Skip to main content
sharethis
  • 'ณัฐกร วิทิตานนท์' นักวิชาการรัฐศาสตร์ฯ มช. มอง ส.ส.ย้ายร่วม 'ภูมิใจไทย' เหตุมีภาษีดีกว่าพรรคอื่นในการจัดตั้งรัฐบาล หลัง 'ประยุทธ์' เหลืออีก 2 ปีเศษ ขณะที่ยังต้องอาศัยเสียง ส.ว.
  • ส่วนภาคเหนือตอนบนใต้ระบบเลือกตั้งใหม่ จับตา 'เพื่อไทย' จะกลับมาแบบถล่มทลาย เหมือนสมัย 'ไทยรักไทย' หรือไม่ ส่วน 'ก้าวไกล' เปิดหน้าใหม่ โดยที่ 'ภูมิใจไทย' ได้ ส.ส.ย้ายค่าย

17 ธ.ค.2565 จากเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ของพรรค โดยเฉพาะอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นที่เพิ่งลาออกมา สร้างปรากฏการณ์และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองจำนวนมากนั้น ในโอกาสนี้ ประชาไท สัมภาษณ์ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นักวิชาการที่ศึกษาการปกครองส่วนท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ถึงสถานการณ์ดังกล่าว 

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. วิเคราะห์ว่านักการเมืองเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้เป็นรัฐบาล ในปีกพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน พรรคภูมิไทยมีบทบาทเด่นที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบาย เพราะได้คุมกระทรวงสำคัญ อย่างคมนาคม สาธารณสุข ท่องเที่ยว แน่นอน นั่นหมายถึงความพร้อมด้านงบหาเสียงด้วย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งในอดีตพรรคทำนองนี้มักอยู่ได้สมัยเดียวแล้วก็แตกกระเจิงไป เช่น พรรคสามัคคีธรรมหลังการรัฐประหาร (ปี 2534) อาจรวมถึงพรรคมาตุภูมิที่มี พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน (อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 49) เป็นหัวหน้าพรรค 

ณัฐกร มองว่า มีเงื่อนไข 2 เรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ 1. จะตั้งรัฐบาลได้ยังต้องอาศัยเสียง ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ 2. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯ ได้เพียงครึ่งวาระ หรืออีก 2 ปีเศษเท่านั้น ตรงนี้เองน่าจะทำพรรคภูมิใจไทยมีภาษีดีกว่าพรรคอื่นในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งรอบหน้า

"ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเดิม พรรคการเมืองที่ชนะได้ที่นั่งมากที่สุดอาจจะต้องเป็นฝ่ายค้านอีกสมัยก็ได้ ถ้าไม่เกิดเหตุพลิกผันจับมือกันข้ามขั้วขึ้นมา" ณัฐกร กล่าว

หลังเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง จับตาภาคเหนือตอนบน 'เพื่อไทย' จะกลับมาแบบถล่มทลาย เหมือนสมัย 'ไทยรักไทย' หรือไม่ ขณะที่ 'ก้าวไกล' เปิดหน้าใหม่ 'ภูมิใจไทย' ได้ ส.ส.ย้ายค่าย

ขณะที่สถานการณ์การเมืองภาคเหนือนั้น อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. วิเคราะห์ว่า การเมืองภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดแตกต่างจากภาคอื่น เพราะเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่เคยมีพรรคใดทำได้มาก่อน ในอดีตการเลือกตั้งยึดติดกับตัวบุคคล ส.ส.มักไม่มีพรรคสังกัดที่ตายตัว จุดยืนแปรเปลี่ยนตามความเป็นไปได้ที่จะได้เป็นรัฐบาล บางคนเคยอยู่มาแล้ว 6-7 พรรคก็มี กระทั่งมีรัฐธรรมนูญปี 40 หลังจากการเลือกตั้งต้นปี 2544 การเมืองแถบนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย ด้วยปัจจัยจากเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวกับแบบบัญชีรายชื่อ ผนวกกับกระแสภูมิภาคนิยมที่อยากให้มีคนเมือง (คนภาคเหนือ) เป็นนายกฯ บ้าง ยังมิพักเอ่ยถึงนโยบายประชานิยมที่จับต้องไดั อดีต ส.ส.หลายสมัยหลายต่อหลายคนต้องสอบตก เพราะปฏิเสธคำเชื้อเชิญให้ย้ายมาอยู่กับพรรค เฉพาะที่เชียงใหม่ ไทยรักไทยได้ ส.ส.หน้าใหม่ในมากถึง 7 จาก 9 คน นับแต่นั้นมาในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เรียกได้ว่าพรรคไทยรักไทยแทบจะผูกขาดชัยชนะอยู่พรรคเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งในปี 2548 ซึ่งกวาดทุกที่นั่ง (36 ที่นั่ง) แม้จะเกิดรัฐประหารปี 49 มาคั่นกลาง และพรรคไทยรักไทยถูกยุบไปเรียบร้อย แต่ผลการเลือกตั้งอีก 2 ครั้งถัดมาก็ยังคงใกล้เคียงเดิม ปี 50 พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 35 คนจากทั้งหมด 38 คน ปี 54 ได้ 31 คนจากทั้งหมด 32 คน โดยมักพลาดแค่ที่แม่ฮ่องสอน

สำหรับการเลือกตั้งหนหลังสุดเมื่อปี 62 นั้น ณัฐกร กล่าวว่า สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน ผลพวงของรัฐประหารปี 57 ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้งใหม่ จำนวนที่นั่งที่หายไป รวมถึงการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ล้วนส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างเห็นได้ชัด พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งลดลงเหลือเพียง 24 ที่นั่งจากที่มี 31 ที่นั่ง ซึ่งพรรคที่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้มีทั้งฟากฝั่งอุดมการณ์เดียวกันอย่างอนาคตใหม่ 4 ที่นั่ง และพรรคขั้วตรงข้ามคือ พลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง โดย 2 ใน 3 อยู่ที่จังหวัดพะเยา และหนึ่งในนั้นคือ ผู้กองธรรมนัส ที่ครั้งหนึ่งก็เคยช่วยพรรคเพื่อไทยมาก่อน

ณัฐกร ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งที่จะมีขี้นในปีหน้าจะต้องกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งทุกครั้งที่ใช้ระบบนี้ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยเดิมสามารถเอาชนะได้อย่างถล่มทลายเสมอมา ดังเช่นปี 2544, 2548 และ 2554 บรรยากาศการเลือกตั้งค่อนข้างคึกคัก แม้ทาง กกต.จะยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ว่าที่ผู้สมัครของหลายพรรคก็ไดัเปิดตัวลงพื้นที่มานานพอสมควรแล้ว พรรคเปิดตัวเกือบครบทุกเขตแล้วก็คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยโดยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.เก่า บางคนเป็นมาหลายสมัย เป็นมาตั้งแต่ปี 44 ก็หลายคน ส่วนที่เป็นคนรุ่นใหม่ถ้าไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่นที่มีฐานเสียงในพื้นที่ระดับหนึ่ง หรือไม่ก็มาจากทายาทของอดีต ส.ส.ที่ขอวางมือทางการเมือง ในส่วนของพรรคก้าวไกลล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยผ่านสนามการเมืองมาก่อน อายุราวคราว 30-40 ต้นๆ เป็นคนหนุ่มคนสาวที่มีบุคลิกและการศึกษาดีทั้งนั้น

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ฯ มช. กล่าวอีกว่า นอกจากสองพรรคนี้ก็ยังมีพรรคภูมิใจไทยที่น่าสนใจที่สุด เพราะมี ส.ส.ในสมัยสภาชุดปัจจุบันหลายคนย้ายเข้าไปสังกัดอยู่ด้วย คนที่ประชาชนเฝ้าดูไม่พ้น ศรีนวล บุญลือ หรือที่ จ.เชียงรายมีบางคนย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยด้วย ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทยที่ จ.พะเยายังคงคลุมเคลือ พรรคไทยสร้างไทยก็ปรากฎป้ายหาเสียงภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับผู้สมัครในนามพรรคกระจายอยู่ทั่วไป แต่ผู้สมัครไม่ใช่ระดับบิ๊กเนม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net