Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บ่อยครั้งที่บรรยากาศความกลัว เกิดจากการเชื่อมโยงเหตุการณ์ปัจจุบันกับการรับรู้เกี่ยวกับอดีตหรือกล่าวได้ว่าความทรงจำทำให้เรากลัว ทั้งๆ ที่บางทีความทรงจำนั้นก็ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์ตรงของเราเอง

ต้นปี พ.ศ.2518 กรณี “ถีบลงเขาเผาลงถัง” ปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยไม่ปรากฏชัดว่ามีคนตายจากกกรณีดังกล่าวเท่าไหร่กันแน่ (จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม 2559: 75) จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม ศึกษากระบวนการสร้างและจัดการความทรงจำเกี่ยวกับกรณีที่รัฐปราบปรามคนที่รัฐสงสัยว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง ซึ่งพบว่าความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงยังคงถูกผลิตซ้ำในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องเล่า อนุสาวรีย์ การจัดงานรำลึกเป็นประจำทุกปี แม้ว่าแต่ละคนจะมีความเข้าใจและมีวิธีจัดการความทรงจำแตกต่างกันออกไปทั้สอดคล้องและขัดแย้งกับโครงเรื่องหลักของชุมชน แต่ประเด็นหนึ่งที่รับรู้ร่วมกันคือการที่รัฐกระทำรุนแรงต่อประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นบ่อย หากเราเชื่อมโยงกรณีนี้กับอีกมากมายหลายกรณีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย  

ถ้อยคำสบถหยาบคายปรากฏในหน้าฟีดเฟสบุ๊คช่วงบ่ายแก่ๆ วันที่  22 พฤษภาคม 2557 แทบจะทันทีหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่าได้ทำการรัฐประหาร ประชาชนมากมายแสดงความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจเพราะเห็นว่าการรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ทั้งคนไทยและต่างชาติก็พอจะคาดเดาได้ว่าการกระทำอันไม่สมควรเช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เสมอสำหรับการเมืองไทย เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการรัฐประหาร มีการอ่านคำสั่ง คสช. ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ครั้งแล้วครั้งเล่า ระบุชื่อ-สกุล ของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักศึกษา นักการเมือง นักกิจกรรม ฯลฯ ให้ไปรายงานตัวต่อ คสช.

ส่วนตามจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาค มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเครื่องแบบหลายสิบนายบุกไปตามสถาบันการศึกษา สถานที่ทำงาน และที่พักอาศัย ฯลฯ พร้อมกระดาษบัญชีรายชื่อเพื่อที่จะควบคุมตัวบุคคลเหล่านั้นให้ไปพบกับผู้บัญชาการในระดับสูงของพวกเขา บ้างมีการโทรไปสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าเพื่อ “ขอคุยด้วย” หรือ “ขอเลี้ยงกาแฟ” ตามหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงาน หรือของผู้บังคับบัญชา บุพการี ญาติ มิตร หรือแม้แต่คู่รักเพื่อแจ้ง หรือ “ฝากบอก” ว่าให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารในท้องที่ หลายคนถูกบุกจับด้วยกองกำลังติดอาวุธจากที่พักโดยไม่มีหมายค้นหรือหมายจับ ถูกรื้อค้น ทาลาย และยึดทรัพย์สิน บางคนถูกอุ้มหายไปโดยไม่ทันบอกกล่าวใคร ทำให้ญาติมิตรกังวลว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต และมีกรณีที่โพสต์ตามหาเขา/เธอ ในเฟสบุ๊คเพื่อขยายข่าวการหายตัวไปอย่างปริศนา ขณะที่หลายคนถูกควบคุมตัวโดยละม่อม ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือถ้อยคำหยาบคาย แต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมายอย่างอุกอาจในการคุกคาม ข่มขวัญ และสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ที่เป็นเป้าหมายของการควบคุมตัวและบุคคลแวดล้อมที่พบเห็น

บอย (นามสมมติ) เล่าว่าหลังการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 ได้สองเดือนเศษ เขาไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยและทำงานพิเศษตามปกติ วันหนึ่งอาจารย์ตามให้ไปพบ เพราะมีทหารมาหาและต้องการให้เซ็นต์ MOU ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมการเมือง แต่เมื่อไปถึงเขาก็ถูกจับกุม ทราบภายหลังว่าถูกตั้งข้อหากระทำผิด ม.112 เขาถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่นั้น ถูกฟ้องคดี ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ถูกตัดสินให้จำคุก รวมเวลาที่ไร้อิสรภาพทั้งสิ้นราวสองปี (สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2562) นอกจากบอยแล้ว ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารใหม่ๆ มีประชาชนอีกหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัว ก่อนที่จะทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง บางคนถูกกล่าวหาด้วย ม.112 บางคนโดนข้อหาก่อการร้าย และอีกหลายคนไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธสงครามในครอบครอง

บรรยากาศการคุกคามทำให้บุคคลที่ถูกตามตัว และเชื่อว่าจะถูกติดตามตัวหลบ ซ่อน และหนี แม้หลายคนจะเห็นว่าในยุคสมัยปัจจุบันรัฐ “ไม่น่า” กล้าใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเหมือนในอดีต แต่โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ไว้วางใจว่า คสช. “จะเอายังไงแน่” ทั้งที่มั่นใจว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิด ดังเช่น ปลา (นามสมมติ) อาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเล่าว่าเธอถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่ค่ายทหารหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 “คณบดีโทรมาเรียก เลยรีบเอาทรัพย์สินฝากเพื่อน เพราะคิดว่าอาจจะติดคุก อาจโดนยัดข้อหา กลัวไม่มากเท่าโกรธ รู้สึกว่าพวกมึงไม่มีสิทธิทำอะไรทั้งสิ้น มึงเลว มึงเอาปืนจ่อหัวเขา หลังจากนั้นก็มีทหารมาเฝ้ามองที่คณะตลอด รู้สึกรำคาญ” (สัมภาษณ์ 13 พฤศจิกายน 2560)

แท้จริงแล้ว ก่อนหน้าการรัฐประหารปี พ.ศ.2557 มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วย ม.112 ไปแล้วเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่เคลื่อนไหวการเมืองร่วมกับขบวนการเสื้อแดง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐประหารปี พ.ศ.2549 ก่อนที่การคุกคามโดยรัฐจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นอีกระลอกหนึ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ดังกรณีของ เปี๊ยก (นามสมมติ) เล่าว่าเขาเคยเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารปี พ.ศ.2549 และเชื่อว่าตนเองจะถูกจับด้วย ม.112 เช่นเดียวกับเพื่อนรุ่นพี่ที่เพิ่งถูกจับกุมไปหลายปีก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2557 เขาจึงตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศ “ผมหลบไปสิบกว่าวัน หลังจากที่เพื่อนอีกคนโดนจับช่วงก่อนการรัฐประหารปี 2557 เพราะมีข่าวว่าผมอาจจะเป็นคิวต่อไป ผมข้ามไปตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นคิดว่าถ้าเขายิงผมลงน้ำผมก็ตายฟรี พอกลับมาผมไม่ได้ไปชุมนุมอีก นั่งดูคลิปแล้วน้ำตาไหลเพราะเราออกไปไม่ได้ กลับมาตำรวจก็มาที่บ้าน ผมก็ถอยออกมาเรื่อยๆ” (สัมภาษณ์ 25 ธันวาคม 2560)

จะเห็นได้ว่าการคุกคามนักกิจกรรมการเมืองเกิดขึ้นระยะหนึ่งแล้วก่อนการรัฐประหาร พ.ศ.2557 และเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น นัก้ นกoyกิจกรรมการเมืองส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าเป็นไปได้เสมอที่กองทัพซึ่งอ้างอำนาจรัฐจะใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าหรือทำร้ายประชาชนอย่างไร้เหตุผลดังที่เคยเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ประชาชนผู้บริสุทธิ์อาจถูกปรักปรำและคุมขังโดยไม่สามารถต่อสู้หรือต่อรองได้ ทั้งนี้ บางคนเคยร่วมอยู่ใน เหตุการณ์ “6 ตุลา” พ.ศ. 2519 หลายคนเคยผ่านเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” พ.ศ. 2535 และกรณีที่รัฐสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภา 2553” ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ แม้บางคนจะไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นโดยตรงแต่ต่างรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากภาพข่าวของสื่อมวลชนทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว นอกจากนั้นฝ่ายประชาชนยังผลิตและเผยแพร่สื่อด้วยตนเองอีกเป็นจำนวนมากในรูปแบบของหนังสือสิ่งพิมพ์ วีดีโอ เพลง ดนตรี และงานศิลปะต่างๆ มีทั้งการเสนอข่าว ข้อเท็จจริง บทสัมภาษณ์ การวิเคราะห์เชิงวิชาการ รวมไปถึงผลงานสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการบันทึกหลักฐานว่ารัฐไทยเคยความรุนแรงต่อประชาชน เพื่อรำลึกและสดุดีผู้สูญเสีย และเพื่อสร้างความทรงจำร่วมที่จะนำไปสู่การสืบทอดเจตนารมณ์การต่อสู้ของประชาชน

สื่อต่างๆ เหล่านั้นผลิตออกมาเพื่อประณามและต่อสู้กับการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ โดยหวังว่ามันจะเป็นบทเรียนให้แก่ปัจจุบันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม แต่ก็ดูราวกับว่าการสร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจะยังไม่บรรลุผลมากเท่ากับการบันทึกความรุนแรงของรัฐซึ่งมีส่วนขยายผลนาฏกรรมของรัฐที่สร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนไม่มากก็น้อย


โลกออนไลน์ พื้นที่อันตราย

ก่อนการรัฐประหารของ คสช. เฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เคยเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองที่มีชีวิตชีวา มีการแสดงความคิดเห็น โต้แย้ง และมีการเชื่อมโยงปฏิบัติการต่างๆ ระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง ผู้ให้สัมภาษณ์สามคนซึ่งจบการศึกษาในระดับต่างกัน ได้แก่ มัธยมศึกษาปีที่สาม ปริญญาตรี และปริญญาเอก เล่าคล้ายกันว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พวกเขาสนใจการเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2549 คือการที่ได้เข้าไปอ่านข้อมูลและร่วมถกเถียงในเว็บบอร์ดต่างๆ ก่อนที่การใช้เฟสบุ๊คจะได้รับความนิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา และกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้และแสดงออกทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ปลา เล่าว่าเธอได้อ่านเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ห้องแว่นสาขา1 สาขา2 บก.ลายจุด และอีกหลายเว็บบอร์ด ในช่วงที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ “ไม่ได้เชื่อ แต่ก็ค้นหาข้อมูลเพิ่ม ตอนนั้นเรียนต่ออยู่เมืองนอกจึงเข้าถึงพวกงานวิชาการ เราให้เครดิตความน่าเชื่อถือทางวิชาการจึงค่อยๆ เปลี่ยนความคิด” (สัมภาษณ์ 12 พฤศจิกายน 2560)

แต่แล้วไม่นานโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่พื้นที่ที่จะแสดงออกทางการเมืองได้อย่างเสรีและปลอดภัย เมื่อผู้ที่เคลื่อนไหวการเมืองหลายคนที่ถูก คสช. ควบคุมตัวถูกยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ/หรือคอมพิวเตอร์ และถูกบังคับให้บอกรหัสผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียเพื่อเจ้าหน้าที่จะล็อกอินเข้าไปในบัญชีแล้วหาหลักฐานเอาผิด รวมทั้งสืบสาวหาบุคคลที่ติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเชื่อว่าทั้งหมดเป็นเครือข่ายที่มีศูนย์บัญชาการแห่งเดียวกัน (สนทนาส่วนตัวกับผู้ผ่านการเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ, พฤษภาคม 2557)

การคุกคามของ คสช. ในช่วงแรกทำให้นักคิด นักเขียน และนักวิชาการจำนวนมากยุติการเคลื่อนไหวบนเฟสบุ๊ค หลายคน “deactivate” หรือระงับการใช้บัญชี หรือลบบัญชีเฟสบุ๊คและโซเชียลมีเดียอื่นๆ บางคนงดใช้โทรศัพท์หมายเลขเดิม แล้วซื้อซิมโทรศัพท์เบอร์ใหม่มาใช้ ในช่วงนั้นจึงเกิดความอลหม่านว่าเจ้าของบัญชีที่หายไปนั้นตั้งใจหลบซ่อนตัว หรือว่า “ถูกอุ้ม” ผู้ที่หลบหนีโดยส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลกับการถูกจับกุมหรือ “เข้าค่ายทหาร” เพราะทบทวนดูแล้วว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิดหรือสุ่มเสี่ยง แต่พวกเขาไม่ไว้วางใจว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นไปได้ที่ถูกยัดเยียดข้อหา ม. 112 ซึ่งมีการตีความกล่าวหาแบบเหวี่ยงแหและต่อสู้ให้ชนะคีดความได้ยาก

อู๋ (นามสมมติ) ชายหนุ่มคนหนึ่งที่มีบุคลิกซื่อๆ และไม่ได้เป็น “ฮาร์ดคอร์” ทางการเมือง ถูกรวบตัวและถูกจำคุกราว 2 ปี ด้วยข้อหา ม.112 จากการถูกตำรวจ “ล่อซื้อ” โดยคุยกับเขาผ่านสื่อโซเชียลลวงว่าเป็นหญิงสาวต้องการขอนัดพบ ในทำนองเดียวกับอีกหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมดำเนินคดีด้วย ม.112 จากการโพสต์ข้อความ หรือแชร์ข่าวจากสำนักข่าวที่เป็นทางการ นอกจากนั้น ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่ออนไลน์ยังถูกใช้ คุกคามผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ที่เรียกกันว่า “ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์” ซึ่งหมายถึงการให้ข้อมูลเบาะแสและเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่เชื่อว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสอดส่อง กลายเป็นขบวนการที่ขยายตัวในวงกว้าง โดยมีข้อมูลจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า ช่วงปี พ.ศ. 2552-2553 เฟสบุ๊คแฟนเพจ “ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม” (Social Sanction) หรือ SS ได้นำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่เชื่อว่าหมิ่นสถาบันมากกว่า 40 ราย และส่งผลให้หลายรายถูกให้ออกจากงาน และบางรายกลายเป็นคดีความ[2]

การประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมา) ได้ทำให้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชนุภาพถูกใช้ฟ้องร้องเอาผิดประชาชนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และมันได้เปลี่ยนให้โลกออนไลน์จากที่เคยเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการเมือง กลายเป็นพื้นที่ตรวจตราของรัฐ ผู้ให้สัมภาษณ์แทบทุกคนตระหนักว่าเฟสบุ๊คของตนถูกรัฐติดตามสอดส่องตลอดเวลาและบางครั้งพวกเขาก็ตั้งใจโพสต์ข้อความเพื่อท้าทายอำนาจรัฐ “มันจะทำอะไรกับผมอีก ? อยากจับก็จับไป แล้วจะทำอะไรได้มากกว่านั้น คุกผมก็ไปอยู่มาแล้ว ผมไม่กลัวอีกแล้ว” บอย กล่าว (สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2556)   แต่บางคนก็สะท้อนว่าการติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำให้พวกเขาอึดอัดมากเท่ากับที่ถูกญาติมิตรของตนโทรศัพท์มาเตือนให้ลบข้อความในเฟสบุ๊คเพราะเห็นว่าสุ่มเสี่ยง บางคนต้อง “เซ็นเซอร์ตัวเอง” เพราะห่วงคนใกล้ชิดว่าจะมีอันตรายเพราะหากเจ้าหน้าที่รัฐตามตัวพวกเขาไม่พบก็จะไปคุกคามญาติพี่น้องแทน  


ส่งท้าย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่าการลงโทษประชาชนในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกใช้เพื่อแสดงนาฏกรรมของรัฐเพื่อสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนว่าอำนาจรัฐนั้นมีอยู่จริง สูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ และล่วงละเมิดมิได้ บทความยังแสดงให้เห็นว่าอำนาจรัฐนั้นไม่ได้มีขอบเขตอยู่เฉพาะในอาณาบริเวณทางกายภาพ แต่ยังแผ่ขยายไปยังโลกออนไลน์ซึ่งเป็นพื้นที่เสมือน และแทรกซึมเข้าไปยังความรู้สึกนึกคิดของพลเมืองที่มีทั้งผู้ที่รู้สึกหวาดระแว งไม่ไว้วางใจรัฐ และผู้ที่ปฏิบัติการเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นรัฐเสียเองด้วยการคอยสอดส่องและคุกคามประชาชนด้วยกันในนามของความจงรักภักดีต่อรัฐ      

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการสร้างความหวาดกลัว การกำราบ และปราบปรามประชาชนนั้น รัฐทำได้แค่เพียงระงับยับยั้งไม่ให้การต่อสู้เคลื่อนไหวไม่ให้ปรากฏต่อสายตาตนเองเท่านั้น เพราะการศึกษาพบว่าอดีตผู้ต้องขังในส่วนใหญ่ที่เคยถูกรัฐคุกคามอย่างรุนแรงไม่เคยยอมศิโรราบต่ออำนาจรัฐ พวกเขาไม่ยอมถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง และยังพยายามใช้กลวิธีและช่องทางที่เป็นไปได้ต่างๆ ในการบ่อนเซาะไม่ให้รัฐสถาปนาอำนาจและสร้างความเกรงกลัวต่อพลเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ ขณะที่รัฐแสดงนาฏกรรมแห่งอำนาจเพื่อสร้างความกลัว พลเมืองก็กำลังแสดงนาฏกรรมเพื่อต่อสู้กับอำนาจของความกลัวนั้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าพวกเขาจะกลัวหรือไม่ก็ตาม ในเรื่องนี้ความจริงหรือความลวงไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการกระทำของมนุษย์เสมอไป เพราะการแสดงออกใดๆ อาจเป็นการแสดงต่อหน้าฉาก (front stage) ได้ทั้งนั้น โดยที่หลังฉาก (back stage) อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งดังที่ เออร์วิง กอฟฟ์แมน (Erving Goffman, 1956)[3] เคยกล่าวไว้

 

 

อ้างอิง

[1] ปรับปรุงจากบทความนำเสนอในการประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 13 “ความพลิกผันของศาสตร์มนุษย์และสังคมในยุคดิจิทัล” วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา /บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เพื่อสร้าง “พื้นที่ความรู้” ของพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง”ภายใต้ชุด โครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ความรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสมัยใหม่” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์  

[2] ดูเพิ่มเติม นาฏกรรมของรัฐเพื่อสร้างความหวาดกลัวด้วย ม.112 (1) https://prachatai.com/journal/2017/11/74108

[3] Goffman, E. (1956). The Presentation of Self in Everyday Life. Garden City, New York: Doubleday.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net