'อนาคตใหม่' เปิดเวทีรับฟังปัญหา 'สิทธิ-สวัสดิการ-ความเท่าเทียมทางเพศ'

พรรคอนาคตใหม่เปิดเวทีรับฟังปัญหา “สิทธิ สวัสดิการ และความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานประกอบการ” เรียกร้องให้ผู้ประกอบการและหัวหน้างานให้สิทธิการทำงานโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ


ที่มาภาพ: เพจ Wanvipa Maison-วรรณวิภา ไม้สน-มด

เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมาว่าที่ BFC Ckub House ถนนบางนา-ตราด (กม.42) ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ปีกแรงงาน และ LGBT นำโดย วรรณิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร่วมเสวนารับฟังปัญหา หัวข้อ “สิทธิ สวัสดิการ และความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานประกอบการ” โดยมี จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ กลุ่มคนใช้แรงงาน ที่เป็น LGBT ต้องการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการและหัวหน้างานให้สิทธิการทำงานโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ​ โดยที่ผ่านมา กลุ่มคนแรงงานที่เป็น LGBT ถูกกดดันและเลือกปฏิบัติ​อย่างไม่เป็นธรรม​ภายในสถานประกอบการ​ต่างๆ

โดยประชาชนส่วนใหญ่ที่เข้ามารับฟังงานเสวนาในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน LGBT ที่ได้รับผลกระทบในหน้าที่การงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ จึงถูกเลือกปฎิบัติแม้จะมีความสามารถและมีความเป็นผู้นำ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะโดนกีดกันการดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในสถานประกอบการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมภายในสังคม และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้สังคมไม่พัฒนา อันเนื่องเป็นการกีดกันบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่มีพื้นที่ได้แสดงผลงาน โดยในช่วงระหว่างการเสวนา มีการสะท้อนปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน ไปจนถึงนักศึกษา ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บ้างว่าถูกมองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม บ้างโดนกีดกันการจ้างงาน หรือปฏิเสธการจ้างงาน

วรรณิภา กล่าวว่า เรื่อง LGBT กับการทำงาน เรื่องโครงสร้างกับความเหลื่อมล้ำ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราควรจะสร้างความคิดพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมให้กับคนรอบข้าง ก่อนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ และหากพูดถึงในเรื่องของกฎหมายแรงงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือการนำกฎหมายที่ออกมานำไปใช้ได้จริง และใช้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงมีนโยบายรัฐสวัสดิการที่เห็นคนเป็นคน และคนทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย และความเท่าเทียมกันนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มคน LGBT ไม่ว่าจะเพศไหน หน้าตาเป็นอย่างไร รวยหรือจน เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่เสียภาษีเหมือนกัน และตราบใดที่เรายังมองคนเป็นคนและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ปัญหาความกดขี่ กดทับ และเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างจะค่อยๆหมดไป

ธัญญ์วาริน กล่าวว่า ความเป็นผู้หญิง ความเป็นผู้ชาย เราทุกคนไม่มีโอกาสด้วยซ้ำที่จะเลือกได้ด้วยตัวเอง ตอนเกิดก็ถูกกำหนดเพศโดยอวัยวะเพศ เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก มีจิตใจเหมือนกันแต่ถูกสังคมกำหนดว่าเราคือเพศอะไร โดยที่ไม่สามารถได้เลือกเอง สิ่งเหล่านี้เป็นสังคมที่กำหนดให้เกิดความไม่เท่าเทียม สังคมกำหนดผู้ชายให้เป็นช้างเท้าหน้า ขณะที่ผู้หญิงบางคนมีศักภาพความเป็นผู้นำมากกว่าก็จะเกิดปัญหาทันที นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ตนอยากเรียกร้องเพียงความธรรมดา ที่เราสามารถเลือกที่จะเป็นได้ นี่คือความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ควรมี คนทุกคนแต่งตัวออกจากบ้านไม่ว่าจะใส่เสื้อกางเกง หรือกระโปรง ล้วนเป็นสิทธิของคนแต่ละคน แต่ทำไมคนหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิแม้จะเลือกที่จะใส่เสื้อผ้าด้วยซ้ำ การทำงาน การเรียน วัดกันที่ความสามารถ ไม่ได้วัดกันที่รสนิยมทางเพศ หรือการแต่งกาย เราควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการแต่งกายออกจากบ้าน ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปเรียน เพื่อให้ได้ใช้สมองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้าน ธัญวัจน์ กล่าวว่า คนหลากหลายทางเพศไม่ได้หมกมุ่นเรื่องเพศ แต่สังคมต่างหากที่บอกว่ากลุ่มคนเหล่านี้หมกมุ่นเรื่องเพศ เด็กนักเรียนผู้ชายใส่กางเกง เด็กนักเรียนผู้หญิงใส่กระโปรง นี่คือตัวอย่างที่เป็นตัวกำหนดให้สังคมหมกมุ่นเรื่องเพศ ความเป็นเพศกักขังความคิดที่สร้างสรร สังคมมองว่าคนหลากหลายทางเพศเป็นคนผิดปกติหรือตัวตลก ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เราจึงต้องลบอคติเรื่องเพศออกไป และเพิ่มความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันให้มากขึ้น หากเราทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน จะทำให้สังคมน่าอยู่ เราจะต้องก้าวออกจากกรอบทางเพศ เพื่อที่จะทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพื่อที่จะทำให้คนกล้าแสดงศักยภาพของตัวเอง เราต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะเราคือมนุษย์คนหนึ่งในโลกใบนี้ แล้วสังคมตอนนี้จะเอาการกำหนดเรื่องเพศออกได้อย่างไร

ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า พ.ร.บ.แรงงานปัจจุบัน เรื่องเขียนความเท่าเทียมทางเพศไว้แต่ ชาย-หญิง เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ นั่นยังทำให้สังคมไทยในปัจจุบัน ยังไม่มองคนไม่เท่ากัน ยังมองกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างไม่เท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยากรทุกคนมีความคิดกับปัญหาสิทธิความเป็นมนุษย์ และความเท่าเทียมทางเพศคล้ายๆ กัน นั่นคือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและความคิดของคนในสังคม ที่กำหนดสิ่งต่างๆทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรม การมองคนให้เป็นคน จะช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม โดยในช่วงท้ายวิทยากรทั้ง 4 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน ถาม-ตอบ อย่างทั่วถึงและบรรยากาศเป็นไปอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท