Skip to main content
sharethis

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส. พรรคประชาชาติตั้งกระทู้สดถามกรณีการเสียชีวิตขอ'อับดุลเลาะห์ เกิดจากเหตุใด รมช.กลาโหมฯ ตอบแทนพล.อ.ประยุทธ์ ยกการวินิจฉัยทางการแพทย์ยืนยัน ไม่พบร่องรอยการซ้อมทรมาน กมลศักดิ์ ยังคาใจระบุที่ผ่านมีคนถูกพาไปค่ายอิงคยุทธแล้วเสียชีวิต 5 ราย สงสัยเมื่อไหร่จะทบทวนกฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รมช.กลาโหมตอบกฎหมายพิเศษยังมีความจำเป็น

4 ก.ย. 2562 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญ) กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ตอบคำถามต่อสภาฯ แทน

กมลศักดิ์ ระบุว่า สิ่งที่จะถามนี้ไม่ใช่เรื่องของพรรคประชาชาติเพียงพรรคเดียว แต่เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจ โดยอย่างยิ่งกับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในสงขลาซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาตลอดเวลา 15 ปี

ส.ส.พรรคประชาชาติ เกรินนำก่อนเข้าคำถามว่า กรณีการเสียชีวิตของ อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ นั้นมีผลสืบเนื่องจากวันที่ 20 ก.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าไปที่บ้านของ อับดุลเลาะห์ และได้นำตัวเขาไปในฐานะผู้ต้องสงสัย เหตุที่อับดุลเลาะเป็นผู้ต้องสงสัยนั้นมาจากการซัดทอด ซึ่งตามหลักกฎหมายจะต้องถึงว่า อับดุลเลาะห์ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา อับดุลเลาะห์ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี แล้วเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปศูนย์ซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ถึงที่ค่ายเวลาประมาณสี่โมงเย็น ตามปกติจะมีการตรวจร่างกายโดยแพทย์ และผลการตรวจร่างกายของอับดุลเลาะห์ถือว่าแข็งแรงดี แต่หลังจากนั้นก็ปรากฎว่ามีเรื่องตามที่เป็นข่าว

กมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่อับดุลเลาะห์ ตรวจร่างกายเสร็จแล้ว ศูนย์ซักถามจะไม่มีการกำหนดเวลาซักถามที่ตายตัว ประเด็นที่ยังไม่มีใครรู้คือ อับดุลเลาะห์ ถูกซักถามโดยเจ้าหน้าที่ทหารคนใด ทราบแต่เพียงว่ามีการซักถามในเวลา 4 ทุ่ม และต่อมาในเวลาตี 3 อับดุลเลาะห์ ถูกนำตัวไปส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ เพราะหัวใจหยุดเต้น แพทย์ได้ปั้มหัวใจประมาณครึ่งชั่วโมง พอหัวใจกลับมาทำงาน กลับพบว่าสมองบวมเพราะขาดออกซิเจน จึงมีการนำตัวส่งโรงพยาบาลปัตตานี จากนั้นในช่วงเย็นของวันที่ 21 เขาถูกนำตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาในวันที่ 25 ส.ค.

กมลศักดิ์ ชี้ปัญหาสำคัญหลังจากที่อับดุลเลาะห์ เสียชีวิตมีสิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่า คนที่หัวใจหยุดเต้นถ้าหยุดเต้นเป็นเวลานานถึงครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง ปั้มหัวใจแค่ไหนหัวใจก็จะไม่ทำงานอีก แต่เวลาตี 3 ที่เจ้าหน้าที่ไปพบปรากฎการณ์ว่ามีการนำอับดุลเลาะห์ไปปั้มหัวใจ และหัวใจกลับมาทำงาน คำถามคือ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวไปพบว่าอับดุลเลาะห์หมดสติได้อย่างไรในเวลาตี 3 แล้วการที่นำตัวมาปั้มหัวใจแล้วหัวใจกลับมาทำงานหมายความว่าเพิ่งไปพบ และเจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นใครยังเป็นคำถามอยู่ อีกทั้งคำแถลงของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ยังไม่ชัดเจน

ด้านพล.อ.ชัยชาญ ตอบว่า ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลมีความเข้าใจเป็นอย่างดี และทำงานโดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในการดำเนินการรัฐบาลไม่มีนโยบายในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ทั้งยังให้ความสำคัญในการดูแลความสงบเรียบร้อย และดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ดีที่สุด และเน้นย้ำว่าจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธมนุษยชน ดำเนินการต่างๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย และกำลังพลที่จะลงไปปฎิบัติหน้าที่นั้นจะผ่านการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องทั้งก่อนลงไปในพื้นที่ หรือระหว่างอยู่ในพื้นที่

“ส่วนกรณีการเสียชีวิตของอับดุลเลาะห์นั้น นายกรัฐมนตรีมีความสียใจอย่างยิ่ง ในวันที่ไปตรวจราชที่จังหวัดยะลานั้นก็ได้พบกับภรรยาของอับดุลเลาะห์ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดูแลดและให้ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ให้ลงโทษเด็ดขาดทั้งอาญาและวินัย” พล.อ.ชัยชาญ

พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะแรกคือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งจัดโดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ส่วนคณะที่สองคือ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตรงนี้มีผู้แทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม องค์กรศาสนา ภาควิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเปิดให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 คณะคือ ชุดแรกไปดูสถานที่ซักถาม และไปซักถามเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และคณะที่สองเป็นคณะทำงานที่เกี่ยวกับเรื่องทางการแพทย์ โดยเข้าไปตรวจสาเหตุที่ทำให้อับดุลเลาะห์เสียชีวิต ซึ่งมีผลการศึกษาตรวจสอบออกมาแล้ว และได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสาธารณะชนไปแล้ว

“สิ่งที่ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าสาเหตุการตายนั้นเกิดจากอะไร ต้องเรียนว่าอันนี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ หลักฐานทางการแพทย์เปิดเผยว่า พบเลือดออกในสมอง มีสมองบวม และไม่พบภาวะปอดบวม หมายความว่าไม่มีน้ำ ไม่มีการเคลือบแคลงว่ามีการใช้น้ำ (Waterboarding) ไม่พบว่ามีเลือดออกตามเยื่อบุตา ใบหน้า ซึ่งแสดงถึงภาวะถูกกระทำให้ขาดออกซิเจน นี่คือผลการพิจารณาของแพทย์” พล.อ.ชัยชาญ กล่าว

พล.อ.ชัยชาญ กล่าวต่อว่า ผลการตรวจสอบทั้งหมดได้เปิดเผยต่อสาธารณะชนเรียบร้อยแล้ว กรณีที่จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอีกขึ้นอยู่กับญาติผู้เสียชีวิตจะใช้สิทธิทางอาญา หรือทางแพ่ง ซึ่งสามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปได้

กมลศักดิ์ กล่าวก่อนเข้าคำถามที่สองว่า แม้จะบอกว่ามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว แต่ปมปัญหาใหญ่ที่คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคาใจอยู่ ความจริงใจของรัฐ เพราะที่ผ่านมามีผู้ถูกคุมตัวไปค่ายอิงคยุทธฯ และเสียชีวิตไปแล้ว 5 ราย ส่วนในปี 2562 ก่อนเกิดกรณีของอับดุลเลาะห์ มีคนที่ถูกควบคุมตัวแล้วบาดเจ็บสาหัสออกมา 1 ราย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในค่ายอิงคยุทธฯ

กมลศักดิ์ ถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับอับดุลเลาะห์นี้รัฐจะมีมาตราการเยียวยาอย่างไร และอีกคำถามคือ ถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะทบทวนหรือยกเลิกการบังคับกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่บังคับใช้มาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

“กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ใช้ในภาวะสงครามเมื่อปี 2457 ร้อยกว่าปีมาแล้ว และสามจังหวัดอยู่ในภาวะสงครามเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือไม่ ถ้าเทียบกับผู้ป่วยนี่เป็นการให้ยาที่ถูกต้องหรือไม่ ผู้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเวลาเขาใช้คำว่าผู้ต้องสงสัย มีศักดิ์สูงกว่าผู้ต้องหา มาตรา 11 ก็บัญญัติชัดเจนว่า เมื่อเชิญบุคคลที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพียงมีเจตนารมย์เพื่อทำความเข้าใจ และปรับทัศนคติ และห้ามมิให้พาไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือเรือนจำ เจตนารมย์ของกฎหมายไม่ต้องการกระทบกระเทือนความรู้สึกของบุคลที่ต้องสงสัย แต่ดูเหมือนว่ามีปัญหาในการปฎิบัติ ยิ่งนานวัน ยิ่งให้สิทธิผู้ต้องสงสัยน้อยกว่า เพราะผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิพบทนายความ ไม่มีสิทธิพบญาติสองต่อสอง เวลาญาติไปพบจะมีเจ้าหน้าที่ล้อมอยู่ 5 คนพูดอะไรไม่ได้ ร้องเรียนไม่ได้ เจ็บป่วยก็ไม่ได้รับการรักษาเท่าที่ควร”กมลศักดิ์ กล่าว

ด้านพล.อ.ชัยชาญ ระบุถึงการเยียวยาว่า มีการพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัด โดยสรุปคือ กรณีของอับดุลเลาะห์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นผู้รับผลกระทบ เนื่องจากอับดุลเลาะห์เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย และยังไม่มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีใดๆ ในขั้นตอนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ได้ชี้แจงไปแล้วว่า จะมีการเยียวยาเป็นเงินทั้งสิน 532,400 บาท สำหรับการเยียวยาในด้านอื่นๆ จะมีการพิจารณาต่อไปโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเรื่องทุนการศึกษาของบุตร รวมทั้งการช่วยเหลือด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตอื่นๆ ตามความจำเป็น

ส่วนคำถามว่ามีแนวทางในการทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรนั้น พล.อ.ชัยชาญ ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษนี้มีความจำเป็นเนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงมีการกระทำเป็นเครือข่ายเป็นขบวนการ การใช้กฎหมายปกติไม่สามารถทำให้การดำเนินการทั้งการป้องกัน และการดำเนินคดีมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาก็ใช้ตามความจำเป็น ไม่ทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ

สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิตหลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวบรวมไว้โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีดังนี้ 

1.นายอัสฮารี สะมะแอ อายุ 25 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ในเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 21 ก.ค. 2550 ต่อมา นายอัสฮารีถูกเจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในสภาพบาดเจ็บสาหัส ต่อมานายอัสฮารีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เนื่องจากสมองบวม หน้าอกช้ำหลายจุด โดยศาลปกครองพิพากษาให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาผู้เสียชีวิต

2.นายยะผา กาเซ็ง หรือ 'อิหม่ามยะผา' อิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จ.นราธิวาส ควบคุมตัวไว้ที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2551 ต่อมา อิหม่ามยะผา ถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่บนรถที่ใช้ควบคุมตัว กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2551

ทั้งนี้ ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ ศาลพิพากษาตามยอม โดยให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ภรรยาและบุตรของนายยะผา

3.นายสุไลมาน แนซา อายุ 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553 ต่อมานายสุไลมานถูกพบว่าเสียชีวิตในสภาพมีผ้าขนหนูผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่างในห้องควบคุมตัว ทั้งนี้ ศาล จ.ปัตตานี มีคำสั่งว่า เสียชีวิตเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง จากการผูกคอด้วยผ้าเช็ดตัวกับเหล็กดัดหน้าต่าง ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ครอบครัวถอนฟ้องคดี หลังจากรัฐบาลได้จ่ายเงินเยียวยาความเสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว

4.นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 41 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2558 ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ต่อมานายอับดุลลายิเสียชีวิตในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 ทั้งนี้ ไม่พบบาดแผลจากการถูกทำร้ายร่างกายหรือการซ้อมทรมาน การไต่สวนสิ้นสุดที่ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต

เผยแพร่ครั้งแรกใน Voice Online

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net