Skip to main content
sharethis

แม้แพ้โหวต กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศ แต่ ส.ส. อนาคตใหม่ยังสู้ต่อเตรียมแก้กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ ขอบคุณพรรคการเมืองอื่นที่โหวตให้ ด้านอัครเดช ส.ส. ประชาธิปัตย์ ชี้แจงสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ แต่ติดปัญหางบประมาณ พร้อมย้ำว่า ไม่เคยมี ส.ส. คนใดพูดว่า “แทนที่จะสนใจแต่เรื่อง LGBT ควรคิดวิธีเลี้ยงลูกไม่ให้เป็น LBGT ด้วย”

22 ส.ค. 2562 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ ได้มีการพิจารณาลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยหนึ่งในประเด็นที่สำคัญคือการพิจารณาขอบังคับการประชุม ข้อที่ 90 (5) ซึ่งเป็นการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกระหว่างการให้มี คณะกรรมการธิการวิสามัญด้านเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ  หรือให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญด้านความหลากหลายทางเพศแยกมาเป็นการเฉพาะ

ส่องประชุมสภา: ที่ทางของ ‘ความหลากหลายทางเพศ’ ลุ้นตั้ง กมธ.ใหม่

การออกเสียงของ ส.ส. ในวันได้ผลออกมาว่ามีผู้เห็นด้วยกับการรวมประเด็นผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้รวมกับกลุ่มอื่นๆ มากกว่าที่จะให้แยกออกมาโดยเฉพาะด้วยคะแนนเสียง 365 ต่อ 101 และงดออกเสียง 13 จะอย่างไรก็ตามก็ถือว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐสภาไทยมีการบรรจุประเด็นศึกษาเรื่องผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้เป็นหนึ่งเรื่องที่คณะกรรมาธิการสามมัญจะศึกษา

หลังจากทราบผลการลงคะแนน ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ และกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้ออกจากห้องประชุมมาแถลงถึงผลโหวตว่า ผลที่ออกมาวันนี้แม้จะไม่สามารถผลักดันให้มีเกิดคณะกรรมาธิการด้านความหลากหลายทางเพศได้ แต่ก็ถือว่าสิ่งที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกันมาประสบความสำเร็จ เพราะเสียงโหวตสนับสนุนประเด็นดังกล่าวมีถึง 101 เสียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีพรรคการเมืองพรรคอื่นๆ นอกจากพรรคอนาคตใหม่ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้

“แม้จะยังไม่รู้ว่ามีพรรคใดบ้าง แต่ขอขอบคุณมากๆ ที่ท่านลงคะแนน และเห็นความสำคัญของเรา” ธัญญ์วาริน กล่าว

ขณะที่ธัญวัจน์ กล่าวถึงภารกิจต่อไปของกลุ่มว่า ถึงวันนี้จัดตั้งคณะกรรมาธิการไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดก้าวเดิน แต่จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนทุกเพศคือ จะตั้งอนุกรรมการทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งยกร่างกฎหมายการสมรสที่เท่าเทียม โดยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตราที่ 1448 เพื่อขยายสิทธิให้การสมรสเท่าเทียมกันทุกเพศไม่จัดกัดเพียงแค่ชายหญิงเท่านั้น

“วันนี้ไม่ไม่ได้เป็นวันที่พวกเราผิดหวัง แต่เป็นวันที่เราเริ่มเดิน อย่างไรก็ตามแม้ว่าเราอาจจะฝันไกเกินไปแต่วันนี้เราได้ก้าว เราลงมือทำแล้ว” ธัญวัจน์ กล่าว

จากนั้นธัญญ์วาริน กล่าวทั้งน้ำตาว่า อยากบอกผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า เราพยายามเต็มที่แล้วที่สร้างที่ยืน ให้ทุกคนเห็นคุณค่าความเป็นคนของเรา ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วที่ได้มีกาอภิปราย และเมื่อวานเราได้เข้าไปคุยกับ ส.ส. พรรคอื่นๆ ที่เคยหาเสียงในเรื่องนี้ จริงๆ หวังว่าจะได้เสียงมากกว่านี้ แต่แค่นี้ก็ดีใจแล้วหากกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการปลดปล่อยศักยภาพของตัวเองมั่นใจว่า เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทยจะดีขึ้น หากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิ เสรีภาพ ตามกฎหมายเหมือนทุกคน

ต่อมาในช่วงเย็นอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ. พิจารณาข้อบังคับการประชุม แถลงถึงการพิจารณาข้อบังคับฯ กรณีการตั้ง กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศด้วย

โดยธณิกานต์ ระบุว่า ผลการลงมติที่ออกมานั้นไม่ใช่เรื่องของการแบ่งฝ่ายทางการเมือง และไม่ใช่เรื่องของกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย แต่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยืนยันว่า สภาฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลายหลากทางเพศแล้ว และการทำงานในอนาคตก็จะมีการตั้งคระอนุกรรมการธิการด้านความหลากหลายทางเพศ ขึ้นมาทำงานเป็นกรณีเฉพาะ

อัครเดช กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่กรรมาธิการเสียงข้างมากไม่ได้เพิ่ม กมธ.ด้านความหลากหลายทางเพศเป็น กมธ.ชุดที่ 36 นั้นเป็นเพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ส่วนกรณีที่ธัญญ์วาริน กล่าวในการประชุมสภาฯ สัปดาห์ก่อนว่ามี ส.ส. คนหนึ่งในคณะกรรมาธิการพูดว่า แทนที่จะสนใจเรื่อง LGBT ควรคิดว่าจะเลี้ยงอย่างไรไม่ให้เป็น LGBT นั้นทางกมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้สั่งการให้มีถอดเทปบันทึกการประชุม ซึ่งไม่พบว่ามีคำพูดดังกล่าวอยู่ และอาจจะเป็นการเข้าใจผิดกันเนื่องจากมี กรรมาธิการท่านหนึ่งแนะนำให้ธัญญ์วาริน สนใจเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก และเยาวชนที่กำลังเติบโตมาในสังคมนี้ด้วย

“สภาผู้แทนราษฎรของเราให้ความสำคัญกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เม็ดเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เพราะปัญหาของพี่น้องประชาชน และปัญหาของประเทศมีมากมายฉะนั้นเราการรวมประเด็นผู้มีความหลากหลายทางเพศไปอยู่ในชุดเดียวกับกลุ่มอื่นนั้นมีความเหมาะสมและจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน และขอย้ำด้วยว่า กมธ. ทุกคนที่มาจากทุกพรรคการเมืองนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง” อัครเดช กล่าว

ทั้งนี้ ชุมมาพร แต่งเกลี้ยง หนึ่งในคณะทำงานการสมรสที่เท่าเทียม และรองหัวหน้าพรรคสามัญชน เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ว่า ประเด็นปัญหาของ ผู้หญิง เด็ก คนชรา ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีประเด็นปัญหาและต้นตอของปัญหาที่แตกต่าง จึงควรแยกตามลักษณะปัญหา และไม่ใช่ควรแยกเฉพาะความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ควรแยกประเด็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ ออกจากกันทั้งหมดเพราะแต่ละส่วนก็มีสภาพปัญหาต่างกัน ส่วนการอ้างถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณ และบุคคลกรนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีระบบคิดในการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม การจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกันท้ายที่สุดย่อมทำให้เกิดการถกเถียงกันภายในคณะกรรมาธิการได้ว่า ประเด็นอะไรสำคัญกว่ากัน อะไรควรมาก่อนมาหลังทั้งที่ทุกเรื่องมีความสำคัญเหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net