Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 3 จะยังคงกล่าวถึงพระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย หากแต่ลงรายละเอียดในบางประการ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสังคมไทย และบริบททางสังคมการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณค่าและความหมายของพระพุทธรูป


พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องจักรพรรดิ์ วัดอรุณราชวราราม (พ.ศ.2539)
เครดิตภาพ
http://www.mingmongkolstore.com/product/251

พระพุทธรูปปางที่ชาวพุทธไทยนิยมสร้างขึ้นสักการบูชานั้นว่าโดยแนวคิดไม่แตกต่างจากจารีตในศิลปะอินเดีย ตรงที่ปางต่าง ๆ จะประกอบด้วยอิริยาบถหลัก 4 ประการ นอกเหนือจากนั้นแม้จะมีการคิดพระพุทธรูปปางต่างๆ ออกมามากมายเพียงใด ความแตกต่างนั้นก็เป็นเพียงอากัปกิริยาและมุทราที่ปรากฏเป็นท่วงท่าออกมาให้เห็น อากัปกิริยาและมุทราเป็นส่วนประกอบของพระปฏิมาที่บอกเล่าเหตุการณ์ซึ่งเป็นลักษณะที่จะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าพระพุทธรูปปางดังกล่าวต้องการสื่อถึงเรื่องอะไรหรือแสดงพุทธประวัติตอนไหน 

ตามข้อมูลในหนังสือเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธรูป เห็นได้ชัดว่า พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพุทธประวัติ โดยประมวลจริยาวัตรของพระพุทธเจ้าไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ (1) พุทธจริยาในเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตั้งแต่แรกเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์จึงถึงเวลาตรัสรู้และเวลาเสวยวิมุตติสุข กินระยะเวลานาน 6 ปี เรียกว่า “อัตตัตถจริยา” (2) พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระญาติ (ญาตัตถจริยา) และ (3) พุทธจริยาเพื่อบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป (โลกัตถจริยา)[1]

ในการสร้างพระปฏิมานั้น ท่านกำหนดเอาช่วงเวลาตั้งแต่เสด็จออกผนวช ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ในแต่ละช่วงเวลา ก็จะมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นั้น ๆ เฉพาะช่วงสำคัญคือ ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหลังเหตุการณ์ตรัสรู้ ได้แก่ ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุข รอบ ๆ บริเวณที่ตรัสรู้นั้นจะมีการสร้างพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมากเป็นพิเศษ พระพุทธรูปปางสำคัญที่เหตุการณ์ช่วงนี้ประกอบด้วยปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ปางมารวิชัย ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ ปางนาคปรก ปางปฐมเทศนา ปางลีลา ปางไสยาสน์ เหตุที่มีการสร้างพระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์ช่วงเวลานี้มาก ผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจมาจากความประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นความเป็นพุทธะของพระพุทธเจ้า หรือไม่ก็เพราะเหตุที่ชาวพุทธโดยทั่วไปถือว่าช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้คือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจต่อคติการแสวงหาความรู้ของพระพุทธเจ้า ด้านหนึ่งก็แสดงก็เหมือนต้องการร้องให้ผู้คนศรัทธาแสวงหาสัจธรรมในพระพุทธองค์ เนื่องจากยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยจึงได้แต่สันนิษฐานไว้เป็นเบื้องต้น

พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยคันธาระของอินเดีย จนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่ ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร ปางประทานอภัย ปางประทานพร ปางยมกปาฏิหาริย์ ปางปรินิพพาน ปางลีลา ปางทรมานพญาวานร ปางเสด็จจากดาวดึงส์ ปางทรมานช้างนาฬาคีรี ปางรำพึง ปางโปรดสัตว์ ปางนาคปรก ปางอุ้มบาตร ปางประดิษฐานรอยพระบาท ปางเปิดโลก ปางประทับยืน ปางถวายเนตร ปางไสยาสน์ ปางป่าเลไลยก์ ปางขอฝน[2] ปางที่นิยมสร้างมากที่สุด ได้แก่ ปางมารวิชัย (ทรงชำนะมาร) ปางสมาธิ และปางนาคปรก อันเป็นปางสำคัญที่แสดงเหตุการณ์ในช่วงเวลาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปางทั้งสามนี้ไม่เพียงแต่จะมีนัยในทางธรรม หากแต่มีนัยในเชิงไสยศาสตร์ (การปกป้องคุ้มครอง) ด้วย

จำนวนปางของพระพุทธรูปในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระยะที่สังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สมัยใหม่โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ปางของพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะบำเพ็ญราชกุศลให้เหมือนอย่างโบราณกษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงคัดเลือกพุทธจริยาอิริยาบถต่าง ๆ ตามเรื่องที่มีในพุทธประวัติแล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นเพิ่มเติม จากนั้นจึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงศึกษาและคัดเลือกถวายรัชกาลที่ 3 มีทั้งสิ้น 40 ปาง นับตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งปางไสยาสน์ ที่เพิ่มมากขึ้นก็เพราะมีปางที่แสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ละเอียดลงไป เช่น ปางรับผลมะม่วง ปางขับพระวักกลิ ปางสนเข็ม ปางสรงน้ำ ปางสำแดงชราธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปางต่าง ๆ ที่แสดงเหตุการณ์และอิริยาบถของพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้ (สัตตมหาสถาน) เช่น ปางถวายเนตรบูชาพระศรีมหาโพธิ ปางพิจารณาพระไตรปิฎกในเรือนแก้ว ปางเสด็จอยู่ร่มไม้เกตพระอินทร์ถวายสมอท้าวจตุโลกบาลถวายบาตร เป็นต้น[3]

พระพุทธรูปแต่ละปางมีพุทธปกรณัม (Mythology) ที่อ้างอิงจากพุทธประวัติโดยเฉพาะ พุทธประวัติที่รจนาขึ้นใหม่ในสมัยหลังพุทธกาลตลอดจนพุทธประวัติตามแนว ปฐมสมโพธิกถา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ยิ่งมีเรื่องเล่าละเอียดลออเพียงใดก็อาจสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้นตามได้มากขึ้นเพียงนั้น ดังจะเห็นว่า พระพุทธรูปที่ปรากฏในตำราต่าง ๆ ที่รวบรวมขึ้นภายหลังสมัยรัชกาลที่ 3 จนปัจจุบัน มีมากกว่า 40 ปาง เช่น ในหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของพระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน 66 ปาง ในหนังสือ ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวบรวมโดย พิทูร มลิวัลย์ และไสว มาลาทอง จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ มีพระพุทธปางต่าง ๆ ถึง 72 ปาง[4] สิ่งที่รองรับการสร้างปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูปก็คือเรื่องเล่าในพุทธประวัติ แต่บางครั้งก็อาจมีบริบททางการเมืองเป็นแรงกระตุ้นด้วย

โดยทั่วไป ถ้าเรานำพระพุทธรูปมาประดิษฐานตามลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของพระพุทธเจ้า เราก็จะได้รับรู้เรื่องราวตั้งแต่เสด็จออกบวชคือปางอธิษฐานเพศบรรพชิตเป็นต้นไปจนถึงพุทธปรินิพพาน แต่หนังสือที่จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา (พ.ศ.2525) ได้พูดถึงปางก่อนออกบรรพชาคือปางประสูติด้วย การสร้างพระปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าจึงอาจเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ตามความนิยมนับถือของผู้คนในสังคม ดังปัจจุบันจะพบว่า ที่วัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดประดิษฐานที่ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์มีจำนวนทั้งสิ้น 80 องค์ สร้างขึ้นจากศรัทธาบริจาคของพุทธศาสนิกชนระหว่าง พ.ศ.2526 - 2527 กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ชุดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างมาจนถึงปัจจุบัน  ในจำนวนพระพุทธรูป 80 องค์ จำนวน 66 องค์เป็นพระพุทธรูปตามเรื่องราวในพุทธประวัติ อีก 8 องค์เป็นพระประจำวันเกิด และเนื่องจากพระประจำวันพุธ มี 2 ปาง คือพระกลางวันและพระกลางคืน อย่างละ 1 องค์ อีก 6 องค์เป็นพระเกตุ 1 องค์ พระศรีอารยเมตไตรย (อนาคตพุทธเจ้า) 1 องค์ พระพุทธรูปแบบสุโขทัย 1 องค์ พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์อีก 2 องค์ พระปฏิมาชัยวัฒน์ (พระประจำพระองค์รัชกาลที่ 6) 1 องค์ ไขศรี ศรีอรุณ สันนิษฐานว่า พระพุทธรูป 80 องค์นี้น่าจะหมายถึงจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูปเหล่านี้แม้จะสร้างขึ้นในสมัยปัจจุบันแต่ลักษณะทางศิลปะล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะสุโขทัย[5]

อาจกล่าวได้ว่าแบบแผนการคิดปางต่าง ๆ ของพระพุทธรูปในประเทศไทยอิงอยู่กับรายละเอียดของเหตุการณ์ในพุทธประวัติรวมทั้งตำนานอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย เมื่อพิจารณาพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามที่จัดเรียงไว้ที่ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์ จุดประสงค์สำคัญของการสร้างพระพุทธรูปก็เพื่อเป็นสื่อธรรมโดยเฉพาะเรื่องราวของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ หากพุทธศาสนิกชนเดินดูรอบ ๆ องค์พระปฐมเจดีย์และทำความเข้าใจไปเรื่อย ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจพุทธศาสนาได้ในระดับหนึ่ง 

เฉพาะองค์พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นแต่ละปางนั้นจะซ่อนปริศนาธรรมสำคัญ ที่เป็นเช่นนี้เพราะเป็นวัฒนธรรมความคิดที่มีมาตั้งแต่แรกสร้างพระพุทธรูปนั่นเองที่ต้องการจะให้พระพุทธรูปแสดงเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาในพุทธประวัติและสื่อนัยทางธรรมด้วย ตัวอย่างเช่น ปางมารวิชัย (หรือภูมิสปรรศมุทรา) เป็นพระพุทธรูปที่แสดงถึงช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงต่อสู้กับมารและเสนามารที่ยกทัพมาขัดขวางการตรัสรู้ของพระองค์ โดยตั้งใจขับพระองค์ออกจากโพธิบัลลังก์แห่งการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าการครอบครองบัลลังก์นี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของพระองค์ เนื่องจากบัลลังก์นี้เกิดจากการสั่งสมบุญบารมีของพระองค์ที่ดำเนินไปแล้วเป็นอเนกชาติ เมื่อพญามารเรียกร้องให้แสดงพยานหลักฐาน พระพุทธองค์ทรงชี้พระหัตถ์ลงไปยังพื้นปฐพีอ้างแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงปรากฏขึ้นมาบีบน้ำออกจากมวยผมขับไล่บรรดามารและเสนามารหนีไปสิ้น[6]

เมื่อตีความสารที่สื่อความออกจากพระพุทธรูปปางนี้จะพบว่ามีประเด็นมากมายที่อาจนำมาพิจารณาหาความหมายได้ เช่น มารและเสนามาร เป็นเพียงบุคลาธิษฐานของความชั่วร้าย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ที่ผุดเกิดขึ้นในจิตใจของมหาบุรุษ (นักบวชสิทธัตถะ) ในวินาทีสุดท้ายก่อนการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรื่องราวนี้อาจแฝงปริศนาธรรมเกี่ยวกับการเอาชนะความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา ขณะเดียวกันก็หลอมสร้างวิถีปฏิบัติทางศาสนาบางอย่างที่ชาวพุทธปัจจุบันได้ปฏิบัติทุกครั้งที่มีการบำเพ็ญกุศลตามหลักศาสนาคือ การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า ขณะที่พญามารพ่นเปลวไฟหวังทำลายพระพุทธเจ้าที่ประทับนั่งบนโพธิบัลลังก์นั้น แม่พระธรณีก็ใช้น้ำจากมวยผมดับทำลายความเร่าร้อนทั้งปวงจนหมดสิ้น กุศลที่มนุษย์บำเพ็ญเปรียบเสมือนน้ำ ขณะที่ความโลภ ความโกรธและความหลงเปรียบเสมือนไฟ นี่เป็นตัวอย่างของปริศนาธรรมที่ผู้สร้างต้องการให้ผู้กราบไหว้บูชาได้มองเห็นและนำมาอบรมตน แต่มักไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก คนทั่วไปกราบไหว้พระพุทธรูปก็มักจะต้องการผลสำเร็จในเชิงไสยศาสตร์ (พลังในการรักษาคุ้มครอง) มากกว่าการทำความเข้าใจปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในศาสนาวัตถุดังกล่าว

พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารธรรมผ่านพุทธประวัติแล้ว พระพุทธรูปบางปางยังอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อสื่อสารนัยทางการเมืองของผู้ปกครองด้วย เช่น ประวัติการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร (หรือปางห้ามพระญาติ) ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ ผู้ศึกษาเรื่องพระพุทธรูปดูจะยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ว่าควรจะเรียกชื่อปางนี้ว่าอะไรแน่ จะเรียกปางห้ามสมุทรหรือปางห้ามพระญาติกันดี ชื่อที่ตั้งให้พระพุทธรูปนั้นมุ่งจะสื่อสารเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่งเป็นหลัก หากเข้าใจสับสนก็ยากจะกำหนดจุดประสงค์ของการสักการบูชาได้ชัดเจน พระพุทธรูปดังกล่าวนี้เป็นพระพุทธรูปอิริยาบถยืน พระหัตถ์สองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาห้าม เป็นแบบพระทรงเครื่องก็มี ตำราบางเล่มเรียกปางนี้ว่า “พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร” และบางเล่มเรียก “ปางห้ามพระญาติ” พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) ซึ่งรจนาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา จึงได้เสนอให้เรียกรวมกันว่า “ปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร”[7] ประเด็นน่าสนใจไม่ใช่ชื่อปาง แต่อยู่ในเหตุผล (คำอธิบาย) ที่รองรับการวินิจฉัยของพระพิมลธรรมมากกว่ากล่าวคือ

เพื่อจะวินิจฉัยชื่อปางของพระพุทธรูปที่ตั้งชื่อกันอย่างสับสนนั้น พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) ได้ชี้ว่ามีเรื่องราวเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่อาจใช้เป็นจุดอ้างอิงเกี่ยวกับพระพุทธปางนี้ คือ

(1) เหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชฎิลชื่อว่าอุรุเวลกัสสปะ ชฎิลต้องการทดสอบความสามารถของพระพุทธเจ้าจึงบอกให้ไปประทับพักแรมที่โรงบูชาไฟที่มีพญานาคอาศัยอยู่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์นานาประการเพื่อทรมานพญานาคผู้เกรี้ยวกราด สุดท้ายพญานาคทำให้คลื่นน้ำไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทางเพื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าทรงใช้อานุภาพบังคับให้น้ำหมุนวนเป็นช่องล้อมรอบวรกายของพระองค์อยู่ แล้วพระองค์เสด็จจงกรมในวงล้อมของน้ำที่ท่วมท้นเป็นกำแพงล้อมรอบจนพญานาคยอมจำนน

(2) เหตุการณ์ที่สองเป็นเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามสงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีระหว่างพระญาติฝ่ายศากยะฝ่ายพระบิดาและเทวทหะฝ่ายพระมารดา เหตุการณ์เกิดจากชาวนาของทั้งสองฝั่งต้องการผันน้ำเข้านาของตนเอง แต่เนื่องจากฝนตกน้อย น้ำในแม่น้ำจึงเหือดแห้ง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ทะเลาะถกเถียงกันจนถึงขั้นลงมือ ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งระหว่างเมือง ทั้งสองฝ่ายยกทัพเตรียมทำศึกกันเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของตน (ประเด็นความขัดแย้งไม่ใช่เรื่องการแย่งน้ำอีกต่อไปแต่เป็นเรื่องการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของตระกูล) พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามทัพขณะทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน ตรัสถามถึงสาเหตุของความขัดแย้ง ไล่ตั้งแต่ระดับแม่ทัพลงไปแต่ไม่มีใครทราบสาเหตุของความขัดแย้ง ในที่สุดเมื่อสาวไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่ามีต้นเหตุจากการปันน้ำของเหล่าเกษตรกร พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นความสำคัญของชีวิตและเลือดเนื้อของบรรดาญาติพี่น้องเมื่อเทียบกับความสำคัญของน้ำที่ใช้ทำเกษตรกรรม และให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าของสันติธรรม

เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลาที่พระพิมลธรรมรจนาหนังสือ ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ คือราว พ.ศ.2522 ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันนักเกี่ยวกับชื่อเรียกพระพุทธรูปปางนี้ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) จึงค้นคว้าศึกษาตำนานต่าง ๆ แล้วลงความเห็นว่า พระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นโดยหมายเอาเหตุการณ์ที่สองไม่ใช่เหตุการณ์แรก โดยอ้างถึงพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 3 ทรงพระดำริให้สร้างขึ้น พระพิมลธรรมอ้างว่า รัชกาลที่ 3 โดยที่พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ย่อมทรงทราบความหมายของปางพระพุทธรูปที่ทรงประสงค์จะให้สร้างขึ้นนี้เป็นอย่างดี ชื่อของปางนี้จึงควรเป็นไปตามนัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พระพิมลธรรมเขียนไว้ว่า

“ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น คงจะมีพระราชประสงค์ไม่เพียงเป็นที่สักการบูชาเท่านั้นเพราะเพียงเป็นที่สักการบูชาอย่างเดียวแล้ว เฉพาะพระแก้วมรกตก็น่าจะพอพระหฤทัย จุใจมหาชนชาวไทยดีแล้ว ถ้าไม่อย่างนั้นก็น่าจะทรงสร้างไว้หลาย ๆ ปาง และก็จะคงไม่ทรงสร้างเพื่อแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำอันจะไหลมาท่วมพระองค์เป็นแน่ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯจะต้องแน่พระทัยว่า พระปางนี้จะต้องเป็นปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทร ดังที่ปรากฏในทางตำนาน และแม้พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนเสนาอำมาตย์ ทั้งนักปราชญ์ราชกวีในสมัยนั้น ส่วนมากคงจะต้องมีความเข้าใจอย่างนี้
เมื่อแน่ใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเข้าพระทัยว่า พระพุทธรูปที่ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้นเป็นกิริยาทรงห้ามนั้น เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระญาติแย่งน้ำในสมุทรแล้ว คราวนี้ก็มาถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างต่อไปว่า พระองค์ทรงมีพระประสงค์อะไร?
ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าฯน่าจะทรงมีพระประสงค์จะทรงฝากคติธรรมสำหรับเตือนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปในโบสถ์พระแก้วเนือง ๆ ว่า “พระบรมวงศานุวงศ์อย่าทรงวิวาทแย่งสมบัติกันเลย” จะถึงย่อยยับอย่างกษัตริย์ในสมัยอยุธยา โดยทรงขอเอาอานุภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปปางนี้ช่วยทรงเตือน ช่วยทรงห้าม ด้วยทรงหวั่นพระทัยอยู่มากว่า พระบรมวงศานุวงศ์จะเบาพระทัยก่อการวิวาทเรื่องราชสมบัติขึ้น ในเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เพราะในเวลานั้น สมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระทัยมั่นหมายจะให้เสวยราชสมบัติสืบพระราชสันตติวงศ์ก็ยังทรงผนวชอยู่”[8]

ถ้าหากเป็นจริงตามเหตุผลที่พระพิมลธรรมยกมาแสดง เราก็จะได้เห็นบรรยากาศทางการเมืองเบื้องหลังการสร้างพระพุทธรูปปางนี้ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้น ไม่ว่าคำวินิจฉัยในกรณีนี้ของพระพิมลธรรมจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่นัยทางการเมืองที่ซ่อนไว้ในองค์พระพุทธรูปบางปางนั้นมีมานานแล้ว เช่น พระพุทธรูปปรลัมพปาทาสนะหรือภัทราสนะ (พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท) ในศิลปะวกาฏกะ-จาลุกยะตะวันตกระยะแรก และในศิลปะปาละที่ตกทอดความนิยมมาถึงศิลปะสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแสดงท่านั่งเหมือนท่านั่งของของกษัตริย์แห่งราชวงศ์กุษาณะ เป็นพระพุทธรูปที่เน้นย้ำคติที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นจักรวรรติน คติดังกล่าวนี้เป็นการผสมผสานพุทธศาสนาเข้ากับวัฒนธรรมที่ยอมรับสถานภาพของกษัตริย์ในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่พุทธศาสนาแผ่ไปถึง ในกรณีตัวอย่างของไทย พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือ “พระพุทธวชิรญาณ” (ปางห้ามสมุทร) ที่ประดิษฐานในวิหารเก๋งริมวัดบวรนิเวศวิหารก็เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช พระพุทธรูปปางนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเตือนให้ทราบว่า ชาวพุทธย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะยอมรับสถานภาพอันสูงส่งของพระมหากษัตริย์เพราะแม้พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงเป็นจักรวรรติน พระพุทธรูปจึงมีความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มากเป็นพิเศษ นอกจากเป็นเครื่องมือสำคัญที่แสดงพระราชกรณียกิจตามหลักศาสนา แสดงถึงการเป็นธรรมราชาผู้อุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับชี้ให้เห็นสถานภาพอันสูงส่งเทียบเท่าพระพุทธเจ้าของพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย วิธีแสดงนัยดังกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือการสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์นั่นเอง (เรื่องนี้จะกล่าวถึงในตอนที่ 4)

ในบางยุคสมัย พระพุทธรูปยังถูกใช้เป็นเครื่งอมือสำคัญในการสร้างชาติและอัตลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย เรื่องนี้เห็นได้จากการศึกษาเรื่อง พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ของชาตรี ประกิตนนทการ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อแนวคิดเกี่ยวกับรัฐไทยเปลี่ยนไปนั้น ชนชั้นนำปัญญาชนสยามได้พยายามใช้ความรู้ทางโบราณคดีอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวของอาณาจักรสยามโดยดึงเอาการดำรงอยู่ของรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนการสถาปนารัฐสมัยใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม วัดเบญจมบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารถูกสร้างขึ้น และมีการรวบรวมพระพุทธรูปทั้งองค์จริงและจำลองพระพุทธรูปสำคัญทั่วประเทศมารวมไว้ภายในวิหารคดรอบพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงใช้ความรู้ทางโบราณคดีต่าง ๆ รวมทั้งพระพุทธรูป แล้วทรงสร้างกรอบอธิบายว่า โบราณวัตถุต่าง ๆ และพระพุทธรูปที่รวบรวมไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรนั้นได้สะท้อนให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชาติสยามซึ่งมีรากเหง้าอันเดียวกัน และมีอารยธรรมยาวนานย้อนกลับไปถึงสมัยอาณาจักรเชียงแสนและสุโขทัย มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันสืบเนื่องสืบทอดเป็นสายโซ่ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน[9]

ภายใต้แนวคิดที่ต้องการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวโดยมีศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ พระพุทธชินราช (ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้น ประมาณ พ.ศ.1900) ซึ่งพงศาวดารเหนือกล่าวว่าสร้างขึ้นโดยพระศรีธรรมปิฎกแห่งอาณาจักรเชียงแสน ถูกชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายใหม่ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของชาวสยามโดยแท้ ทั้งนี้เพราะพระพุทธชินราชมีคุณสมบัติทางประวัติศาสตร์เหนือกว่าพระพุทธรูปทั้งปวง เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาประดิษฐานเป็นศูนย์กลางของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรอันมีความหมายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของราชอาณาจักรสยาม โดยที่แม้แต่พระแก้วมรกตก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะทำได้เช่นนั้น 

“[...]พระพุทธชินราชได้ถูกสร้างความหมายว่าเป็นพระพุทธรูปของชาวสยามโดยตรง สามารถเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโครงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรัฐสยามที่เก่าแก่ยาวนาน เสมือนเป็น “พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง” ของคนไทยมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีรัฐไทยแห่งแรก (เชียงแสน) ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการก่อตัวของรัฐสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งองค์พระพุทธชินราชก็ได้ทำหน้าที่ในเชิงความหมายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์มากกว่าพระพุทธรูปองค์ใด ๆ ในสยาม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ตัวตนทางประวัติศาสตร์” ของรัฐสยามสมัยใหม่”[10] 

หลังการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม พระพุทธชินราชก็ได้ถูกนิยามว่า “มีความงามเหนือพระพุทธรูปองค์ใดในสยาม” และกลายเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุดกว่าพระพุทธรูปองค์ใด ชาตรี ประกิตนนทการ ชี้ว่า สาเหตุสำคัญก็เนื่องจากชนชั้นนำต้องการสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นไทย” ว่าเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูงเพื่อต่อสู้กับการดูถูกของชาวยุโรปเป็นด้านหลัก พระพุทธชินราชถูกอธิบายให้เป็นศิลปะสุโขทัยซึ่งเป็นยุคคลาสสิกของไทยในระดับที่เท่าเทียมเสมอหน้ากับศิลปะทั่วโลก นักวิชาการบางคนจึงยกย่องพระพุทธรูปในหมวดพระพุทธชินราชว่าสวยกว่าหมวดอื่น ๆ ทั้งหมด จนถึงกับเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในโลก

 “ทำไม พระพุทธชินราชในบริบทของสังคมไทยร่วมสมัยจึงได้ถูกจำลองขึ้นใหม่มากที่สุดในสังคมไทย และที่สำคัญคือถูกเลือกให้เป็นพระประธานของวัดไทยในต่างประเทศมากที่สุดกว่าพระพุทธรูปทุกแบบ คำตอบที่ได้จากการศึกษาก็คือ พระพุทธชินราชได้ถูกนิยามบทบาทและความหมายอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากการเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองในประวัติศาสตร์รัฐสยามสมัยใหม่ นั่นก็คือบทบาทความหมายที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งความเป็นไทย” อันเป็นตัวแทนภาพความเจริญทางวัฒนธรรมไทยที่สามารถนำออกมาอวดชาวโลกได้ในระดับทัดเทียมเสมอหน้าไม่แพ้ชาติใดได้”[11]

พระพุทธรูปจึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงศาสนธรรมเท่านั้น เมื่อถูกใช้ในเชิงการเมืองการปกคอง พระพุทธรูปกลายเป็นเครื่องเชิดชูความเป็นชาติหรือความเป็นไทย หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือสำหรับดำรงสถานภาพของชนชั้นปกครองของไทยด้วยก็มี การเสริมแต่งคุณค่าให้กับพระพุทธรูปดูจะเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยนับแต่อดีตจนปัจจุบัน พระพุทธรูปซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารธรรมประวัติของพระพุทธเจ้า เมื่อมาถึงยุคสมัยหนึ่งก็อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์และชาตินิยมของชาวไทย พูดด้วยภาษาวิชาการที่ให้ดูเท่กว่านี้หน่อยก็อาจกล่าวได้ว่า ความหมายของพระพุทธรูปเลื่อนไหลไปตามบริบทของสังคม สิ่งที่กำหนดความหมายให้แก่พระพุทธรูปไม่ใช่เรื่องเล่าในพระพุทธประวัติเพียงอย่างเดียว หากเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองและจารีตทางวัฒนธรรมของสังคมของผู้คนในสมัยนั้นๆ ด้วย

 

รายการอ้างอิง
 [1] กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, หน้า 12 - 13.
 [2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 13 - 15.
 [3] ดู เสาวณิต วิงวอน, บรรณาธิการ, ตำราพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, หน้า 56 - 116.
 [4] ดู พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ), ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ (ม.ป.ท.: โครงการมูลนิธิหอไตร, 2533). และ กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, และภาคผนวก ข. (จำนวนและลำดับปางของพระพุทธรูปจากเอกสารต่างๆ) รวบรวมสรุปโดย ไขศรี ศรีอรุณ, พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ, หน้า 60 - 68.
[5] ไขศรี ศรีอรุณ, พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในสยามประเทศ, หน้า 16 - 17.
[6] พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ), ตำนานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ, หน้า 37 - 41.
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 97.
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 92 - 93.
[9] ชาตรี ประกิตนนทการ, พระพุทธชินราชในประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กรุงเทพฯ: มติชน, 2551), หน้า 45 - 48.
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 86.
[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 96 - 98.

 

อ่านตอนก่อนหน้าได้ที่
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา1: กำเนิดพระพุทธรูป
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net