Skip to main content
sharethis

เวทีสานเสวนาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ นักวิชาการ ชี้ไฟใต้เป็นปัญหาประวัติศาสตร์แบบวรรณกรรม เตือนอย่าละเลยความจริงทางประวัติศาสตร์ แนะเขียนประวัติศาสตร์ที่สมดุล และยึดศาสนาในการอยู่ร่วมกัน  ด้านพระครูวิสิฐพรหมคุณเผยประสบการณ์สร้างสมานฉันท์พุทธ-มุสลิม แนะให้ลืมและสร้างปัจจุบันที่อยู่ร่วมกัน

ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี ในโครงการสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการสร้างสังคมสมานมิตร ด้วยกระบวนการสานเสวนาทางประวัติศาสตร์ จัดโดย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.ดร.อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต อาจารย์หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงการจัดการประวัติศาสตร์ที่ไม่ลงตัว ท่ามกลางความแตกต่าง ในเวทีสานเสวนาประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เมื่อมีการพูดถึงประวัติศาสตร์ มักพูดถึงวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์โดยทิ้งความจริงทางประวัติศาสตร์ไป เพื่อที่จะให้เกิดวรรณกรรมที่ยอมรับได้

ไฟใต้ ปัญหาประวัติศาสตร์ที่มาจากวรรณกรรม

ศ.ดร.อิบรอฮีม อธิบายว่า เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์มักจะมี 2 อย่าง คือ

1. ประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เนื่องจากประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน บางอย่างไม่ชัดเจน จึงมีความพยายามที่จะเติมเต็มช่างว่างตรงนั้น จึงเกิดเป็นประวัติศาสตร์หลายด้านหลายฉบับขึ้นมา

2. วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่น มีความจริงหลายด้าน

“แต่ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในวันนี้ มันมาจากความจริงทางประวัติศาสตร์ที่มาจากวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้น ถ้าวรรณกรรมจะเขียนสวยหรูแค่ไหน ถ้าเรามองข้ามความจริงทางประวัติศาสตร์ มันก็คือวรรณกรรมที่สวยงาม”

ศ.ดร.อิบรอฮีม กล่าวด้วยว่า สิ่งที่นักวิชาการพยายามคือ พยายามให้วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับ เมื่อใส่เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาก็จะมีข้อจำกัด คือ “เวลา” “คนสอน” เป็นต้น แต่ก็มีวรรณกรรมทางวิชาการที่ไม่มีข้อจำกัด

“วันนี้เรามองเรื่องวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ เราลืมมองความจริงทางประวัติศาสตร์ คนหนึ่งสูญเสีย คนหนึ่งได้ โดยให้คนที่สูญเสียนั้นลืมสิ่งที่ผ่านมาแล้วเราไปด้วยกัน สร้างวาทกรรมใหม่ ซึ่งมันไม่สามารถลืมได้ง่ายๆ”

ศ.ดร.อิบรอฮีม ได้ยกตัวอย่างว่า เวลามีคนขับรถชนลูกเราตาย แล้วบอกว่า ขอโทษและให้ลืม ซึ่งแค่นั้นเป็นสิ่งที่ยากที่จะแก้ปัญหา ยกเว้นเสียว่า จะถามผู้ที่สูญเสียว่า ต้องการสินใหม่ทดแทนอย่างไร เพื่อให้ลืมการสูญเสียเหล่านั้น เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่สูญเสีย ต้องดูความจริงทางประวัติศาสตร์ก่อนว่าสูญเสียอะไร เช่น ชีวิต ทรัพย์สิน เป็นต้น

“ดังนั้น ถ้าเราจะเขียนประวัติศาสตร์ที่คนยอมรับ เราต้องไปจัดการกับความจริงทางประวัติศาสตร์ที่เกิดการสูญเสียนั่นก่อน เพื่อที่จะไปสู่ ขั้นตอนการเขียนวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ได้ ยกตัวอย่าง เรื่องคลองแสนแสบขุดด้วยมือ(ของชาวปาตานี) ซึ่งอยู่ที่การตีความว่า ขุดด้วยมือหรือขุดด้วยจอบ ซึ่งถ้าเราไม่ค้นหาความจริงเรื่องนี้ ประวัติศาสตร์ก็ยังคงคลุมเครือ”

แนะมหาวิทยาลัยในพื้นที่ควรมีบทบาทให้มากกว่าเดิม

ศ.ดร.อิบรอฮีม กล่าวต่อไปว่า สำหรับตนมองเรื่องความจริงทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์นั้นมันต้องไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นที่ควรมีบทบาทให้มากกว่าเดิม

“วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์มีข้อสันนิฐานว่า เมื่อคนรุนใหม่เรียนวรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ใหม่ มันจะไม่มีบาดแผลและความเจ็บปวด แต่เราต้องเข้าใจว่า มีอีกหลายโรงเรียนที่เขามีประสิทธิภาพมากกว่าเรา(ที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผล) เพราะฉะนั้นมันจะต้องใช้เวลาที่ยาวนาน”

ศ.ดร.อิบรอฮีม กล่าวด้วยว่า วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ที่เราเขียน แต่เวลาสอนมันอาจไม่ใช่วรรณกรรมที่เราเขียนก็เป็นได้ ตราบใดที่ความจริงทางประวัติศาสตร์ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ถูกวิธี ถูกเวลา เหล่านี้คือความท้าทาย ต่างๆ 

“เวลาคุยเรื่องประวัติศาสตร์ ต้องตั้งต้นก่อนว่า มันเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงหรือ วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่สำคัญคือ ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงได้มีการแก้ไขประวัติศาสตร์เหล่านั้นแล้วหรือยัง เราถึงจะคุยเรื่องวรรณกรรมประวัติศาสตร์ได้” ศ.ดร.อิบรอฮีม กล่าวสรุป

เรามาเขียนประวัติศาสตร์ที่สมดุล และยึดศาสนาในการอยู่ร่วมกัน

ศ.ดร.อิบรอฮีม กล่าวตอบคำถามจากวงเสวนาที่ว่า ในมิติประวัติศาสตร์ชายแดนใต้หรือปาตานีมี 3 คำที่บ่งบอกความเป็นปาตานีคือ มลายู อิสลาม ปาตานี นั้น คำใดมีอิทธิพลต่อความขัดแย้งที่ใช้กำลังอาวุธมากที่สุดและจะมีทางออกอย่างไร ?

ศ.ดร.อิบรอฮิม ตอบว่า ทั้ง 3 คำนั้นมีการนำตัวอักษรภาษาอาหรับมาเปรียบเปรย คือ  : ا   : อลีฟ คือ Agama(ศาสนา หมายถึงอิสลาม) , ب : บา คือ Bangsa (เชื้อชาติ หมายถึงมลายู) ,  ت: ตา คือ Tanah Air (มาตุภูมิ หมายถึงปาตานี) นั้นสำหรับคนมุสลิม แค่ตัว อลีฟ ก็คุมทุกอย่างแล้ว แต่ทั้งหมดก็สำคัญ

ศ.ดร.อิบรอฮิม กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของปาตานีมี 3 ช่วง คือ ประวัติศาสตร์เริ่มต้น ประวัติศาสตร์ความภาคภูมิใจที่บ่งบอกการมีตัวตนของที่นี่ และประวัติศาสตร์ของความข่มขืน แต่เรามักนำประวัติศาสตร์ของความข่มขืนมาฉาย มันยิ่งทำให้คนร้องกันมากขึ้น สร้างความเกลียดชังมากขึ้น

ศ.ดร.อิบรอฮิม กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ อลีฟ จะสำคัญมากเพราะเป็นสิ่งยึดมั่นของคนที่นี่ แต่เราก็ทะเลาะในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมากมายในปัจจุบัน ดังนั้น วันนี้เรามาเขียนประวัติศาสตร์ที่สมดุล ที่สร้างสรรค์ แล้วมาช่วยกันดูและยึดศาสนาในการอยู่ร่วมกัน ถึงแม้ประวัติศาสตร์ความเป็นจริงเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ แต่วรรณกรรมทางประวัติศาสตร์สามารถแก้ไขได้

พระครูวิสิฐฯ เผยประสบการณ์สร้างสมานฉันท์พุทธ-มุสลิม

พระครูวิสิฐพรหมคุณ (สมชาย โชติวโร)เจ้าอาวาสวัดพรหมนิวาส ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส กล่าวว่า เมื่อปี 2547 พระขาดแคลนจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เนื่องเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงมีพระวิทยากร 150 รูปที่วัดโคกสมานเข้ามาอยู่ โดยไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสามจังหวัดเลย จึงต้องเชิญอิหม่ามและนายก อบต. มาให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่

พระครูวิสิฐพรหมคุณ กล่าวต่อไปว่า ขณะนั้นอาตมาได้เป็นหัวหน้าทั้ง 150 รูป หลังจากนั้นมาอยู่ที่วัดเขากง จ.นราธิวาส ก็ได้ศึกษาประเพณีท้องถิ่น ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ได้ เพราะทุกวันต้องออกไปบิณฑบาต

พระครูวิสิฐพรหมคุณ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งที่ได้ฟังความเป็นมาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่อาตมาไม่ได้สนใจ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ จึงนำเด็กและเยาวชนมาอบรมให้เข้าใจกัน ซึ่งดูแล้วเยาวชนไม่มีปัญหาต่อกัน แต่ผู้ใหญ่บางคนที่เป็นส่วนน้อยไปชักนำให้เด็กผิดใจกันโดยอ้างประวัติศาสตร์ตามที่ตนเองต้องการ เช่น มุสลิมเข้าวัดไม่ได้ เจอพระบาป เป็นต้น ซึ่งก็มีกลุ่มคนที่หลงเชื่อ

“ให้เราลืมและสร้างปัจจุบันให้อยู่ร่วมกัน”

“ฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการให้แยก เขาก็ไม่พอใจเรา กลุ่มพี่น้องมุสลิมที่มาช่วยก็ถูกเก็บ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าฝ่ายใดเป็นคนทำ อาตมาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ดังนั้น ให้เราลืมและสร้างปัจจุบันให้อยู่ร่วมกัน”

พระครูวิสิฐพรหมคุณ ได้ยกประวัติศาสตร์ที่ดีระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมที่ช่วยเหลือกัน ทั้งงานแต่งงาน งานบวช การแต่งงานข้ามตระกูลข้ามศาสนา

พระครูวิสิฐพรหมคุณ กล่าวว่า อาตมาพยายามจะชวนพี่น้องทั้งสองฝ่ายสามัคคีกัน ช่วยกันสมานกันให้ได้ หลายครั้งก็ต้องขัดแย้งกับฝ่ายความมั่นคง เช่น กรณีที่อาตมาจัดขบวนรถแห่ 10 คัน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องพี่น้องมุสลิมให้เลิกสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ขบวนรถของพี่น้องมุสลิมก็มาร่วมด้วย ปรากฏขบวนรถยาว 2 กิโลเมตร

“ฝ่ายความมั่นคงก็พยายามห้ามไม่ให้เราทำ หาว่าไม่ใช่หน้าที่ของพระ อาตมาเลยตอบไปว่า โยมมีปืน โยมยิงหัวอาตมา แล้วอาตมาจะหยุดทำ ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงบางคนก็มีแนวความคิดแบบนี้ บางคนก็มีแนวความคิดรอมชอมในการแก้ปัญหา ในบางครั้งแม้กระทั่งคนที่ได้รับผลกระทบ เขาพร้อมที่จะลืมและสร้างประวัติศาสตร์ในอนาคต” พระครูวิสิฐพรหมคุณ กล่าว

ควรมองและชวนคุยประวัติศาสตร์ที่สร้างสรรค์

อ.นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน นักวิชาการมลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์ที่เรียนระเบียบวิธีการทางประวัติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนสนใจประวัติศาสตร์

อ.นิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์เชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ จะทำอย่างไรก็ได้ที่จะพัฒนาคนสามจังหวัดโดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นตัวเชื่อมกัน แทนที่จะมาขัดแย้งกัน

อ.นิอับดุลรากิ๊บ กล่าวว่า ความรู้ประวัติศาสตร์นั้นกว้าง หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีอยู่อย่างกระจัดกระจายและปะทะกันได้ตลอด หลายครั้งสิ่งที่เรารู้ว่าเป็นความจริงทางประวัตศาสตร์ แต่ภายหลังอาจมีหลักฐานมาหักล้างความจริงนั้นได้ เพราะฉะนั้น เราควรมองถึงประวัติศาสตร์ที่สร้างสรรค์และชวนคุยเรื่องประวัติศาสตร์สร้างสรรค์

ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านเส้นเวลาที่ต่างกันด้วย

โชคชัย วงศ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลันสงขลานครินทร์ ได้แนะนำ เว็บไซต์ K4DS = Knowledge for Deep South ในการค้นหาเอกสาร หนังสือ งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ มีทั้งตำราประวัติศาสตร์ แผนที่ เอกสารทางศาสนา ตำรายา ฯลฯ โดยสามารถค้นหาทางกูเกิ้ลโดยพิมพ์คำว่า “ร้อยเอกสารที่สำคัญ”

โชคชัย กล่าวว่า การทำความเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ปาตานี ต้องศึกษาเส้นเวลาที่ต่างกันด้วย เช่น ปีฮิญเราะห์ศักราช พุทธศักราช เป็นต้น เขายกแผ่นภาพเส้นเวลาประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงเหตุการณ์ในระดับโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียวใต้ ในสยาม/ไทย และปาตานี/ปัตตานี ขึ้นมาอธิบายประกอบด้วย

ผศ.ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เมื่อเราเข้าใจประวัติศาสตร์ เราจะวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตนั้นอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และประวัติศาสตร์ชุดนั้นทำให้เราเป็นเครื่องมือด้วย

ผศ.ดร.ยาสมิน กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการสร้างชาติ ซึ่งทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน ประเทศไทยเองก็มีชุดประวัติศาสตร์ของความเป็นไทย จนบางครั้งหลงลืมว่าในความเป็นไทยเองก็มีความเป็นอื่นอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวพุทธ-มุสลิมชายแดนใต้ ถกกันสมานมิตร เปิด 24 ปมประวัติศาสตร์ที่อยากคุย 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net