โลกจะแตก น้ำจะท่วมโลก แต่สโมฯ รัฐศาสตร์ยังจัดกิจกรรมไร้อนาคต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

19 กันยาของสังคม…

วันที่ 19 กันยายน เกรธา เทินเบิรก นักเรียนวัย 16 ปีเพิ่งเดินทางไปที่สภาคองเกรส เพื่อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติการเรื่องโลกร้อนซึ่งคุกคามความเป็นอยู่ของมนุษย์ทุกคน เธอขอให้เด็กอายุคราวเดียวกับเธอออกจากโรงเรียนและมาประท้วงที่ท้องถนน เพื่ออนาคตที่กำลังจะสูญหาย

วันที 19 กันยายน เป็นวันที่ประเทศไทยสูญเสียอย่างหวนคืนไม่ได้จากการเกิดรัฐประหารเมื่อปี 49 หลายปีมานี้ ประเทศไทยก็ยังไม่เคยออกจากวังวนรัฐประหารจากครั้งนั้นเลย

19 กันยาของสโมสรคณะรัฐศาสตร์…?

วันที่ 19 กันยา สโมสรคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงาน “Back to School” ซึ่งภายในงานทำกิจกรรม เช่น แต่งชุดนักเรียน เคารพธงชาติ อ่านคำประกาศศักดิ์สิงห์ดำ เป็นต้น กิจกรรมเช่นนี้มี “จุดประสงค์” อื่นนอกเหนือจากความสนุกและความส่องเพื่อนๆใส่ชุดนักเรียนไหม? หรือมีเพียงให้พวกเราโหยหวน “Back to authoritarianism”?

สโมสรรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เคยก้าวไกล มีแต่ถอยหลังกลับสู่วงวนเดิมๆ อำนาจนิยมเดิมๆ ทำไมคณะที่เรียนการเมือง ถึงไม่แตะเรื่องการเมือง? ทำไมไม่จัดกิจกรรมที่ทำให้นิสิตเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือตั้งคำถามกับระบบการศึกษาร่วมกัน? ทำไมเราถึงไม่จัดกิจกรรมที่ทั้งสนุกและแฝงด้วยความรู้? สโมฯ เพียงแต่เอาชุดนักเรียนและบรรยากาศของโรงเรียนมาทำให้มันดูหวานชื่น ทั้งที่จริงๆ แล้วโรงเรียนนี่แหล่ะที่เป็นตัวกดทับอนาคตของชาติและผลิตซ้ำความรุนแรงมากมาย ทำไมสโมฯ ยังตอกย้ำความรุนแรงเหล่านี้อีก? ทำไมสโมฯ ถึงไม่ฉีกหน้าความโสมมของระบบการศึกษาออกมา แล้วทำให้มันสนุกและเข้าใจง่าย? ทำไมเราต้องจัดกิจกรรมที่ไม่มีอะไรนอกจากความสนุกผิวเผิน? อัตลักษณ์ความสนใจสังคมของคณะเราอยู่ไหน?

ถ้าหากคุณอ่านถึงตรงนี้แล้วมองว่าบทความนี้ไร้สาระและมุ่งหาแต่การเมือง ขอให้พิจารณาเถิดว่าคณะเราชื่ออะไร ความหมายของสีประจำคณะเราคืออะไร และเราเรียนอะไร นอกจากนี้ เราไม่ได้ต่อต้านกิจกรรมเช่นนี้ หากแต่มองว่าเราต้องไม่ลืมความเป็นการเมืองของคณะเราด้วย เราย่อมรู้กันดีว่าการเมืองส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรามากแค่ไหน

อันที่จริง แม้แต่วิกฤตใกล้ตัว เช่น น้ำท่วมที่อุบล สโมฯ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร ในขณะที่จัดงาน Back to school ใหญ่โต แต่พอเรื่องน้ำท่วมที่อุบล สโมฯ กลับเอากล่องรับบริจาคของเล็กๆมาตั้งไว้ใต้ตึก ในฐานะที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่มีชื่อเสียงในสังคม เราควรเรียกร้องอะไรมากกว่านี้หรือไม่? เราควรร่วมกันกดดันรัฐบาลหรือไม่? ขนาดเด็กอายุ 16 ปีคนเดียวยังจุดประกายให้ทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วทำไมเด็กอายุสิบปลายๆถึงยี่สิบต้นๆ อย่างเราๆ ถึงไม่ออกมาทวงคืนอนาคตของพวกเราอย่างที่เกรธาทำบ้าง?

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ก็น่าตั้งคำถามกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติของจุฬา ที่ไปเที่ยวดูสัตว์ เสียค่าน้ำมันทำลายธรรมชาติ แล้วก็ฟินว่าช่วยโลก หรือออกแถลงการณ์เซฟมาเรียม แต่ไม่แตะปัญหาโครงสร้าง เช่น เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการควบคุมการปล่อยของเสียจากโรงงานที่เคร่งครัด เป็นต้น มันทำให้หลายคนถอดใจออกจากชมรม ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในนโยบายที่สโมฯชุดนี้หาเสียงก็คือ สัญญาว่าจะจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีมาตราการจริงจังอะไร นอกจากเล่นเกมส์ เอาหน้าของคนในสโมฯมาโปรโมทในเพจและในคณะ ต้องรอให้น้ำท่วมประเทศหรือ สโมถึงจะออกมาทำตามสัญญา?

19 กันยายน นิสิตจุฬาฯ และคนทั่วไป ย่อมคาดหวังว่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมีบทบาททางการเมืองน่าสนใจในหลายปีมานี้ จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร หรือไม่ก็เรื่องโลกร้อน ซึ่งสโมสรนิสิตน่าจะแสดงจุดยืนพร้อมๆ กับเกรธา

จากที่เกรธาและวันครบรอบรัฐประหารทำวันที่ 19 สโมกลับจัดกิจกรรม Back to School สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาอยู่คนละโลกกับคนส่วนใหญ่ นิสิตส่วนใหญ่ และคนที่เลือกเขาเข้ามาที่อยากเห็นอะไรใหม่ๆ มันไม่ได้ต่างจากพวกคณะกรรมการนักเรียนตามโรงเรียนเลย คณะที่บอกว่าสีดำคือสีแห่งการเสียสละ แต่สุดท้ายสโมฯ กลับเสียสละเวลาเพื่อการเมินเฉยต่อสังคม…Back to Ignorance

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท