Skip to main content
sharethis

สื่อเซาธ์อีสต์เอเชียโกลบนำเสนอบทวิเคราะห์เรื่องที่ประเทศกัมพูชากำลังเผชิญกับกับดักหนี้สิน ปัญหาราคาสินค้าสูงจากการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และจากการที่ภาคการเงินของกัมพูชาต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจคลอนแคลนของกัมพูชาเสี่ยงจะล่มได้ และจะทำให้คนยากจนในกัมพูชาได้รับผลกระทบหนักที่สุด


ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org/Paxse

เมื่อไม่นานนี้ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ที่ระบุว่ากัมพูชาเป็นหนี้ประเทศจีนอยู่เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 153,000 ล้านบาท) และตัวกัมพูชาเองก็เริ่มต้องพึ่งพาสินเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้ผู้กำหนดนโยบายและนักวิจารณ์ต่างก็ถกเถียงอภิปรายกันว่าภาวะหนี้สินของกัมพูชามีความสำคัญขนาดไหน

โดยที่ในรายงานของธนาคารโลกระบุว่าคนกัมพูชากู้ยืมเงินจากธนาคารและภาคส่วนการเงินขนาดย่อมในปีที่แล้วมีมูลค่าสูงมากราว 25,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 767,000 ล้านบาท) และเป็นครั้งแรกที่มากกว่า 2 เท่าของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) แต่หนี้เหล่านี้ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะกัมพูชายังมีหนี้จากภาคส่วนธนาคารเงาอย่างผู้ปล่อยกู้นอกระบบที่ขูดรีดดอกเบี้ย, ร้านรับจำนำ และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ภาระหนี้สินที่แท้จริงมีสูงกว่าตัวเลขทางการนี้มาก แม้กระทั่งธนาคารแห่งชาติกัมพูชายังเตือนว่าหนี้สินส่วนบุคคลเหล่านี้มีโอกาสที่จะสร้าง "ผลกระทบด้านการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ"

มีการประเมินว่าจากปีที่แล้วมีอัตราหนี้สินจากสถาบันการเงินขนาดย่อมและจากธนาคารเพิ่มมากถึงร้อยละ 19 ขณะเดียวกันธนาคารโลกยังรายงานอีกว่ากัมพูชาเริ่มปล่อยสินเชื่อภายในประเทศมากขึ้นจากปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 69.5 ในปี 2562 นี้เพิ่มเป็นร้อยละ 91.1 และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 110 ในปี 2564

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องการเป็นหนี้สินล้นเกินในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของประเทศ ทำให้ภาคส่วนการเงินขนาดย่อมขยายตัวเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยเฉลี่ย โดยที่ตั้งแต่ทศวรรษที่แล้วจนถึงปี 2557 ภาคส่วนการเงินขนาดย่อมมีวงเงินปล่อยกู้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 200 ดอลลาร์ (ราว 6,100 บาท) เป็น 1,000 ดอลลาร์ (ราว 30,000 บาท) ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวของภาคการเงินขนาดย่อมที่เร็วที่สุดในโลก

แต่ทั้งนี้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติของกัมพูชาระบุว่าหนี้สินครัวเรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นของกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในประเทศ ในรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เมื่อปี 2557 ก็ระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่าครัวเรือนที่ยากจนกว่ามักจะกู้หนี้ยืมสินจากผู้ปล่อยกู้นอกระบบ พวกเขาจะมีอัตราหนี้สินสูงมาก สูงกว่าอัตราการบริโภคต่อหัวโดยเฉลี่ย ซึ่งเงินกู้ยืมเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในแบบที่ไม่สร้างผลผลิต เช่น การใช้กับค่ารักษาพยาบาล การทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือการชำระหนี้สินเดิมที่มีอยู่

สถานการณ์เรื่องหนี้สินในกัมพูชาเคยเลวร้ายมากในระดับที่เมื่อปี 2560 รัฐบาลซึ่งมักจะปล่อยให้เลยตามเลยก็เริ่มสั่งจำกัดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของภาคส่วนการเงินขนาดย่อมให้เหลืออยู่ที่ร้อยละ 18 ต่อปี จากเดิมที่มีดอกเบี้ยราวร้อยละ 25-30 ต่อปี แต่ก็เป็นไปได้ว่านั่นเป็นแค่การเอาใจคนทั่วไปในช่วงใกล้เลือกตั้งเท่านั้นและมันไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าทำให้เกิดผลลัพธ์ดีขึ้นหรือแย่ลงด้วย เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงอาจจะช่วยเกี่ยวกับหนี้ที่มีอยู่แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางส่วนเตือนว่ามันอาจจะชักจูงให้คนใช้ระบบสินเชื่อและทำให้เกิดหนี้มากกว่าหนึ่งแห่งได้
 
สิ่งที่ทำให้เกิดความเป็นห่วงมากกว่านั้นคือแม้จะมีแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาส่งเงินกลับไปให้บ้านเกิดมากขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น กัมพูชายังมีหนี้สินในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นทำให้กัมพูชากลายเป็นประเทศที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียในกรณีนี้ ประเทศกัมพูชายังคงเป็นประเทศที่การหนี้ให้พ้นจากความยากจนคือความสามารถในการเคลื่อนย้ายทางภูมิศาสตร์มากกว่าการเคลื่อนย้ายทางสังคม และตัวภาระหนี้สินนี้เองที่เป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวกัมพูชาอพยพมาทำงานที่ไทยซึ่งมีค่าแรงดีกว่า แต่สาเหตุที่เงินที่ส่งกลับบ้านทำให้ครอบครัวสร้างหนี้ใหม่มากขึ้นเป็นเพราะว่าเงินรายได้เหล่านี้เอื้อให้ครอบครัวพวกเขาเพิ่มสินเชื่อ

แต่สาเหตุที่คนจนในกัมพูชาต้องหันมาพึ่งพาสินเชื่อเพื่อใช้กับด้านหยูกยาและการบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นเพราะรัฐบาลกัมพูชาไม่ยอมใช้เงินไปกับเรื่องสวัสดิการสังคม จากตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างปี 2552-2560 การบริโภคในครัวเรือนของชาวกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าจาก 7,920 ล้านดอลลาร์ (ราว 243,000 ล้านบาท) เป็น 16,780 ล้านดอลลาร์ (ราว 515,000 ล้านบาท) ในขณะที่ระหว่างช่วงปีนี้รัฐบาลกัมพูชากลับปรับลดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมลง เช่น สวัสดิการด้านสุขภาวะปรับลดลง 30 ล้านดอลลาร์ (ราว 920 ล้านบาท) จากปีที่แล้ว

แต่ปัญหาเรื่องการก่อหนี้จำนวนมากเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็มาจากภาวะฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ด้วย จากการที่ธนาคารปล่อยกู้ด้านการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และการจำนอง ก็มีส่วนร้อยละ 40 ในการเพิ่มสินเชื่อทั้งหมดในกัมพูชาเมื่อปี 2561 แต่การลงทุนเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่กระทำโดยคนรวยไม่กี่คนในประเทศเท่านั้น

ถึงแม้ว่าในตอนนี้ภาวะฟองสบู่แตกของภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่เกิดขึ้นในกัมพูชา แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ย้ำว่าเวลาที่การเงินล่มมันจะมาเหมือนกับแผ่นดินไหว ถึงแม้จะมองออกว่ามีรอยเลื่อนอยู่แต่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะพยากรณ์ว่าหายนะจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะร้ายแรงแค่ไหน

นักเศรษฐศาสตร์ยกตัวอย่างว่าการเติบโตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชานั้นอาศัยการลงทุนจากต่างชาติมากพอสมควรโดยเฉพาะจากจีน ในปัจจุบันกัมพูชาขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12 ของประเทศที่จีนนิยมไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด ธนาคารโลกรายงานว่าในปี 2561 มีตัวเลขการลงทุนโดยตรงในกัมพูชามากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากจีน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 13.4 ของจีดีพีในกัมพูชา และส่วนใหญ่เป็นภาคส่วนการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตามธนาคารโลกระบุว่าการอาศัยการลงทุนจากต่าวชาติในทางตรงเช่นนี้เป็นสิ่งที่บังหน้าความเปราะบางทางการเงินที่มาจากการเติบโตของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว และถ้าหากว่านักลงทุนต่างชาติถอนทุนออกจากตลาดอสังหารัมทรัพย์กัมพูชาก็จะหลายเป็นหายนะสำหรับผู้ที่ลงเงินไปกับภาคส่วนนี้โดยทันที ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สร้างขึ้นมาโดยอาศัยสินเชื่อจากชาวกัมพูชา

ชาวกัมพูชาเองน่าจะเข้าใจความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งจากภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์คือการลงทุนเกินจุดอิ่มตัวและการเก็งกำไร บริษัทอสังหาริมทรัพย์ CBRE มีข้อมูลระบุว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.6 ในช่วง 5 ปีล่าสุด และในบางพื้นที่อย่างสีหนุวิลล์และย่านหรูของพนมเปญราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และหนึ่งในสาเหตุนี้คือการที่ชาวกัมพูชาบางส่วนเล่นกับการเก็งกำไรโดยกว้านซื้อที่ดินแล้วขายด้วยราคาสูงให้กับนักลงทุนต่างชาติ แต่ธนาคารโลกก็บอกว่าการทำเช่นนี้เป็นเหตุให้ราคาซื้อขายที่ดินสูงขึ้นโดยมองไม่เห็นว่าจะสร้างรายได้คืนจากการลงทุนได้อย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้การลงทุนเช่นนี้กลับส่งผลกระทบต่อคนทั่วไปในกัมพูชา เช่นในสีหนุวิลล์ที่มีจีนเข้าไปลงทุนชายฝั่งส่งผลให้ค่าเช่า ค่าที่ดิน และราคาค่าครองชีพในชึวิตประจำวันเพิ่มสูงขึ้นมาก ยิ่งกระทบคนจนหนักกว่าเดิม มีเพียงแต่คนมั่งคั่งเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ อันวิตา บาสุ นักวิเคราะห์จากอิโคโนมิคอินเทลลิเจนซ์ยูนิตกล่าวว่าการเก็งกำไรเหล่านี้จึงสร้างปัญหาให้เกิดช่องว่างรายได้ในกัมพูชามากขึ้น ขณะที่คนรวยได้ผลประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติมากกว่าชนชั้นอื่นๆ ชนชั้นรายได้ปานกลางและคนจนต่างก็ต้องเป็นหนี้สินมากขึ้นเพื่อนำมาไฟแนนซ์การซื้อที่ดินของตัวเอง และกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหาง เพราะคนจนที่เป็นหนี้ถูกบีบให้ต้องกู้ยืมจากแหล่งที่ดอกเบี้ยสูงและมักจะถูกบีบให้ต้องขายที่ดินของตัวเอง

เรื่องนี้ส่งผลให้อัตราของคนที่อยู่อาศัยทั้งในอพาร์ทเมนต์ไปจนถึงคอนโดมิเนียมหรูมีจำนวนลดลงเพราะค่าเช่าที่สูงขึ้นตามการเก็งกำไรที่ดิน และคอนโดมิเนียมเองก็มียอดขายลดลง ขณะเดียวกันธนาคารกลางของกัมพูชาก็ประเมินว่าอุปทานคอนโดมีเนียมจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีกขณะที่อุปสงค์กำลังลดลงซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลว่าจำนวนอุปทานจะสูงล้ำหน้าอุปสงค์ไปมาก

รายงานจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส (S&P) เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ระบุว่ากัมพูชาจัดเป็นประเทศที่ระบบธนาคารกำลังอยู่ในอันตราย และการแก้ไขราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาดจะเกิดขึ้นได้ถ้ามีการลดการลงทุนจากต่างชาติโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งการแก้ไขราคานี้จะส่งผลกระทบต่อผู้หวังรายทางลัดจากการกู้ยืมเพื่อเก็งกำไรจากภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ รายงานจากธนาคารเอเชียแปซิฟิกระบุว่าในตามความคิดเห็นของพวกเขาแล้วกัมพูชามีความเสี่ยงสูงเพราะมีการพอกพูนของสินเชื่อ ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูง และคุณภาพของสินทรัพย์ที่ลดลง

ถึงแม้ว่าภาคส่วนการเงินขนาดย่อมและธนาคารกัมพูชาจะมีเงินมากพอในการปกป้องตัวเองถ้าหากเกิดวิกฤตหนี้สิน แต่แรงสะเทือนก็มาจากการที่กัมพูชาเริ่มมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL เพิ่มสูงขึ้นต่อปี ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังตำอยู่เมื่อเทียบกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ แต่ก็ต้องระวังเรื่องการกู้หนี้โปะหนี้เดิมมากเกินไปจนกระทั่งเจ้าหนี้ไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งนี้ยังต้องไม่ลืมปัญหาเรื่องที่กัมพูชาพึ่งพาการลงทุนโดยเฉพาะจากจีนมากเกินไปในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะทำให้ล่มได้ง่ายๆ ถ้าหากเศรษฐกิจจีนถดถอย

เซาธ์อีสต์เอเชียโกลบระบุว่า "ความไร้พลังของกัมพูชาในการต่อกรกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มาจากต่างชาติเป็นสะท้อนมาจากการที่กัมพูชาไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการใหญ่ๆ ต่อเศรษฐกิจมหภาคในประเทศตัวเองได้" ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ S&P ระบุว่ามาจากการที่รัฐบาลไม่มีโครงร่างนโยบายด้านการเงินที่เป็นอิสระ และในกัมพูชายังอาศัยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างมากทำให้ความยืดหยุ่นทางการเงินต่ำ มีเงินฝากส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เป็นเงินสกุลต่างชาติทำให้ธนาคารมีทางเลือกหลักๆ และอาจจะเป็นทางเลือกเดียวคือต้องใช้นโยบายกำหนดดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (reserve requirements)

"นี่เป็นรากฐานคลอดแคลนของเศรษฐกิจกัมพูชาซึ่งอาศัยการกระตุ้นจากหนี้สิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีใครต้องการ การลงทุนจากต่างชาติที่อาจจะแห้งเหือดได้ในทุกเวลา และการแบ่งแยกห่างชั้นอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหนี้ร่ำรวยและลูกหนี้ที่เป็นคนจน และถ้าหากรากฐานที่ว่านี้พังลงมา คนที่จะถูกกลบฝังคือคนกลุ่มที่ยากจนที่สุดในประเทศ" เซาธ์อีสต์เอเชียโกลบระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก
Debt traps, South East Asia Globe, 27-06-2019
https://southeastasiaglobe.com/debt-traps/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net