Skip to main content
sharethis

รายงานบทสัมภาษณ์นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เปิดเผยงานวิจัยที่ตั้งคำถามต่อความบริสุทธิ์ของพุทธนิกายเถรวาทว่าเป็นมายาคติหนึ่งที่ทำให้เกิดความอนุรักษ์นิยม จำกัดการตีความให้เข้ากับยุคสมัย และจำกัดเสรีภาพทางศาสนา

  • นิกายเถรวาทใช้การสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นจุดอ้างอิงความบริสุทธิ์ของนิกายตนว่ามีมากกว่านิกายอื่น
  • การยึดอัตลักษณ์ความบริสุทธิ์ของเถรวาททำให้การตีความคำสอนให้เข้ากับบริบทปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ เกิดความอนุรักษ์นิยม และจำกัดเสรีภาพทางศาสนา เช่น กรณีบวชภิกษุณี
  • พระไตรปิฎกเคยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในอดีต ไม่ใช่คัมภีร์ที่ไม่เคยถูกแก้ไขเพิ่มเติมเลยดังที่นิกายเถรวาทเข้าใจ

มีความเชื่อกันในหมู่ชาวพุทธว่าพุทธศาสนาเถรวาทเป็นนิกายที่ดำรงความบริสุทธิ์ของศาสนาพุทธเอาไว้มากกว่านิกายอื่นๆ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เพราะยึดเอาคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกและการสังคายนาครั้งที่ 1 เป็นประวัติศาสตร์อ้างอิง

คำถามที่ท้าทายก็คือ จริงหรือที่ว่าพุทธเถรวาทเป็นนิกายที่บริสุทธิ์ ‘กว่า’?

และถ้าความเชื่อนี้เป็นเพียงมายาคติอย่างหนึ่งที่ใช้อ้างอัตลักษณ์ความบริสุทธิ์ของเถรวาท ดำรงความเป็นอนุรักษนิยม เป็นกรอบขังเสรีภาพในการตีความล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น

ในงานศึกษาเรื่อง ‘การศึกษาประวัติศาสตร์การแตกนิกายของพุทธศาสนายุคแรกและการทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทยจากจุดยืนพหุนิยมทางวัฒนธรรม’ ของชาญณรงค์ บุญหนุน จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่อยู่ภายใต้งานวิจัย โครงการพุทธธรรมพหุนิยม สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม (สกว.เดิม)​ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ (เมธีวิจัยอาวุโส)​ เป็นหัวหน้าโครงการ ชวนให้ตั้งคำถามต่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเถรวาทและเสรีภาพทางศาสนา

จุดอ้างอิงความบริสุทธิ์ของเถรวาท

“เวลาสายเถรวาทบอกว่าสายของตนเองบริสุทธิ์กว่าสายอื่นก็เป็นการเคลมตัวเอง เวลาเคลมก็มีวิธีทำให้น่าเชื่อถือคือการอ้างความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ อ้างคำสอนว่าเป็นอย่างนี้ แล้วตัวคำสอนก็คือคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งก็มีทฤษฎี มีประวัติศาสตร์รองรับความดำรงอยู่ของพระไตรปิฎกเถรวาท”

ในประวัติศาสตร์ช่วงหลังพุทธกาลมีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกอยู่ 2 ตอน เรื่องแรกคือปัญจสติกขันธกะคือการพูดถึงพระอรหันต์ 500 รูป คัมภีร์บันทึกว่าหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน 7 วันก็มีภิกษุรูปหนึ่งกล่าวว่าเราจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องโศกเศร้าเสียใจกับการที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสปะซึ่งเป็นประธานในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะกล่าวเช่นนี้ จึงคิดว่าต้องมีรวบรวมคำสอนเอาไว้

หลังจากถวายเพลิงพระจริยศพของพระพุทธเจ้าเสร็จ จึงมีการรวบรวมคำสอนทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าสอนโดยรวบรวมจากพระอรหันต์ 500 รูป รวมทั้งตัวพระมหากัสปะเอง ที่เคยฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า ซึ่งก็มีพระสำคัญ 2 รูปคือพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความทรงจำดีสามารถจดจำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ทั้งหมด อีกรูปคือพระอุบาลีเป็นผู้ที่ทรงจำพระวินัย พระมหากัสปะจึงให้พระทั้งสองรูปนี้มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมคำสอน เมื่อรวบรวมแล้วเสร็จก็ให้พระทั้ง 500 รูปจดจำและสวดติดต่อกันให้ขึ้นใจ แล้วถ่ายทอดให้กับพระที่เป็นลูกศิษย์ในเวลาต่อมา

“แต่พอทำเสร็จก็มีเรื่องเล่าว่า พระอรหันต์ทั้งหลายตกลงกันไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ปรับ แก้บทบัญญัติสิกขาบทเล็กน้อยที่ไม่เหมาะกับยุคสมัยได้ ถ้าคณะสงฆ์เห็นด้วยว่ามันไม่เหมาะก็ให้ถอดออกไปได้ ในที่สุดก็ตกลงกันไม่ได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร ในที่สุดแล้วพระมหากัสปะก็เสนอมติว่าไม่ให้เพิ่มหรือถอนสิกขาบทใดๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ ข้อตกลงนี้สำคัญตรงที่เป็นจุดที่เถรวาทใช้อ้างในเวลาต่อมาว่านี่คือเจตนารมณ์ของเถรวาทซึ่งทำให้คำสอนของเถรวาทเป็นคำสอนที่ถูกต้องที่สุด เพราะไม่เคยแก้ไข ไม่เคยบัญญัติเพิ่ม ไม่เคยถอด”

การแตกนิกายและความบริสุทธิ์ที่เถรวาทต้องการสะสาง

“ประเด็นนี้ในแวดวงพุทธศาสนารู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกย้ำว่ามีฟังก์ชั่นอย่างไรต่อ แต่วิธีที่ผมศึกษาคือการเคลมเรื่องนี้ทำให้เถรวาทมีความเป็นอนุรักษนิยมแบบเข้มข้น คืออนุรักษนิยมในแง่คำสอน พระวินัย ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้ เช่น การบวชภิกษุณี ก็บวชไม่ได้เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติว่าให้ภิกษุณีบวชในสงฆ์ 2 ฝ่าย แต่พระสงฆ์เถรวาทก็อ้างว่าภิกษุณีไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถือตามวินัยก็บวชไม่ได้ การอ้างว่าไม่สามารถทำได้แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการยึดถือบทบัญญัติตรงนี้ว่าไม่สามารถปรับอะไรได้ ต้องทำตามอย่างเดียว

“งานวิจัยที่ผมนำเสนอไม่ใช่ว่าผมค้นพบ เพียงแต่ว่าเมื่อเราไปศึกษาข้อมูลจากหลักฐานทางวิชาการที่มีคนศึกษาไว้แล้ว บอกได้ว่าการพูดว่าเถรวาทเป็นสายที่บริสุทธิ์เป็นมายาคติ เพราะว่าในงานวิจัยผมไม่ได้โฟกัสที่การสังคายนาครั้งที่ 1 แต่มันเป็นจุดอ้างอิงของทุกนิกายว่ายอมรับการสังคายนาครั้งนี้ ยอมรับว่าคำสอนที่รวบรวมในการสังคายนาครั้งนี้ถูกต้อง”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 1 กลับเกิดปัญหาใน 100 ปีถัดมา เกิดการแตกนิกายเป็น 2 นิกายคือเถรวาทและมหาสังฆิกะ โดยนิกายที่ชาญณรงค์ให้ความสนใจคือนิกายมหาสังฆิกะ การแตกนิกายครั้งนั้นมีข้อที่เถรวาทอ้างไว้ในคัมภีร์ เช่น คัมภีร์ทีปวงศ์ของลังกา อรรถกถา ทำนองว่ากลุ่มมหาสังฆิกะเป็นกลุ่มที่ทำลายพระธรรมวินัย ไม่ประพฤติตามหลักพระธรรมวินัย ย่อหย่อนในพระธรรรมวินัย ประพฤตินอกธรรม นอกวินัย และบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ปรับวินัย ปรับคำสอนของพระพุทธเจ้าตามใจตัวเอง จึงมองว่าธรรมะที่นิกายนี้สอนเป็นสัทธรรมปฏิรูป เป็นธรรมะที่ไม่ใช่ของแท้

“ในคัมภีร์ของเถรวาท การสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดจากพระกลุ่มที่แตกออกไปปฏิบัติผิดพระวินัย ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับพระวินัยสับสน ไม่แน่นอน กลุ่มพระเถระที่สืบทอดมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 ที่บอกว่าตนเองเป็นเถรวาทต้องมาเคลียร์กัน หมายความว่าอะไรที่ผิด มันผิดยังไง ผิดจริงหรือไม่ ต้องยืนยันตามหลักการของพระพุทธศาสนา และที่ถูกต้องจริงๆ เป็นอย่างไร ประเด็นของการสังคายนาครั้งที่ 2 คือการเคลียร์กับการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและเคลียร์หลักการของพระวินัย โดยระดมพระสงฆ์จำนวนหนึ่งมาทำ

“แต่ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นจากการมีคนไปตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า เนื่องจากในการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่มีพระแตกนิกายออกไปเป็นนิกายมหาสังฆิกะ พอเกิดเป็น 2 นิกาย นิกายดั้งเดิมคือเถรวาท ซึ่งก็แตกออกไปอีก 11 นิกาย ขณะเดียวกันกลุ่มที่เป็นมหาสังฆิกะก็แตกออกเป็นอีก 5 นิกายเป็น 6 นิกาย ตอนหลังก็แตกเพิ่มมาอีก 20 กว่านิกาย กล่าวคือช่วง พ.ศ.100-200 มันมีการแตกนิกายออกไปหลายนิกาย”

การแตกนิกายออกเป็นจำนวนมากทำให้มีการตีความคำสอนแตกต่างออกไปในหลายประเด็น กลุ่มพระสงฆ์ที่ถือว่าตนรักษาอุดมคติเถรวาทก็ทำสังคายนาอีกครั้งเพื่อชำระสะสางให้รู้ว่าเถรวาทเป็นอย่างไร สายอื่นไม่ถูกต้องอย่างไร การสังคายนาจึงเป็นการจัดการการตีความธรรมะที่เพิ่มขึ้นในยุคหลัง

อุดมคติที่แตกต่างระหว่างเถรวาทและมหายาน

นิกายมหายานเกิดขึ้นภายหลังการแตกนิกายทั้ง 18 นิกาย เริ่มก่อตัวประมาณ พ.ศ.400 ซึ่งมีรากเหง้าจากกลุ่มคณะสงฆ์ที่แตกออกไปครั้งแรก กลุ่มมหาสังฆิกะมีแนวคิดเสรีอยู่ เมื่อแตกเป็นนิกายต่างๆ จำนวนมากจึงมีคำสอนแตกต่างกันในหลายเรื่อง บางเรื่องก็เหมาะสม บางเรื่องก็ไม่ มหายานจึงพยายามเก็บเรื่องที่ดีที่สุดในการตีความตอนนั้นมาเป็นแนวทางของตัวเอง แนวคิดที่เขาเชิดชูขึ้นมาเป็นอุดมคติของมหายานคือการยกย่องพระโพธิสัตว์ ต้องการเอาพระโพธิสัตว์มาแทนพระอรหันต์ และมีความเป็นมวลชน

ขณะที่ในสายเถรวาทให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องพระอรหันต์คือบำเพ็ญเพื่อบรรลุนิพพาน เน้นปัจเจกบุคคลค่อนข้างมาก หันหลังให้กับมวลชน ไม่ต้องสนใจความทุกข์ของผู้อื่น แต่ให้สนใจความทุกข์ของตัวเอง แต่มหาสังฆิกะที่แตกออกไปครั้งที่ 2 ให้ความสนใจว่า ควรจะให้พระพุทธเจ้าขึ้นมามีลักษณะโลกุตระคือเป็นพระพุทธเจ้าที่มีลักษณะเป็นนิรันดร์ เขาเชื่อว่าสภาวะของพระอรหันต์ไม่ใช่สภาวะที่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเอามาเป็นอุดมคติทางศาสนา อุดมคติที่สมบูรณ์กว่าคือเรื่องพระโพธิสัตว์ ลดทอนความสำคัญของพระอรหันต์ เพื่อที่จะยกย่องพระพุทธเจ้าในแบบนิรันดร์

“เวลาเคลม เถรวาทก็จะบอกว่าตนเองเคร่งครัดในพระวินัย ส่วนมหายานไม่เคร่งครัดในพระวินัย เพราะต้นกำเนิดของมหายานไม่ซีเรียสเรื่องวินัย เรื่องการตีความธรรมะ หมายความว่าสามารถตีความในลักษณะที่ค่อนข้างเสรีได้ อาจจะไม่มีในพระไตรปิฎก การพูดเรื่องทุกคนมีพุทธะภาวะในตัวเองก็มาจากแนวคิดของมหายาน ซึ่งไม่มีในคำสอนดั้งเดิม แต่บางเรื่องก็มี อย่างแนวคิดเรื่องสุญญตา เพียงแต่ดั้งเดิมไม่เน้นเรื่องนี้ คือมหายานก็มีรากฐานมาจากตัวคำสอนดั้งเดิมเหมือนกัน แต่ขยายความในลักษณะที่เป็นมวลชนมากขึ้น คนที่ซีเรียสกับการที่ไม่ตรงกับพระไตรปิฎกก็จะมองว่าเป็นการบิดเบือนคำสอน เป็นนิกายที่ไม่โอเคเท่ากับเถรวาทในแง่ที่รักษาคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าให้บริสุทธิ์”

แม้ในยุคหลังมีการยอมรับนิกายมหายานมากขึ้นในประเทศไทย แต่ว่าโดยวิธีคิดเถรวาทก็ยังคงมีลักษณะที่เชื่อว่าตนมีความบริสุทธิ์มากกว่า แต่ปัจจุบันมีการหลอมละลายความเข้าใจพอสมควร ซึ่งมาจากการทำงานร่วมกันมากกว่า เช่น อิทธิพลของดาไล ลามะ ติช นัท ฮันห์ และการที่มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง พระในสายมหายานก็มาเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นต้น

“แต่ผมเห็นว่าเถรวาทก็ยังคงคิดว่าคงความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัยมากกว่า”

จริงหรือที่พระไตรปิฎกไม่เคยถูกเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง

แล้วการคิดว่าต้องรักษาความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัยไว้มันมีปัญหาอย่างไร ชาญณรงค์อธิบายว่า

“อย่างน้อยที่สุดที่เราเห็นคือกรณีภิกษุณี ทำไมเถรวาทไทยยอมรับไม่ได้ ผมเคยเสนอว่าการพยายามทำให้พุทธศาสนาเถรวาทเป็นของบริสุทธิ์ มันทำให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างในโลกสมัยใหม่ได้ เช่น กรณีภิกษุณีเป็นตัวสะท้อนมาก ไม่ยอมรับเพราะพระวินัยไม่อนุญาต พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชได้ แต่ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์เขาถือว่าภิกษุณีหายไปแล้วตั้งแต่ลังกาอยู่ภายใต้อาณานิคม เมื่อภิกษุณีในสายเถรวาทหายไป ก็ปรากฏว่ามีภิกษุณีในประเทศจีน เขาก็บอกว่าเป็นภิกษุณีสายมหายาน ใครก็ตามที่ไปบวชภิกษุณีในสายมหายาน ก็แปลว่าไม่ใช่ความเป็นภิกษุณีในแบบเถรวาท

“มันไปกำกับมากเลย เพราะข้อธรรมที่ศึกษากันในพระไตรปิฎก เวลาพูดว่าการตีความพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบไหนถูกต้อง สิ่งที่เขายึดไว้เสมอคือพระไตรปิฎกภาษาบาลี เวลาบอกว่าอันนี้ทำถูก อันนี้ทำผิด ก็เช็คด้วยถ้อยคำในภาษาบาลีที่เชื่อว่ารวบรวมมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 มันก็ไปไหนไม่ได้”

แต่การที่เชื่อว่าพระไตรปิฎกไม่เคยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นจุดที่เถรวาทใช้เป็นจุดอ้างอิงความบริสุทธิ์นั้น เป็นจริงเพียงใด ชาญณรงค์กล่าวว่าโดยมุมมองของหลายๆ ฝ่ายมองว่าพระไตรปิฎกมีการเพิ่มเติม แต่ในวิธีคิดของสายเถรวาทจะเชื่อว่าไม่มีการเพิ่มเติม เป็นการรับมติจากการสังคายนาครั้งที่ 1

แต่ในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้มีแต่ข้อธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้ มันมีข้อธรรมอื่นๆ ที่คนอื่นสอน เช่น ในแง่การรวบรวมก็ไม่รู้ว่ารวบรวมเมื่อไหร่เพราะไม่มีการระบุว่าเป็นการรวบรวมครั้งที่ 1 ร้อยเปอร์เซ็นต์ นักวิชาการตะวันตกมองว่าตัวคัมภีร์บางส่วนโดยเฉพาะส่วนที่เป็นชาดกเกิดขึ้นภายหลัง โดยพิสูจน์ที่ชาดกของสายเถรวาทกับของสายอื่นไม่เหมือนกัน

“สำหรับผม พระไตรปิฎกมีการเพิ่มเข้าไปแน่นอน พระไตรปิฎกถ้าพูดตามแบบเถรวาทมี 45 เล่ม เล่มที่ 37 เพิ่มเข้าไปอย่างแน่นอน ในสังคายนาครั้งที่ 3 ที่มีการแตกนิกาย แล้วทั้ง 18 นิกายก็มีข้อเสนอเกี่ยวกับความเข้าใจเกี่ยวกับพระอรหันต์ เกี่ยวกับปรัชญา ก็มีการถกเถียงกัน ตามคัมภีร์บอกว่าพระโมคคัลลีบุตรซึ่งเป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่ 3 ก็เขียนคัมภีร์ขึ้นมาเล่มหนึ่ง โดยการรวบรวมคำสอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยหลัง แล้วก็มาปกป้องจากมุมมองความเข้าใจแบบเถรวาท พอเขียนเสร็จก็นำเข้าสู่การสังคายนาครั้งที่ 3 พูดง่ายๆ คือที่เขียนมานี้มันโอเคมั้ย คณะสงฆ์ที่ประชุมกันในสมัยนั้นก็เห็นชอบว่าให้เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก”

ทำไมเถรวาทเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมไม่ได้

ถามว่าเราจะสามารถท้าทายหรือรื้อถอนมายาคติความบริสุทธิ์ของเถรวาทที่ทำให้มีลักษณะอนุรักษนิยม ไม่เข้ากับยุคสมัย และจำกัดเสรีภาพในการตีความได้หรือไม่ ชาญณรงค์ตอบว่า

“ในแง่อุดมคติของเขา ผมว่าแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเราดูว่าอะไรเกิดขึ้นจริงในสังคมเถรวาท ก็มีบางอย่างที่ไม่อนุรักษนิยม เช่น สมณะศักดิ์ ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่เป็นจารีตที่ผนวกจากสิ่งอื่นเข้าไป ถ้าบอกว่าอนุรักษ์คำสอนของพระพุทธเจ้าแบบดั้งเดิม พอตีความเรื่องสมณะศักดิ์ไม่มีแน่นอน ยังมีการตีความอื่นๆ อีกด้วยที่บอกได้ว่ามันไม่เคยมี เช่น การตีความว่าพระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์ ซึ่งมันเกิดขึ้นโดยวัฒนธรรม มันจึงยาก เพราะเขาใช้ตัวเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์เป็นตัวตั้ง เป็นตัวแสดงอัตลักษณ์ ถ้าปฏิเสธการสังคายนาครั้งที่ 1 แปลว่าอัตลักษณ์จะไม่มี”

“ปัญหาว่าทำไมเถรวาทเปลี่ยนเป็นเสรีนิยมไม่ได้ ถ้าพูดตามภาษาของอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์หรืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล การตีความคำสอนของเถรวาทมันไปอิงกับกรอบประเพณีไทย บางเรื่องไปผูกกับจารีตประเพณีซึ่งทำให้การตีความคำสอนไม่เป็นไปอย่างเสรี ผู้ที่มีบทบาทครอบงำการตีความก็เป็นผู้มีอำนาจในสังคมเถรวาท”

สรุปได้ว่า

“การเคลมว่าเถรวาทเป็นผู้บริสุทธิ์แต่เพียงผู้เดียวอาจจะไม่ใช่”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net