Incinerator Alternatives หรือ GAIA) ระบุว่าการเข้ามาของขยะเป็นพิษเหล่านี้ทำให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ พืชผลล้มตาย และทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ

ปัญหาเหล่านี้ทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนและการกำจัดของเสียอันตรายในเรื่องของการห้ามไม่ให้ส่งพลาสติกเป็นพิษหรือรีไซเคิลไม่ได้ไปยังประเทศกำลังพัฒนาโดยไม่มีการตกลงยินยอม แต่บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมนี้จะมีผลในปี 2563 อย่างไรก็ดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีบางประเทศที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้ ส่วนประเทศไทยมีการลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้แล้ว

แม้รัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศพยายามควบคุมปัญหานี้ แต่ก็ยังคงมีผู้ส่งออกขยะเหล่านี้ให้พวกเขา เช่นในอินโดนีเซียมีขยะอันตรายจากต่างชาติจำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ท่าเรือของเกาะรีเยามาเป็นเวลา 5 เดือน ในสัปดาห์ที่แล้วก็ยังคงมีขยะที่ผ่านกระบวนการป่นเป็นเศษจากมาแล้วออสเตรเลียส่งให้กับฟิลิปปินส์โดยระบุป้ายว่าเป็น "เชื้อเพลิง" เพื่อทำให้ผ่านการตรวจสอบจากศุลกากรไปได้ โดยที่ศุลกากรฟิลิปปินส์เปิดเผยว่าพวกเขาจะส่งขยะเหล่านี้กลับไป

โบ บากองกีส์ นักกิจกรรมเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกของ GAIA ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่าการส่งคืนขยะเช่นนี้ทำให้ชาติตะวันตกกัดฟันรับขยะคืน "อย่างไม่เต็มใจ" บากองกีส์บอกว่าประเทศตะวันตกควรรับผิดชอบขยะของพวกเขาเอง และสำหรับพวกเขาแล้วความไม่เป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมคือการที่ชาติที่ยากจนกว่าต้องแบกรับขยะจากประเทศร่ำรวยกว่าเพียงเพราะประเทศร่ำรวยเหล่านี้ไม่อยากจัดการกับมัน

เรียบเรียงจาก

Treated like trash: south-east Asia vows to return mountains of rubbish from west, The Guardian, May 28, 2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Basel_Convention

http://www.basel.int/Countries/StatusofRatifications/PartiesSignatories/tabid/4499/Default.aspx

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net