Skip to main content
sharethis

 

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟสบุ๊คประกาศผ่านโพสต์ว่าพวกเขากำลังร่วมมือกับองค์กรอย่างน้อย 27 องค์กรในการจัดตั้งสกุลเงิน "ลิบรา" ขึ้น โดยระบุว่าจะเป็นสกุลเงินที่นำมาใช้จ่ายบริการต่างๆ ได้รวดเร็วเพื่อรองรับคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแต่ไม่มีบัญชีธนาคาร พวกเขามีแผนจะเปิดตัวเงินสกุลนี้ภายในปี 2563

ภาพเฟสบุ๊คและองค์กรร่วมก่อตั้งสกุลเงินลิบรา (ที่มา:เฟสบุ๊ค)

19 มิ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.)  มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟสบุ๊คประกาศว่าทางเฟสบุ๊คร่วมกับ 27 องค์กรจากทั่วโลกได้จัดตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อสมาคมลิบราขึ้น และมีการสร้างสกุลเงินใหม่ที่เรียกว่า "ลิบรา" (Libra)

ซัคเคอร์เบิร์กระบุว่าภารกิจของสมาคมลิบราคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินโลกในแบบเรียบง่ายเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก โดยระบบที่ว่านี้จะมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยและมีแผนการเริ่มต้นเปิดตัวในปี 2563 คำขวัญในหน้าเว็บไซต์ของพวกเขาระบุว่า "แปลงโฉมการเงินรูปแบบใหม่ แปรสภาพเศรษฐกิจโลก เพื่อให้ประชาชนทุกแห่งได้มีชีวิตที่ดีขึ้น"

ในโพสต์ของซัคเคอร์เบิร์กนำเสนอว่าการใช้เงินเคลื่อนที่แบบที่เรียกว่า "โมบายมันนี" มีความสำคัญในแง่การส่งผลทางบวกต่อชีวิตผู้คนเพราะทำให้คนไม่จำเป็นต้องถือเงินสดอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากไม่ปลอดภัย หรือไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ระบบการเงินใหม่นี้จะส่งผลบวกต่อคนนับพันล้านที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการธนาคารหรือบริการการเงินแบบดั้งเดิมได้ โดยที่คนนับล้านเหล่านี้มีโทรศัพท์มือถือถึงแม้จะไม่มีบัญชีธนาคาร

เฟสบุ๊คยังมีแผนการสร้างบริการที่เรียกว่า "คาลิบรา" (Calibra) ในการใช้โอน จ่าย และออมเงินสกุลลิบราได้ โดยจะเริ่มเปิดให้มีตัวเก็บเงินดิจิทัลนี้ใน WhatsApp และ Messenger และในฐานะแอพพลิเคชันเดี่ยวภายในปีหน้า ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวว่าพวกเขาต้องการทำให้ทุกคนรับและส่งเงินได้ง่ายเทียบเท่ากับการแชร์รูปหรือข้อความ โดยที่โปรแกรมคาลิบราจะมีการควบคุมดูแลแบบเดียวกับผู้ให้บริการใช้จ่ายอื่นๆ จะมีการแยกข้อมูลผู้ใช้งานคาลิบราออกจากข้อมูลส่วนตัวที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊ค พวกเขาตั้งเป้าว่าในระยะเริ่มแรกคาลิบราจะสามารถใช้ส่งเงินสกุลลิบราให้กับใครก็ได้โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่มีเลย และหลังจากนั้นก็ตั้งเป้าว่าจะให้บริการขยายไปถึงธุรกิจต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการ "ซื้อกาแฟด้วยการสแกนโคด" หรือการใช้งานบริการขนส่งสาธารณะโดยไม่ต้องถือเงินหรือบัตรโดยสาร

ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊คยังพูดถึงแผนการที่จะให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาสร้างบริการของตัวเองโดยใช้สกุลเงินลิบรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านการชำระเงินอย่างมาสเตอร์การ์ด เพย์พอล หรือวีซา บริษัทให้บริการดังๆ อย่าง Lyft Spotify หรือ Uber ไปจนถึงกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านการเข้าถึงทางการเงินอย่างเมอร์ซีคอร์ปส์ วูแมนเวิร์ลแบงค์กิง ไปจนถึงพื้นที่คริปโตต่างๆ ในขณะที่มีบริษัทบางส่วนที่ช่วยผลักดันนวัตกรรมของลิบราเน็ตเวิร์กซัคเคอร์เบิร์กก็หวังว่าจะมีผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมลิบรารวมกันมากกว่า 100 องค์กรภายในการเปิดตัวปีหน้า

ซัคเคอร์เบิร์กบอกว่าทั้งหมดนี้สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีการดำเนินการผ่านองค์กรต่างๆ หลายองค์กรซึ่งเขาเชื่อว่ามันเป็นการ "กระจายอำนาจจากศูนย์กลาง" และเชื่อว่าจะทำให้ระบบเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงมีการเน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวในเรื่องการส่งข้อความไปจนถึงการใช้จ่ายอย่างปลอดภัย โดยที่การเงินในระบบนี้จะมีการเข้ารหัส (cryptography) เพื่อทำให้เงินของผู้ใช้ปลอดภัย ซัคเคอร์เบิร์กเสนออีกว่าองค์กรคาลิบราจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงคอยดูแลไม่ให้มีการใช้งานเชิงต้มตุ๋นหลอกลวง รวมถึงมีระบบคุ้มครองการถูกต้มตุ๋นด้วยการเสนอคืนเงินให้ถ้าหากผู้ใช้งานเสียเงินลิบราคอยน์ไป นอกจากนี้ยังจะให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกในการใช้แหล่งเติมเงินจากบริษัทบุคคลที่ 3 แหล่งอื่นๆ ได้หลากหลายแหล่งกับเครือข่ายของลิบราด้วย

"พวกเรารู้ว่ามันเป็นการงานและความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง และพวกเราก็มีพันธกรณีในการทำให้มันถูกต้อง พวกเราทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในสาขาการเข้าถึงของคนทุกคนในด้านการเงิน เศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และบล็อกเชน พวกเราจะรับฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาต่อไปในขณะที่พวกเราจะแสวงหาวิธีการที่ดีที่สุดในการเคลื่อนไปข้างหน้า" ซัคเคอร์เบิร์กระบุในโพสต์ของเขา

เรียบเรียงจาก

Mark Zuckerberg, Facebook, Jun. 18, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net