Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สังคมสมัยใหม่มีกระบวนการต่างๆ ที่แยกสลายความสัมพันธ์ของผู้คนที่เคยผูกพันกัน จนต่างกลายเป็นปัจเจกชน (individualization) ที่ไม่ค่อยจะสนใจเรื่องส่วนรวมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าก็สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เสริมสร้างพลังอำนาจให้ปัจเจกบุคคลสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ สร้างพื้นที่และปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ จนกลายเป็นปัจเจกชนนิยมที่ตื่นตัว (active individualism) (Giddens, 1991) และมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกระตือรือร้น

พลังของปัจเจกชน และประชาธิปไตยแบบดิจิตัล (Digital Democracy)

โลกออนไลน์กลายมาปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) แบบหนึ่งตามแนวคิดของเจอร์เกน ฮาเบอมาส (Jürgen Habermas) ที่เชื่อว่าในสังคมประชาธิปไตยจะมีพื้นที่ที่สังคมประชา (civil society) ได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนในเรื่องส่วนรวม (Habermas, 1991)

การศึกษาของ วีราภรณ์ ประสบรัตนสุข (2558) ระบุว่าประเทศไทยมีการใช้เฟสบุ๊คมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีข้อมูลว่าในปี 2555 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานเฟสบุ๊คมากติดอันดับ 13 ของโลกจากจำนวน 212 ประเทศ และกรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในโลก ข้อมูลเดือนเมษายน 2558 มีประชากรไทยใช้งานอินเตอร์เน็ต 25 ล้านคน มีผู้ใช้เฟสบุ๊ค 35 ล้านบัญชี จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน โดยที่เนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงกันในเฟสบุ๊ค

ชัชวาล บุญปัน อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บอกเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่ในโลกออนไลน์ต่อการเรียนรู้ ก่อนหน้านี้การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขึ้นมาก็เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ด้วยการล้อมวงคุยและจัดเสวนาต่างๆ “ผมเข้าสู่โลกออนไลน์หลังเกษียณราชการ ส่วนใหญ่ตามอ่าน เพราะสิ่งที่คนอื่นเขียนดีกว่าเราเยอะ น่าทึ่งที่คนหนุ่มสาวสมัยนี้พูดอะไรคมมาก เขียนอะไรดี ทำไมเขาคิดประโยคแบบนั้นได้ ผมได้แค่เฝ้ามอง แชร์บ้าง ตามอ่านจากบุคคลต้องห้ามทั้งหลาย และอ่านข้อมูลอีกฝั่งด้วยเพราะอยากรู้ความคิดของเขา สงสัยว่าทำไมคิดอย่างนั้น เวลาแชร์ข่าวจะนึกถึงคนทั่วไป อยากให้เขาได้อ่าน” (สัมภาษณ์ 3 ธ.ค.2560)

โลกยุคสังคมเครือข่ายในปัจจุบัน พื้นที่ออนไลน์ได้กลายเป็นสมรภูมิทางการเมืองที่สำคัญ เครือข่ายข้อมูลและการสื่อสารในแนวราบ (horizontal communication) ได้เชื่อมโยงให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกัน และรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และทำให้เกิดเครือข่ายใหม่ๆ ในรูปแบบและพื้นที่ความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น (Castells, 2007) และผู้คนจำนวนมากในทุกวันนี้ก็ใช้เวลาสื่อสารบนโลกออนไลน์มากกว่ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโลกความจริงเสียอีก

โลกออนไลน์ ไม่ได้แยกขาดออกจากโลกความเป็นจริงแต่เชื่อมโยงถึงกันเสมอ แม้พวกเรากำลังก้มหน้าก้มตาอยู่กับเครื่องมือสื่อสารขนาดเล็กในฝ่ามือ ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้ถูกแยกสลายให้กลายเป็นปัจเจกชนที่ไม่สนใจความเป็นไปของสังคม การแสดงออกเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าแต่ก่อน การรับสื่อ การส่งต่อข้อมูล การแชร์ข่าว การคอมเม้นท์ การลงประชามติออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ฯลฯ อาจถูกสร้างความหมายให้เป็นปฏิบัติการทางการเมืองได้ทั้งสิ้น และเป็นปฏิบัติการที่ปัจเจกบุคคลสามารถกระทำการได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ แต่ก็อาจมีพลังที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ความเข้าใจ และพฤติกรรมของผู้คนในโลกออฟไลน์ ปฏิบัติการเหล่านี้นับว่าเป็น  “การเมืองระดับย่อย” (sub-politics) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมจากกลุ่มคนฐานราก (Beck 1994) จากการกระทำใดก็ได้ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

การขยายตัวของเทคโนโลยีการสื่อสารในสังคมสมัยใหม่ได้เพิ่มช่องทางในการแสดงออกทางการเมือง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่แลกเปลี่ยนถกเถียงกัน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความรู้และปฏิบัติการทางการเมือง และในทางกลับกันการเปลี่ยนแปลงความรู้และปฏิบัติการทางการเมืองก็ส่งผลต่อการเกิดช่องทางการสื่อสารและเนื้อหาการสื่อสารใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พื้นที่สื่อสารใดๆ ก็ตาม ไม่เว้นแม้แต่โลกออนไลน์ ไม่พ้นไปจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐและอำนาจการตลาดของนายทุน ขณะที่กระบวนการสื่อสารเองก็เต็มไปด้วยการใช้อำนาจ มันจึงไม่อาจเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างเป็นประชาธิปไตยแท้จริง (สุรสม กฤษณะจูฑะ, 2547: 182) ทั้งยังคงมีข้อกังขาว่าปัจเจกชนจะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ และอดทนต่อความคิดเห็นต่างได้มากเท่าไร

อรุณรุ่ง สัตย์สวี (นามปากกา) นักดนตรี กวี และนักเขียนรางวัลพานแว่นฟ้าที่ผลิตผลงานวิพากษ์การเมืองให้สัมภาษณ์ว่า “ผมสับสนเหมือนกันว่าจะเขียนสื่อสารกับใคร ถ้าจะให้เขียนให้พวกที่คิดเหมือนเราอ่านก็คงไม่จำเป็น เพราะเขาตาสว่างกันหมดแล้ว แต่ถ้าเขียนเพื่อหวังเปลี่ยนใจคนอีกฝั่งหนึ่ง เขาก็คงไม่อ่าน” (สัมภาษณ์ 19 พ.ย.2560)

ในสภาวะที่จุดยืนทางการเมืองทำให้ผู้คนในสังคมไทยแบ่งแยกออกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ และการเรียกร้องให้อีกฝ่ายยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกลายเป็นเรื่องเกินกำลังของสื่อมวลชน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสื่อมวลชนเองมีส่วนสำคัญในการตอกลิ่มลงไปในรอยแตกร้าว จนทำให้รอยปริแตกแผ่กระจายออกไปในรัศมีกว้างไกลกว่าเดิม

แต่สื่อมวลชนก็ไม่ได้เป็นตัวแสดงสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่สื่อสารการเมืองในโลกยุคนี้ ปัจเจกและกลุ่มบุคคลสามารถผลิตข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ไปสู่สังคมวงกว้างได้อย่างรวดเร็วผ่านอินเตอร์เน็ต ที่เราเรียกว่าการสื่อสารแบบ Self-directed Mass Communication (Castell 2005: 13) แแม้จะมีผู้คาดหวังว่ากระบวนการสื่อสารแบบนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจกันและกันและประสานรอยแตกร้าว แต่ความจริงที่ปรากฏก็ไม่ได้มีแนวโน้มไปในทางนั้น

เฟสบุ๊ค ในฐานะเวทีแสดง

ผู้เขียนสังเกตว่าผู้คนจำนวนมากไม่ได้ใช้เฟสบุ๊คเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจหรือแลกเปลี่ยนถกเถียงอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่ใช้เพื่อระบายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความอึดอัดคับข้องใจ สบถ ด่าทอ เสียดสี ถากถาง ฯลฯ ผ่านถ้อยคำและข้อความ เช่น เสือก เหี้ย ปลิงควาย พ่อ แม่ ฝุ่น จัสติน อสกข. สลิ่ม พ่อมึงตาย 121 ดีดีดี ไอ้เหล่ ไอ้หมูตอน ฯลฯ บ่อยครั้งเป็นคำคลุมเครือที่รอการตีความ หรือมีความหมายที่ “รู้กัน” ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เช่น การเติม ร. ในคำที่เห็นว่าไม่สุภาพอย่าง กรู มรึง แมร่ง ฯลฯ การสะกดผิดอย่างจงใจ เช่น สัส (สัตว์) เพื่อลดระดับความดุดัน และบางคนก็ใช้คำราชาศัพท์กับสามัญชนซึ่งผิดไวยกรณ์ภาษาไทย เช่น เด็จพ่อเจียม ฯลฯ การสื่อสารแบบไม่ตรงไปตรงมาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเต็มไปด้วยเรื่องต้องห้าม ตั้งแต่ระดับเบาๆ อย่างการพูดคำไม่สุภาพ ไปจนถึงเรื่องร้ายแรงอย่างการพูดถึงบุคคลที่ล่วงละเมิดมิได้

ผู้เขียนมองว่าเฟสบุ๊คเปรียบเหมือนกับลานสาธารณะโล่งแจ้งที่ใครก็ตามอาจแวะเข้ามาขีดเขียน แล้วรอให้มีผู้ผ่านมาเห็น ถอดความหมายมันออกมาก บางคนอาจรับรู้อารมณ์ และบางอาจอาจวิเคราะห์ตีความเชื่อมโยงไปถึงรากเหง้าของปัญหามากมายในสังคม

การเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้พื้นที่ออนไลน์ ยังนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ที่ในสังคมไทยมีการศึกษาเรื่องนี้ไม่มากนัก งานที่ศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในประเด็นที่ว่ามีการใช้เฟสบุ๊คเพื่อสื่อสาร โต้แย้ง และสร้างเครือข่ายในแนวราบระหว่างพลเมืองด้วยกันเอง รวมถึงสิทธิเสรีภาพในพื้นที่เหล่านั้น โดยเห็นว่าเฟสบุ๊คได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร (information function) การสื่อสาร (communication function) และการปฏิบัติการ (action function) ทั้งระหว่างพลเมืองด้วยกันเองและพลเมืองกับรัฐ  (ดูเพิ่มเติม วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข 2558, สุนทร คุณชัยมัง 2555, และอาทิตย์ สุริยวงศ์กุล 2555 เป็นต้น) 

 ส่วนในต่างประเทศการศึกษาในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงในหลายประเด็น โดยมีผู้เห็นว่าการทำกิจกรรมการเมืองในพื้นที่ออนไลน์เป็นการเคลื่อนไหวแบบตั้งรับ (passive) และไม่ใช่การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ (non-physical way) จึงเป็นการเคลื่อนไหวแบบเฉื่อย (stacklivism) ซึ่งในสังคมไทยก็มักต่อว่าพวกที่เคลื่อนไหวแบบนี้ว่าเป็นแค่ “เกรียนคีย์บอร์ด” ที่แสดงออกด้วยการคลิก (clicktivism) แต่ปกปิดซ่อนเร้นตัวตน ไม่ออกมาทำอะไรจริงจัง จึงไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ดังนั้น กระแสความตื่นตัวในโลกออนไลน์ก็ไม่สามารถที่จะสะท้อนความตื่นตัวของพลเมืองในโลกความเป็นจริง ประชาธิปไตยแบบดิจิตัล (digital democracy) จึงเป็นได้แค่เพียงมายาคติ (Hindman, 2009 อ้างใน Svensson, 2011: 44) เท่านั้นเอง

ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สเวนสัน (Svensson et al 2013, Svensson 2011) ที่ว่าเราจำเป็นต้องนิยามการมีส่วนร่วมทางการเมืองเสียใหม่ โดยที่ปฏิบัติการของความเป็นพลเมือง (practice of citizenship) อาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตวันของเราอย่างเข้มข้นดังเช่นทุกวันนี้ ความเป็นพลเมืองไม่จำเป็นต้องอยู่บนฐานของการเป็นสมาชิกและมีส่วนร่วมอยู่ในอาณาบริเวณของรัฐชาติแบบเดิม แต่อาจเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนอกอาณาเขตทางกายภาพของรัฐ และยึดโยงกับคุณค่า สิทธิ และพันธะผูกพันแบบอื่นๆ ที่มีความหมายมมากกว่าค่านิยมที่รัฐพยายามหล่อหลอมก็ได้

การที่ประชาชนไทยจำนวนมากยังแสวงหาช่องทางและกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงเรื่องที่พูดไม่ได้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในเรื่องการเมืองและเรื่องอื่นๆ แทนที่จะหยุดพูดเรื่องเหล่านั้นตามความต้องการของผู้มีอำนาจในรัฐ ได้สะท้อนให้เห็นความพยายามในการต่อสู้ขัดขืนเพื่อขยับเพดานเสรีภาพ ไม่ว่าการพูดนั้นจะมีรูปแบบและเนื้อหาอย่างไรก็ตาม บางถ้อยความอาจถูกตีความว่าเป็นประทุษวาจา หรือ hate speech ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมถึงขอบเขตของ hate speech และเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง กับ hate speech ว่าอยู่ตรงไหน

ตามอุดมคติแล้ว สังคมประชาธิปไตยควรมีพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนเรื่องส่วนรวมด้วยเหตุด้วยผล แต่ในสังคมไทย เฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์ ไม่อาจทำหน้าที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่ใช่ว่ามันจะไม่ได้มีบทบาทในการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยเสียเลย เพราะมันยังถูกใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อสำแดงความเป็นพลเมืองด้วยการท้าทายอำนาจและความกลัวที่รัฐสร้างขึ้น แม้ว่ามันจะเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่อาจถูกมองว่าก้าวร้าว หยาบคาย ไร้เหตุผล ฯลฯ แต่การแสดงออกเหล่านี้ก็ไม่ควรถูกเบียดขับออกจากพื้นที่การเมือง เพราะมันคือปฏิบัติการทางอำนาจรูปแบบหนึ่งของพลเมืองที่สนใจและต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง พวกเขากำลังแสดงออกว่าไม่สยบยอมต่ออำนาจรัฐ แต่กล้าเสี่ยงที่จะท้าทายเพื่อบ่อนเซาะไม่ให้รัฐสถาปนาอำนาจและสร้างความกลัวได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ในปี 2561 ความกลัวต่อภัยคุกคามจากรัฐผ่อนคลายลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงแรกหลังรัฐประหาร ความชอบธรรมในการยื้ออำนาจของรัฐบาล คสช. ลดน้อยลง พร้อมกับที่สื่อมวลชนเริ่มนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางการเมืองอย่างคึกคักอีกครั้งบนพื้นที่เฟสบุ๊คและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งยังมีกลุ่มประชาชนออกมาเคลื่อนไหวและแสดงให้เห็นว่าไม่กลัวอำนาจเผด็จการและบุคคลในรัฐบาล คสช. ฯลฯ

การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์หรือโลกออฟไลน์ ผู้ส่งสารตระหนักเสมอว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่เฝ้าติดตามและพยายามหาทางเอาผิดพวกเขาตลอดเวลา การจัดแสดงต่างๆ จึงไม่ได้เป็นไปอย่างไร้เดียงสา ทุกคนรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจถูกภัยการเมืองคุกคาม และพวกเขาก็ไม่ได้ปราศจากความกลัวเสียทีเดียว กระนั้น การคุกคามปราบปรามของรัฐก็ไม่สามารถทำให้พวกเขาหยุดท้าทายอำนาจรัฐ ในกรณีนี้ความกล้า หรือความกลัว ความจริงหรือความลวง ไม่ได้เป็นสาระสำคัญของการกระทำ แต่พวกเขาได้เลือกแสดงต่อหน้าฉาก (front stage) เพื่อสื่อสารบางอย่าง โดยที่หลังฉาก (back stage) อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ได้ (Erving Goffman, 1956) การกระทำเช่นนั้นนับเป็นปฏิบัติการเพื่อบั่นทอนพลานุภาพของความหวาดกลัวที่รัฐสร้างขึ้น ด้วยการส่งต่อความไม่กลัวไปยังผู้คนในเครือข่ายของตนเองและสาธารณชนวงกว้าง ทำให้เห็นความจำเป็นของการลุกขึ้นสู้อย่างไม่ยอมจำนนไม่ว่าจะอาศัยกลวิธีใดก็ตาม

การจัดแสดง “ความไม่กลัว” ของอดีตผู้ต้องขัง ม.112

พลเมืองไทยที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรล้วนใช้ชีวิตอยู่ในความเสี่ยง และถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารกันทั้งนั้น ไม่มีใครบอกชัดเจนได้ว่าเส้นความปลอดภัยจาก ม.112 อยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะกฎหมายถูกตีความอย่างกว้างขวางจนอะไรก็ได้อาจกลายเป็นการกระทำผิดด้วยข้อหานี้  และทำให้มีผู้ใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือคุกคามทำร้ายผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง (Teylor 2019)

อดีตผู้ต้องขังคดี ม. 112 ต่างรับรู้ว่าตนมีความเสี่ยงที่จะถูกรัฐคุกคามมากว่าประชาชนทั่วไป เพราะหลังได้รับอิสรภาพ ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวตลอด มีการโทรศัพท์มาหา เฝ้าหน้าที่พัก หรือปรากฏตัวให้เห็นเป็นเชิงข่มขู่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวในวาระสำคัญต่างๆ อีกทั้งทุกคนยังเชื่อว่าหน้าเฟสบุ๊คของพวกเขาเป็นที่พบปะระหว่างตัวเขากับเจ้าหน้าที่รัฐหลายสังกัด จึงน่าสนใจที่พบว่าพวกเขายังคงโพสต์เฟสบุ๊คสม่ำเสมอ และบางคน “โพสต์รัวๆ” ในลักษณะสุ่มเสี่ยง คล้ายไม่เข็ดหลาบ จากโทษทัณฑ์ที่ผ่านมา

ผู้ให้สัมภาษณ์เกือบทุกคนในงานศึกษานี้ยังคงใช้บัญชีเฟสบุ๊คในชื่อ-สกุลจริง หรือชื่อที่คนทั่วไปรู้จัก บางคนที่ถูกระบบเฟสบุ๊คระงับการใช้บัญชีเดิมก็เปิดบัญชีใหม่ขึ้นมาในชื่อเดิม เพื่อรักษาเครือข่ายการสื่อสารกับผู้ที่เป็น “เพื่อน” หรือคนกลุ่มเดิมที่สนใจติดตามอ่านความคิดเห็นของเขา ทุกคนมี “เพื่อน” ในเฟสบุ๊คจำนวนหลักร้อยถึงหลักพัน หลายคนแอดกันโดยไม่ได้รู้จักตัวตนในโลกความจริง ยกเว้นเฉพาะ ดวงจันทร์ (ดวงจันทร์) ที่นิยมสื่อสารผ่านไลน์มากกว่า เธอบอกว่าใช้เฟสบุ๊คไม่ค่อยเป็น ขณะที่เธอเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ถึงเกือบสามสิบกลุ่ม โดยใช้ชื่อไลน์ตามฉายาที่ใครๆ ก็รู้จักว่าเป็นเธอ เธอบอกว่าได้เขียนวิเคราะห์ข่าวส่งให้ทุกกลุ่มทุกวัน วันละหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การศึกษายังมีอดีตผู้ต้องขัง ม.112 อีกหลายคนที่นอกเหนือจากการศึกษานี้ใช้เฟสบุ๊คในลักษณะที่ปิดลับ หรือคัดกรองผู้มองเห็นการโพสต์ของพวกเขาอย่างรัดกุมด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนสังเกตว่าหากเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้ที่มีสถานะทางสังคมดี เป็นที่รู้จักในทางสาธารณะ มีคุณวุฒิการศึกษาสูง และมีความอาวุโส (วัย 45-60 ปี) มักจะโพสต์ข้อความที่แสดงอารมณ์ดุดันและมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงกว่าอดีตผู้ต้องขังที่มีสถานะทางสังคมด้อยกว่า ดังตัวอย่างกรณีของวิทย์ (นามสมมติ) นักกฎหมายในวัยใกล้หกสิบ เดือนแรกที่ได้รับอิสรภาพหลังจำคุกนานนับปี เขาโพสต์เฟสบุ๊คทุกวันและวันละหลายข้อความ ใช้ชื่อบัญชีจริง ตั้งค่าการมองเห็นเป็นสาธารณะ เช่น บ่นว่าถูกเลข 112 ตามหลอกหลอน ถากถาง “สลิ่มคลั่งเจ้า” และข้อความเสียดสีต่างๆ เนื้อความแสดงถึงความโกรธเกรี้ยวอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่สนใจว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตามดูอยู่โดยเฉพาะเป็นช่วงที่ออกมาจากเรือนจำใหม่ๆ “ก่อนโดนจับไม่ออกสาธารณะนะ เพราะว่าปลายปี 54 ผมเคยประกาศว่าวางมือจากการเมืองด้วยซ้ำไป พอโดนแบบนี้มันเหมือนอาฆาต ที่เคยบอกว่าวางมือถือว่ายกเลิก” (สัมภาษณ์ 9 ก.พ.2562) เมื่อผู้เขียนแสดงความเห็นว่าข้อความของเขาสุ่มเสียง เขากลับหัวเราะแล้วบอกว่า “ไม่โดนหรอก” ผู้เขียนสังเกตว่าเขาใช้ชีวิตในโลกความจริงอย่างระมัดระวังมากกว่า แทนที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองในการใช้สื่อออนไลน์ เขาป้องกันไม่ให้ใครสะกดรอยตามด้วยการปกปิดที่พักอาศัย และใช้กระดาษฟอยล์ห่อโทรศัพท์ติดตามตัวและบัตรประชาชนก่อนออกจากที่พักทุกครั้ง  

อีกคนหนึ่งคือ ศักดิ์ (นามสมมติ) ที่โพสต์ข้อความดุเดือดและสุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน ทำให้บ่อยครั้งมีเพื่อนร่วมงานเป็นห่วงและขอให้เขาลบบางข้อความ ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าเราสังคมที่เราอยู่นั้นไม่ปกติ เขาจึงไม่สามารถอยู่เฉยได้  เขาเชื่อว่าในสังคมยังมี  “พื้นที่กำกวม” ที่ประชาชนจะท้าทายอำนาจรัฐเพื่อขยับเพดานเสรีภาพให้สูงขึ้นได้ และเขา “อยากสร้างการแลกเปลี่ยน” ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ (สัมภาษณ์ 21 ต.ค.2560)

อดีตผู้ต้องขังในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน อายุราว 30-40 ปี มักโพสต์เฟสบุ๊คในระดับ “เบา” ลงมา  พวกเขามีความระมัดระวังผลกระทบมากกว่าคนกลุ่มแรก โดยเฉพาะ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อหน้าที่การงาน สิ่งที่พวกเขาโพสต์มักเป็นประเด็นร่วมกับคนที่ติดตามข่าวการเมืองโดยทั่วไป เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ คสช. รัฐ และความไม่เป็นธรรมต่างๆ และตั้งค่าการมองเห็นส่วนใหญ่เฉพาะเพื่อน    

พี (นามสมมติ) ในวัยใกล้สามสิบ ยอมรับว่าเขายังมีความกลัวอยู่มาก แต่เขาก็ยังต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เขาให้สัมภาษณ์ว่า “กลัว แต่ไอ้เรื่องลุงตู่เนี่ยมันเล่นได้ ผมด่าแต่ลุงตู่” (สัมภาษณ์ 29 ธ.ค. 2561)

ส่วนโอ (นามสมมติ) ในวัยสี่สิบ เลือกที่จะโพสต์เรื่องตลกโปกฮาหมาแมวบ่อยกว่าเรื่องการเมือง เพราะแต่ไหนแต่ไรเขาก็ไม่ได้เป็นฮาร์ดคอร์ทางการเมือง เพียงแค่ติดตามข่าวเหมือนประชาชนทั่วไป เหตุที่ถูกจับติดคุกนานถึง 359 วันนั้นเป็นเพราะความขัดแย้งส่วนตัวกับญาติ ไม่ใช่เพราะเขากระทำอาชญากรรมใดๆ หลังจากที่ศาลสั่งยกฟ้อง เขาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัวซึ่งลูกค้าของเขาก็มีอยู่ทั้งสองขั้วการเมือง ดังนั้น การจะโพสต์อะไรบนเฟสบุ๊คหรือไม่นั้นจึงไม่ได้เกี่ยวกับความกลัวหรือไม่กลัวต่ออำนาจรัฐอย่างเดียว แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการทำมาหากินในอนาคตเป็นเรื่องที่เขากังวล  

อดีตผู้ต้องขัง ม.112 ที่โพสต์เฟสบุ๊คอย่างระมัดระวังที่สุดเป็นบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมค่อนข้างน้อย ไม่เป็นที่รู้จักในทางสาธารณะ และไม่ได้มีสถานะทางสังคม นั่นคือ อู๋ (นามสมมติ) ซึ่งเคยติดคุกจากการแชร์ข้อความในเฟสบุ๊ค 3 บัญชี 9 ข้อความ เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ “ล่อซื้อ”  โดยลวงว่าเป็นหญิงสาวมาแชทและขอนัดพบ โทษของเขาคือการจำคุกราวสามสิบปี แต่เขาได้รับอภัยโทษมาเรื่อยๆ รวมเวลาที่อยู่ในเรือนจำราวสองปี ทุกวันนี้เฟสบุ๊คของเขามักเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เขาตั้งค่าการมองเห็นเฉพาะเพื่อน และคนที่ไม่ใช่เพื่อนจะมองไม่เห็นคอมเม้นท์ของเขาในเฟสของคนอื่น เขาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่บ้างด้วยการ “แชร์” ข่าวหรือข้อความของผู้อื่นที่มีเนื้อหาเสียดสี ล้อเลียนผู้มีอำนาจ

จะเห็นได้ว่าอดีตผู้ต้องขัง ม.112 ตีขอบเขต “ความปลอดภัย” ไว้แตกต่างกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือพวกเขาเหล่านี้เคยถูกจับกุมคุมขังจากการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่ทุกวันนี้พวกเขาก็ยังแสวงหาวิธีการพูดถึงเรื่องต้องห้ามเหล่านั้นอยู่นั่นเอง

และเราทุกคนก็เช่นกัน.

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

เอกสารอ้างอิง

วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข

2558 “บทบาทของเฟสบุ๊ค “สมบัติ บุญงามอนงค์” กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุนทร คุณชัยมัง

2555 โลกไซเบอร์กับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ ของไทย (พ.ศ. 2549 – 2554). ดุษฎีนิพนธ์ สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.

สุรสม กฤษณะจูฑะ

2547 การเมืองวัฒนธรรมของความเป็นอื่นในพื้นที่สื่อ: การต่อสู้ทางวาทกรรมว่าด้วยพลังงาน. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล

2555 การเมืองบนเฟสบุ๊ก: วัฒนธรรม-การเมืองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไทย พ.ศ. 2553-2555. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Beck, Ulrich.

1994 ‘The Reinvention of Politics: Towards a Theory of Reflexive Modernization’, In U.Beck, A. Giddens and S. Larsh, Reflexive Modernization Politics, Tradition and Aesthetics in Modern Social Order. Cambridge: Polity Press, pp.1-55.

Castells, Manuel

2005 “The Network Society: From Knowledge to Policy”. in Castells, Manuel and Cardoso, Castavo (ed.), The Network Society from Knowledge to Policy: (3-21). Washington DC. Johns Hopkins Center for Transatlantic Relations

Castells, Manuel

2007 “Communication, Power and Counter-power in the Network Society”. International Journal of Communication 1 (2007): 238-266. 

Goffman, Erving

1956 The Presentation of Self in Everyday Life. Doubleday: Garden City, New

York.

Giddens, A

1991 Modernity and Self-Identity. Cambridge: Polity Press.

Habermas, Jürgen, Thomas Burger (transited)

1991 The Structural Transformation of the Public Sphere: An Inquiry into a Category of Bourgeois Society.The MIT Press: Cambridge, Massachusetts. 

Svensson, Jakob

2011 “The Expressive Turn of Citizenship in Digital Late Modernity”, JEDEM 3(1): 42-56

Svensson, Jakob, Crhistina Neumayer, Alexander Banfield-Mumb and Judith SchoBock.

2013  “What kind of activist are you ? : Positioning, power and identity in political online activism in Europe” In P.Parycek, N. Edelmann and M. Sachs (Eds), CEMED12 Proceeding of the International Conference for E-Democracy and Open Government, (pp. 165-180).Krems; Edition Donau University Krems.

Taylor, Adam

2019 “What happens when you criticize the royal family in Thailand” in The Washington Post. 8 February 2019. (Online) https://www.washingtonpost.com/world/2019/02/08/what-happens-when-you-criticize-royal-family-thailand/?fbclid=IwAR07NXd7zPZ1FovbuYTTd7u1QbTTcpvvdd447MtpXZqivEGAHqYiJLiRzB8&noredirect=on&utm_term=.a52464370430

 

หมายเหตุ: ปรับปรุงจากบทความนำเสนอในการประชุมวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติ ครั้งที่ 13 “ความพลิกผันของศาสตร์มนุษย์และสังคมในยุคดิจิทัล” วันที่  7  มิถุนายน  พ.ศ. 2562 ณ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา /บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เพื่อสร้าง “พื้นที่ความรู้” ของพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง”ภายใต้ชุด โครงการวิจัยเรื่อง “การสร้างพื้นที่ความรู้ในสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสมัยใหม่” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์  

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: อัจฉรา รักยุติธรรม เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net