หลากความเหลื่อมล้ำมิติเพศสภาพ ผู้หญิงยังเผชิญความรุนแรงหนัก

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2562 ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาเรื่องความเหลื่อมล้ำในมิติเพศสภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรี่ส์เสวนาว่าด้วยความเหลื่อมล้ำหลากมิติ

วิทยากร ได้แก่ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วราภรณ์ แช่มสนิท จากสมาคมเพศวิถีศึกษา

วราภรณ์ กล่าวว่า มิติเพศสภาพนั้นครอบคลุมทุกเพศ ปัจจุบันหากพูดถึง Gender ก็จะไม่ได้มีแค่หญิงกับชายแต่มีเพศอื่นๆ ที่เจอกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย โดยเรื่องความเหลื่อมล้ำจะเห็นได้หลายมิติ เช่น ความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน การกระจุกตัวของตำแหน่งงานในองค์กร ผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย คนที่ทำงานใช้ทักษะน้อยจะเป็นผู้หญิง รายได้ที่ไม่เท่ากันของชาย-หญิงในลักษณะงานเดียวกัน การรับภาระงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างการที่ผู้หญิงที่ต้องรับทำงานในบ้าน ในการเมืองการดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นก็ยังมีแต่เพศชายเป็นส่วนใหญ่

วรภรณ์กล่าวอีกว่า ในด้านสังคมวัฒนธรรม ตัวชี้วัดสำคัญอันหนึ่งคือภาพตัวแทนในสื่อ ทั้งหญิง ชาย และคนข้ามเพศถูกนำเสนอภาพแบบไหน แตกต่างกันอย่างไร ในด้านสังคมก็มีภาระที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ เช่น การดูแลสมาชิกในครอบครัวอย่างการดูแลผู้สูงอายุ เพศใดที่ต้องแบกรับภาระนี้มากกว่ากัน

ตัวชี้วัดระดับสากล อีก 100 ปีผู้หญิงเท่าเทียมผู้ชาย

หากมองในระดับสากล ตัวชี้วัดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศมีอยู่ 2-3 ตัวชี้วัด เช่น gender equality index ตัวชี้วัดอีกอันหนึ่งคือ economic forum เป็นรายงานช่องว่างทางเพศสภาพระดับโลกซึ่งดู 4 ด้านด้วยกัน เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ การเมือง โดย economic forum เก็บข้อมูลมา 12 ปีแล้วคำนวณดูว่าแต่ละปีช่องว่างน้อยลงเท่าไร หากพิจารณาบนฐานการลดลงช่องว่างระหว่างหญิงชายในอัตราที่ดำเนินมา 12 ปีที่ผ่านมา พบว่า กว่าช่องว่างจะลดหรือมีความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงในระดับโลก ต้องใช้เวลาประมาณอีก 100 กว่าปี แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกต้องใช้เวลาอีกประมาณ 170 ปี

ข้อสังเกตเรื่อง Gender หรือเพศสภาพจะเห็นได้ว่าแทรกอยู่ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงานการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ การเงิน เรียกว่าเป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในทุกด้าน พูดอีกอย่างหนึ่งคือในชีวิตของคนเรามันมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในแต่ละด้านทับซ้อนกัน

ผู้หญิง 1 ใน 3 เผชิญความรุนแรง ไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย

ในเรื่องวัฒนธรรมด้านเพศเกี่ยวพันกับความรุนแรง หน่วยงานของ UN ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยถูกใช้ความรุนแรง หรือจะมีโอกาสถูกใช้ความรุนแรงในช่วงชีวิต เป็นความรุนแรงทางด้านร่างกายหรือทางเพศ

ส่วนในประเทศไทยเคยมีการสำรวจพบว่า 44% ของผู้หญิงไทยอายุ 15-49 ปีที่มีคู่หรือเคยมีคู่ก็เคยถูกใช้ความรุนแรง ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยระดับโลก การสำรวจเมื่อ 2 ปีที่แล้วของคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี สำรวจระดับครอบครัวพบว่า 34.76% ของครอบครัวไทยให้ข้อมูลว่ามีการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในครอบครัว

รูปแบบความรุนแรงในชีวิตคู่พบว่ามีหลายรูปแบบนอกเหนือจากการทำร้ายร่างกายเช่น การทำร้ายทางเพศ การทำร้ายจิตใจ การข่มขู่ บังคับ จำกัดอิสรภาพ การใช้ลูกเป็นเครื่องต่อรอง มันอาจจะถูกมองว่าอย่างนี้มันความรุนแรงด้วยหรือ จนอาจจะทำให้ถูกมองข้ามไป ทั้งหมดนี้การที่เราดำรงอยู่ ยอมรับ และสืบทอดวัฒนธรรม เป็นกระบวนการที่ทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ

ผลกระทบจากความรุนแรง

ในที่นี้จะพูดถึงความรุนแรงของชีวิตคู่ ผลกระทบด้านสุขภาพก็จะมีสุขภาพจิตที่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวอาจเป็นโรคซึมเศร้า ติดแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติดมากเป็น 2 เท่าของผู้หญิงกลุ่มอื่น ด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์หากตั้งครรภ์มีโอกาสที่จะมีลูกที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 16% มากกว่าผู้หญิงกลุ่มทั่วไป และมีโอกาสที่จะติดเชื้อ HIV หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น 1.5 เท่า

ในแง่เศรษฐกิจมีการวัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มีผลมาจากความรุนแรง ในบางประเทศวัดความสูญเสียทางเศรษฐกิจบนฐานความสูญเสียของราคา เช่น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล ตรวจร่างกาย ส่วนหนึ่งก็เป็นมูลค่าเศรษฐกิจกับการการสูญเสียโอกาส การสูญเสียรายได้จากผู้ถูกกระทำที่ต้องหยุดงานหรือมีความสามารถในการผลิตลดลงในการทำงาน หากประมาณการค่าใช้จ่ายในความรุนแรงต่อผู้หญิงหรือความรุนแรงทางเพศมีค่าใช้จ่ายถึง 37% ของ GDP หรือสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่หลายประเทศลงทุนด้านการศึกษา

นิยามความหมายเพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ

เนื้อแพร กล่าวถึงความหมายของเพศสภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์ และในเชิงของข้อมูลที่มีในการเปรียบเทียบเรื่องความเหลื่อล้ำในเรื่องเพศว่า ทำได้เพียงการนิยามผ่านทางเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด หรือทางกายภาพ (Physiological) ซึ่งความจริงแล้วการพูดถึงเรื่องเพศสภาพในความหมายเชิงอัตลักษณ์ (Identity) ก็มีความสำคัญแต่เป็นสิ่งที่งานวิจัยในยุคปัจจุบันยังไปไม่ถึง เนื่องจากไม่มีความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลได้เพียงพอ ดังนั้นในวงสัมมนาครั้งนี้จึงใช้ผู้หญิงและผู้ชายเป็นตัวเปรียบเทียบแต่ก็มีความหมายที่มากกว่าเรื่องเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ส่วนประเด็นเรื่องการเหมารวมลักษณะความเป็นหญิงว่าจะต้องรักสวยรักงาม หรือ ความเป็นชายที่จะต้องแข็งแรง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะใช้พิจารณาในการศึกษา

เนื้อแพร กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเหลื่อล้ำว่า ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ 2 มิติ คือความเหลื่อล้ำในเชิงของโอกาส (Opportunities) และความเหลื่อล้ำในเชิงของผลลัพธ์ (Outcomes) ซึ่งถ้าหากมีความเหลื่อมล้ำในเชิงของโอกาสแล้ว โอกาสที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงของผลลัพธ์จะเป็นไปได้ยากมาก

ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพในระบบการศึกษาไทย

ประเด็นแรกคือ ช่องว่างที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา เมื่อดูจากสถิติจะเห็นได้ว่าในการศึกษาภาคบังคับมีช่องว่างที่เกิดขึ้นเล็กน้อย ไม่เท่ากับการศึกษาที่เกินภาคบังคับขึ้นไปที่เด็กและผู้ปกครองสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะไปเรียนต่อสายสามัญหรือสายอาชีวะ สิ่งที่พบคือ มีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอยู่ในสายสามัญ แต่พอมาดูสัดส่วนชาย/หญิง ในสายอาชีวะ ซึ่งเป็นสายนโยบายหลักของชาติ เป็นสายที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่าการศึกษาระดับ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) ปรากฏว่ามีผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 37% เท่านั้น

สิ่งที่อยากชวนคิดคือ สถิติที่เห็นนี้ เกิดจากเด็กแต่ละคนเลือกด้วยความตั้งใจของตัวเอง หรือเป็นเพราะว่าได้ตัดสินใจผ่านข้อจำกัดบางอย่างให้เขาคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากว่าเลือกไปแล้วก็อาจจะไปไม่ถึงในสิ่งที่เขาต้องการ หรือไม่มีโอกาสเลือกด้วยซ้ำ

เนื้อแพรกล่าวว่า ผู้หญิงที่สามารถเข้ามาสู่สายสามัญได้ เมื่อดูในระดับปริญญาตรีและโทก็จะมีผู้หญิงอยู่เยอะผู้ชายกว่าในระดับการศึกษาที่ค่อนข้างสูง ถ้าเด็กหญิงไทยได้เรียนก็จะเป็นกำลังแรงงานที่ค่อนข้างฉลาด

เมื่อมาดูสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาโดยดูจากสาเหตุที่ทำให้เด็กชายหรือหญิงต้องออกจากการเรียนจะพบว่า 35% ของนักเรียนหญิง (ประถมถึงมัธยมต้น) มีสาเหตุที่ต้องออกจากการเรียนกลางคันและไม่กลับมาเรียนอีกเลย คือ การสมรส เพราะท้องก่อนแต่งและโรงเรียนขอให้ออก ในขณะที่สาเหตุของเด็กผู้ชายคือมีปัญหาด้านการปรับตัว เนื้อแพรตั้งคำถามว่า ปัญหานี้อาจมาจากสาเหตุเชิงวัฒนธรรมที่มองเรื่องการท้องเป็นเรื่องน่าอาย และเป็นสิ่งต้องรับผิดชอบ และการตัดโอกาสในการศึกษาตั้งแต่แรกแบบนี้มันส่งผลกระทบไปยังการใช้ชีวิตของเขาในระยะยาว

ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพในการทำงาน

เนื้อแพรได้ยกข้อมูลสถิติของประเทศไทยในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงาน มองแบบผิวเผินจะพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ชายทำงานเยอะกว่าผู้หญิง แต่คำถามคือ ข้อมูลของผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ในตลาดแรงงานเป็นตัวเลือกหรือเป็นข้อจำกัดของผู้หญิง บนพื้นฐานโครงสร้าง นโยบายและตัวชี้วัดของตลาดแรงงาน

สถิติต่อมาเมื่อแยกประเภทของแรงงานว่าเป็นกลุ่มคนโสด กับ คนที่แต่งงานแล้ว ตั้งแต่อายุ 15 ปีถึง 65 ปีแสดงให้เห็นว่าในส่วนของคนโสดชายและหญิง มีความอยากทำงานและการเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดแรงงานอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันมาก แต่เมื่อมาเปรียบเทียบชาย/หญิงที่แต่งงานแล้วจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาระดับไหน จะพบช่องว่างของการมีโอกาสในการเข้าร่วมตลาดแรงงานของชายและหญิงเกือบ 30% ซึ่งหากสถิตินี้มาจากเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นจะต้องเอาตัวเองออกมาจากตลาดแรงงานโดยไม่ใช่จากการเลือกของตัวเอง นี่ก็อาจเป็นช่องว่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอะไรบางอย่าง

เนื้อแพรชี้ให้เห็นถึงความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงที่ว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนสูงๆ เพราะยังไงก็ต้องออกมาเลี้ยงดูครอบครัว หรือไม่มีเวลาทำงานอยู่ดี ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในตลาดแรงงานเหมือนกัน เมื่อดูความสามารถของเขาผ่านชั่วโมงการทำงาน ก็จะพบว่าช่วงอายุไหนก็ตามเมื่อเปรียบเทียบชายเปรียบเทียบหญิง ชั่วโมงการทำงานทำพวกเขาเหล่านั้นยินดีทำโดยเฉลี่ย ความขยันในการทำงานไม่แตกต่างกันเลย ซึ่งในบางช่วงเส้นกราฟทางสถิติของผู้หญิงมีสูงกว่าของผู้ชายด้วยซ้ำไป

เนื้อแพรได้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ปรากฏในข้อมูลทางสถิติที่กล่าวมามีผลกับความเชื่อทางสังคมอันเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างชายกับหญิงที่สะท้อนผ่านใบรับสมัครงานซึ่งสามารถนำมาอธิบายช่องว่างในตลาดแรงงานที่เกิดขึ้นได้ว่าทำไม เกณฑ์การรับสมัครจึงต่างกัน ทำไมอัตราค่าจ้างจึงต่างกัน และช่องว่าในเนื้อหาของงานที่ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายสามารถทำได้ ประกาศงานส่วนใหญ่ยังเป็นงานที่ยังไม่ได้ระบุเพศเท่าใด แต่ก็ยังมีงานหลายๆงานที่จะมีการระบุเพศที่เน้นไปยังเพศชาย ซึ่งการระบุเพศในทางเศรษฐศาสตร์สะท้อนว่าเพื่อให้นายจ้างได้มีผลประโยชน์สูงสุดจากการให้แรงงานในเพศนั้นๆ

ช่องว่างหนึ่งที่เราจะเห็นคือเงินเดือนในประกาศ เนื้อแพรกล่าวว่านายจ้างได้ตั้งเงินเดือนในประกาศที่รับแต่เพศหญิง ให้ต่ำกว่าประกาศที่ไม่ระบุเพศหรือประกาศที่รับแต่เพศชายถึง 4.5% จึงเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นในเงินเดือน และสิ่งที่พบอีกอย่างคือ ข้อมูลของทางผู้สมัครงานด้วยอาชีพและตำแหน่งที่เหมือนกัน ฝ่ายหญิงเรียกเงินเดือนตัวเองต่ำกว่าการเรียกเงินเดือนของฝ่ายชายถึง 7.3% ดังนั้นข้อมูลชุดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า นายจ้างมีการมองถึงความสามารถในการสร้างผลประโยชน์ให้ธุรกิจของตน ด้วยปัจจัยเชิงเพศค่อนข้างสูง ส่งผลให้เกิดการเลือกรับผู้สมัครงานที่จะมาทำงานให้ ส่งผลให้มีการตั้งอัตราจ้างระหว่างหญิงกับชายอย่างไม่เท่าเทียมกัน และก็ยังส่งผลไปยังผู้สมัครงานผู้หญิงที่คิดว่าตัวเองไม่มีมูลค่าทางแรงงานเท่ากับฝ่ายชาย

เนื้อแพรกล่าวว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ที่สำคัญคือการตัดโอกาสทางการศึกษา โดยยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 10 แห่ง ที่ตัดสินใจว่าผู้หญิงฉลาดเกินไป ดังนั้นจึงมีการปรับคะแนนให้ผู้หญิงสอบตกแล้วให้ผู้ชายสอบผ่าน ซึ่งก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกันที่มีการตัดสินผู้หญิงให้ไม่ต้องมีการศึกษา เพราะเรียนไปแล้วก็คงไปมีครอบครัว และความสามารถความรับผิดชอบก็ไม่เท่ากับเพศชาย

เนื้อแพรได้อธิบายประเด็นเรื่อง Discrimination ว่า “นายจ้างอาจจะคิดว่าเมื่อทำแล้วอาจเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับนายจ้าง แต่จริงๆแล้วในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกสิ่งนี้ว่า Confirmation Bias คือ การที่คิดว่าสิ่งที่เคยทำมาแล้วซ้ำๆ เป็นสิ่งที่ดี หรือ กบในกะลา เพราะไม่ไปเคยลองสิ่งอื่นเลย นายจ้างจึงคิดว่าฝ่ายชายต้องเป็นช่างมีฝีมือดี แล้วจึงคิดว่าผู้หญิงไม่มีทางทำได้”

ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพในเชิงนโยบาย

เนื้อแพรกล่าวว่า ประเด็นของกบในกะลามีผลต่อในเชิงนโยบายพอสมควร ถ้าหากการออกนโยบายต่างๆที่เกี่ยวของกับเพศหญิงโดยตรง เป็นการวงนโยบายด้วยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีเชื่อเดียวเท่านั้น ซึ่งมีตัวอย่างเรื่องการออกนโยบายการทำแท้งในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่าผู้ชายทั้งหมดเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับนโยบายเชิงเพศ หรือ นโยบายเชิงผู้หญิง ในประเทศไทยจะเห็นได้จาก สมาชิกวุฒิสภามีเพียง 20 คน จาก 250 คน ที่เป็นผู้หญิง เพราะฉะนั้นการวางนโยบายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลสำหรับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนวางนโยบายด้วย

เนื้อแพรได้ตอบคำถามของผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเพศสภาพในมิติเชิงวัฒนธรรม โดยเสนอให้มีสิ่งที่เรียกว่าภาพแทน (Representation) ของความเป็นกลางระหว่างเพศ ผ่านผู้ที่สามารถเข้าไปกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อล้ำทางเพศสภาพที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งภาพแทนดังกล่าวสามารถส่งผ่านมาได้ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงสื่อต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญคือกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต อย่างเช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ผู้เป็นพ่อลาออกมาเลี้ยงลูก ก็เป็นส่วนหนึ่งการการแสดง Representation ได้เช่นกัน

เนื้อแพรได้ตอบคำถามของ วราภรณ์ แช่มสนิท จากสมาคมเพศวิถีศึกษา หนึ่งในวิทยากรงานสัมมนาเกี่ยวกับการกำหนดหรือระบุเพศในใบสมัครว่าผิดกฎหมายแรงงานหรือไม่ การระบุเพศ หรือการกำหนดเพศ อายุ และการแต่งงาน ในการรับเข้าสมัครงาน ไม่ผิดกฎหมายแรงงานเพราะไม่มีระบุไว้ แต่กฎหมายที่จะมาช่วยคือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ออกมาในปี 2558 ซึ่งยังเป็นกฎหมายที่ยังไม่ถูกผลักดันให้ใช้ในวงกว้าง

                       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท