กรอบ 180 วัน : สภาฯ ทำคู่มือแจก ส.ส. - 'สมชัย' ชี้ กกต.ออกระเบียนเว้นได้ - 'นิกร' แนะแก้เหลือ 90 วัน - ‘สุธรรม' ย้ำ กกต.ต้องรับผิดชอบ

  • ‘สุธรรม แสงประทุม’ ชี้  กกต.ต้องรับผิดชอบการทำหน้าที่ด่วน เร่งทำให้เกิดความโปร่งใส หลังกฎเหล็ก 180 วันสร้างความคลุมเครือ ทำสังคมสิ้นหวัง
  • สภาฯ ทำคู่มือแจก ส.ส. - 'สมชัย' ชี้ กกต.ออกระเบียนยกเว้นกฎ 180 วันได้
  • 'นิกร' ระบุ กรอบเวลา 180 วันเฝ้าระวังทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้เสียเปรียบ เสนอแก้กฎหมายเหลือ 90 วัน

3 ต.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานต่อสื่อมวลชนว่า สุธรรม แสงประทุม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ มีสาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้

1. ความคลุมเครือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว มีหลายเรื่องที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ถึงการตัดสินใจตามอำนาจหน้าที่ ปรากฎว่า พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่งมากที่สุด ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่มีบัตรเขย่งทำให้มีพรรคเล็กได้สนับสนุนรัฐบาลที่มีที่มาจากสมาชิกวุฒิสภา นอกจากนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งบางเขตมีปัญหา ในที่สุด คดีให้ใบแดงผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ศาลตัดสินให้ กกต ต้องใช้หนี้เลือกตั้ง จากความผิดพลาด ดังกล่าว

2. ความยุติธรรม หลังจากการประกาศระเบียบของ กกต ในเรื่อง 180 วัน ในการห้ามผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำเรื่องใด ปรากฎว่า ข้อจำกัดต่างๆ ที่แจ้งมา ไม่มีความชัดเจน คนของรัฐบาลทำได้ แต่ฝ่ายค้านทำไม่ได้ สิ่งที่ควรทำ กลับไม่ได้ทำ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต ควรทำทันทีที่ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี และเมื่อมีระเบียบระยะ 180 วันแล้ว ควรให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเตรียมตัว กลับเก็บเรื่องเขตเลือกตั้งไว้ให้เป็นปัญหาเหมือนในปี พ.ศ. 2562 ที่มีข้อครหาว่า ใครสนับสนุนพรรคของคณะผู้ยึดอำนาจ มีโอกาสเลือกเขตเลือกตั้งที่ต้องการ ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมเริ่มสิ้นหวังกับคำว่า “ยุติธรรม” ดังจะเห็นจากเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง ควรทำหน้าที่ให้สังคมเชื่อมั่นในเรื่องนี้

3. ความสิ้นหวัง  ในสถานการณ์หลัง สิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวันที่ 1 ต.ค.2565 ปรากฎว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่กฎหมายฉบับนี้ ตกเป็นโมฆะ ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้ง ประชาชนอาจทำใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ต่ออายุให้นายกรัฐมนตรีได้อยู่ต่อไป แต่เมื่อครบวาระของสภาผู้แทนราษฏร 4 ปี ย่อมต้องมีการเลือกตั้ง หรือในกรณียุบสภาหลังการประชุมเอเปค จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องแสดงความชัดเจนว่า จะทำอย่างไร ถ้ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และจะรับผิดชอบจัดการเลือกตั้งอย่างไร ทุกวันนี้ สิ่งที่ไม่แน่นอน คือ ศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนคนขับรถที่ชอบขับรถคร่อมเลน คนปกติเขาขับรถอยู่ในเลน แต่เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากคนที่ขับรถคร่อมเลน อันตรายมากๆ คนอื่นต้องปล่อยให้รถประเภทนี้ ขับไปตามใจ ใครที่กล้าขับรถคร่อมเลนมักจะทนงตัว อวดเก่ง ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องสร้างความมั่นใจให้เห็นว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นและเป็นโอกาสให้ประชาชนมีความหวังในการเปลี่ยนรัฐบาล 

สุธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสมัยที่เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งของอินเดีย ซึ่งมี กกต. เพียงคนเดียว สามารถจัดการการเลือกตั้งในประเทศที่มีประชากร 1,300 คน ได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่ ประเทศไทยมี คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถึงจำนวน 7 คน ควรทำงานให้รอบคอบ รัดกุม ชัดเจน ไม่ทำให้สังคมสับสนหรือสร้างปัญหาใหญ่เป็นความขัดแย้งของบ้านเมือง

สุธรรม ยังเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่วมรับผิดชอบในการทำหน้าที่ตามกฎหมายให้ชัดเจน ตลอดจนเตรียมการรับผลร้ายจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ 

สภาฯ ทำคู่มือแจก ส.ส.

สำนักข่าวไทย รายงานว่า ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หลังจากให้ฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรจัดทำคู่มือการหาเสียงช่วง 180 วัน ก่อนการเลือกตั้ง ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขณะนี้ได้จัดส่งคู่มือดังกล่าวให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนแล้ว ในขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรก็ทำคู่มือนี้ไว้เช่นกัน

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้ กกต. ผ่อนปรนระเบียบดังกล่าวในช่วงนี้ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากน้ำท่วมนั้น ชวน เห็นว่า ในความจริงแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถไปเยี่ยมเยียนประชาชนได้ เพราะ กกต.บอกว่าไม่ผิด เพียงแต่ไม่ให้ไปแจกของ และเรื่องนี้คงต้องไปถาม กกต. เพราะเป็นผู้พิจารณา

'สมชัย' ชี้ กกต.ออกระเบียนยกเว้นกฎ 180 วันได้

ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Somchai Srisutthiyakorn'  ว่า กกต. สามารถออกหลักเกณฑ์ให้พรรคและนักการเมือง ช่วยเหลือประชาชน เมื่อเกิดภัยพิบัติแม้ในช่วง 180 วันก่อนครบวาระสภาได้ โดยมาตรา 65 วรรคสาม ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ระบุว่า การที่พรรคหรือบุคคลที่จะสมัคร ส.ส. ห้ามให้เงินทรัพย์สินแก่ประชาชน ชุมชน ในช่วง 180 วันก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฏร สามารถไม่ใช้บังคับเมื่อมีเหตุสมควรตามจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด

อดีต กกต. ระบุว่า กกต. เคยออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันควรฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 ข้อ 6 ให้พรรคการเมืองสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติได้ไม่เกิน 3 ล้าน และ ส.ส.ได้ ไม่เกิน 3 แสนบาท หลายจังหวัดตอนนี้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม และยังคงมีโอกาสเกิดต่อเนื่องอีกไม่น้อย

“อย่าให้ประชาชนต้องหลั่งน้ำตาเพราะความทุกข์ยากรอความช่วยเหลือเลย ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนทุกฝ่ายที่มีศักยภาพต้องช่วยกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นพรรคการเมือง ส.ส. หรือ ผู้สมัคร พรรครัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม กกต. คิดอะไรบ้างไหมครับในเรื่องนี้ อย่าคิดเพียงว่า มีกฎหมายฉันก็ทำตามกฎหมายไม่อีนังขังขอบกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน” สมชัย ระบุ

'นิกร' ระบุ กรอบเวลา 180 วันเฝ้าระวังทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทำให้เสียเปรียบ เสนอแก้กฎหมายเหลือ 90 วัน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานด้วยว่า นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา แจ้งให้ที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา ทราบระหว่างการนับคะแนนเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ว่า เตือนให้สมาชิกพรรคระวังการหาเสียงเลือกตั้งในช่วง 180 วันในระยะที่จะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้สิ่งที่เป็นปัญหา คือการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต. ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ทราบว่ามี 5 เขต แต่ไม่รู้ว่าเขตอยู่ตรงไหนบ้าง ทำให้หาเสียงไม่ได้ อย่างไรก็ดีการกำหนดระยะเวลาดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของ กกต. เพราะพบว่าในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ยกร่างกฎหมายและแก้ไขกฎหมายกำหนดเงื่อนไขของระยะเวลาที่ต้องเฝ้าระวัง จากเดิมใช้ 90 วัน เป็น 180 วันทำให้ตนมองว่าควรแก้ไขให้เอาเนื้อหาดังกล่าวออก และให้เริ่มนับกันใหม่ โดยใช้เงื่อนไขเวลาเดิม คือ 90 วัน หากมีการยุบสภา จะต้องมีการเลือกตั้งภายใน 45- 60 วัน ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวจะพอดีกัน ไม่เช่นนั้นได้เปรียบเสียเปรียบกัน

นิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอยู่ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามที่มีสมาชิกรัฐสภาร้อง ทั้งนี้ในเรื่องกฎหมายดังกล่าวที่เป็นปัญหา คือ กฎหมายพรรคการเมือง ที่จะเกี่ยวกับการตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ที่ของพรรคชาติไทยพัฒนาจะหมดวาระ เดือนธันวาคม นี้ ดังนั้นต้องตั้งตัวแทนใหม่ แต่ต้องรอพิจารณากฎหมายว่าจะให้มีจำนวนเท่าใด จากเดิมที่พรรคมีตัวแทนหนึ่งแห่ง อาจต้องเพิ่มเป็นตัวแทนในทุกจังหวัด เบื้องต้นตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเมตตาวินิจฉัยร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท