Skip to main content
sharethis

'อนาคตใหม่' ยื่นเรื่อง ปธ.สภา ส่งคำร้องต่อศาล รธน. ให้วินิจฉัย 30 ส.ส. ถือหุ้นสื่อ - พร้อมยื่นญัติขอตรวจสอบผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ  ขณะที่ตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ยื่นหนังสือร้องให้เปิดเผยกระบวนการต่างๆ และงบในการสรรหา ส.ว. พร้อมชี้ประชาชนต้องรู้ และตรวจสอบได้

ตัวแทน 7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เดินทางเข้ายื่นหนังสือติดตาม กรณีที่เรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. กระบวนการ และงบประมาณทั้งหมด

4 มิ.ย.2562 รายงานข่าวจากทีมสื่อพรรคอนาคตใหม่แจ้งว่า วันนี้ ที่รัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคอนาคตใหม่ ทั้ง 80 คน เข้ายื่นเอกสารคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หลังจากพรรคอนาคตใหม่ตรวจสอบแล้วพบว่า มีกรณีเข้าข่ายจำนวน 30  คน รวมถึงยื่นหนังสือ ขอเสนอญัติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและตรวจสอบคุณบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยมี เจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผบ.กลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือทั้ง 2 ชุด 
 
ปิยบุตร กล่าวว่า วันนี้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เดินทางมายื่นเอกสารต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 รายการ คือ เรื่องแรก. ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 เข้าชื่อ ส.ส.จำนวน 1 ใน 10 ขึ้นไป ร้องขอต่อ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า มี ส.ส. ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เรื่องที่สอง. ยื่นเรื่อง ขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนลงมติให้ความเห็นชอบ

ปิยบุตร กล่าวอีกว่า เรื่องแรกเป็นการใช้สิทธิตาม มาตรา 82  ซึ่งตนเคยแถลงข่าวก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องและให้ธนาธร ยุติการปฏิบัติหน้าที่แล้วว่า จำเป็นต้องขอสงวนสิทธิ์ในการใช้วิธีการ ช่องทาง การร้องเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. ที่ถือหุ้นสื่อในทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราตรวจสอบแล้ว มี ส.ส. หลายท่านถือหุ้นบริษัทต่างๆ ที่หนังสือวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้นมีเรื่องการประกอบกิจการสื่ออยู่ โดยรายชื่อของ ส.ส. 30 คนนั้น ประกอบด้วยพรรคพลังประชารัฐ 27 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน และพรรคชาติพัฒนา 1 คน 

"ตามกระบวนการแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะไม่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจใดๆ ต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ถ้ารายชื่อ ส.ส.ที่ลงชื่อครบ 1 ใน 10 และถ้าหากใช้มาตรฐานที่เท่าเทียมกันกับกรณีของธนาธร  ซึ่ง กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งรับคำร้องและสั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน น่าจะเชื่อได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องภายใน 7 วัน และมีคำสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกันสำหรับ ส.ส.ทั้ง 30 คน" ปิยบุตร กล่าว

ร้องเปิดเผยกระบวนการต่างๆ และงบในการสรรหา ส.ว. 

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. ตัวแทน 7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย เดินทางเข้ายื่นหนังสือติดตาม กรณีที่เรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. กระบวนการ และงบประมาณทั้งหมด รวมถึงกรรมการสรรหามีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะ ส.ว.ทั้ง 250 คน ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่คุ้นหน้า

พร้อมกันนี้ ยังขอให้ช่วยกันพิจารณาบทบาทของ ส.ว.ในปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ว.ชุดนี้มีอำนาจบทบาทสามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับ ส.ส. และยืนยันว่าจะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้มีการช่วยกันร่วมตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการลงมติในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.)

ทั้งนี้ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ระบุว่า โดย ปกติแล้วส.ว.ไม่ได้บทบาทมากไปกว่า การให้ข้อมูลด้านกฎหมาย ในต่างประเทศก็แทบจะไม่มีเลยบทบาทเลย แต่การแต่งตั้งครั้งนี้ ส.ว. กับมีบทบาทเทียบเท่า ส.ส.ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งสามารถโหวตเลือกนายกได้ จึงสมควรเป็นไปอย่างโปรงใส และต้องตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตามทางตัวแทน 7 พรรค ยังได้มีการฝากถึง ส.ว.ทั้ง 250 คนด้วยว่า “ท่านจะมีความละอายใจมากน้อยแค่ไหนในการยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี นึกถึงประชาชนเป็นอันดับแรก นึกถึงงบประมาณ ภาษีของประชาชน ที่ผ่านมา 5 ปีเป็นอย่างไรท่านย่อมทราบดี”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net