Skip to main content
sharethis

รบ.เฉพาะกาลรัฐกะเรนนี หรือ IEC โต้ข่าวลือ ไม่ได้ขโมยวัตถุโบราณจากพิพิธภัณฑ์มรดกแห่งชาติ แต่เป็นการนำไปเก็บในที่ปลอดภัยป้องกันความเสียหาย และคนขโมย ช่วงกองทัพพม่าทิ้งระเบิดใส่เมืองลอยก่อ

 

25 ก.ค. 2567 เว็บไซต์ อิรวดี รายงานเมื่อ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า สภาบริหารชั่วคราวรัฐกะเรนนี (IEC) ซึ่งเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลของรัฐกะเรนนี โต้ข่าวลือขโมยวัตถุโบราณ และสิ่งของมีค่าอื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์มรดกแห่งชาติ เมืองลอยก่อ รัฐกะเรนนี แต่เป็นการนำไปเก็บในที่ปลอดภัย หลังกองทัพพม่าทิ้งระเบิดและโจมตีทางอากาศใส่บ้านเรือนประชาชน สำนักงานข้าราชการ และศาสนสถาน นอกจากนี้ คำแถลงของ IEC ระบุว่า พวกเขามองว่าหากปล่อยไว้วัตถุล้ำค่าเหล่านี้อาจถูกขโมย จึงมีการตัดสินใจนำไปเก็บรักษาในที่ปลอดภัยแทน

IEC ก่อตั้งเมื่อปี 2566 เป็นองค์กรฝ่ายการเมืองการปกครองของกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหารพม่าในพื้นที่รัฐกะเรนนี ซึ่งในตอนนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านเป็นส่วนใหญ่

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการจารกรรมวัตถุโบราณ หลังจากที่มุขมนตรีรัฐกะเรนนีที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารพม่าได้เดินทางเยือนพิพิธภัณฑ์ฯ เมื่อไม่นานนี้ ในข่าวลือมีการอ้างว่า มีผู้ขโมยกลองมโหระทึกโบราณ 10 ชิ้น ราชกกุธภัณฑ์ เสลี่ยง และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของ เจ้าฟ้ากันทรวดี

อิรวดี ระบุต่อว่า หนึ่งในของที่มีค่าต่อชาวกะเรนนีอย่างมาก คือ ‘กลองมโหระทึก’ เพราะบรรพบุรุษของชาวกะเรนนีเป็นหนึ่งในกลุ่มคนยุคแรกๆ ที่เป็นผู้ผลิตกลองมโหระทึก โดยกลองมโหระทึก ยุคแรกเริ่มถูกสร้างขึ้นเป็นเวลานานกว่า 1,000 ปีแล้ว และปัจจุบัน ยังคงได้รับความสนใจจากนักโบราณคดี

กลองมโหระทึก (ที่มา: Kantarawaddy Times)

หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2565 เป็นต้นมา วัตถุโบราณต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่าตอบโต้ "ปฏิบัติการ 1111" ของฝ่ายต่อต้าน โดยการโจมตีทางอากาศและการทิ้งระเบิด

สำหรับปฏิบัติการ 1111 ที่ว่านี้เป็นปฏิบัติการรุกคืบโดยมีการสนธิกำลังกันระหว่างกลุ่มต่อต้านในรัฐกะเรนนี เพื่อที่จะปลดปล่อยรัฐกะเรนนีจากกองทัพพม่า และปฏิบัติการนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2566

กองกำลังฝ่ายต่อต้านในกะเรนนีได้ยึดครองพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของเมืองหลวงของรัฐ หรือเมืองลอยก่อ เป็นเวลาเกือบ 7 เดือน ก่อนที่การรุกคืบจากฝ่ายกองทัพพม่าจะบีบให้พวกเขาต้องถอนร่นออกไปจากบางส่วนของเมืองลอยก่อ

IEC อ้างว่ามีการเคลื่อนย้ายวัตถุโบราณหลายชนิดทั้งเครื่องมือ, อาวุธโบราณ, เครื่องประดับ และกลองมโหระทึกไปยังที่ๆ ปลอดภัยแล้ว

แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า "กลองมโหระทึกและวัตถุอื่นๆ ของเจ้าฟ้ากันทราวดีไม่ได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว เจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ในระหว่างจัดทำบัญชีรายชื่อสิ่งของที่หายไปจากพิพิธภัณฑ์ ทำให้พวกเรายังไม่ทราบรายละเอียดแน่ชัด" อีกทั้งยังบอกอีกว่า นอกเหนือจากสิ่งของที่จัดแสดงแล้ว ยังมีวัตถุอื่นๆ ที่เก็บไว้ในห้องเก็บของแยกต่างหาก

IEC ระบุว่า พิพิธภัณฑ์ฯ ไม่ได้รับความเสียหายในช่วงที่มีการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐกะเรนนี อีกทั้งยังบอกอีกว่า พลเมืองทุกคนในรัฐกะเรนนีมีส่วนรับผิดชอบในการรักษาและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้คนรุ่นหลัง

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ลอยก่อ เปิดทำการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2539 ซึ่งนอกเหนือจากวัตถุโบราณแล้วยังเป็นแหล่งเก็บหนังสือมากกว่า 13,000 เล่ม

ประเทศพม่าเคยให้สัตยาบันต่อ 'อนุสัญญาเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีความขัดแย้งทางอาวุธ' ขององค์กรยูเนสโก ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. 2487

ทั้งนี้ พม่ามีกำหนดการที่จะต้องส่งร่างสุดท้ายของการเสนอชื่อเมืองโบราณมรัคอู ในรัฐยะไข่ ให้เป็นมรดกโลกต่อองค์กรยูเนสโก ภายในเดือน ม.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม สิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกได้รับความเสียหายจากการสู้รบรอบล่าสุดระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังอาระกันอาร์มี การสู้รบยังทำให้ความพยายามรักษาโบราณสถานหยุดชะงักไปด้วย ในตอนนี้เมืองหลวงโบราณของชาวยะไข่อยู่ภายใต้การควบคุมของอาระกันอาร์มี


เรียบเรียงจาก

As Myanmar’s Military Bombed Loikaw, Museum’s Antiquities ‘Were Moved to Safety’, The Irrawaddy, 19-07-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net