Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบให้ ครม. นำร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่เสนอโดยพรรคประชาชาติไปพิจารณาภายใน 60 วัน หลัง 'กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ' ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ผู้เปิดอภิปรายกฎหมาย และ 'ธีรัจชัย พันธุมาศ' ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ชี้ เป็นการเตะถ่วงของฝ่ายรัฐบาล อาจทำให้กฎหมายไม่ทันลงมติขั้นรับหลักการในสมัยประชุมนี้

2 ก.พ. 2565 วันนี้ (2 ก.พ. 2565) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา และคณะเป็นผู้เสนอ โดยมีกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดการอภิปราย เนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้คือการเปลี่ยนวิธีการพิจารณคดีที่ทหารเป็นผู้กระทำความผิดต่อประชาชน ให้มาอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน

กมลศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารที่ได้บัญญัติขึ้นใน พ.ศ.2498 ได้กำหนดให้บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำความผิดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร โดยไม่คำนึงว่าผู้เสียหายจะเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่ ทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารต้องเสียสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีด้วยตนเอง จึงสมควรกำหนดให้คดีระหว่างผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของศาลทหาร เป็นคดีที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร กล่าวคือให้ย้ายคดีที่มีลักษณะดังกล่าวมาอยู่ภายใต้อำนาจของศาลพลเรือน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป้นต้องตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้น มีทั้งหมด 4 มาตรา

พรรคประชาชาติได้ยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติม 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 14 เป็นมาตรา 14 (1) วรรค 1 มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้คดีที่บุคคลซึ่งอยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เป็นคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

มาตราที่สองที่มีการเสนอแก้ไข คือ มาตรา 67 เดิม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มีทั้งหมด 66 มาตรา เมื่อแก้ไขมาตรา 14 (1) วรรค 1 แล้ว จึงขอแก้ไขเพิ่มเติมอีก 1 มาตราเพื่อให้สอดคล้องเป็นมาตรา 67 มีสาระสำคัญคือกำหนดให้บรรดาคดีระหว่างผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้อยู่ภายใต้อำนาจศาลทหารกับผู้เสียหายที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจศาลทหาร ซึ่งได้ยื่นฟ้องต่อศาลทหารไว้แล้วต่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ หากหารพิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ ให้โอนคดีนั้นไปยังศาลพลเรือนที่มีเขตอำนาจเพื่อพิจารณาต่อไป แต่หากศาลทหารได้พิจารณาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา หรืออยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

"ก่อนหน้านี้เวลาทหารกระทำความผิดต่อพลเรือน พูดง่ายๆ คือต่อพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศนี้ ต้องไปขึ้นศาลทหาร แต่ที่เราขอแก้ คือหากคนกระทำความผิดเป็นทหาร กระทำความผิดต่อพี่น้องประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือนคือศาลปกติเหมือนบุคคลทั่วไป ประเด็นนี้ เรามองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ข้าราชการไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือข้าข้าราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทหาร เวลากระทำความผิดกฎหมายอาญาลักษณะใดก็แล้วแต่ ต้องไปขึ้นศาลพลเรือนหมด แต่ทุกวันนี้ บ้านเมืองเราเวลาทหารกระทำความผิด เหมือน[ทหาร]ได้รับอภิสิทธิ์ ไม่เหมือนข้าราชการอื่นๆ อย่างที่ผมเกริ่นตั้งแต่ต้นว่าเวลานี้มันไม่ใช่ภาวะสงครามแล้ว ถ้าทหารด้วยกันกระทำความก็ก้ว่ากันไป แต่หากทหารกระทำความผิดกับพลเรือน สมควรที่จะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 68 ที่รัฐจะต้องจัดระบบการบริหารในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว" กมลศักดิ์กล่าว

กมลศักดิ์กล่าวต่อไปว่ากระบวนการยุติธรรมในศาลทหารมีขั้นตอนพิจารณาแตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมปกติที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีได้ด้วยตนเองหรือสามารถเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ แต่เมื่อใดที่ผู้เสียหายเป็นพลเรือนและผู้กระทำความผิดเป็นศาลทหาร พลเรือนไม่สามารถขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 และไม่สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง ต้องผ่านอัยการทหารเท่านั้น นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหารยังใช้เวลานานมาก โดยกมลศักดิ์ได้ยกตัวอย่างกรณีของฟัครุดดีน บอตอ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตโรงเรียนดารุสสาลาม 7 ใน ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และเคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อปี 2549 ฟัครุดดีนถูกทหารลอบยิงจนบาดเจ็บสาหัสระหว่างขับขี่รถจักรยานยนต์ออกไปที่ตลาดตันหยงมัส ท้ายที่สุดมีการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานลอบยิงได้จำนวน 1 คน เป็นพลทหาร และต้องไปขึ้นศาลทหาร ค่ายอิงคยุทธบริหาร กองทัพภาคที่ 4 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ปรากฎว่าคดีนั้น ฟัครุดดีนซึ่งเป็นพลเรือนและเป็นผู้เสียหาย ไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการทหาร ทำให้เสียสิทธิในการตั้งทนายความตามกระบวนการยุติธรรมปกติ คดีระหว่างฟัครุดดีนและพลทหารคนดังกล่าวยังพิจารณาคดีในศาลทหารชั้นต้นใช้เวลานานกว่า 7-8 ปี ในขณะที่ศาลพลเรือนปกติ พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างช้าที่สุดคือ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิจารณาไม่เกิน 7-8 เดือน และในที่สุด ศาลทหารชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ของศาลทหาร และยังพิจารณาคดีไม่เสร็จสิ้น สะท้อนปัญหาถึงกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารได้ชัดเจน

"ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถามผมในฐานะที่เป็นทนายความมาก่อน ถามมาโดยตลอดว่า 'ถ้าทหารทำผิด ต้องขึ้นศาลทหารอีกใช่ไหม' ผมก็ตอบว่าใช่ เพราะกฎหมายยังเป็นอยู่อย่างนี้ ความรู้สึกของเขาคือ 'ขึ้นศาลพลเรือนไม่ได้หรือ' ผมก็ตอบไปว่ากฎหมายยังเป็นอยู่อย่างนี้ มันก็มีคำถามตามมาเยอะมาก มันคือคำถามของชาวบ้านที่เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม" กมลศักดิ์กล่าว พร้อมระบุว่าตนเคารพการทำงานของทหารแต่กระบวนการทำงานของศาลทหารก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และไม่เท่าทันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งสมควรได้รับการแก้ไขในรัฐสภาแห่งนี้

"ผมไม่อยากทำลายคำๆ หนึ่งที่เขาบอกว่า 'ทหารไม่ต้องรับผิดในหมู่ทหาร' สิ่งที่จะช่วยได้คือช่วยกันสนับสนุนแก้ไขธรรมนูญศาลทหารที่พรรคประชาชาติได้ยื่นต่อสภาแห่งนี้ ซึ่งยื่นตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันนี้ เราไม่ได้ต้องการหาเสียง แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" กมลศักดิ์ กล่าว

หลังจากนั้น ส.ส.หลายคนจากพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลได้ยกมืออภิปรายร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว อาทิ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, รังสิมันต์ โรม, ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งมองว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพและการปฏิรูปประเทศ รังสิมันต์อภิปรายเพิ่มเติมว่ากระบวนการยุติธรรมในศาลทหารไม่ได้ส่งผลกระทบแค่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ซึ่งอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น แต่ในช่วงรัฐประหาร 2557 มีประชาชนที่แสดงออกว่าต่อต้านการทำรัฐประหารและกองทัพถูกนำตัวไปขึ้นศาลทหารจำนวนมาก ซึ่งตนก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงเห็นว่าหากสภามีมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการก็จะเป็นทางออกที่ดีในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีคารม พลพรกลาง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคก้าวไกล, อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ, ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมอภิปราย

หลังจบการอภิปรายของ ส.ส. อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เสนอต่อที่ประชุมสภา เพื่อขอรับร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ไปพิจารณาให้แล้วเสร็ภายใน 60 วัน ก่อนจะนำกลับมาให้ที่ประชุมสภาพิจารณาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ทำให้กมลศักดิ์ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย กล่าวแย้งข้อเสนอดังกล่าวของผู้แทน ครม. โดยระบุว่าหาก ครม. ใช้เวลา 60 วันเพื่อพิจารณากฎหมาย อาจทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับการลงมติวาระแรกในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะปิดสมัยประชุมในสิ้นเดือน ก.พ. ด้านธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเสริมและตั้งข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. ฝ่ายค้านมักจะถูกเตะถ่วงโดยฝ่ายรัฐบาล ต้องขอเวลาพิจารณาภายใน 60 วัน ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เสนอโดยพรรคประชาชาติถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว มีเวลาให้รัฐบาลศึกษามามาก แต่เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ศึกษามาก่อน แต่ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ระบุว่ารัฐบาลใช้สิทธิตามระเบียบข้อบังคับ จึงวินิจฉัยนอกข้อบังคับไม่ได้ และขอให้ ส.ส. ลงคะแนนเป็นมติของที่ประชุม หากเห็นควรให้ ครม. รับร่างนี้ไปพิจารณา ให้กดปุ่มเห็นด้วย หากไม่เห็นควร กดปุ่มไม่เห็นด้วย

ต่อมา เวลา 15.36 น. ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 213 เสียง ไม่เห็นด้วย 98 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 0 ผลสรุปคือที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ ครม. รับร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ไปพิจารณาก่อนลงมติรับหลักการภายในเวลาไม่เกิน 60 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net