ดูโปสการ์ดสมัยสหรัฐฯบุกเม็กซิโก 100 ปีก่อน เมื่อทารุณกรรมคือสินค้าสุดฮิต

นิตยสาร The Paris Review นำเสนอโปสการ์ดอายุหนึ่งศตวรรษเมื่อสหรัฐฯ บุกยึดครองเม็กซิโก ที่นอกจากจะสะท้อนเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิวแล้ว ยังสะท้อนเรื่องการทำให้การทารุณกรรมและการฆ่ากลายเป็นสินค้า เป็นไปได้หรือไม่ที่ความป่าเถื่อนในอดีตยังคงสืบทอดถึงยุคปัจจุบัน เมื่อการทารุณนักโทษโดยทหารสหรัฐฯ ยังปรากฏออกมาบนอินเทอร์เน็ต

โปสการ์ดการประหารชีวิตในเม็กซิโก (ที่มา: flickr/SMU Libraries Digital Collection)

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2457 ทหารเรืออเมริกัน 9 นายถูกจับกุมโดยรัฐบาลเม็กซิกันเนื่องจากเข้าไปในเขตขนถ่ายน้ำมันของบ่อน้ำมันในเมืองตัมปิโก รัฐตาเมาลีปัส ประเทศเม็กซิโก ต่อมาพวกเขาได้รับการปล่อยตัวพร้อมคำขอโทษจากเม็กซิโกแต่ไม่ได้มีการยิงสลุต 21 นัดตามที่ผู้บัญชาการกองทัพเรือสหรัฐฯ ในยุคนั้นเรียกร้อง ประธานาธิบดีวูดโรว วิลสันจึงสั่งให้กองทัพเรือเตรียมการยึดครองท่าเรือเวราครูซ ระหว่างที่กำลังรอการอนุมัติจากสภาคองเกรส ก็มีข่าวการการลำเลียงอาวุธที่หมายจะไปถึงมือประธานาธิบดีเม็กซิกัน วิกเตอริอาโน เวอร์ตา ทำให้กองทัพฝ่าฝืนธรรมเนียมการรอมติจากรัฐสภาแล้วสู้รบกับรัฐบาลของเวอร์ตาที่เดิมเถลิงอำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการโค่นล้มรัฐบาลเดิม

ในตอนนั้นมีการนำเรือรบและเรือลาดตระเวณขนกำลังพลราว 2,300 นายจากสหรัฐฯ ไปที่ท่าเรือเวราครูซ ทหารสหรัฐฯ พบกับต่อต้านจากประชาชนในเมืองที่เต็มไปด้วยใจสู้แต่ไม่มียุทโธปกรณ์ที่ดีพอ การยึดครองดำเนินไปเป็นเวลา 7 เดือน และในสมัยนั้นได้มีการถ่ายภาพเหตุการณ์ขณะที่กองทัพยึดครองมาทำเป็นโปสการ์ด ซึ่งต่อมาได้ทำหน้าที่บอกเล่าความรุนแรงในอดีต

เมื่อสมัยปี 2457 ยังเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังเห่อโปสการ์ด และในเหตุการณ์ปฏิวัติเม็กซิโกช่วงปี 2453-2463 ก็มีการบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ในหลายช่วงเวลาจากช่างภาพทั้งสองฟากฝั่งเม็กซิโกและสหรัฐฯ ภาพเหล่านี้ทำหน้าที่สองอย่าง หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นภาพประกอบข่าว สอง เป็นภาพที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์อยากนำเสนอ เช่น ทหารเรืออเมริกันในเวราครูซก็อาจจะอยากได้ภาพที่ทหารสหรัฐฯ กำลังทานอาหารท่ามกลางผู้หญิงและเด็กเม็กซิกันที่กำลังหิวโหย การเน้นโฟกัสในภาพก็บ่งบอกเรื่องราวได้ อย่างการเน้นใบหน้าของชาวอเมริกันให้ชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ชาวเม็กซิกันกลับดูหลุดโฟกัสจนกลายเป็นคนไร้หน้า

โปสการ์ดเหล่านั้นยังแสดงภาพของคนในพื้นที่ที่กองทัพอเมริกันเข้าไปรุกรานให้ออกมาในฐานะคนรับใช้ ขอทานหรือไม่ก็เป็นศพ มีโปสการ์ดบางส่วนที่ไม่สามารถระบุเวลาที่ถ่ายได้แต่คาดว่าน่าจะถ่ายไว้ในช่วงสงครามชายแดนปี 2453-2462 เป็นรูปของคนผิวดำที่ถูกปฏิบัติเป็นเสมือนเครื่องเรือนเครื่องประดับ มีเด็กคนดำเชื้อสายแอฟริกันอายุประมาณ 8-9 ปีกำลังขัดรองเท้าให้คนในชุดเครื่องแบบอเมริกัน เป็นรูปที่คนขาวแสดงให้เห็นถึงการข่มทับแสดงความเหนือกว่าอย่างชัดเจน เป็นโปสการ์ดที่คนซื้อในตอนนั้นมองว่าเป็น "เครื่องเตือนใจเวลาที่มีความสุข"

โปสการ์ดภาพคนเสียชีวิตหลังจากการสู้รบที่อะกวาเปรต้า เม็กซิโกในช่วงสงครามปฏิวัติเม็กซิโก (ที่มา:วิกิพีเดีย)

ยังมีโปสการ์ดที่เล่าประวัติศาสตร์ความรุนแรงจากสงครามชายแดนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเม็กซิกัน ในตอนนั้นมีกลุ่มกบฏเม็กซิกันพยายามต่อสู้แบบเอาตัวเข้าแลกเพื่ออุดมการณ์ พวกเขาพยายามยึดคืนพื้นที่ส่วนหนึ่งเท็กซัส นิวเม็กซิโก และแอริโซนาซึ่งถูกยึดครองโดยสหรัฐฯ ในยุคนั้น แต่ก็ถูกสหรัฐฯ ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม

มีการตั้งข้อสังเกตว่าโปสการ์ดเหล่านั้นไม่ใช่การจงใจบันทึกสถานการณ์ แต่โปสการ์ดที่ทหารอเมริกันถ่ายภาพร่วมกับศพของชาวอเมริกันที่ถูกขนขึ้นรถลากเอาไปฝังนั้นเป็นเสมือน "ของที่ระลึก" สำหรับทหารอเมริกันในยุคก่อนที่จงใจเอาไว้แจกจ่ายให้คนอื่นเห็น แนวคิดเช่นว่าชวนให้นึกถึงภาพอื้อฉาวเกี่ยวกับการที่ทหารสหรัฐฯ ทารุณกรรมนักโทษในเรือนจำอาบู กราอิบในประเทศอิรัก ซึ่งกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในหน้าสื่อราวปี 2547 มีทหารสหรัฐฯ ถ่ายภาพกับนักโทษที่กำลังถูกทารุณกรรม ล่วงละเมิดทางเพศ หรือแม้กระทั่งถ่ายภาพร่วมกับศพของนักโทษที่ถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิต

บทความในเดอะปารีสรีวิวระบุว่าความทรงจำเกี่ยวกับความตายเหล่านี้ไม่ได้มีแต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น ในปี 2457 ก็มีคนส่งโปสการ์ดในเชิงสนับสนุนการใช้เก้าอี้ไฟฟ้าในการประหารชีวิตในรัฐโอไฮโอ โปสการ์ดดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นรูปคนแต่งตัวภูมิฐานอยู่ในกรองวงรีหลายรูปรายล้อมรูปเก้าอี้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ตรงกลางการ์ด โดยที่รูปคนเหล่านี้คือเหยื่อที่ถูกประหารหรือกำลังจะถูกประหารโดยเก้าอี้ไฟฟ้านี้โดยมีการระบุชื่อ อาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาและวันที่ถูกประหาร ซึ่งเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าคนที่ซื้อหรือส่งต่อโปสการ์ดเหล่านี้คิดอะไรอยู่ พวกเขารู้สึกถูกดึงดูดจากการแก้แค้นที่รู้สึกว่าชอบธรรมด้วยการประหารหรือ รู้สึกภาคภูมิใจกับเครื่องประหารทันสมัยแบบนั้นหรือ เอาไว้เตือนใจลูกๆ ที่ดื้อรั้นหรือ หรือกระทั่งว่าได้จินตนาการว่าเป็นผู้สับสวิตช์สังหารด้วยตัวเองโดยมีกฎหมายหนุนหลังหรือ ทั้งนี้ โทษประหารเก้าอี้ไฟฟ้าเพิ่งมีการยกเลิกเมื่อปีที่แล้วนี้เอง 

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รูปความตายเหล่านี้ต่างก็เคยเป็น "สินค้า" มาก่อนในยุคสมัยหนึ่ง แม้กระทั่งโปสการ์ดน่าสะพรึงของการประชาทัณฑ์แขวนคอคนดำในสหรัฐฯ ยุคเหยียดผิวก็เคยเป็นโปสการ์ดส่งหากันมาก่อนในยุคราว 1-2 ศตวรรษที่แล้ว

บทความของลุค ซานเต ระบุว่าถึงแม้สหรัฐฯ อาจจะไม่ใช่ประเทศที่ใช้ความรุนแรงที่สุดหรือมีการล่าอาณานิคมแบบกดขี่ที่สุด แต่ก็มีน้อยมากที่ชาติอื่นๆ จะผลิตรูปภาพลักษณะดังกล่าวออกมา รูปภาพแบบเดียวกันนี้นอกจากในสหรัฐฯ แล้ว แม้เคยมีชาวยุโรปขายภาพการประหารชีวิตในจีนสมัยกบฏนักมวยในฐานะ "ของแปลก" หรือมีรูปภาพเหตุการณ์โหดร้ายอื่นเพื่อจุดชนวนความไม่พอใจ แต่ก็มีการแพร่กระจายต่อกันไม่กี่มือเท่านั้น ซานเตระบุว่าลักษณะการเสพย์ความตายมือสองในแบบอเมริกันจากโปสการ์ดเหล่านี้มีอยู่ลักษณะเดียวเท่านั้นคือเป็น "รูปที่ระลึกในฐานะความบันเทิงอันป่าเถื่อน อ้างความชอบธรรมทางกฎหมายแบบตื้นๆ การกลับคืนมาของส่งที่เคยขาดช่วงไปนี้ยังคงห้อมล้อมพวกเราอยู่ในทุกวันนี้ ประเด็นของมันคือความโหดร้าย"

เรียบเรียงจาก

Postcards of American Violence, Luc Sante, The Paris Review

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Abu_Ghraib_torture_and_prisoner_abuse

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท