โซเชียลมีเดียปรับตัวอย่างไรบ้างในการแก้ปัญหา 'ข้อมูลเท็จ' ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2563

25 ต.ค. 2563 ในช่วงไม่นานนี้มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโซเชียลมีเดียซึ่งบางเรื่องก็อาจจะเป็นเรื่องที่ผูใช้งานชาวไทยสามารถสัมผัสได้ เช่น เรื่องที่ทวิตเตอร์เปลี่ยนวิธีการรีทวีตใหม่ชั่วคราวกับผู้ใช้งานทั่วโลก สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเพราะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ สื่อโซเชียลมีเดียต่า งๆ ต้องปรับตัวจากการกดดันของรัฐบาลไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่กระจายข้อมูลเท็จหรือกลโกงต่างๆ ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ก็มีข้อวิจารณ์ว่ามาตรการบางอย่างทำให้เกิดอุปสรรคในการหาเสียงและการทำงานของเครือข่ายให้คำปรึกษาทางการเมืองได้

การเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. 2563 กำลังกระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ เว็บโซเชียลมีเดียหลายแห่งก็มีการปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆ อย่างเพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารลวงซึ่งเคยเป็นประเด็นอย่างมากในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ นั้นทำให้มีเหตุการณ์ที่ทั้งเฟสบุคและทวิตเตอร์พยายามสกัดกั้นบทความที่ไม่ได้รับการยืนยันแหล่งที่มาของสื่อนิวยอร์กโพสต์ที่เป็นเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับผู้แทนพรรคเดโมแครตโจ ไบเดน แต่ต่อมาพรรครีพับลิกันก็กดดันจนทำให้สื่อโซเชียลมีเดียทั้งสองแห่งกลับลำ

Politico ระบุว่าเรื่องดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นสภาพความท้าทายที่เหล่าบรรษัทไอทีด้านโซเชียลมีเดียต้องเผชิญภายใต้การเมืองการเลือกตั้งสหรัฐฯ และอาจจะรวมไปถึงการเมืองในที่อื่นๆ ของโลกที่ต้องเผชิญกับการใส่ร้ายป้ายสีหรือการใช้ข้อมูลเท็จเล่นงานกัน โดยที่ Politico ตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการใช้ข้อมูลบิดเบือนนี้เป็นปัญหาทั่วโลกนับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 เป็นต้นมา จนทำให้โซเชียลมีเดียทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการทางสภาพการเมือง

เจสสิกา เฮอร์เรรา-ฟลานิแกน รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำอเมริกาของทวิตเตอร์กล่าวว่าสำหรับทวิตเตอร์แล้วพวกเขาปฏิบัติเหมือนเป็น "ปีเลือกตั้ง" อยู่ตลอดเวลา พวกเขาเรียนรู้จากการเลือกตั้งในช่วงไม่นานนี้จากทั่วโลกแล้วใช้มันมาพัฒนาแนวทางปฏิบัติของทวิตเตอร์

ในปี 2559 เคยมีเรื่องที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นจากกรณีการที่อีเมลของทีมผู้สมัครลงเลือกตั้งบางส่วนถูกขโมยหรือรั่วไหลซึ่งมาจากการแทรกแซงของรัสเซีย จนส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนั้น รวมถึงกรณีของนิวยอร์กโพสต์ล่าสุดทำให้พวกเขาต้องมาคิดวิธีการใหม่ว่าจะทำอย่างไรกับเนื้อหาที่ถูกแฮ็ก

หนึ่งในสิ่งที่เฟสบุคทำคือการสั่งห้ามโพสต์โฆษณาทางการเมืองชั่วคราวในคืนหลังการเลือกตั้งจนกว่าจะมีประกาศออกมาอีกครั้ง ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ซีอีโอ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ให้สัญญาว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ อีกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขณะที่กูเกิลก็ประกาศจะงดโฆษณาเกี่ยวกับการเมืองชั่วคราวเช่นกันในช่วงหลังการเลือกตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการประกาศอ้างผู้ชนะก่อนที่จะมีการยืนยันผลอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่ทวิตเตอร์ทำคือการปรับรูปแบบการรีทวีตชั่วคราว ซึ่งก็คือการเผยแพร่ข้อมูลต่อบนหน้าของตัวเองจากเดิมที่สามารถทำให้เลือกรีทวีตได้ทันทีกับเลือก "โควตทวีต" คือการเผยแพร่ข้อมูลต่อพร้อมระบุข้อความของตัวเองโดยอ้างอิงโพสต์ดั้งเดิม แต่ในการเปลี่ยนแปลงล่าสุดนี้ทำให้เมื่อกดรีทวีตแล้วจะนำไปสู่หน้า "โควตทวีต" ทันทีโดยไม่สามารถเลือกได้ แต่ยังจะสามารถเผยแพร่ต่อแบบไม่แสดงความคิดเห็นรือระบุข้อความเพิ่มได้อยู่โดยการรีทวีตโดยไม่พิมพ์อะไรลงไป ซึ่งทางทวิตเตอร์แถลงว่าสาเหตุที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการส่งเสริมให้คนเขียนอะไรสักอย่างลงไปก่อนรีทวีต และจะเป็นการทำให้ฉุกคิดก่อนว่าพวกเขากำลังจะรีทวีตอะไร อาจจะสามารถชะลอการเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งบนอินเทอร์เน็ตต่อแบบไม่ยั้งคิดได้

เว็บไซต์โซเชียลมีเดียมีการเสนอนโยบายใหม่ๆ และดัดแปลงแก้ไขนโยบายที่มีอยู่เพื่อตอบรับกับภัยที่มาจากภายนและภายนอกประเทศอยู่เสมอ บริษัทไอทีเหล่านี้บอกว่าพวกเขานำนโยบายเหล่านี้กลับมาพิจารณาใหม่อยู๋เสมอทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งใหญ่ๆ จากที่อื่นของโลกนอกจากสหรัฐฯ เช่น ในบราซิล, ไนจีเรีย, อินเดีย รวมไปถึงในอังกฤษหรือในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ทั้งหมดนี้ล้วนกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้พวกเขานำมาใช้ปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ

เกรแฮม บรูกกี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนิติเวชดิจิทัลของแอตแลนติกเคาน์ซิลกล่าวว่า มันเป็นเรื่อง "ความโอหังแบบอเมริกัน" ที่พยายามปรับอะไรหลายๆ อย่างเพื่อไม่ให้มีอะไรผิดพลาดในการเลือกตั้งปี 2563 โดยเฉพาะ บรูกกีผู้ทำงานเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นข้อมูลลวงจากทั่วโลกกล่าวอีกว่า "ปี 2563 นี้เหมือนกับเป็นมหกรรมกีฬาซูเปอร์โบวล์ในแง่ที่ว่าพวกเราสามารถหาวิธีจัดการกับปัญหาการใช้ข้อมูลใส่ร้ายป้ายสีร่วมกันได้"

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางโซเชียลมีเดียเช่นนี้ยังมีปฏิสัมพันธ์กับการเลือกตั้งในต่างประเทศด้วยเช่นกัน และบางครั้งก็ก่ออุปสรรคในการที่โซเชียลมีเดียเหล่านี้ต้องฝ่าดงกฎเกณฑ์หรือประเพณีต่างๆ เกี่ยวกับคำปราศรัยทางการเมืองและกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะในขณะที่พยายามทำให้ง่ายและคงเส้นคงวา เช่นกรณีในยุโรปประสบปัญหาหลังจากที่เฟสบุคประกาศเมื่อเดือน เม.ย. 2562 ว่าผู้โฆษณาทางการเมืองจะต้องจดทะเบียนในแต่ละประเทศที่พวกเขาเผยแพร่โฆษณา แต่มาตรการนี้กลายเป็นการปิดกั้นสภายุโรปและพรรคการเมืองที่มีสมาชิกข้ามประเทศ นั่นทำให้เฟสบุคต้องปรับเปลี่ยนกฎของตัวเองในเวลาต่อมา

ในกรณีของบราซิลและอินเดียที่มีการเลือกตั้งในปี 2561-2562 ก็มีการใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อมูลเท็จจำนวนมากผ่านทางแอพพลิเคชันส่งข้อความ WhatsApp ไม่ว่าจะในรูปแบบของข่าวปลอมหรือรูปภาพปลอมที่มีการเผยแพร่ผ่านทั้งการส่งข้อความโดยตรงและในกลุ่มไพรเวท การพยายามกำจัดการใส่ร้ายป้ายสีเหล่านี้ทำได้ยากสำหรับเฟสบุคเพราะแอพนี้มีเทคโนโลยีการเข้ารหัสที่ซับซ้อนทำให้แม้แต่บริษัทเองก็ไม่สามารถเห็นข้อความที่ผู้ใช้งานส่งถึงกันได้ พวกเขาจึงใช้วิธีการจำกัดจำนวนของผู้คนหรือจำนวนกลุ่มที่จะสามารถส่งข้อมูงต่อได้ในแต่ละครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข้อมูลเท็จ บริษัทเฟสบุคบอกว่ามาตรการนี้ทำให้การส่งข้อมูลเท็จลดลงไปได้ร้อยละ 25 และทำให้ต่อมาในเดือน ก.ย. ปีนี้ เฟสบุคได้เริ่มนำมาตรการเดียวกันมาใช้กับการเลือกตั้งสหรัฐฯ

อีกปประเด็นหนึ่งคือเรื่องการที่เฟสบุคและกูเกิลต่างก็แก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยตลอดเกี่ยวกับการโฆษณาทางการเมืองในช่วงก่อนจะถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีนี้ และจำกัดการเผยแพร่โฆษณาทางการเมืองหลังเลือกตั้งจนกว่าจะมีผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยที่กูเกิลเคยใช้วิธีแบบทำให้ผู้โฆษณาสามารถวางเป้าหมายผู้รับสารของพวกเขาได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ขณะที่ทวิตเตอร์จำกัดกลุ่มธุรกิจเล็กๆ ที่ทำการโฆษณาทางการเมืองตั้งแต่ในปีที่แล้ว มาตรการเหล่านี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ รวมถึงก่อปัญหาให้กับเครือข่ายให้คำปรึกษาทางการเมืองในทางดิจิทัลด้วย

เฟสบุคยังออกกฎเกณฑ์แบบเดียวกันนี้กับการประท้วงในประเทศอื่นๆ นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 เป้นต้นมาโดยระบุห้ามไม่ให้ผู้โฆษณานอกประเทศไนจีเรียทำการโฆษณาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งของประเทศเพื่อหวังว่าจะแก้ปัญหาการแทรกแซงจากต่างประเทศแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2559 และต่อมาก็มีการนำมาใช้งานกับประเทศอื่นๆ เช่น ยูเครน, ไทย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

กรณีของการเลือกตั้งในปี 2559 นั้นเคยมีการตรวจสอบพบการซื้อโฆษณาจากปฏฺิบัติการของรัสเซียโดยที่บริษัทไอทีเหล่านี้ไม่ได้เอะใจอะไร จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเรื่องการซื้อโฆษณา จนนำมาซึ่งกฎเกณฑ์ในการเลือกตั้งปี 2563 ที่ระบุให้มีการเปิดเผยและพิสูจน์ตัวตนของผู้โฆษณามากขึ้นเพื่อยังยั้งการหาช่องโหว่ในการปิดบังตัวตนของผู้โฆษณา ทั้งนี้ในบางครั้งแล้วการดำเนินนโยบายต่อต้านข้อมูลเท็จก็ไม่ได้นำมาใช้ในเวลาเดียวกันทุกแห่งในโลก เช่นมีกรณีที่เฟสบุคและกูเกิลเคยถูกวิจารณ์ว่าพวกเขาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายโฆษณาทางการเมืองให้กับผู้ใช้งานในยุโรปทราบล้าหลังจากที่ประกาศให้กับผู้ใช้งานสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือน

เรียบเรียงจาก
How to retweet using Twitter’s new temporary format, The Verge, 21-10-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท