Skip to main content
sharethis

ผังเมือง คือ เครื่องมือกำหนดคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่โดยสร้างความรู้สึกปลอดภัยและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ นักผังเมืองไทยมีความเห็นว่า เมืองที่ดีคือเมืองที่สามารถนำภาษีมาในการพัฒนาเมืองให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด การมีพื้นที่สาธารณะจะเปิดพื้นที่ให้คนต่างชนชั้นสามารถเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันโดยเกิดความเคารพและเห็นใจอีกฝ่าย พร้อมเปรียบเทียบกับการจัดการผังเมืองในยุโรป ผ่านหลักคิดการตอบสนองปัจจัยขั้นพื้นฐานเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดปัญหาอาชญากรรม ชี้ภาครัฐมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการครอบครองที่ดินด้วยการเพิ่มอัตราภาษีของที่ดินส่วนบุคคล

ปัญหาอาชญากรรม คือ ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหาในสังคมและเศรษฐกิจของประเทศส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคมนั้น การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทยมักให้ความสนใจกับบทลงโทษที่เหมาะสมพร้อมตีตราผู้กระทำผิดด้วยความเป็นปัจเจกมากกว่าการย้อนมองต้นเหตุที่สั่งสมให้คนเป็นอาชญากร คือ สภาพของเมือง

สภาพเมืองที่อาศัยอยู่จะส่งผลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์อย่างไม่รู้ตัวเมื่อซึมซับเข้าไปเรื่อย ๆ ก็ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัย และเมื่อปัจจัยเหล่านี้มาพบกับโอกาสและสถานการณ์ที่เหมาะสมก็ส่งผลให้ผู้นั้นลงมือก่ออาชญากรรมทันที ดังนั้น จึงเกิดความคิดที่ว่าเมืองที่ดีจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรม

ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ-รั้วทึบ-จุดอับสายตา เพิ่มอัตราเหตุอาชญากรรม

พนิต ภู่จินดา

พนิต ภู่จินดา รองศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาวางแผนภาคผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมนักผังเมืองไทย มองว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุอาชญากรรมในเมืองมีด้วยกัน 2 เหตุ ดังนี้

หนึ่ง การไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ คือ ไม่สามารถหาเงินได้อย่างถูกกฎหมายหรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตจนต้องหารายได้จากการก่ออาชญากรรม ผังเมืองจึงมีหน้าที่จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เช่น ย่านสยามหรือสีลมที่มีความเข้มข้นทางเศรษฐกิจสูงก็ต้องการโครงสร้างเมืองที่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงาน เพื่อให้แรงงานหรือคนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี เข้าถึงแหล่งอาหารและสถานรักษาพยาบาลของรัฐในต้นทุนและเวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การวางผังเมืองจึงควรให้ความสำคัญกับชนชั้นกลางและคนจนก่อนเพราะถ้าคนเหล่านี้สามารถอยู่ในเมืองด้วยค่าครองชีพที่พอดีและสามารถเข้าถึงโอกาสในการทำงาน อัตราการเกิดอาชญากรรมก็สามารถลดลงได้

พนิตยกตัวอย่างจากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่ออกกฎห้ามรื้ออาคารเก่าทั้งที่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการสร้างตึกสูงพร้อมการออกนโยบายให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดพื้นที่พาณิชยกรรมได้แค่ชั้นล่างสุดและชั้นใต้ดินโดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้อาศัยที่อยู่ชั้นบนซึ่งเป็นคนจนและคนชั้นกลาง เพราะคนที่มีกำลังทรัพย์มากมักไม่เลือกอยู่ร่วมกับผู้อื่นในพื้นที่คับแคบอยู่แล้ว เมื่อคนชั้นกลางและคนจนอาศัยอยู่ในเมืองส่งผลให้อยู่ใกล้แหล่งรายได้และสวัสดิการอื่น ๆ ทำให้ต้นทุนในการใช้ชีวิตถูกลงเพราะเสียเงินและเวลากับการเดินทางน้อยลง คนที่มีรายได้น้อยก็ไม่จำเป็นต้องไปก่อเหตุอาชญากรรมเพื่อหาเงิน

สอง การมีจุดอับทางสายตา คือ ซอยที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นซอกหลืบขนาดเล็ก คดเคี้ยว มีจุดอับทางสายตา สามารถแก้ไขโดยใช้หลักการวางผังเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น 

ด้วยหลักคิดดวงตาบนถนน (eyes on street) เพราะเชื่อว่าอาชญากรจะไม่ก่อเหตุเนื่องจากกลัวคนเห็น หลักการนี้นำมาสู่มาตรฐานทางผังเมืองที่ต้องการให้ถนนหน้าบ้านกลายเป็นพื้นที่ที่คนในบ้านสามารถมองออกมาและคนจากถนนก็สามารถมองเห็นเข้าไปในบ้านได้เพื่อให้คนที่จะก่อเหตุไม่ดีในถนนและในบ้านกลัว แต่หลักการนี้เกิดขึ้นยากในพื้นที่เมืองที่ไม่มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่อยู่อาศัยและเขตพาณิชย์อย่างกรุงเทพฯ

หากสังเกตบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ จะพบว่าหลายบ้านสร้างรั้วทึบเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่ว่ารั้วนี้ก็เป็นสิ่งที่ปิดกั้นการรับรู้ของคนในบ้านจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอก และปิดกั้นการรับรู้ของคนข้างนอกเมื่อเกิดเหตุข้างในบ้าน ยกตัวอย่างเช่นบ้านกำแพงสูงในซอยอารีย์ แต่ถ้ามีพื้นที่ชุมชนชัดเจนจะพบว่าไม่ค่อยมีรั้วทึบในชุมชนเพราะทุกคนรู้จักกันหมด

เมืองที่ดีคือเมืองที่โปร่งใสทางการเมือง

สำหรับพนิต คำว่า “เมืองที่ดี” คือเมืองที่มีความโปร่งใสทางการเมือง มีการนำภาษีประชาชนมาใช้ในการพัฒนาเมือง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ประโยชน์มากกว่าที่ควรจะได้ ส่วนรูปแบบของเมืองและลักษณะทางกายภาพนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ หากนำผังเมืองที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลกอย่างบาร์เซโลนาหรือปารีสมาวางไว้ที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ทำให้มหานครแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

แม้ผังเมืองของแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกันแต่การวางผังเมืองก็ควรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิต เช่น เข้าถึงไฟฟ้า มีน้ำประปาที่สะอาด มีการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ

นอกจากนั้น พนิตยังมองว่าผังเมืองที่ดีจะช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองด้วย เพราะหลักการของสวนสาธารณะ คือ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนเท่าเทียมกันและช่วยลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ส่วนตัวเคยเขียนบทความวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงว่า 

“การไม่มีสวนสาธารณะทำให้ไม่มีพื้นที่ให้คนต่างฐานะและชนชั้นถอดเอาฐานะและชนชั้นไว้ข้างนอกแล้วมาเจอกันแบบมนุษย์ปกติ” พนิต กล่าว

การมีพื้นที่สาธารณะน้อยเกินไปก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สาธารณะเพื่อให้คนในสังคมได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตปกตินอกกรอบเวลางาน คือ ถ้าคนรวยหรือผู้ปกครองได้ออกมาใช้ชีวิตในสวนสาธารณะร่วมกับชนชั้นล่าง พื้นที่นี้จะทำให้เขาได้เห็นถึงวิถีชีวิตปกติของชั้นแรงงานและทำความเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงต้องดิ้นรนทำงานหนักและเรียกร้องเงินเดือนเพิ่มขึ้น เพราะเขามีลูกอีกสามคนที่ต้องเลี้ยงดู ส่วนคนจนก็จะได้เห็นคนรวยเดินเหงาตอนเย็นหลังเลิกงาน ดังนั้น หน้าที่ของสวนสาธารณะจึงมีมากกว่าการเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนแต่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้วิถีความเป็นมนุษย์ของคนในสังคม

ประเทศไทยกับการแก้ไขปัญหาเมือง ความยากจน และอาชญากรรม

“ประเทศไทยยังคิดว่าการแก้ปัญหาคนยากจนในเมืองคือการเพิ่มเงินแต่ไม่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ก็ยากที่พวกเขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

พนิตมองว่าการวางผังเมืองสามารถลดปัญหาความยากจนได้โดยการวางแผนเมืองที่สามารถลดต้นทุนในการใช้ชีวิตมากกว่าการให้เงินซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ยกตัวอย่างกรณีเวนคืนพื้นที่สลัมหรือชุมชนในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยอ้างว่ารัฐได้จัดเตรียมพื้นที่ใหม่สำหรับอยู่อาศัยไว้ให้ แต่พื้นที่อยู่อาศัยนั้น คือ อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ซึ่งห่างไกลจากแหล่งรายได้ทำให้คนเหล่านั้นต้องใช้เวลาและแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง

“ปัญหาของเมืองในประเทศไทย คือ พื้นที่ส่วนตัวเยอะเกินไปและมีส่วนรวมน้อย เมืองที่ดีในโลกจะเป็นการวางผังที่ส่วนรวมใหญ่กว่าส่วนตัวเสมอ”

จากข้อมูลสำมะโนประชากรกรุงเทพมหานครปี 2553 พบว่า กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่มีบ้านเดี่ยวเยอะมาก คือ 48% ของพื้นที่ทั้งหมด คนชั้นกลางที่มีกำลังทรัพย์มากพอและคนรวยจะอาศัยอยู่แต่ในรั้วของตัวเองพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสวนสาธารณะในโครงการและไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปใช้งาน

พนิตยังเสริมอีกว่า สิ่งที่ดำเนินไปในเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยแตกต่างกับสิ่งที่กำลังดำเนินไปในประเทศแถบยุโรปที่มีนโยบายลดการครอบครองพื้นที่ส่วนตัวในเมืองด้วยการกำหนดให้ผู้ครอบครองที่ดินต้องเสียภาษีในอัตราสูง เพราะการอยู่บ้านเดี่ยวก็เหมือนเราไปนั่งทับที่ดินที่ควรเป็นพื้นที่สาธาณะของคนที่อยู่ในเมือง

นอกจากนั้น หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยังใช้พื้นที่มากกว่าที่ควรจะเป็นและไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในเมือง หากย้ายศูนย์ราชการไปไว้นอกพื้นที่เมือง และปรับวิธีการติดต่อระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐไว้บนพื้นที่ออนไลน์ทั้งหมด เพื่อลดความจำเป็นที่หน่วยงานรัฐมาตั้งไว้ในเมือง

เมื่อความจำเป็นของศูนย์ราชการลดลงและย้ายออกไปจากเมือง พื้นที่เหล่านั้นก็กลายเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าสำหรับคนจนหรือประชาชนทั่วไป อาจปรับพื้นที่เหล่านั้นเป็นบ้านพักสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ สวนสาธารณะ โรงพยาบาล โรงเรียน หรือห้องสมุด

“ทุกครั้งที่ต้องหาพื้นที่สาธารณะ พวกผมวิ่งหาพื้นที่ของรัฐก่อนเวนคืนชุมชนนะ แต่รัฐไม่ให้และบอกให้ไปเวนคืนพื้นที่เอกชน แล้วจะเวนคืนยังไง รัฐไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชน  เหตุผลคือไม่ให้หรือปากบอกให้แต่ไม่เขียนเดินเรื่องให้” พนิตกล่าว

หนึ่งในสิ่งที่สะท้อนจากการสัมภาษณ์นายกสมาคมนักผังเมืองไทย คือ แม้เมืองที่ดีจะไม่สามารถลดปัญหาอาชญากรรมได้ทั้งหมดแต่ต้องยอมรับว่าการมีเมืองที่ดีจะช่วยตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งก็คือความจำเป็นทางเศรษฐกิจและความต้องการพื้นที่ในการคลี่คลายความขัดแย้งทางชนชั้น และเมื่อมนุษย์ได้รับการเติมเต็มจากความต้องการดังกล่าวแล้วพวกเขาจะมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิต การลงมือก่อเหตุอาชญากรรมต่อร่างกายและทรัพย์ก็จะลดลงไปด้วย

หมายเหตุ : รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net