Skip to main content
sharethis
  • ประเมินว่าแม่น้ำ 1,350 สายทั่วโลก ได้สร้างขยะพลาสติกประมาณ 0.47-2.75 ล้านตันไหลลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี (ซึ่งยังไม่ใช่ปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทร) โดยส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำในเอเชีย
  • 'แม่น้ำโขง' แม่น้ำสำคัญอีกหนึ่งสาย ประมาณการกันว่าประชากรที่อยู่อาศัยในเขตลุ่มน้ำโขงมากกว่า 65 ล้านคน ก็กำลังเผชิญกับปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ และการปนเปื้อนของ ‘ไมโครพลาสติก’
  • ส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมและการบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นมีผลต่อปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากที่สุด แม้จะพบขยะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์จากจีน แต่ยากที่จะบอกว่าไหลมาจากประเทศจีน เนื่องจากสินค้าจีนเป็นที่นิยมทั้งในลาวและพม่า นอกจากนี้ขยะที่ที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าก็มีมากด้วยเช่นกัน
  • ส่วน ‘ไมโครพลาสติก’ มีลักษณะไหลผ่านข้ามแดนไปจนถึงปลายสุดของแม่น้ำสู่มหาสมุทรอย่างชัดเจน หลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว

รายงานพิเศษจาก The Glocal-ท้องถิ่นเคลื่อนโลก เผยให้เห็นปัญหาขยะพลาสติกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทั้งนี้กิจกรรมและการบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นมีผลต่อปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากที่สุด แม้จะพบขยะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์จากจีน แต่ยากที่จะบอกว่าไหลมาจากประเทศจีน เนื่องจากสินค้าจีนเป็นที่นิยมทั้งในลาวและพม่า นอกจากนี้ขยะที่ที่เป็นบรรจุภัณฑ์ของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าก็มีมากด้วยเช่นกัน และอีกเรื่องใหญ่หนึ่งนั่นคือ ‘ไมโครพลาสติก’ ซึ่งเป็นปัญหามลพิษข้ามแดนที่ไปจนถึงปลายสุดของแม่น้ำสู่มหาสมุทรอย่างชัดเจน และหลายประเทศเริ่มตระหนักถึงการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารแล้ว.

 

ในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมลภาวะทางทะเล ภาพจำของใครหลายๆ คนที่เห็นประเทศมหาอำนาจอย่างจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมหาศาล และมี ‘พลาสติก’ เป็นส่วนประกอบอยู่ในแทบจะทุกๆ สินค้า ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศจีนอาจเป็นตัวเร่งของปัญหาขยะพลาสติกที่ในมหาสมุทรที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ 

ประกอบกับแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่เป็นเส้นทางลงสู่มหาสมุทรนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่พาดผ่านพื้นที่ของประเทศจีน ทำให้อดคิดว่าไม่ได้ว่าขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยออกมาจากต้นทางในจีน อาจมีปริมาณที่มากจนทำให้เกิดปัญหาขยะในทะเล ท่ามกลางข้อกังขานี้ รายงานเชิงลึกชิ้นนี้อาจช่วยให้คำตอบดังกล่าวกระจ่างขึ้น พร้อมกับสำรวจแง่มมุมต่างๆ ที่อาจยังไม่ถูกอธิบายมากนักเมื่อพูดถึงปัญหาของขยะ ผ่านกรณีศึกษาขยะในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักยาวกว่า 4  พันกิโลเมตร จากต้นทางในจีน และไหลผ่าน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

‘แม่น้ำ’ แหล่งกำเนิดสำคัญของขยะพลาสติกในมหาสมุทร

ปัจจุบัน ‘ขยะพลาสติก’ กำลังคุกคามธรรมชาติอย่างหนัก สร้างมลพิษและก่อให้เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะตามแหล่งน้ำ ตั้งแต่แม่น้ำไปจนถึงมหาสมุทร ซึ่งก่อนที่ขยะเหล่านี้จะเดินทางไปยังทะเล และลอยค้างอยู่ในมหาสมุทร ‘แม่น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ลำเลียงขยะในรูปแบบต่างๆ ไปยังพื้นที่ปลายทาง

ในปี 2560 งานวิจัยเรื่อง 'Export of Plastic Debris by Rivers into the Sea' โดย Christian Schmidt และคณะ จากศูนย์วิจัย Helmholtz Centre for Environmental Research ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Science & Technology เมื่อเดือนพฤศจิกายน ชี้ให้เห็นว่าในแต่ละปีแม่น้ำทั่วโลกได้สร้างขยะพลาสติกราว 0.47-2.75 ล้านเมตริกตัน ก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทร (จำนวนดังกล่าวไม่ใช่จำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทร)

งานวิจัยดังกล่าวได้วิเคราะห์ข้อมูลความเข้มข้นของขยะพลาสติกจากแม่น้ำ 1,350 สายทั่วโลก โดยอ้างอิงจากการศึกษาก่อนหน้านี้ซึ่งมีแม่น้ำทุกขนาดจากลำน้ำขนาดเล็กไปจนถึงแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงสู่ทะเลทั้งหมด ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกต่างๆ นั้นรวมถึงขวด ถุง และเส้นใยขนาดเล็ก 

ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยต่างๆ ทั้งการปล่อยน้ำของแม่น้ำเพื่อคำนวณน้ำหนักรวมของพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านี้ใส่ลงในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อประมาณการปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นต่อคนต่อวันของแม่น้ำแต่ละสาย จึงพบว่าขยะพลาสติกที่ไหลลงมหาสมุทรกว่า 0.47-2.75 ล้านเมตริกตันนี้ร้อยละ 88-94 มาจากแม่น้ำ 10 สายสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง แม่น้ำไห่เหอ แม่น้ำจูเจียง แม่น้ำอามูร์ แม่น้ำโขง แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำคงคา ในเอเชีย, แม่น้ำไนเจอร์ และแม่น้ำไนล์ ในแอฟริกา

ทั้งนี้ความแตกต่างของสัดส่วนปริมาณขยะที่ร้อยละ 88-94 นั้นเกิดจากการใช้แบบจำลอง 2 แบบในการศึกษา โดยแบบจำลองแรกพิจารณาเฉพาะ 'ไมโครพลาสติก' (microplastic) ในขณะที่แบบจำลองที่ 2 ได้ศึกษาทั้งไมโครพลาสติกและ 'แมคโครพลาสติก' (macroplastic) โดยไมโครพลาสติกคืออนุภาคพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อม มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนแมคโครพลาสติกคือชิ้นส่วนที่ยาวกว่า 5 มิลลิเมตร รวมถึงขยะพลาสติกชิ้นใหญ่อย่างขวด กล่อง ถุง ซอง ที่ยังคงรูปของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อยู่

ต่อมา AFP Fact Check ได้เผยแพร่รายงานในปี 2562 ต่อกรณีที่สื่อต่างๆ ได้ขยายผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ไปอย่างคลาดเคลื่อน จากการที่แม่น้ำทั้ง 10 สายนั้นอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ไม่สูงในเอเชียและแอฟริกา

โดย AFP Fact Check เน้นย้ำว่าแม่น้ำทั้ง 10 นั้น ไม่ได้สร้างปริมาณขยะพลาสติกถึงร้อยละ 95 จากจำนวนขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมด เพราะยังไม่มีการศึกษาว่าจริงๆ แล้วมีปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ และยากที่จะทราบแน่ชัดว่าสัดส่วนของขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมดนั้นมาจากแม่น้ำมากน้อยเพียงใด

Laurent Lebreton นักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางทะเล อธิบายในการศึกษาของเขาเมื่อปี 2560 (Schmidt และคณะ ก็อ้างอิงงานวิจัยชิ้นนี้) ว่าแหล่งขยะพลาสติกในมหาสมุทรยังมีที่มาจากที่อื่นอีกเช่น บริเวณชายหาด อุตสาหกรรมการขนส่ง และการประมง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาล่าสุดของ Lebreton ในปี 2562 ก็ยังชี้ให้เห็นว่า "แม่น้ำเป็นเส้นทางหลักสำหรับขยะพลาสติกในการไหลลงสู่มหาสมุทร"

ล่าสุดในปี 2564 Our World in Data ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่มหาสมุทรระหว่างปี 2560-2563 โดยระบุว่าร้อยละ 80 ของพลาสติกในมหาสมุทรนั้นไหลผ่านทางแม่น้ำและแนวชายฝั่ง ส่วนอีกร้อยละ 20 เกิดขึ้นจากกิจกรรมในทะเลเอง เช่นจากอวน เชือก และกองเรือ โดยการศึกษาก่อนหน้านี้ถูกตีความบ่งชี้ไปทางที่ว่าแม่น้ำจำนวนน้อยมาก (เพียง 10 สาย) ที่ปล่อยขยะพลาสติกส่วนใหญ่ไหลลงสู่มหาสมุทรสัดส่วนถึงร้อยละ 60-90 นั้น Our World in Data ชี้ว่าการพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ การใช้ที่ดิน และระยะทางไปยังมหาสมุทร แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำสายเล็กๆ จำนวนมากมีบทบาทสำคัญมากกว่าที่เราคิด และต้องใช้แม่น้ำถึง 1,600 สายในการปล่อยขยะพลาสติกถึงร้อยละ 80 จากปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดในมหาสมุทร

การประเมินของ Our World in Data  นี้คาดว่าสัดส่วนของขยะพลาสติกในมหาสมุทรมาจากแม่น้ำในเอเชียถึงกว่าร้อยละ 81 ซึ่ง 'ฟิลิปปินส์' อาจเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกในมหาสมุทรประมาณ 1 ใน 3 จากทั้งหมดทั่วโลก โดยแม่น้ำ 10 สายที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในการประเมินนี้ ได้แก่ แม่น้ำ Pasig (ฟิลิปปินส์) แม่น้ำ Klang (มาเลเซีย) แม่น้ำ Ulhas (อินเดีย) แม่น้ำ Tullahan (ฟิลิปปินส์) แม่น้ำ Meycauayan (ฟิลิปปินส์) แม่น้ำ Pampanga (ฟิลิปปินส์) แม่น้ำ Libmanan (ฟิลิปปินส์) แม่น้ำคงคา (อินเดีย) แม่น้ำ Rio Grande de Mindanao (ฟิลิปปินส์) และแม่น้ำ Agno (ฟิลิปปินส์)

'ประเทศรายได้สูง' มีส่วนกับ ‘ขยะพลาสติกในมหาสมุทร’ หรือไม่?

ข้อมูลที่รวบรวมโดย Our World in Data ที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า แม้จะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าพลาสติกส่วนใหญ่ที่ไหลสู่มหาสมุทรมาจากแม่น้ำในเอเชียมากกว่าร้อยละ 80 มีเพียงส่วนน้อยที่มาจากแม่น้ำในยุโรปและอเมริกาเหนือ และมีการประเมินว่าแม่น้ำในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือสร้างขยะพลาสติกสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 แต่ข้อมูลทำนองนี้มักถูกตีความไปว่าประเทศรายได้สูงไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดปัญหามลพิษจากพลาสติกมากนัก โดยไม่คำนึงถึงความจริงที่ว่าประเทศรายได้สูงหลายประเทศนั้นได้เป็นผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ไปยังที่ต่างๆ มากมาย

ซึ่งในความเป็นจริงสำหรับประเทศปลายทางของขยะพลาสติกเหล่านี้ การนำเข้าขยะพลาสติกจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ก็ต่อเมื่อขยะเหล่านั้นสามารถนำมารีไซเคิลและใช้ผลิตสินค้าหมุนเวียนต่อเนื่องได้ 

ในปี 2563 มีการซื้อขายขยะพลาสติกทั่วโลกประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากในปี 2562 ที่ประมาณ 6 ล้านตัน เนื่องจากผลกระทบการระบาดใหญ่ของโควิด-19

เมื่อลองพิจารณาปริมาณขยะพลาสติก 5 ล้านตันนี้เทียบกับทั่วข้อมูลที่ว่าโลกสร้างขยะพลาสติกประมาณ 350 ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่าประมาณร้อยละ 2 คือขยะพลาสติกที่มาจากการนำเข้าของประเทศต่างๆ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 98 ถูกจัดการในประเทศ ทั้งการส่งไปยังหลุมฝังกลบ รีไซเคิล หรือเผาในประเทศนั้นๆ แนวคิดที่ว่าขยะพลาสติกส่วนใหญ่ของโลกถูกส่งไปต่างประเทศนั้นก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน ทั้งนี้มีขยะทั่วโลกเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล

แผนภูมิแสดงปริมาณการซื้อขายขยะพลาสติกทั่วโลกระหว่างปี 2550-2564 | ที่มาภาพ: Our World in Data (CC)

นอกจากนี้ข้อมูลที่รวบรวมโดย Our World in Data พบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขายขยะพลาสติกทั่วโลกลดลงอย่างมาก อัตราได้ลดลง 2 ใน 3 ตั้งแต่ปี 2553, โดยในปี 2550 ปริมาณการซื้อขายขยะพลาสติกทั่วโลกอยู่ที่ 12.10 ล้านตัน ปี 2551 13.21 ล้านตัน ปี 2552 14.20 ล้านตัน ปี 2553 15.36 ล้านตัน ปี 2554 14.53 ล้านตัน ปี 2555 14.82 ล้านตัน ปี 2556 12.62 ล้านตัน ปี 2557 14.21 ล้านตัน ปี 2558 13.75 ล้านตัน ปี 2559 11.42 ล้านตัน ปี 2560 10.07 ล้านตัน ปี 2561 7.04 ล้านตัน ปี 2562 5.81 ล้านตัน ปี 2563 4.64 ล้านตัน และปี 2563 ปริมาณการซื้อขายขยะพลาสติกทั่วโลกลดลงเหลือเพียง 4.45 ล้านตัน

ประกอบกับนโยบายของจีน ที่ทำให้การนำเข้าขยะพลาสติกมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยในปี 2559 จีนได้นำเข้าขยะพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก แต่กลับลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 1 ในปี 2561 ซึ่งสาเหตุของการลดลงอย่างมากนี้คือรัฐบาลจีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเกือบทุกชนิดในปี 2560 อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายหยุดการนำเข้าขยะมูลฝอย 24 ประเภท ซึ่งรวมถึงกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก นโยบายนี้ถูกนำมาใช้เนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากของเสียที่ปนเปื้อน

จากนโยบายดังกล่าวของจีนได้สร้างผลกระทบใหญ่ๆ 2 ประการ คือปริมาณการค้าขายขยะพลาสติกทั่วโลกลดลงอย่างมาก และการปรากฏตัวขึ้นของนานาประเทศเพื่อแทนที่จีนในฐานะผู้นำเข้าขยะพลาสติกรายใหญ่ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และตุรกี เป็นต้น

แผนภาพแสดงการไหลเวียนของพลาสติกทั่วโลก ความสูงของแท่งแต่ละแท่งจะแปรผันตามปริมาณพลาสติกที่มีการซื้อขาย | ที่มา: Hannah Ritchie, Our World in Data (CC)

Our World in Data ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่ส่งออกพลาสติก (ที่ยังไม่เป็นขยะ) มากที่สุด และเป็นภูมิภาคที่นำเข้าพลาสติกมากที่สุดเช่นเดียวกัน แต่โดยทั่วไปแล้วแบบแผนการซื้อขายพลาสติกส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในภูมิภาค เช่น ประเทศในยุโรปส่งออกพลาสติกส่วนใหญ่ไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียส่งก็ออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียมากที่สุดด้วยเช่นกัน

ในบริบทของยุโรป เยอรมนีเป็นประเทศผู้ส่งออกและนำเข้ารายใหญ่ที่สุด โดยทำการส่งออกพลาสติกชนิดต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด โดยกระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปเดียวกัน

ต่อประเด็นที่ว่าประเทศรายได้สูงส่งขยะพลาสติกส่วนใหญ่ไปต่างประเทศนั้น อาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เมื่อ Our World in Data พบว่าประเทศรายได้สูงหลายประเทศส่งออกขยะพลาสติกบางส่วนเท่านั้น ซึ่งขยะพลาสติกส่วนใหญ่ยังสามารถถูกกำจัดภายในประเทศ

ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักร ในปี 2553 สร้างขยะพลาสติกประมาณ 4.93 ล้านตัน แต่ส่งออกไปต่างประเทศเพียง 838,000 ตัน หรือประมาณร้อยละ 17 เท่านั้น ข้อมูลนี้ยังเป็นปีที่มีการประมาณการส่งออกขยะพลาสติกสูงอยู่ (ปริมาณการส่งออกขยะพลาสติกทั่วโลกในปี 2553 อยู่ที่ 15.36 ล้านตัน) ทั้งนี้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุด ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มีเช่น เนเธอร์แลนด์ส่งออกขยะพลาสติกเป็นสัดส่วนร้อยละ 14 ของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ, ฝรั่งเศส ร้อยละ 11 และสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ดังนั้นคำถามสำคัญว่า 'ประเทศรายได้สูงมีส่วนสร้างมลพิษจากการส่งออกขยะพลาสติกมากน้อยเพียงใด?' นั้น อาจยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน ซึ่งรายงานของ Our World in Data ระบุว่าคำถามใหญ่คำถามนี้สามารถให้ภาพคร่าวๆ ได้ดังนี้

“เราจำเป็นต้องติดตามพลาสติกแต่ละชิ้นกลับไปยังแหล่งกำเนิด เพื่อให้สามารถคำนวณเพื่อประมาณปริมาณขยะพลาสติกที่มีความเสี่ยงสูงในการรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร โดยในปี 2563 ประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ขยะพลาสติกมีความเสี่ยงสูงที่จะรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร (เนื่องจากระบบการจัดการขยะที่ด้อยประสิทธิภาพ) ได้นำเข้าขยะพลาสติกประมาณ 1.6 ล้านตันจากประเทศร่ำรวย (ในที่นี้รวมถึงทุกประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และประเทศในกลุ่ม OECD จากภูมิภาคอื่นๆ)” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

และต่อประเด็นที่ว่า 'ขยะพลาสติกเหล่านี้ไหลลงมหาสมุทรไปเท่าไหร่?' จากข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ แต่ในรายงานของ Our World in Data ชี้ว่าพอจะให้ภาพสถานการณ์ที่แย่ที่สุดและดีที่สุดได้ โดยความน่าจะเป็นที่ขยะพลาสติกจะถูกการจัดการอย่างไม่ถูกต้องไหลลงมหาสมุทรนั้นมีความเสี่ยงและความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

โดยประเทศที่มีความเป็นไปได้สูงที่สุดคือฟิลิปปินส์ ที่มีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 7 อาจจะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร ซึ่งอาจจินตนาการได้ว่านี่เป็น 'สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด' หากประเทศร่ำรวยส่งออกพลาสติกทั้งหมดไปยังฟิลิปปินส์ และจำนวนขยะร้อยละ 7 นั้นจะไหลลงสู่มหาสมุทร หรือคิดเป็นประมาณ 112,000 ตัน ส่วนใน 'สถานการณ์ที่ดีที่สุด' มีเพียงประมาณร้อยละ 1 ของขยะที่มีการจัดการที่ไม่ถูกต้องเท่านั้นที่จะลงเอยในมหาสมุทร ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกมีความเสี่ยงต่ำกว่าร้อยละ 1 และจัดอยู่ใน 'สถานการณ์ที่ดีที่สุด' นี้ จึงสามารถกล่าวได้ว่าในแต่ละปีขยะพลาสติกประมาณ 16,000 ตันจะรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร

ดังนั้นการประเมินนี้ทำให้ได้ภาพคร่าวๆ ว่าขยะพลาสติกที่ส่งออกมาจากประเทศร่ำรวย อาจจะรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรระหว่างร้อยละ 1.6 (สถานการณ์ที่ดีที่สุด) ถึงร้อยละ 11 (สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด)

ปัญหาขยะพลาสติกใน ‘แม่น้ำโขง’ 

ขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 | ที่มาภาพ: The Glocal

'แม่น้ำโขง' ถือเป็นแม่น้ำสำคัญของโลกอีกหนึ่งสาย ด้วยความยาว 4,909 กม. ไหลผ่าน 6 ประเทศประกอบไปด้วย จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม พื้นที่ลุ่มน้ำครอบคลุมถึง 759,000 ตร.กม ประมาณการกันว่าประชากรที่อยู่อาศัยในเขตลุ่มน้ำโขงมากกว่า 65 ล้านคน โดยขณะนี้แม่น้ำโขงกำลังเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกอยู่ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจาก 'โครงการ CounterMEASURE' โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ซึ่งเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์สำรวจต้นกำเนิดขยะพลาสติกในแม่น้ำโขงพบว่า จากการเก็บตัวอย่างในพื้นที่สำรวจ 33 จุด ตลอดลำน้ำโขง มี 30 จุดสำรวจที่ตรวจพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติก โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายน้ำมีปริมาณค่าเฉลี่ยไมโครพลาสติกสูงกว่าจุดอื่นของลุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด เช่นที่ บริเวณกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีค่าเฉลี่ยไมโครพลาสติกสูงถึง 2.13 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร โดยพื้นที่ที่พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนสูงสุดอยู่ที่เมืองเกิ่นเทอ ประเทศเวียดนาม ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

สำหรับประเทศไทย พบว่าปัญหาขยะในแม่น้ำโขงถูกนำเสนออยู่บ่อยครั้ง เหตการณ์สำคัญๆ คือตัวอย่างเช่น ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 พบแพขยะขนาดใหญ่ไหลมาตามแม่น้ำโขง บริเวณแม่น้ำโขง อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ต่อเนื่องกันมายาวมากกว่า 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีตะกอนที่ข้นเหนียวสีแดงเข้มคล้ายโคลนปะปนอยู่ในน้ำ ส่งผลให้ปลาในกระชังและปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงลอยตายเป็นจำนวนมาก ต่อมาในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 พบแพขยะอัดแน่นมีความยาว 14-15 เมตร ลอยมาอยู่บริเวณกระชังปลาและแพโรงสูบน้ำของชาวบ้านและชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อมูลจากโครงการ CounterMEASURE ยังตรวจพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในแม่น้ำโขงเขตประเทศไทยด้วยเช่นกัน อาทิ บริเวณ จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีปริมาณไมโครพลาสติกปนเปื้อนราว 0.38 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร และที่ จ.เชียงราย 0.23 ชิ้น/ลูกบาศก์เมตร โดยไมโครพลาสติกที่พบนั้นเป็นพลาสติกประเภท PP (Polypropylene) มากที่สุด ซึ่งเป็นพลาสติกประเภทที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร

ยิ่งไปกว่านั้น ในรายงานการศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในปลาน้ำจืดในแม่น้ำชี โดย ภัททิรา เกษมศิริ และ วิภาวี ไทเมืองพล ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of GEOMATE เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ระบุชัดเจนว่ามลพิษไมโครพลาสติกในลุ่มแม่น้ำโขงได้แทรกซึมปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง สำรวจจากโครงการวิจัยการลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่น้ำโขงจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม

ส่วนข้อมูลจาก ‘โครงการวิจัยการลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่น้ำโขงจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม’ ที่สำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างขยะพลาสติก 5 จุดใน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ก็พบพลาสติกประเภท โพลีเอทิลีน (polyethylene: PE) โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene: HDPE) โพลีเอทิลีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Low Density Polyethylene: LDPE) โพลีโพรพิลีน (polypropylene: PP) โพลิสไตรีน (polystyrene: PS) โพลีไวนิลคลอไรด (polyvinylchloride: PVC) และโพลิเอทิลีนเทเรพทาเลต (polyethylene terephthalate: PET) จากขยะที่เป็นขวดพลาสติก ฝาพลาสติก ถุง ซอง โฟมใส่อาหาร และอื่นๆ ลอยอยู่ในแม่น้ำโขง

ตัวอย่างไมโครพลาสติกในแม่น้ำโขงโดยบริษัท Pirika | ที่มา: Pirika

สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท Pirika ที่ได้สำรวจไมโครพลาสติกในแม่น้ำโขง 6 จุด พบว่ามีขยะไมโครพลาสติกปนเปื้อนในแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน

ขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 | ที่มาภาพ: The Glocal

ขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 | ที่มาภาพ: The Glocal

ขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 | ที่มาภาพ: The Glocal

ขยะพลาสติกในแม่น้ำโขง บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2565 | ที่มาภาพ: The Glocal

จากการลงพื้นสำรวจแม่น้ำโขงบริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยทีมงาน The Glocal เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2565 พบว่ามีแพขยะหลายขนาดลอยติดอยู่ตามโป๊ะและท่าเรือริมน้ำ โดยขยะส่วนใหญ่คือ ‘ขยะพลาสติก’ ทั้งขวดพลาสติก ถุงพลาสติก และอื่นๆ

นักวิจัยชี้การจัดการขยะของแต่ละพื้นที่ มีผลต่อการทิ้งขยะลงแม่น้ำโขงมากที่สุด 

ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ศูนย์วิจัย CEWT มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง | ที่มาภาพ: The Glocal

The Glocal ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หัวหน้าโครงการวิจัยการลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่นํ้าโขงจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อให้ช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ขยะพลาสติกในแม่นํ้าโขงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ปเนต ระบุว่าจากการศึกษาของโครงการ CounterMEASURE โดย UNEP ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ติดตั้งจุดวัด 6 จุดบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน 1.เชียงราย 2.อุบลราชธานี 3.เวียงจันทน์ (ประเทศลาว) 4.โตนเลสาบ (ประเทศกัมพูชา) 5.พนมเปญ (ประเทศกัมพูชา) และ 6.เกิ่นเทอ (ประเทศเวียดนาม) ข้อค้นพบหลักๆ ที่น่าสนใจจากโครงการนี้มี 1. จุดวัดต้นน้ำของโครงการที่ จ.เชียงราย สะอาดที่สุด เป็นจุดที่ปริมาณขยะน้อยสุด 2. กิจกรรมและการบริหารจัดการขยะในท้องถิ่นมีผลต่อปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงมากที่สุด

“ในบรรดา 6 จุด ประเทศไทยมีระบบการจัดการขยะดีสุด และบริบทของการใช้ประโยชน์พื้นที่ก็ไม่ได้หนักหน่วงมาก คือถ้าเทียบกับ 2 จุด คือเชียงรายกับอุบลราชธานี ถามว่าเมืองใหญ่ไหมก็ใหญ่พอสมควรนะ แต่เวียงจันทน์กับพนมเปญคือเมืองหลวงเพราะฉะนั้นก็หนัก หนักไปอีกแบบหนึ่งเลย ในขณะที่โตนเลสาบมีประชากรที่อยู่ในน้ำด้วย อยู่ในแพด้วย กินอยู่บนน้ำเลย แล้วระบบจัดการขยะไม่มี เพราะฉะนั้นขยะจะไปไหนก็ลงแม่น้ำโขงนั่นแหละ” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว

จากทั้ง 6 จุด พบว่าบริเวณเชียงราย, เวียงจันทน์ และอุบลราชธานี มีความน่าสนใจที่ตรวจพบขยะข้ามแดนอยู่บ้าง แต่บริเวณพนมเปญ โตนเลสาบ และเกิ่นเทอ แทบจะพบแต่ขยะในประเทศเกือบทั้งหมด

ผศ.ดร.ปเนต ย้ำว่าระบบการจัดการขยะในแต่ละพื้นที่มีผลต่อขยะในแม่น้ำโขงมากที่สุด ซึ่งในกลุ่มประเทศสามเหลี่ยมทองคำ ประเทศไทยน่าจะมีระบบการจัดการขยะในพื้นที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับพม่าและลาว

“ลาวกับพม่าระบบจัดการขยะแย่กว่าของเราเยอะ แม้แต่ในเมืองใหญ่ของเวียงจันทน์ของลาวหรือท่าขี้เหล็กของพม่า อย่างเก่งก็มีเพียงระบบเก็บ แต่มันเก็บแล้วมันยังไม่มีระบบกำจัดดีๆ บางทีก็ทิ้งลงแม่น้ำเลย เพราะฉะนั้นสภาพของขยะที่เราเจอบางที่ไปดูตามเมืองของฝั่งลาว ฝั่งพม่ามันมาเป็นถุงดำลอยมา แต่ของประเทศไทยจะมาเป็นชิ้นๆ มากกว่า อารมณ์แบบคนมือบอนโยนลงแม่น้ำเป็นชิ้นๆ แต่ของที่นู่นมีการเก็บเป็นขยะมัดแล้วไม่รู้ว่าโยนเองหรือคนที่ไปเก็บขยะมาแล้วโยนลงไปทั้งถุง” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว

ต่อคำถามที่ว่า “ขยะพลาสติกจากจีนมีโอกาสจะหลุดเข้ามาในโซนทางแม่น้ำโขง โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำไหม?” ผศ.ดร.ปเนต ระบุต้องให้ความหมายว่า “ขยะพลาสติกจากจีน” ให้ชัดเจนคือ 1.ขยะพลาสติกที่ไหลข้ามแดนมาจากประเทศจีน หรือ 2.ขยะจากสินค้าพลาสติกของจีน การที่จะระบุว่าขยะพลาสติกที่ลอยไหลข้ามแดนมาจากประเทศจีนนั้นพูดได้ยากเนื่องจากไม่มีระบบติดตามขยะที่ไหลมา ซึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือฉลากสินค้าที่ระบุว่าเป็นสินค้าจีน แต่กระนั้นในประเทศพม่า ลาว และไทย (บางพื้นที่) ก็มีการบริโภคสินค้าจีนเป็นปกติ จึงบอกได้ยากว่าคนจีนจะทิ้งขยะจากประเทศจีนแล้วไหลมาถึงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แต่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำขยะพลาสติกที่ยังมีฉลากสินค้าที่ระบุแหล่งผลิตจากต่างประเทศที่พบมากที่สุดคือขวดเครื่องดื่มจากประเทศพม่าซึ่งอาจจะสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการขยะที่ยังไม่ดีของประเทศเพื่อนบ้านที่กลายเป็นมลพิษข้ามแดน

ทั้งนี้ข้อมูลจากโครงการวิจัยก็พบว่าบริเวณสามเหลี่ยมทองคำก็มีขยะพลาสติกที่มีฉลากสินค้าไทยจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับกรณีสินค้าจีน คือในประเทศพม่าและลาวก็มีการบริโภคสินค้าไทยมากด้วยเช่นกัน 

‘ไมโครพลาสติก’ ขยะจิ๋วข้ามแดนที่น่าเป็นห่วง

ตัวอย่างไมโครพลาสติกที่พบในแม่น้ำโขงโดยบริษัท Pirika | ที่มา: Pirika

ผศ.ดร.ปเนต ให้ข้อมูลว่านอกจากขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ (macroplastic) ในแม่น้ำโขงที่เราเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นขยะที่เกิดจากบริเวณนั้นๆ มากกว่าการไหลข้ามแดนแล้ว อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์การปนเปื้อนของ 'ไมโครพลาสติก' (microplastic) ในแม่น้ำโขงที่มีโอกาสปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านปลาในแม่น้ำโขง ทั้งยังสามารถตรวจพบได้ว่ามีลักษณะไหลผ่านข้ามแดนไปจนถึงปลายสุดของแม่น้ำสู่มหาสมุทร

“ถ้าพูดถึงแมคโครพลาสติก แม่น้ำโขงมีเขื่อนดักอยู่ตามจุดต่างๆ โอกาสที่จะไหลไปถึงเกิ่นเทอที่เวียดนาม แล้วไหลออกทะเลมันคงน้อยเพราะมันเป็นชิ้นใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือไมโครพลาสติก อันนี้มีโอกาสเยอะมากที่จะไหลข้ามแดน และมันก็จะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารด้วยเพราะมันอยู่ในปลา ตรงนี้คิดว่ามันมีประเด็นแต่มันมองเห็นยากกว่า”

ปัญหาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำก็พบได้ตามที่ต่างๆ ของโลก ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีการเอาจริงเอาจังกับปัญหาสิ่งแวดล้อมประเทศหนึ่ง ผศ.ดร.ปเนต ระบุว่านักวิจัยของ Pirika คนหนึ่งเคยให้ข้อมูลว่าที่ญี่ปุ่นเอง มีการสำรวจหาไมโครพลาสติกตามแหล่งน้ำต่างๆ มากกว่า 100 จุดทั่วประเทศ แต่พบว่าไม่มีไมโครพลาสติกเพียงแค่ 2 จุดเท่านั้น ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำในเขตหุบเขา

“สำหรับไมโครพลาสติกแม้แต่ในประเทศที่จัดการขยะได้ดีก็พบปัญหาการปนเปื้อน ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น ‘หญ้าเทียม’ เมื่อมันกลายเป็นขยะมันจะไม่ใช่ขยะแบบที่เราเข้าใจเลยทีเดียว สมมติมีการใช้งานหญ้าเทียมในประเทศนั้นมากๆ แล้วเวลาใช้มันก็หลุดปลิวหายไป มันหายไปอยู่ที่ไหน ก็ปรากฎว่ามันไปอยู่ในน้ำ อันนี้เป็นตัวอย่างที่ต่างประเทศค้นพบ” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว

‘ไมโครพลาสติก’ (Microplastics) คืออะไร?

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน โดยไมโครพลาสติกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (Plastic pellet) เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน (Plastic scrub) ซึ่งมักเรียกกันว่า ‘ไมโครบีดส์’ (Microbeads) หรือ ‘เม็ดสครับ’ ไมโครพลาสติกประเภทนี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลลงสู่ทะเล

2. Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็กนี้สามารถเกิดได้ทั้งกระบวนการย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางเคมี (Chemical degradation) กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ (Biological degradation) และกระบวนการย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ (UV degradation) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารแต่งเติมในพลาสติกหลุดออก ส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกเกิดการแตกตัวจนมีขนาดเล็ก กลายเป็นสารแขวนลอยปะปนอยู่ในแม่น้ำและทะเล

ทั้งนี้ไมโครพลาสติกมีขนาดที่เล็กมากจนสามารถหลุดรอดขั้นตอนบำบัดหรือคัดแยกขยะและเกิดการแพร่กระจายในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยบางชนิดมีขนาดเล็กและมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยากหากไม่สะสมอย่างหนาแน่น 

 

เมื่อปี 2560 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้เผยผลการศึกษา Primary Microplastics ในคลอง แม่น้ำ ทะเลและมหาสมุทรโดยพบว่ามีปริมาณถึง 0.8 – 2.5 ล้านตัน/ปี โดยร้อยละ 98 มาจากครัวเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนบก ในขณะที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่าไมโครพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเฉพาะในรัฐนิวยอร์กอาจมีน้ำหนักมากถึง 19 ตัน/ปี เลยทีเดียว

ข้อมูลจากวารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าการเกษตรและอาหาร โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ระบุว่าไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาระบบนิเวศในระยะยาว หลังมีงานวิจัยพบการสะสมไมโครพลาสติกใน ‘หอยแมลงภู่’ ซึ่งอาจตกค้างได้นานถึง 48 วัน ทั้งยังพบว่าก่อให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือดของหอยแมลงภู่ด้วย ในขณะที่อีกงานวิจัยพบว่าไมโครพลาสติกเมื่อสลายตัวจะปลดปล่อยสารที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ เช่น PAHs PCBs และ PBDEs ที่สามารถส่งผ่านจากการกินกันเป็นทอดไปจนถึงมนุษย์ได้ ตัวอย่างผลการสำรวจฟาร์มหอยแมลงภู่แห่งหนึ่งในเยอรมนี พบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกถึง 0.36 เม็ด/กรัมของเนื้อหอยส่วนที่บริโภคได้ เมื่อคำนวณกลับจะพบว่าการบริโภคหอยแมลงภู่ 250 กรัม อาจทำให้ได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายถึงกว่า 90 เม็ด หรือคิดเป็น 11,000 เม็ดต่อปี เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคอ้างอิง

นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกยังแฝงอันตรายที่คาดไม่ถึง คือการเป็นตัวกลางสะสมและเคลื่อนย้ายสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง DDT หรือสารเคมีอื่นๆ จากคุณสมบัติการอุ้มน้ำ ทำให้ไมโครพลาสติกสามารถดูดซับสารปนเปื้อนและแพร่กระจายไปสู่แหล่งน้ำต่างๆ ได้

แนวทางการลด-กำจัดขยะพลาสติก ตัดตอนก่อนถึงแหล่งน้ำ

Christian Schmidt ซึ่งเป็นนักอุทกธรณีวิทยาแห่ง Helmholtz Center for Environmental Research ในเมือง Leipzig ประเทศเยอรมนี อธิบายไว้ในสื่อ Scientific American เมื่อปี 2561 ว่า “แม่น้ำนำพาขยะเป็นระยะทางไกลและเชื่อมต่อเกือบทั้งหมดของมหาสมุทร” ทำให้แม่น้ำเหล่านี้เป็นสมรภูมิสำคัญในการต่อสู้กับมลพิษในมหาสมุทร

"แนวทางปฏิบัติในการรวบรวมและจัดการขยะที่ดีขึ้นในภูมิภาคที่มีมลพิษมากที่สุดจะช่วยยับยั้งขยะพลาสติกได้" Schmidt กล่าว "แต่การสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนก็มีความสำคัญเช่นกัน"

ส่วนการประเมินของ Our World in Data เมื่อปี 2564 ยังเน้นย้ำว่า "เนื่องจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทรนั้นมีจำนวนมากกว่าที่เคยคิดไว้มาก เราจึงต้องการความพยายามจากทั่วโลกในการปรับปรุงการจัดการขยะและการเก็บขยะพลาสติก แทนที่จะมุ่งเป้าหมายไปที่แม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดเพียงไม่กี่สาย"

หลายประเทศเริ่มมีความพยายามผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหานี้ตั้งแต่ต้นทางของพลาสติก ตัวอย่างเช่นสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้นโยบายห้ามส่งออกขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการคัดแยกรวมทั้งขยะพลาสติกที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไปยังประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ (OECD) ซึ่งนโยบายนี้ได้เริ่มบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2564 ระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปฉบับนี้ได้บรรจุแนวคิดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายเอาไว้ การนำหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายมาบรรจุไว้ในระเบียบใหม่ของสหภาพยุโรปฉบับนี้ถือเป็นการสนับสนุนให้เกิดการบำบัดและการนำกลับมาใช้ใหม่ของขยะพลาสติกทั่วทั้งสหภาพยุโรปและประเทศนอกกลุ่ม OECD

นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังได้ออกข้อบังคับเมื่อเดือน ก.ค. 2562 ชื่อว่า New EU Directive for Single-Use Plastics เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกว่าใน 10 ประเภท ซึ่งมักพบเป็นขยะตามชายหาดของยุโรป สินค้าพลาสติก 10 ประเภท ได้แก่ แกนสำลีปั่นหู จานอาหาร หลอดดูด และช้อนคน ลูกโป่งและแกนไม้ติดลูกโป่ง ภาชนะบรรจุอาหาร แก้วใส่เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม ที่รองมวนบุหรี่ ถุงหิ้วพลาสติก ที่ห่อของ และที่เช็ดทำความสะอาดแบบเปียก เป็นต้น

ส่วนจีน ยังสั่งห้ามและจำกัดการนำเข้าของขยะจากบรรจุภัณฑ์ (packaging waste) ในปี 2560 โดยกำลังวางแผนจะสั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2564, ออสเตรเลีย มุ่งเป้าที่การฟื้นคืนและการนำกลับมาใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ (optimizing recovery and recycling of packaging), แคนาดา ออกยุทธศาสตร์ระดับประเทศเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีแผนการออกยุทธศาสตร์เรื่อง Zero Plastic Waste ที่มีเป้าหมายในปี 2573 รวมทั้ง อินเดีย ได้ออกกฎระเบียบที่ส่งเสริมการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการแยกขยะ เป็นต้น

ส่วนอันตรายจากไมโครพลาสติกที่มีผลต่อระบบนิเวศนั้น ทำให้หลายประเทศเริ่มร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลด ละ เลิกใช้ไมโครพลาสติก เช่นใน สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ได้ออกกฎระเบียบจำกัดการผลิต ใช้เป็นส่วนผสม นำเข้า หรือแม้แต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ ‘Microbeads’ โดยเฉพาะในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ แม้นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องหาวัสดุทดแทนไมโครพลาสติกแบบเดิมที่ย่อยสลายได้ยาก โดยระยะแรก UNEP ได้แนะนำให้ใช้พอลิแลคติกแอซิด (Polylactic Acid: PLA) ที่สามารถย่อยสลายได้ทดแทนไปพลางก่อน

สำหรับประเทศไทยท้องถิ่นและภาคเอกชนในพื้นที่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญในการลดขยะพลาสติก หลายท้องถิ่นที่มีบริเวณติดกับแม่น้ำโขงก็ได้ตระหนักถึงปัญหานี้และมีการลงมือจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมมานานแล้ว ตัวอย่างเช่นจากงานศึกษา ‘รูปแบบการจัดการขยะโดยชุมชนริมแม่น้ำโขง กรณีศึกษา: ชุมชนท่าเสด็จจังหวัดหนองคาย’ โดยธวัชชัย เพ็งพินิจ และคณะ, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, 2552 ที่ได้ทำการศึกษาพบว่าชุมชนท่าเสด็จมีจำนวนครัวเรือน 1,148 ครัวเรือน มีร้านค้าจำนวน 275 ร้าน มีขยะเกิดขึ้นทั้งชุมชนโดยเฉลี่ยวันละ 5-8 ตัน ในอดีตปัญหาขยะที่ชุมชนเห็นว่าสำคัญคือการไม่คัดแยกขยะครัวเรือนนักท่องเที่ยวไม่มีที่ทิ้งขยะและการทิ้งขยะในที่สาธารณะ

ทั้งนี้การจัดการขยะในครัวเรือนซึ่งชุมชนท่าเสด็จมองว่าเป็นแหล่งกำเนิดขยะขั้นปฐมภูมิที่สำคัญ จึงได้ร่วมกันสร้างข้อตกลงโดยกำหนดให้ครัวเรือนทุกครัวเรือนต้องแยกขยะออกเป็น 2 ถุง คือ ขยะขายได้กับขยะขายไม่ได้ จากการเก็บข้อมูลพบว่าหากสามารถแยกขยะขายได้ออกมาจะทำให้ปริมาณขยะลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 60 นั่นหมายความว่านอกจากจะทำให้คนของเทศบาลฯ มีรายได้จากการขายขยะ คนทิ้งกับคนเก็บแสดงความมีน้ำใจต่อกันแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บของเทศบาลฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ทางชุมชนท่าเสด็จให้ทุกร้านค้าจัดให้มีภาชนะเพื่อรองรับขยะจากนักท่องเที่ยว ซึ่งขยะส่วนใหญ่มีขนาดเล็กร้านค้าสามารถจัดเก็บได้ รวมทั้งให้ลานจอดรถทุกแห่งจัดเตรียมถังรองรับขยะ 2 ใบติดป้ายระบุถังขยะเปียก-แห้งวางไว้หน้าทางเข้า-ออก พร้อมป้ายแสดงจุดรับทิ้งขยะ การจัดการขยะชุมชนท่าเสด็จเป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชน โดยชุมชนยอมรับและถือปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการชุมชนท่าเสด็จเป็น “เจ้าภาพ” ในการประสานงานกับคนในชุมชนและเทศบาลเมืองหนองคายอย่างต่อเนื่อง

และจากตัวอย่าง ‘โครงการวิจัยการลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่นํ้าโขงจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม’  ที่มุ่งหวังว่าจะส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย มีความสะอาดมากขึ้นและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 4 ภาคส่วน ของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีความรับผิดชอบ ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว ชุมชนเจ้าบ้าน และสิ่งแวดล้อม

โครงการวิจัยฯ นี้ได้ทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยมีกิจกรรม ติดตั้งอุปกรณ์เก็บตัวอย่างขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในแม่นํ้าโขง (ฝั่งไทย) และฝึกอบรมทีมงานท้องถิ่นและกลุ่มชาวประมง, สุ่มเก็บตัวอย่างขยะพลาสติกขนาดใหญ่ในแม่นํ้าโขงประจำเดือน, จัดประชุมเสวนาปัญหาขยะพลาสติกในแม่นํ้าโขงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, จัดฝึกอบรมการเก็บข้อมูลการใช้พลาสติกให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว, เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลาสติกในธุรกิจการท่องเที่ยว, สำรวจและแลกเปลี่ยนแนวทางการลดการใช้พลาสติกและการจัดการขยะพลาสติกให้กับธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การใช้ภาชนะแบบเติมเพื่อลดต้นทุนและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ เป็นต้น ซึ่งมีผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมอนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท ที่ให้ความร่วมมือในการจัดบุคลากรเป็นอาสาสมัครเก็บขยะจากริมแม่น้ำและให้ความอนุเคราะห์พื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามขยะในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

ผศ.ดร.ปเนต ระบุว่าสำหรับภาคท่องเที่ยวนั้น แม่น้ำโขงก็เหมือนกับเป็นหน้าเป็นตาของพื้นที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย จึงต้องมีความตระหนักรู้ต่อปัญหาขยะในแม่น้ำโขงเพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวโดยตรง แต่อุปสรรคในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้องในการลดขยะหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็ยังคงมีอยู่ เพราะหลายมาตรการยังพบว่าไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ที่ถือเป็นส่วนใหญ่ในภาคท่องเที่ยว

“สำหรับภาคท่องเที่ยวเขามองว่าต้องทำธุรกิจเป็นหลักก่อน การที่เราจะชวนเขาลดการใช้วัสดุบางอย่างที่มีโอกาสจะไปอยู่ในแม่น้ำได้ มันหายากด้วยส่วนหนึ่ง ราคาไม่ดึงดูดก็ส่วนหนึ่ง ก็คือเหมือนกับว่ารัฐบาลอยากจะแก้ไขปัญหาด้วยการที่จะเปลี่ยนวัสดุหรือไม่ใช้ของบางตัว แต่การมาขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างร้านกาแฟเขาจะทำยังไง ในเมื่ออุตสาหกรรมที่ผลิตแก้วขึ้นมาส่วนใหญ่เขาไม่ได้มองในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นในตลาดมันก็มีข้อจำกัด ตัวแทนจำหน่ายที่จะเลือกสินค้าไปขายที่อำเภอล่ะ จะให้ร้านเล็กๆ สั่งของมาเองมันก็ลำบาก คือภาครัฐไม่ได้มีการส่งเสริมทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ผู้ประกอบการหรือคนตัวเล็กๆ ได้ใช้จริง อย่างตอนที่เรามีการรณรงค์เรื่องถุงพลาสติก ตัวเลขมันก็บอกว่ามีแต่รายใหญ่ๆ แค่ 30% ที่เข้าร่วม แต่ที่เหลืออีก 60%-70% เป็นรายเล็กๆ ทั้งนั้นไม่ครอบคลุม และพอโควิด-19 มาก็จบเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ผ่านมามันยังไม่ตอบโจทย์ในการทำธุรกิจของพวกเขา” ผศ.ดร.ปเนต กล่าว.

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

Export of Plastic Debris by Rivers into the Sea (Christian Schmidt Tobias Krauth and Stephan Wagner, Environ. Sci. Technol. 2017, 51, 12246-12253)

Stemming the Plastic Tide: 10 Rivers Contribute Most of the Plastic in the Oceans (Prachi Patel, Scientific American, 1 February 2018)

Widely-cited study did not show 95% of plastic in oceans comes from just 10 rivers (Manuela Scalici Marin Lefèvre, AFP Fact Check, 10 July 2019)

Where does the plastic in our oceans come from? (Hannah Ritchie,  Our World in Data, 1 May 2021)

New study stresses need to identify organisms at greatest risk from plastics (Catch and Culture Vol. 27, No. 2, August 2021)

Ocean plastics: How much do rich countries contribute by shipping their waste overseas? (Hannah Ritchie, Our World in Data, 11 October 2022)

“ไมโครพลาสติก” สิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัวเรา (ณัฏฐ์วารี น้อยบุญญะ, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม)

รูปแบบการจัดการขยะโดยชุมชนริมแม่น้ำโขง กรณีศึกษา: ชุมชนท่าเสด็จ จังหวัดหนองคาย (ธวัชชัย เพ็งนินิจ พรทวี พลเวียงพล และแสงอรุณ สุนทรีย์, SDU Res J 5(3): Sep-Dec 2009)

วิกฤต “ไมโครพลาสติก” วายร้ายระบบนิเวศแหล่งน้ำของโลก (วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าการเกษตรและอาหาร, ปีที่ 10 รายไตรมาส เดือนเมษายน-มิถุนายน 2561)

ต้องตัดตอน “ขยะพลาสติก” ในแม่น้ำ เส้นเลือดใหญ่ นำมลพิษสู่มหาสมุทร (อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์, Salika, 5 มิถุนายน 2564)

มาตรการห้ามส่งออกขยะพลาสติกไปยังประเทศที่ยากจน (ประเทศนอกกลุ่มโออีซีดี) ของสหภาพยุโรป (ปีดิเทพ อยู่ยืนยง, วารสารกฎหมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 : กรกฎาคม 2564)

เอกสารสรุปรายละเอียดโครงการวิจัยการลดปริมาณขยะพลาสติกในแม่นํ้าโขงจากภาคการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วม (ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์, ศูนย์วิจัย CEWT มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, 20 พฤษภาคม 2565)

งานวิจัยเผย แม่น้ำโขงเปื้อนไมโครพลาสติกตลอดสาย แทรกซึมห่วงโซ่อาหารถึงมนุษย์ (ปรัชญ์ รุจิวนารมย์, Greennews Agency, 28 มิถุนายน 2565)

พบแพขยะในแม่น้ำโขงเกาะติดแพปลา ชาวบ้านใช้เวลา 3 วันงัดออก เชื่อทะลักจากเขื่อนตอนบน (ไทยโพสต์, 18 สิงหาคม 2565)

แม่น้ำโขงและวิถีชีวิตของผู้คน (Mekong Watch, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565)

Mekong Basin » People (Mekong River Commission, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 1 ธันวาคม 2565)

กฎลดขยะประเทศต่างๆ สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน (ปราณี หมื่นแผงวารี, กรุงเทพธุรกิจ, 11 ธันวาคม 2565) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net