Skip to main content
sharethis

พรรคอนาคตใหม่บรรยาย 'ทุนผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม' ระบุ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ใช้นโยบายทุ่มเม็ดเงินในโครงสร้างพื้นฐานหวังไหลลงไปสู่ระดับรากหญ้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นวิธีคิดแบบหลังสงครามเย็น เหมาะเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่วันนี้ไทยไม่ได้ขาดแคลนเงินลงทุนเพียงแต่เอกชนไทยไม่นำเงินสะสมออกมาลงทุนเลือกที่จะเก็บแทน ชวนสังคมไทยร่วมผลักดัน 'การค้าที่เป็นธรรม' สกัดทุนผูกขาด


ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (แฟ้มภาพ)

10 ส.ค. 2562 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่าที่พรรคอนาคตใหม่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ บรรยายสาธารณะความจริงประเทศไทย หัวข้อ 'ทุนผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม' โดยในตอนหนึ่งได้ระบุว่าส่วนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ระบุว่ารัฐบาลทุ่มเม็ดเงินในโครงสร้างพื้นฐาน และมันจะไหลลงไปสู่ระดับรากหญ้า หรือกระตุ้นเข้าไปเดี๋ยวจีดีพีจะเติบโต ทุกภาคส่วนจะได้ส่วนแบ่งเอง ตรงนี้เป็นวิธีคิดแบบหลังสงครามเย็น คือ 1.ดึงดูดนักลงทุนเข้ามา 2.กระตุ้นจีดีพี และ 3.ทำกฎระเบียบเอื้อให้ภาคธุรกิจเกิดความสะดวก

อย่างไรก็ตามการดึงดูดนักลงทุนนั้น เป็นเหตุผลที่เหมาะกับสถานการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยไม่มีเงินลงทุน แต่วันนี้เปลี่ยนไปมาก เราไม่ได้ขาดแคลนเงินลงทุน เพียงแต่เอกชนไทยขณะนี้ไม่นำเงินสะสมออกมาลงทุน เลือกจะเก็บแทน ดังนั้นวันนี้เราไม่ได้ขาดเรื่องนั้น แต่เราขาดเทคโนโลยี องค์ความรู้ แล้วที่พูดว่า จะเอาอาลีบาบา หัวเว่ย เข้ามา ช่วยบอกหน่อยว่า เทคโนโลยีอะไรที่เขาจะถ่ายทอดให้เราบ้าง นอกจากนั้น ปีที่แล้วจีดีพีโตประมาณ 4% แต่เศรษฐกิจฐานรากก็ไม่ดีขึ้น ราคายาง ปาล์ม ตอนนี้เหลือเท่าไหร่ การที่เศรษฐกิจดีต้องดูที่คนส่วนใหญ่ในประเทศว่าเป็น

“เมื่อเค้กใหญ่ขึ้นแล้วทุกคนจะได้รับเอง ใช้ได้กับประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ แต่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้มาก เพราะไม่ได้ดีอย่างที่เขาพูด ซึ่งถ้าได้ไปนั่งในกรรมาธิการ อนาคตใหม่จะเข้าไปดูเรื่องพวกนี้แน่นอน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ชวนสังคมไทยร่วมผลักดัน 'การค้าที่เป็นธรรม' สกัดทุนผูกขาด

ในประเด็น 'การค้าที่เป็นธรรม' เว็บไซต์ Voice TV รายงานว่า น.ส.ศิริกัญญา ได้ระบุถึงปัจจัยการผูกขาดทางธุรกิจว่า เกิดจากการมีหรือใช้อำนาจเหนือตลาด ทั้งการลดราคาเพื่อกำจัดคู่แข่ง, การห้ามขายสินค้าของคู่แข่ง, การเลือกปฏิบัติที่ขายในร้านของชำอีกราคา แต่ขายในห้างสรรพสินค้าอีกราคา, การกำหนดราคาขายปลีกและการขายพ่วง

พร้อมยกตัวอย่างกรณี "เหล้าพ่วงเบียร์" ซึ่งทางการไทยเคยตรวจสอบ ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าปี 2542 แต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็ไม่ผิด เพราะยกเลิกขายพ่วงไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการฮั้วราคา รวมถึงการควบรวมกิจการด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วไม่มีตลาดเสรีหรือแข่งขันที่สมบูรณ์และไม่มีใครผูกขาดตลาดได้เจ้าเดียวได้โดยสิ้นเชิง อย่าง Microsoft Windows หรือ iPod ที่ขึ้นราคาได้ แต่จะไม่นานนัก เพราะผู้ใช้บริการมีทางเลือกอื่นๆ หรือมีสินค้าอื่นที่ทดแทนได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความซับซ้อนในโลกจริงของตลาดและการกำกับโดยรัฐและการมีองค์กรควบคุมราคา รวมถึงพฤติกรรมและค่านิยมของผู้บริโภค ขณะที่นายทุนก็พยายามหาช่องทางฮั้วกันเพื่ิอกำหนดราคา

น.ส.ศิริกัญญา ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 1.)​ เพื่อสร้างกฎเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ให้ธุรกิจรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย 2.) เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้สินค้าและบริการที่เป็นธรรม 3.) เป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจและตรวจสอบนโยบายของรัฐไม่ให้เอื้อประโยชน์ทุนบางกลุ่มผูกขาด 4.) ลดและประเมิณผลกระทบจากการแทรกแซงจากรัฐบาลได้

น.ส.ศิริกัญญา ย้ำด้วยว่า นอกจาก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ปี 2560 แล้ว ประเทศไทยยังกำหนดเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ประกันไม่ได้ว่าจะถูกนำมาปฏิบัติได้จริง อีกทั้งประชาชนยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และหลักสูตรการศึกษาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยเกินไปด้วย โดยเห็นว่า หากมีการผูกขาดหรือการค้าไม่เป็นธรรม และในกรณีที่ภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่ม ควรจะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ 

โดยมองว่า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 ของไทย ยังขาดกลไกให้เกิดการเผยเเพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ, เกณฑ์อำนาจเหนือตลาดที่ตายตัวเกินไป, การกระทำที่เป็นความผิดน้อยไปไม่ครอบคลุม, กลไกการฟ้องคดีโดยเอกชนที่ถูกละเลย และการบังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจยังจำกัด พร้อมเสนอให้ รัฐวิสาหกิจควรอยู่ใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า รวมทั้งให้ทบทวนระเบียบนโยยายรัฐ เพื่อสร้างความเป็นกลางทางการแข่งขันด้วย

ทั้งนี้ การสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการผูกขาดโดยกลุ่มทุน ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนและแรงกดดันทางสังคมให้ภาครัฐ อย่างในประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งลำพังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่สามารถผลักดันได้ ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่ จึงหวังสร้างแรงสนับสนุนให้ขยายวงอย่างกว้างขวางที่สุด ให้เกิดการถกเถียง และได้ฉันทามติในสังคมให้มาร่วมกันผลักดันในเรื่องการค้าที่เป็นธรรมและขจัดการผูกขาดโดยกลุ่มทุน

ขณะที่ลักษณะของตลาดโดยทั่วไป ประกอบด้วย 1.) ตลาดผูกขาดคือ ที่มีผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียว แต่พลังงานอย่างไฟฟ้าและปะปา เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะระบบสายส่ง เพราะมีต้นทุนสูง แต่รัฐต้องกำกับดูแล เพื่อให้ราคาเป็นธรรม โดยมองว่า กรณีนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามีผู้ให้บริการกี่ราย แต่อยู่ที่ราคาการให้บริการว่าเหมาะสมหรือเปล่า

2.) ผู้ผลิตน้อยราย อย่างเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมี 3 บริษัท ซึ่งทำให้ค่าโทรถูกลงมากจากอดีตที่เคยมีผู้ให้บริการรายเดียว แต่อาจมีการฮั้วราคาให้ค่าโทรสูงเกินจริงได้ 

3.)​ ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด คือ มีผู้ผลิตจำนวนมากแต่รูปแบบและคุณภาพสินแตกต่างกัน อย่างบริษัทผลิตแชมพู ที่ราคาไม่ต่างกันมากและผู้บริโภคเลือกใช้ตามรสนิยม  

4.) ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะอุดมคติ ที่สินค้ามีรูปแบบหรือหน้าตาและราคาเท่าๆ กัน อย่าง รถเข็นขายผลไม้ ซึ่งขอบเขตของตลาดเกี่ยวกับความสามารถในการทดแทนด้านการผลิต อย่างตลาดผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้ปิดช่องว่างการผูกขาดและมีการแข่งขันทางราคา ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกคุณภาพสินค้าและราคาที่พอใจได้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net